ศาลฎีกาฯ นักการเมืองสั่งห้าม “พล.อ.เสถียร เพิ่มทองอินทร์” อดีตปลัดกลาโหม ดำรงตำแหน่งเจ้าหน้าที่รัฐ 5 ปี และจำคุก 2 เดือน ปรับ 4 พันบาท กรณีจงใจไม่ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินฯ สมัยเป็นกรรมการองค์การคลังสินค้าให้ครบถ้วน แต่โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ 1 ปี
ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ ถ.แจ้งวัฒนะ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 29 ส.ค.ที่ผ่านมา ศาลฎีกาฯได้มีคำพิพากษาคดีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เป็นผู้ร้องขอให้ศาลวินิจฉัยกรณีที่ พล.อ.เสถียร เพิ่มทองอินทร์ อดีตปลัดกระทรวงกลาโหม จงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินอันเป็นเท็จ ภายหลังจากพ้นตำแหน่งกรรมการองค์การคลังสินค้า (อคส.) และเมื่อพ้นจากตำแหน่งดังกล่าวมาแล้วหนึ่งปี ตามที่กฎหมายกำหนดไว้ ซึ่ง ป.ป.ช.มีมติว่าพล.อ.เสถียรไม่แสดงบัญชีรายการทรัพย์สินและหนี้สินของตน คู่สมรสให้ครบถ้วน
ทั้งนี้ พล.อ.เสถียร ไม่แสดงรายการของตนและคู่สมรสเมื่อเข้ารับตำแหน่ง ประกอบด้วย เงินฝากธนาคาร 16 บัญชี รวมเป็นเงิน 2,842,884.77 บาท, เงินลงทุนมูลค่า 9,913,405.64 บาท, ที่ดิน จำนวน 4 แปลง มูลค่า 618,000 บาท รวมมูลค่าทรัพย์สินดังกล่าวที่ไม่แสดง 13,374,290.41 บาท และเงินกู้ยืม 1.5 ล้านบาท และเมื่อ พล.อ.เสถียรพ้นจากตำแหน่งก็ไม่ได้แสดงทรัพย์สินที่เป็นเงินฝากธนาคาร 15 บัญชี เงินลงทุน และที่ดิน 4 แปลง รวมมูลค่า 11,087,959.89 บาท และเงินกู้ยืม 1.5 ล้านบาท นอกจากนี้ เมื่อพ้นจากตำแหน่งมาแล้ว 1 ปี ก็มีทรัพย์สินซึ่งเป็นบัญชีเงินฝากธนาคาร 13 บัญชี เงินลงทุน และที่ดิน 4 แปลง รวมมูลค่า 2,641,017.14 บาท และเงินกู้ยืม 1.5 ล้านบาท โดย ป.ป.ช.ให้ พล.อ.เสถียร ชี้แจงข้อเท็จจริงกรณีไม่แสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินดังกล่าว ซึ่ง พล.อ.เสถียร ได้มีหนังสือชี้แจงข้อเท็จจริงดังกล่าวแล้ว แต่ต่อมา ป.ป.ช.มีมติว่า พล.อ.เสถียร จงใจยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินอันเป็นเท็จกรณีเข้ารับตำแหน่งรวมทรัพย์สิน 12,627,364.79 บาท และหนี้สิน 1.5 ล้านบาท กรณีพ้นจากตำแหน่งรวมทรัพย์สิน 10,672,296.36 บาท และหนี้สิน 1.5 ล้านบาท และกรณีพ้นจากตำแหน่งมาแล้วหนึ่งปีรวมทรัพย์สิน 2,266,540.35 บาท และหนี้สิน 1.5 ล้านบาท ป.ป.ช.ผู้ร้อง จึงขอให้ศาลมีคำสั่งว่า พล.อ.เสถียร เป็นผู้ต้องห้ามไม่ให้ดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐเป็นเวลา 5 ปีตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 41 และให้ลงโทษทางอาญา ฐานเป็นเจ้าหน้าที่รัฐจงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินอันเป็นเท็จ ตามกฎหมาย ป.ป.ช. มาตรา 119 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 โดย พล.อ.เสถียร ผู้คัดค้านคดีนี้ให้การปฏิเสธ
ศาลไต่สวนพยานหลักฐานของผู้ร้องและผู้คัดค้านแล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า พล.อ.เสถียรผู้คัดค้านยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน และเอกสารประกอบด้วยข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบ ประกอบด้วย บัญชีเงินฝากประจำธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) สาขาอุบลราชธานี ของผู้คัดค้าน, รายงานเงินลงทุนในสหกรณ์ออมทรัพย์หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา จำกัด ของผู้คัดค้าน, รายงานเงินลงทุนในห้างหุ้นส่วนจำกัด กรุณาภรณ์ สหกิจ 1997 ของคู่สมรสจำนวน 1.5 ล้านบาท, ที่ดิน น.ส.3 ก.เลขที่ 1461 และ1526 ต.แสนสุข อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี ของคู่สมรส และรายการหนี้สินที่มีหลักฐานเป็นหนังสือกับห้างหุ้นส่วนจำกัด กรุณาภรณ์ สหกิจ 1997 ของคู่สมรส การที่ผู้คัดค้านเคยยื่นบัญชีรายการแสดงทรัพย์สินและหนี้สิน และเอกสารประกอบกรณีเข้ารับตำแหน่ง กรณีพ้นจากตำแหน่ง และกรณีพ้นจากตำแหน่งมาแล้วเป็นเวลา 1 ปี แสดงว่าผู้คัดค้านตระหนักดีว่าตนมีหน้าที่ที่จะต้องยื่นบัญชีรายการแสดงทรัพย์สินและหนี้สิน และเอกสารประกอบตามที่กฎหมายกำหนด และผู้คัดค้านย่อมต้องทราบว่าบัญชีรายการแสดงทรัพย์สินและหนี้สิน และเอกสารประกอบที่ยื่นต้องถูกต้องตรงกับความเป็นจริงและครบถ้วนด้วย ไม่เช่นนั้นการยื่นบัญชีรายการแสดงทรัพย์สินและหนี้สิน และเอกสารประกอบจะไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ใดๆ เมื่อ ป.ป.ช.ตรวจสอบพบว่าผู้คัดค้านไม่แสดงรายการแสดงทรัพย์สินและหนี้สิน และเอกสารประกอบของตนและคู่สมรสให้ครบถ้วนถูกต้อง และมีหนังสือแจ้งให้ผู้คัดค้านชี้แจงข้อเท็จจริงแล้ว แทนที่ผู้คัดค้านจะถือเป็นโอกาสชี้แจงบัญชีรายการแสดงทรัพย์สินและหนี้สินให้ถูกต้องครบถ้วนเสียในคราวเดียว กลับยังคงแสดงบัญชีรายการแสดงทรัพย์สินและหนี้สินไม่ครบถ้วน จน ป.ป.ช.ต้องมีหนังสือให้ผู้คัดค้านชี้แจงข้อเท็จจริงเพิ่มเติมหลายครั้ง นอกจากนี้เหตุผลที่ผู้คัดค้านยกขึ้นมากล่าวอ้างก็ไม่มีเหตุผลเพียงพอที่จะรับฟังได้
องค์คณะผู้พิพากษาจึงมีมติเป็นเอกฉันท์ว่า ผู้คัดค้านจงใจยื่นบัญชีรายการแสดงทรัพย์สินและหนี้สิน และเอกสารประกอบด้วยข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบในตำแหน่งกรรมการองค์การคลังสินค้า กรณีพ้นจากตำแหน่งมาแล้วเป็นเวลา 1 ปี และยังเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 119 ด้วย
อนึ่งองค์คณะผู้พิพากษามีมติเสียงข้างมากว่า เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าผู้คัดค้านพ้นจากการเป็นกรรมการองค์การคลังสินค้าแล้ว เมื่อวันที่ 15 ก.พ.51 จึงเป็นกรณีที่ผู้คัดค้านพ้นจากตำแหน่งที่ผู้ร้องเสนอเรื่องให้วินิจฉัยมาแล้วก่อนศาลฎีกาฯ วินิจฉัยวันที่พ้นจากตำแหน่งจึงต้องถือวันพ้นจากตำแหน่งตามความเป็นจริง คือวันที่ 15 ก.พ.51 การห้ามผู้คัดค้านไม่ให้ดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐเป็นเวลา 5 ปี จึงต้องนับตั้งแต่วันที่ 15 ก.พ.2551 ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 41 ซึ่งเป็นบทบัญญัติที่ใช้บังคับอยู่ในขณะที่ผู้คัดค้านยื่นบัญชีรายการแสดงทรัพย์สินและหนี้สิน และเอกสารประกอบด้วยข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบกรณีที่พ้นจากตำแหน่งมาแล้วเป็นเวลา 1 ปี โดยไม่ใช้บทบัญญัติมาตรา 41 ที่แก้ไขใหม่บังคับแก่คดีของผู้คัดค้าน แม้บทบัญญัติมาตรา 41 จะไม่มีลักษณะเป็นโทษอาญาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 18 แต่ก็มีลักษณะเป็นมาตรการบังคับตัดสิทธิ์ผู้คัดค้านไม่ให้ดำรงตำแหน่งเจ้าหน้าที่ของรัฐใดๆ ได้ในช่วงเวลาที่ต้องห้าม จึงต้องใช้บทบัญญัติ มาตรา 41 เดิม ซึ่งเป็นผลดีแก่ผู้คัดค้านมากกว่า
พิพากษาว่า พล.อ.เสถียร ผู้คัดค้าน จงใจยื่นบัญชีรายการแสดงทรัพย์สินและหนี้สินอันเป็นเท็จ จึงห้ามผู้คัดค้านดำรงตำแหน่งเจ้าหน้าที่ของรัฐเป็นเวลา 5 ปี นับแต่วันที่ 15 ก.พ.2551 และให้จำคุก 2 เดือน ปรับ 4,000 บาท ตามพ.ร.บ.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 119 แต่ไม่ปรากฏว่าผู้คัดค้านเคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 1 ปี