xs
xsm
sm
md
lg

“สามารถ” ชี้สิทธิ์ “คณิต” ติงแก้ที่มา ส.ว. ย้ำอยู่ที่ศาล “ถาวร” ดักขัด รธน.จริงอย่าโวย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ปชป.ชงเรื่อง คปก.ส่งหนังสือถึงรัฐสภา ชี้แก้ รธน.ที่มา ส.ว.ขัด รธน. “สามารถ” ชี้แสดงความเห็นได้แต่ศาล รธน.เป็นผู้ชี้ขาด ยัน กมธ.มีสิทธิแก้คุณสมบัติ ส.ว. “ส.ว.อนุรักษ์” ติงปรับเอื้อญาตินักการเมืองขัดเจตนารมณ์ รธน.ที่ให้ ส.ว.เป็นกลาง ขาดดุลยภาพ เชื่อศาล รธน.ตีความแก้รายมาตรา แต่ไม่กระทบองค์กรสูงสุดการเมือง ยันต้องประชามติ “ถาวร” ดักศาล รธน.ระบุขัด อย่าโวย

วันนี้ (27 ส.ค.) การประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ กลุ่มมาตราว่าด้วยที่มาของ ส.ว.เป็นวันที่ 4 ได้เริ่มขึ้น โดยมีนายนิคม ไวยรัชพานิช รองประธานวุฒิสภาทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม ซึ่งที่ประชุมเป็นการพิจารณาต่อเนื่องในมาตรา 3 ว่าด้วยการแก้ไข มาตรา 111 เกี่ยวกับการให้ ส.ว.มาจากการเลือกตั้ง จำนวน 200 คน และแก้ไขมาตรา 112 ว่าด้วยวิธีการเลือกตั้ง โดยกำหนดให้ใช้เขตจังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง โดยประชาชนมีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งได้ 1 คน และหากในจังหวัดใดที่สามารถเลือก ส.ว.เกิน 1 คนให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งที่ได้คะแนนสูงสุดเรียงตามลำดับได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ว. หลังจากที่รัฐสภาได้มีการพักประชุมไปเมื่อวันที่ 22 ส.ค.ที่ผ่านมา

โดยก่อนเข้าสู่ระเบียบวาระ สมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ได้หารือประเด็นที่นายคณิต ณ นคร ประธานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) ส่งหนังสือถึงประธานรัฐสภาและสมาชิกรัฐสภา เพื่อแสดงความเห็นว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญกลุ่มมาตราที่ว่าด้วย ส.ว.นั้นส่อขัดต่อเจตนารมย์ของรัฐธรรมนูญ ดังนั้นประเด็นดังกล่าวจะมีการพิจารณาอย่างไรเพื่อไม่ให้การพิจารณาของที่ประชุมรัฐสภาขัดต่อรัฐธรรมนูญ

ซึ่งนายนิคมชี้แจงว่า ตนได้รับหนังสือแล้ว และเห็นว่าเป็นประโยชน์ ดังนั้นขอให้เจ้าหน้าที่ห้องประชุมแจกเอกสารดังกล่าวให้แก่สมาชิกด้วย

ด้านนายสามารถ แก้วมีชัย ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย ฐานะประธานกรรมาธิการฯ ชี้แจงว่าความเห็นดังกล่าวเป็นการให้ความเห็นทางกฎหมายของนายคณิต ซึ่งที่ผ่านมาเคยมีการท้วงติงเกี่ยวกับการพิจารณาร่างกฎหมายหลายฉบับ เช่น การแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 ว่าด้วยการเปิดทางให้มีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) มายกร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ, ร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท ทั้งนี้เป็นสิทธิ์ที่นายคณิตจะแสดงความเห็นได้ แต่ไม่ใช่ผู้ที่ชี้ขาดว่าการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของรัฐสภาไม่ชอบด้วย รัฐธรรมนูญหรือไม่ ต้องให้ศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้ตรวจสอบหากมีผู้ยื่นเรื่องให้ตรวจสอบ

ขณะที่การแก้ไขรัฐธรรมนูญที่รัฐสภาพิจารณาตามหลักการจะแก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 111, มาตรา 112, มาตรา 115, มาตรา 116 วรรคสอง, มาตรา 117, มาตรา 118, มาตรา 120 และมาตรา 241 วรรคหนึ่ง และยกเลิกมาตรา 113 และมาตรา 114 โดยเมื่อรัฐสภารับหลักการแล้วและเข้าสู่การพิจารณาในชั้นกรรมาธิการ ส.ส.และกรรมาธิการ สามารถขอแปรญัตติและแก้ไขเปลี่ยนแปลงจากร่างเดิมได้ เช่นเดียวกันคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของบุคคลที่จะลงสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ว.

ขณะที่นายอนุรักษ์ นิยมเวช ส.ว.สรรหา กล่าวว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญ กลุ่มมาตราที่ว่าด้วยที่มาของ ส.ว. ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงโครงสร้าง เช่น ให้ ส.ว.เป็นไปตามจำนวนประชาชนประชากร, เปลี่ยนแปลงคุณสมบัติ ให้บุพการี ลูกของนักการเมืองและให้นักการเมืองที่ลาออกจากตำแหน่งลงสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ว.ได้ ถือเป็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ขัดต่อเจตนารมย์ของรัฐธรรมนูญ ที่ต้องการให้ ส.ว.เป็นกลาง ถ่วงดุล ซึ่งจะก่อให้เกิดการขาดดุลยภาพ ขอให้พิจารณาคำวินิจฉัยของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ครั้งที่พิจารณาร่างไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 ขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 หรือ ไม่ นอกจากนี้การแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ผ่านการลงประชามติของประชาชน และวุฒิสภาที่เป็นองค์กรสูงสุดทางการเมืองและได้รับการสถาปนาโดยประชาชน ต้องมีการทำประชามติก่อน แม้ว่าศาลรัฐธรรมนูญจะระบุว่าสามารถแก้ไขเป็นรายมาตราได้ ไม่ได้หมายความว่าจะแก้ไขรายมาตราได้ทุกเรื่องส่วนตัวมองว่าสามารถแก้ราย มาตราได้ในส่วนที่ไม่เกี่ยวข้องกับหลักการและกระทบองค์กรสูงสุดทางการเมือง

ขณะที่นายถาวร เสนเนียม ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า หากมีบุคคลยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญ กลุ่มมาตราที่ว่าด้วยที่มา ส.ว. และมีการวินิจฉัยว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญ ขออย่าไปกล่าวหาศาลรัฐธรรมนูญฐานะองค์กรที่ทำหน้าที่ตรวจสอบถ่วงดุลย์

อย่างไรก็ตาม หลังจากที่ประชุมหารือประมาณ 40 นาที นายนิคมได้ขอให้เข้าสู่ประเด็นการอภิปรายตามที่มีบุคคลสงวนคำแปรญัตติ โดยไม่ได้สรุปในประเด็นการหารือดังกล่าวแต่อย่างใด












กำลังโหลดความคิดเห็น