xs
xsm
sm
md
lg

"ประชา"ดิ้นหนีคุก12ปี ส่งทนายอุทธรณ์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน-“ประชา"ดิ้น ส่งทนายยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาจำคุก 12 ปี คดีทุจริตรถดับเพลิง ศาลเผยสามารถทำได้ หากพบว่ามีพยานหลักฐานใหม่ เตรียมรับไว้พิจารณา ก่อนตัดสิน ขณะที่ศาลฎีกาฯ นักการเมือง ห้าม "เสถียร" อดีตปลัดกลาโหม เป็นเจ้าหน้าที่รัฐ 5 ปี

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อที่ 7 ต.ค.ที่ผ่านมา นายประชา มาลีนนท์ อดีตรมช.มหาดไทย ผู้ต้องคำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองจำคุก 12 ปี ฐานกระทำผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ (ฮั้วประมูล) พ.ศ.2542 จากกรณีการจัดซื้อรถ และเรือดับเพลิง มูลค่า 6,687,489,000 บาท ได้มอบอำนาจให้ทนายความยื่นขออุทธรณ์คดี ก่อนที่จะครบกำหนดยื่นอุทธรณ์คำพิพากษา 30 วัน ในวันที่ 10 ต.ค.นี้

แหล่งข่าวจากศาลฎีกาฯ กล่าวถึงขั้นตอนการพิจารณาอุทธรณ์ว่า เมื่อศาลฎีกาฯ มีคำพิพากษาแล้ว ถือว่าเป็นที่สิ้นสุด แต่การยื่นอุทธรณ์ก็สามารถกระทำได้ ในกรณีที่พบว่ามีพยานหลักฐานใหม่ปรากฏขึ้น ซึ่งหลังจากนี้ ศาลจะส่งคำร้องอุทธรณ์ของจำเลย ไปให้ ป.ป.ช.โจทก์ทราบตามขั้นตอนเพื่อให้ทำคำแก้อุทธรณ์ ส่งกลับภายใน 15 วัน แล้วศาลจะรวบรวมคำอุทธรณ์และคำแก้อุทธรณ์ทั้งหมด เสนอให้องค์คณะผู้พิพากษา 5 คนที่จะถูกเลือกจากที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาฯ ขึ้นมาทำหน้าที่พิจารณาคำอุทธรณ์คดีนี้ว่าเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในกฎหมาย โดยองค์คณะทั้ง 5 จะต้องทำบันทึกความเห็นเสนอต่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาฯ พิจารณาต่อไปว่าจะรับอุทธรณ์ไว้พิจารณาวินิจฉัยหรือไม่ แต่หากองค์คณะทั้ง 5 คนพิจารณาแล้วมีความเห็นไม่สมควรรับเรื่องอุทธรณ์ไว้ให้ เรื่องนั้นสิ้นสุดการพิจารณาไป

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ตามรัฐธรรมนูญ ม.278 วรรคสาม บัญญัติว่า ผู้ต้องคำพิพากษาของศาลฎีกาฯ อาจยื่นอุทธรณ์ต่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาฯ ได้ในกรณีที่ผู้ต้องคำพิพากษามีพยานหลักฐานใหม่ ซึ่งอาจทำให้ข้อเท็จจริงเปลี่ยนแปลงไปในสาระสำคัญ ซึ่งให้ยื่นภายใน 30 วัน นับแต่วันที่มีคำพิพากษา

ขณะที่ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาฯ ได้ออกระเบียบที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาฯ ว่าด้วยหลักเกณฑ์การอุทธรณ์คำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ในกรณีมีพยานหลักฐานใหม่ ซึ่งอาจทำให้ข้อเท็จจริงเปลี่ยนแปลงไปในสาระสำคัญ พ.ศ.2551 กำหนดไว้ว่า ให้ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาฯลงคะแนนเสียงเลือกผู้พิพากษา 5 คน เป็นองค์คณะพิจารณาคำอุทธรณ์ว่าถูกต้องตามระเบียบหรือไม่ ซึ่งหลังจากองค์คณะทำบันทึกเสนอที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาแล้วหากมีมติให้รับอุทธรณ์ไว้พิจารณาแล้ว จึงจะให้องค์คณะไต่สวนรวบรวมข้อเท็จจริงตามคำอุทธรณ์เสนอต่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาฯเพื่อพิจารณาและวินิจฉัยคดีต่อไป

ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ ถ.แจ้งวัฒนะ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 29 ส.ค.ที่ผ่านมา ศาลฎีกาฯ ได้มีคำพิพากษาคดีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เป็นผู้ร้องขอให้ศาลวินิจฉัยกรณีที่ พล.อ.เสถียร เพิ่มทองอินทร์ อดีตปลัดกระทรวงกลาโหม จงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินอันเป็นเท็จ ภายหลังจากพ้นตำแหน่งกรรมการองค์การคลังสินค้า (อคส.) และเมื่อพ้นจากตำแหน่งดังกล่าวมาแล้วหนึ่งปี ตามที่กฎหมายกำหนดไว้ ซึ่ง ป.ป.ช.มีมติว่าพล.อ.เสถียรไม่แสดงบัญชีรายการทรัพย์สินและหนี้สินของตน คู่สมรสให้ครบถ้วน จึงห้ามผู้คัดค้านดำรงตำแหน่งเจ้าหน้าที่ของรัฐเป็นเวลา 5 ปี นับแต่วันที่ 15 ก.พ.2551 และให้จำคุก 2 เดือน ปรับ 4 ,000 บาท ตามพ.ร.บ.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 119 แต่ไม่ปรากฏว่าผู้คัดค้านเคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 1 ปี
กำลังโหลดความคิดเห็น