xs
xsm
sm
md
lg

“ขุนค้อน” โบ้ยวิปรัฐต้นเหตุเร่งถกแก้ รธน. “จุรินทร์” ติงรีบผ่าน ม.4 ไม่รอบคอบ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ (แฟ้มภาพ)
ประธานรัฐสภา คาดลงมติแก้รัฐธรรมนูญ มาตรา 4 ไม่เกิน 4 ทุ่มวันนี้ เผยเปิดประชุมวันศุกร์เป็นไปตามมติวิปรัฐบาล ไม่แน่ใจเสาร์-อาทิตย์จะประชุมต่อหรือไม่ ด้านวิปฝ่ายค้านขวางเร่งประชุมเสาร์-อาทิตย์ พร้อมจี้ “ค้อนปลอม” เปิดโอกาสฝ่ายค้านอภิปราย ห่วงมาตรา 4 ไม่รอบคอบ เหตุคณะกรรมการสรรหายังมีอยู่ หากรวบรัดเกิดปัญหาแน่

นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา กล่าวถึงการประชุมร่วมรัฐสภา เพื่อพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่...) พ.ศ.... เกี่ยวกับที่มาของวุฒิสภา วาระ 2 เป็นวันที่ 6 โดยยังคงพิจารณาอยู่ที่ มาตรา 4 ว่า ตนคาดว่าที่ประชุมจะสามารถลงมติในมาตรา 4 ได้ไม่เกินเวลา 22.00 น.ของวันนี้ (30 ส.ค.) แต่ทั้งนี้คงต้องยึดตามระเบียบข้อบังคับการประชุมด้วย

ส่วนกรณีที่ฝ่ายค้านไม่เห็นด้วยกับการเปิดประชุมในวันนี้นั้น ในความเป็นจริงแล้ววันนี้ตนมีภารกิจส่วนตัว แต่ก็ต้องยกเลิกไป แต่เมื่อทางคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) มีมติให้การเปิดการประชุม จึงต้องปฏิบัติตามมติของวิปรัฐบาล ทั้งนี้ยังไม่แน่ใจว่าจะเปิดประชุมต่อในวันเสาร์และอาทิตย์นี้หรือไม่ คงต้องรอดู ซึ่งในวันเสาร์และอาทิตย์นี้ตนก็ไม่มีภารกิจอะไร

ผู้สื่อข่าวถามว่า มองว่าการเร่งเปิดประชุมเพื่อพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ถือเป็นการที่ไม่สนใจที่จะการแก้ไขปัญหาปากท้องของประชนก่อนหรือไม่ นายสมศักดิ์กล่าวว่า ขยันก็ตำหนิ ขี้เกียจก็ตำหนิ แต่ปัญหาปากท้องของประชาชน รัฐบาลก็ดำเนินการแก้ไขอยู่ ฝ่ายนิติบัญญัติก็มีหน้าที่พิจารณาข้อกฎหมายก็ต้องดำเนินการไป

ด้านนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) กล่าวว่า หากประธานเปิดโอกาสให้สมาชิกที่ขอแปรญัตติและสงวนคำแปรญัตติ ได้ใช้สิทธิอภิปราย ไม่น่าจะมีปัญหา แต่ดูเหมือนว่าการพิจารณามาตรา 4 ที่ค้างมาจาการประชุมครั้งที่ผ่านมานั้นมีความพยายามที่จะไม่เปิดโอกาสให้ผู้แปรญัตติได้อภิปราย ในมาตรา 4 เพราะฉะนั้นเรื่องนี้จะเป็นประเด็น โดยให้เหตุผลว่าเนื่องจากมีการยกเลิกคณะกรรมการสรรหาในมาตรา 4 ไปแล้ว ดังนั้นจะมาอภิปรายเรื่องคณะกรรมการสรรหาใดๆ ที่แปรญัตติไว้ไม่ได้ ซึ่งหากดูตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 จะเห็นได้ว่ายังมีมาตรา 240 ที่กำหนดเรื่องภารกิจของคณะกรรมการสรรหา ที่ระบุว่า ถ้าหากตำแหน่งวุฒิสมาชิกว่างลงก็จะต้องมีการสรรหาขึ้นมาใหม่ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าคณะกรรมการสรรหาก็ยังอยู่ในรัฐธรรมนูญปัจจุบัน และแม้แก้ไขไปแล้วตามร่างที่กำลังพิจารณานั้น มาตรา 240 ในกรณีที่มีการคัดค้านว่าการสรรหา ส.ว.เป็นไปโดยไม่ถูกต้องไม่ชอบด้วยกฎหมาย ให้คณะกรรมการสรรหาดำเนินการสืบสวนสอบสวนก็ยังอยู่ เนื่องจากการเขียนรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติมมีลักษณะที่ไม่รอบคอบ และไม่สอดคล้องต้องกันกับรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันที่ยังมีอยู่ เท่ากับว่าในเมื่อยังมีคณะกรรมการสรรหาผู้ที่สงวนคำแปรญัตติก็สามารถที่จะกลับมาอภิปรายได้ ทั้งนี้ตนจะนำเรื่องนี้เข้าชี้แจงในที่ประชุมต่อไป

ผู้สื่อข่าวถามว่า ได้มีการกำชับไปยังประธานรัฐสภาในเรื่องการเร่งรัดการลงมติ มาตรา 4 อย่างไรบ้าง นายจุรินทร์กล่าวว่า เรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องที่ประธานต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามข้อบังคับ ถ้ารวบรัดตนเป็นห่วงว่าจะเกิดปัญหาตามมาภายหลัง นอกจากนี้ ตนยังได้ทักท้วงประธานสภาแล้วว่าไม่ควรที่จะเปิดการประชุมในวันนี้ (30 ส.ค.) แต่ประธานรัฐสภากลับฟังแต่วิปรัฐบาลไม่ฟังวิป 3 ฝ่าย และคาดว่าอาจจะมีการนัดประชุมต่อในวันเสาร์และอาทิตย์นี้อีก ถือเป็นเรื่องที่เกินความพอดี และเกินความจำเป็น แต่รัฐบาลมักออกมาระบุว่าไม่รีบร้อน ตรงกันข้ามกับพฤติกรรมที่เร่งรีบในการประชุมติดต่อกันเป็นเวลาหลายวัน ควรเอาเวลาที่แก้ไขรัฐธรรมนูญ ไปแก้ไขปัญหาปากท้องของประชาชนจะดีกว่า เพราะการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ไม่ได้ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อส่วนรวม แต่จะเป็นประโยชน์ต่อรัฐบาลและวุฒิสมาชิกที่จะลงสมัครรับเลือกตั้ง รวมถึงพรรคการเมืองบางพรรคการเมืองเท่านั้น อย่างไรก็ตาม หากจะมีการนัดประชุมในวันเสาร์และอาทิตย์นั้น วิฝ่ายค้านก็สุดปัญญาที่จะท้วงติงแล้ว

ผู้สื่อข่าวถามว่า มีความกังวลในอภิปรายมาตรา 5 ที่เกี่ยวกับประเด็นคุณสมบัติของผู้ที่จะลงสมัครรับเลือกตั้งเข้ามาเป็น ส.ว. ที่มีผู้สงวนคำแปรญัตติเป็นจำนวนมาก นายจุรินทร์กล่าวว่า ตนมีความกังวล เพราะไม่เพียงแต่ฝ่ายค้านที่สงวนคำแปรญัตติ แต่ยังมี ส.ว.อีกมากที่จะอภิปราย ซึ่งหากมีการตัดสินเชื่อว่าจะเกิดเหตุการณ์ขัดแย้งในการประชุมแน่นอน


กำลังโหลดความคิดเห็น