xs
xsm
sm
md
lg

ถกแก้ รธน.วันที่ 5 วุ่นอีก ต้องพัก 10 นาที ฝ่ายค้านโวย “ขุนค้อน” เผด็จการสั่งหยุดอภิปราย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เปิดประชุมร่วมรัฐสภาแก้ไขรัฐธรรมนูญ วันที่ 5 ยังวุ่นตั้งแต่เช้า ส.ว.ชลบุรี เสนอปิดอภิปราย ม.4 จนประท้วงกันวุ่นเกือบครึ่งวัน ที่สุด “ขุนค้อน” วินิจฉัยให้เดินหน้าอภิปราย ม.4 ต่อ เพราะญัตติปิดอภิปรายขัด รธน.ตัดสิทธิสมาชิกคนอื่น แต่ไม่ให้อภิปรายขัดหลักการ ทำฝ่ายค้านโวย กมธ.แก้ รธน.ขัด ม.240 ก่อนอภิปรายต่อแต่ถูก “สมศักดิ์” สั่งหยุด อ้างขัดหลักการ พร้อมขอความเห็นลงมติไม่ให้พูดซ้ำ ทำสภาป่วนหนัก ต้องพักสั่ง 10 นาที

การประชุมสภาเพื่อพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่...) พ.ศ.... เกี่ยวกับที่มาของวุฒิสภา วาระ 2 โดยแก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 111, 112, 115, 116, 117, 118, 120 และ 241 ยกเลิกมาตรา 113, 114 วันนี้ (30 ส.ค.) เป็นการพิจารณาต่อจากวันที่ 28 ส.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งนับเป็นวันที่ 5 ในการอภิปราย ซึ่งมีการพิจารณาในมาตรา 4 ยกเลิกกรรมการสรรหาวุฒิสภาในมาตรา 113, 114

ทันทีที่เปิดประชุม นายสมศักดิ์ เกรียติสุรนนท์ ประธานในที่ประชุม ได้จะดำเนินการวินิจฉัยญัตติของนายสุรชัย ชัยตระกูลทอง ส.ว.ชลบุรี ที่เสนอให้มีการปิดการอภิปรายและลงมติในมาตรา 4 เนื่องจากเห็นว่าในการอภิปรายมาตรา 3 นั้นได้ยกเลิก ส.ว.สรรหาไปแล้ว ดังนั้นจึงไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยเรื่องกรรมการสรรหา

ขณะที่นายธนา ชีรวินิจ ส.ส.กทม.พรรคประชาธิปัตย์ ได้พยายามทักท้วงการวินิจฉัยของประธานว่าไม่จำเป็นต้องใช้การวินิจฉัยพร่ำเพรื่อ ซึ่งนายขจิต ชัยนิคม ส.ส.อุดรธานี พรรคเพื่อไทย ประท้วงนายสมศักดิ์ว่าไม่เคร่งครัดการประชุมรัฐสภาตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภากำหนด แม้นายสมศักดิ์จะขอให้ยุติการประท้วงและปิดไมโครโฟน แต่นายขจิตยังคงตะโกนกลางห้องประชุมรัฐสภาว่า “ข้อบังคับมีอยู่ ขอให้เคร่งครัด หากไม่เคร่งครัดการประชุมก็ยืดเยื้ออย่างนี้ต่อไป”

สุดท้ายนายสมศักดิ์ยืนยันว่า การวินิจฉัยคืออำนาจของประธานรัฐสภา และตัดสินใจให้สมาชิกได้มีการอภิปรายต่อไปในมาตรา 4 เนื่องจากญัตติของนายสุรชัยขัดต่อหลักการที่ต้องให้เอกสิทธิสมาชิกในการอภิปรายแสดงความคิดเห็น แต่ยังคงมีการทักท้วงจากส.ส.พรรคเพื่อไทย อาทิ นายพิชิต ชื่นบาน ส.ส.บัญชีรายชื่อ ประท้วงว่านายนิคม ไวยรัชพานิช รองประธานรัฐสภา เคยมีวินิจฉัยว่าการอภิปรายมาตรา 4 ไม่สามารถทำได้เนื่องจากขัดหลักการที่ให้มี ส.ว.มาจากการเลือกตั้ง อย่างไรก็ตาม ตนขอให้นายสมศักดิ์อธิบายด้วยว่าทำไมถึงวินิจฉัยที่แตกต่างจากนายนิคม

นายสมศักดิ์ระบุว่า ตนมีความคิดของตน การที่เราจะใช้สิทธิของเราเสนอเพื่อไปตัดสิทธิของสมาชิกคนอื่นนั้นขัดต่อรัฐธรรมนูญอย่างชัดเจน ไม่มีอะไรซับซ้อน คำวินิจฉัยของตนจึงไม่จำเป็นต้องไปผูกมัดกับประธานอีกคนหนึ่ง ซึ่งก่อนการอภิปรายตนจะวินิจฉัยเองว่า ผู้ที่ต้องการจะอภิปรายนั้นขัดต่อมาตรา 3 หรือไม่ เช่น หากจะอภิปรายเพื่อให้มี ส.ว.สรรหา อีกตนก็จะไม่ให้อภิปราย อย่างไรก็ตามการประท้วงดังกล่าวยังคงดำเนินต่อไป นานกว่า 40 นาที

จนนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ ประธานวิปฝ่ายค้าน กล่าวโต้แย้งว่า ถึงแม้ว่าทางกรรมาธิการจะแก้กฎหมายไม่ให้มี ส.ว.สรรหาในมาตรา 3 แต่ตามมาตรา 240 ของรัฐธรรมนูญ จึงต้องการหารือให้คงการอภิปรายในมาตรา 4 ไว้เนื่องจากมีความเกี่ยวพันกับมาตราอื่นๆ เช่น มาตรา 240 ว่าด้วยการร้องคัดค้านการสรรหา ส.ว.ที่ไม่ถูกแก้ไขด้วย เพราะฉะนั้นเรากำลังแก้กฎหมายที่ขัดกัน ดังนั้น คำวินิจฉัยของประธานจึงขัดกันอยู่ เพราะสมาชิกรัฐสภายังมีสิทธิที่จะอภิปรายถึง ส.ว.สรรหาอยู่ ทั้งนี้ตนขอให้นายชัยวัฒน์ ไตรสุนันทน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคประชาธิปัตย์อภิปรายต่อ

แต่นายสมศักดิ์ได้เรียกให้นายสามารถ แก้วมีชัย ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย ฐานะประธานกรรมาธิการฯ ชี้แจงต่อว่า เหตุที่กรรมาธิการฯ ไม่แก้ไขหรือยกเลิกรัฐธรรมนูญ มาตรา 240 เพราะร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดไว้ ดังนั้น กรรมาธิการฯ ไม่สามารถแก้ไขในหลักการได้ อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 10 วรรคสอง ที่ระบุว่ากรณีที่มีตำแหน่ง ส.ว.ว่างลงก่อนการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ไม่ต้องดำเนินการเลือกตั้งหรือสรรหา ส.ว.ขึ้นใหม่ จึงเห็นว่าไม่ได้เกี่ยวข้องกัน

จากนั้นนายสมศักดิ์ได้ตัดบทเข้าสู่การพิจารณาต่อไป โดยให้สมาชิกเริ่มการอภิปรายในมาตรา 4 ต่อ แต่ทางฝ่ายค้านยังมีการประท้วงต่อนานกว่า 30 นาที จนเมื่อเวลา 12.20 น.การประชุมจึงเริ่มอภิปรายมาตรา 4ได้

อย่างไรก็ตาม เมื่อนายวิรัตน์ กัลยาศิริ ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ ได้อภิปรายเป็นคนแรก ซึ่งเนื้อหาในการอภิปรายยังคงเป็นการระบุว่า วุฒิสภาจำเป็นต้องมี ส.ว.สรรหา เพื่อป้องกันสภาผัวเมีย ซึ่งเนื้อหายังเหมือนกับการอภิปรายมาตรา 3 ที่ผ่านไปแล้ว จึงทำให้นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานในที่ประชุม สั่งให้นายวิรัตน์หยุดการอภิปราย เพราะถือว่าเป็นการอภิปรายที่ขัดต่อหลักการไปแล้ว และเปิดโอกาสให้นายประสงค์ นุรักษ์ ส.ว.สรรหา อภิปรายต่อไป แต่นายประสงค์ ระบุว่า หากยังมีคนยกมือประท้วงตนก็ไม่พร้อมจะอภิปรายใดๆ นายสมศักดิ์จึงวินิจฉัยให้นายประสงค์หยุดการอภิปรายหากไม่ติดใจใดๆ จากนั้นนายสมศักดิ์ได้ให้นางศิริวรรณ ปราศจากศัตรู ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายต่อไป ท่ามกลางเสียงประท้วงของ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ และ ส.ว.สรรหา ที่พยายามตะโกนประท้วงการทำหน้าที่ของประธานสภา

นางศิริวรรณจึงกล่าวว่า เสียงในห้องประชุมดังมาก ทำให้ตนไม่มีสมาธิในการอภิปราย นายสมศักดิ์จึงสั่งให้นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ว. อภิปรายเป็นลำดับต่อไปได้เลย ในเมื่อนางศิริวรรณไม่ติดใจแล้ว แต่การประท้วงของสมาชิกยังดำเนินต่อไป ทำให้นายสมศักดิ์ต้องย้อนกลับมาให้นางศิริวรรณได้อภิปราย แต่เมื่อนางศิริวรรณอภิปราย นายสมศักดิ์ ก็ยังมีคำวินิจฉัยว่าการอภิปรายของนางศิริวรรณ ขัดต่อหลักการ จึงให้หยุดการอภิปราย ซึ่งก็ทำให้มีการประท้วงจาก ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ขึ้นอีก ประธานสภาจึงสั่งให้ที่ประชุมลงมติขอความเห็นว่าจะให้ผู้ที่แปรญัตติในมาตรา 4 ที่มีเนื้อหาขัดต่อมาตรา 3 อภิปรายได้หรือไม่ นพ.สุกิจ อัถโถปกรณ์ ส.ส.ตรัง พรรคประชาธิปัตย์ จึงประท้วงว่าจะให้ลงมติอะไร แต่นายสมศักดิ์ตัดบท ปิดไมค์ ไม่อนุญาตให้สมาชิกโต้เถียงอีก บรรยากาศในห้องประชุมจึงเกิดความตึงเครียด เมื่อ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ตะโกนประท้วงประธานฯ อย่างต่อเนื่อง ทำให้นายสมศักดิ์ตัดสินใจสั่งพักการประชุม 10 นาที










กำลังโหลดความคิดเห็น