เลขาธิการ กกต.เผย 5 กกต.ประชุมกันแล้ว ยืนยันมีอำนาจเต็มตามรัฐธรรมนูญ ม.232 ในการทำหน้าที่จัดการเลือกตั้งทุกระดับแม้หมดวาระ ขณะที่คณะกรรมการสรรหาประชุมนัดแรก 20 ก.ย.นี้
วันนี้ (18 ก.ย.) นายภุชงค์ นุตราวงศ์ เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) แถลงว่า สำนักงาน กกต.ได้มีหนังสือแจ้งเกี่ยวกับการหมดวาระการดำรงตำแหน่งของ กกต.ชุดปัจจุบันในวันที่ 19 ก.ย.นี้ ไปยังสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา เพื่อให้เตรียมเรื่องการสรรหาแล้ว และทางสำนักงาน กกต.ก็ได้นำเรื่องเข้าหารือในที่ประชุม กกต. เมื่อวันที่ 17 ก.ย.ที่ผ่านมา ถึงการปฏิบัติหน้าที่ของ กกต.ภายหลังการครบวาระการดำรงตำแหน่ง โดยที่ประชุม กกต.เห็นว่า กกต.ยังคงมีอำนาจหน้าที่เต็มตามรัฐธรรมนูญมาตรา 232 วรรคสองที่ระบุว่า กกต.ที่พ้นตำแหน่งตามวาระต้องอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่า กกต.ชุดใหม่จะเข้ารับหน้าที่ ไม่ถือเป็นการรักษาการในตำแหน่ง
ดังนั้นการปฏิบัติหน้าที่ของ กกต.หลังจากครบวาระในเรื่องของการจัดการเลือกตั้งท้องถิ่น การพิจารณารับรองผล พิจารณาคำร้องคัดค้านต่างๆ จึงเป็นไปตามปกติ ไม่มีปัญหา เว้นแต่เรื่องที่จะมีผลผูกพันต่อ กกต.ชุดใหม่ เช่น เรื่องของการปรับโครงสร้างสำนักงาน การแต่งตั้งโยกย้ายบุคลากร หรือการเพิ่มตำแหน่งต่างๆ ซึ่ง กกต.ได้ให้เป็นนโยบายไว้ว่า ขอให้เป็นหน้าที่ของ กกต.ชุดใหม่
อย่างไรก็ตาม ในส่วนการสรรหา กกต.ชุดใหม่ ทราบจากทางสำนักเลขาธิการวุฒิสภาว่า ได้มีการเตรียมเรียกประชุมคณะกรรมการสรรหาตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 231(1) นัดแรกในวันที่ 20 ก.ย.นี้ เพื่อกำหนดกรอบเวลาในการสรรหาที่กฎหมายกำหนดว่าต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 90 นับแต่วันที่พ้นจากตำแหน่ง
โดยคณะกรรมการสรรหาดังกล่าวจะประกอบไปด้วย ประธานศาลฎีกา ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ประธานศาลปกครองสูงสุด ประธานสภาผู้แทนราษฎร ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ผู้แทนจากที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา ซึ่งทราบว่าเป็น นายกู้เกียรติ สุนทรบุระ อดีตผู้พิพากษาอาวุโสในศาลอาญากรุงเทพใต้ และผู้แทนจากที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด คือ นายอัครวิทย์ สุมาวงศ์ อดีตรองประธานศาลปกครองสูงสุด
ส่วนการเปิดรับสมัครเบื้องต้นทางสำนักเลขาธิการวุฒิสภากำหนดไว้ในวันที่ 23-30 ก.ย.ไม่เว้นวันหยุดราชการ และคณะกรรมการสรรหาจะมีการประชุมเพื่อลงมติคัดเลือกผู้สมัครให้เหลือ 3 คน ในวันที่ 17 ต.ค.ก่อนที่สำนักเลขาธิการวุฒิสภาจะเสนอนำไปรวมกับผู้ได้รับการเสนอชื่อเป็น กกต.จากสายที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา 2 คน เพื่อเสนอต่อที่ประชุมวุฒิสภามีมติเห็นชอบต่อไป
นายภุชงค์ กล่าวว่า กกต.ยังไม่ได้รับเรื่องที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ขอให้ กกต.พิจารณาเพื่อยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยว่า นายวิเชษฐ์ เกษมทองศรี รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ขาดคุณสมบัติการเป็นรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญ 269 หรือไม่จากกรณีไม่แจงบัญชีทรัพย์สินหนี้สินต่อ ป.ป.ช.ในประเด็นภรรยาถือครองหุ้นบริษัทเอกชนเกิน 5 เปอร์เซ็นต์ ของทุนจดทะเบียนจริง ขัดต่อ พ.ร.บ.การจัดการหุ้นส่วนและหุ้นของรัฐมนตรี 2543 ซึ่งในทางปฏิบัติหากได้รับเรื่องแล้ว กกต.ก็อาจตั้งคณะกรรมการไต่สวนขึ้นมาตรวจสอบความถูกต้องของเอกสาร หลักฐานต่างๆ เพราะจะต้องมีความเห็นเสนอต่อศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งไม่ใช่การตั้งกรรมการขึ้นมาเพื่อหักล้างผลการพิจารณาของ ป.ป.ช.
อย่างไรก็ตามตามระเบียบสืบสวนของ กกต.ไม่ได้กำหนดระยะเวลาว่า กกต.จะต้องพิจารณาเรื่องดังกล่าวให้แล้วเสร็จภายในเวลาเท่าใด แต่เรื่องดังกล่าวสังคมให้ความสนใจ และ กกต.ชุดนี้เหลือเวลาปฏิบัติหน้าที่ไม่นาน จึงคิดว่าไม่น่าจะใช้เวลาในการพิจารณาก่อนจะส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย