xs
xsm
sm
md
lg

“ประชา มาลีนนท์” ดิ้น ส่งทนายยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาศาลฎีกาฯจำคุก 12 ปี คดีทุจริตรถดับเพลิง

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

(แฟ้มภาพ)นายประชา มาลีนนท์ อดีต รมช.มหาดไทย
“ประชา มาลีนนท์” ส่งทนายยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง สั่งจำคุก 12 ปี คดีทุจริตรถดับเพลิง ในกรอบระยะเวลา 30 วัน ด้านแหล่งข่าวระดับสูงในศาลฎีกาฯเผยอุทธรณ์คำพิพากษาศาลฎีกาฯสามารถกระทำได้หากเป็นประเด็นข้อมูลหลักฐานใหม่ เตรียมส่งคำร้องให้ ป.ป.ช.รับทราบคำร้องขออุทธรณ์ตามขั้นตอน

วันนี้ (9 ต.ค.) ที่ศาลฎีกาแผนกคดีคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ถ.แจ้งวัฒนะ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อที่ 7 ต.ค.ที่ผ่านมา นายประชา มาลีนนท์ อดีต รมช.มหาดไทย ผู้ต้องคำพิพากษาศาลฎีกาฯ จำคุก 12 ปี ฐานกระทำผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ (ฮั้วประมูล) พ.ศ.2542 จากกรณีการจัดซื้อรถ และเรือดับเพลิง มูลค่า 6,687,489,000 บาท ได้มอบอำนาจให้ทนายความยื่นขออุทธรณ์คดี ก่อนที่จะครบกำหนดยื่นอุทธรณ์คำพิพากษา 30 วันในวันที่ 10 ต.ค.นี้

แหล่งข่าวจากศาลฎีกาฯกล่าวถึงขั้นตอนการพิจารณาอุทธรณ์ว่า เมื่อศาลฎีกาฯ มีคำพิพากษาแล้วถือว่าเป็นที่สิ้นสุด แต่การยื่นอุทธรณ์ก็สามารถกระทำได้ ในกรณีที่พบว่ามีพยานหลักฐานใหม่ปรากฏขึ้น ซึ่งหลังจากนี้ศาลจะส่งคำร้องอุทธรณ์ของจำเลย ไปให้ ป.ป.ช.โจทก์ทราบตามขั้นตอนเพื่อให้ทำคำแก้อุทธรณ์ ส่งกลับภายใน 15 วันแล้วศาลจะรวบรวมคำอุทธรณ์และคำแก้อุทธรณ์ทั้งหมด เสนอให้องค์คณะผู้พิพากษา 5 คนที่จะถูกเลือกจากที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาฯ ขึ้นมาทำหน้าที่พิจารณาคำอุทธรณ์คดีนี้ว่าเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในกฎหมาย โดยองค์คณะทั้ง 5 จะต้องทำบันทึกความเห็นเสนอต่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาฯพิจารณาต่อไปว่าจะรับอุทธรณ์ไว้พิจารณาวินิจฉัยหรือไม่ แต่หากองค์คณะทั้ง 5 คนพิจารณาแล้วมีความเห็นไม่สมควรรับเรื่องอุทธรณ์ไว้ให้ เรื่องนั้นสิ้นสุดการพิจารณาไป

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่าตามรัฐธรรมนูญ ม.278 วรรคสาม บัญญัติว่า ผู้ต้องคำพิพากษาของศาลฎีกาฯ อาจยื่นอุทธรณ์ต่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาฯ ได้ในกรณีที่ผู้ต้องคำพิพากษามีพยานหลักฐานใหม่ ซึ่งอาจทำให้ข้อเท็จจริงเปลี่ยนแปลงไปในสาระสำคัญ ซึ่งให้ยื่นภายใน 30 วัน นับแต่วันที่มีคำพิพากษา

ขณะที่ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาฯ ได้ออกระเบียบที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาฯ ว่าด้วยหลักเกณฑ์การอุทธรณ์คำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ในกรณีมีพยานหลักฐานใหม่ ซึ่งอาจทำให้ข้อเท็จจริงเปลี่ยนแปลงไปในสาระสำคัญ พ.ศ.2551 กำหนดไว้ว่า ให้ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาฯลงคะแนนเสียงเลือกผู้พิพากษา 5 คน เป็นองค์คณะพิจารณาคำอุทธรณ์ว่าถูกต้องตามระเบียบหรือไม่ ซึ่งหลังจากองค์คณะทำบันทึกเสนอที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาแล้วหากมีมติให้รับอุทธรณ์ไว้พิจารณาแล้ว จึงจะให้องค์คณะไต่สวนรวบรวมข้อเท็จจริงตามคำอุทธรณ์เสนอต่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาฯเพื่อพิจารณาและวินิจฉัยคดีต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น