xs
xsm
sm
md
lg

‘ยิ่งลักษณ์’โผล่ชำเรารธน. ยกมือโต้พาดพิง-พท.เมินข้อเสนอคปก.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้ (27 ส.ค.56) เวลา 10.00 น. ที่ประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ พิจารณาต่อในมาตรา 3 ว่าด้วยการแก้ไข มาตรา 111,112 เกี่ยวกับการให้สว.มาจากการเลือกตั้ง 200 คน มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด ซึ่งเป็นการพิจารณาต่อหลังจากที่รัฐสภาได้มีการพักประชุมไปเมื่อวันที่ 22 ส.ค.ที่ผ่านมา
ก่อนเข้าสู่วาระ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) ได้หารือต่อประเด็นที่นายคณิต ณ นคร ประธานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) ส่งหนังสือถึงประธานรัฐสภาและสมาชิกรัฐสภา ระบุว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่าด้วยที่มาสว.นั้นส่อขัดต่อเจตนารมย์ของรัฐธรรมนูญ ดังนั้นจะพิจารณาอย่างไรเพื่อไม่ให้การพิจารณาของที่ประชุมรัฐสภาขัดต่อรัฐธรรมนูญ
นายนิคม ไวยรัชพานิช ชี้แจงว่าได้รับหนังสือแล้วและเห็นว่าเป็นประโยชน์ ดังนั้นขอให้เจ้าหน้าที่ห้องประชุมแจกเอกสารดังกล่าวให้กับสมาชิกด้วย จากนั้นให้นายสามารถ แก้วมีชัย สส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานกรรมาธิการฯ ชี้แจงว่าความเห็นดังกล่าวเป็นการให้ความเห็นทางกฎหมายของนายคณิต
นายสามารถ กล่าวว่า เป็นสิทธิ์ที่นายคณิตจะแสดงความเห็นได้ แต่ไม่ใช่ผู้ที่ชี้ขาดว่าการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของรัฐสภาไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ ต้องให้ศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้ตรวจสอบหากมีผู้ยื่นเรื่องให้ตรวจสอบ
ขณะที่นายสาธิต ปิตุเตชะ สส.ระยอง พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ขอให้คณะกมธ.เอาข้อเสนอของคปก.ไปหารือเพื่อให้ได้ข้อยุติก่อนว่าจะทำอย่างไรต่อไปแล้วค่อยดำเนินการ จากนั้น นายบุญยอด สุขถิ่นไทย สส.บัญชีรายชื่อพรรคประชาธิปัตย์ขอให้พักการประชุมเพื่อนำเรื่องนี้ไปหารือก่อน ทำให้ นายสามารถ กล่าวว่า คณะกรรมาธิการพิจารณาวันสุดท้าย เมื่อวันที่ 15 ก.ค. ต่างคปก.ทำรายงานมายังสภาฯ เมื่อวันที่ 22 ส.ค.ทำให้กมธ.ไม่มีเวลาเรียกรประชุมได้อีก ซึ่งยืนยันว่านายคณิต มีสิทธิตั้งข้เสนอ แต่ในฐานะฝ่ายนิติบัญญัติมีหน้าที่การพิจารณากฎหมายสภาฯ ไม่มีอำนาจหาข้อยุติ
ขณะที่นายอนุรักษ์ นิยมเวช ส.ว.สรรหา กล่าวว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญ กลุ่มมาตราที่ว่าด้วยที่มาของ ส.ว. ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงโครงสร้าง อาทิ ให้สว.เป็นไปตามจำนวนประชาชนประชากร, เปลี่ยนแปลงคุณสมบัติ ให้บุพการี ลูก ของนักการเมืองและให้นักการเมืองที่ลาออกจากตำแหน่งลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นส.ว.ได้ ถือเป็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ขัดต่อเจตนารมย์ของรัฐธรรมนูญ ที่ต้องการให้ส.ว.เป็นกลาง ถ่วงดุล ซึ่งจะก่อให้เกิดการขาดดุลยภาพ ขอให้พิจารณาคำวินิจฉัยของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ครั้งที่พิจารณาร่างไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 ขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 หรือ ไม่ นอกจากนี้การแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ผ่านการลงประชามติของประชาชน และวุฒิสภาที่เป็นองค์กรสูงสุดทางการเมืองและได้รับการสถาปนาโดยประชาชน ต้องมีการทำประชามติก่อน แม้ว่าศาลรัฐธรรมนูญจะระบุว่าสามารถแก้ไขเป็นรายมาตราได้ ไม่ได้หมายความว่าจะแก้ไขรายมาตราได้ทุกเรื่องส่วนตัวมองว่าสามารถแก้ราย มาตราได้ในส่วนที่ไม่เกี่ยวข้องกับหลักการและกระทบองค์กรสูงสุดทางการเมือง
ขณะที่นายถาวร เสนเนียม ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า หากมีบุคคลยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญ กลุ่มมาตราที่ว่าด้วยที่มาส.ว. และมีการวินิจฉัยว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญ ขออย่าไปกล่าวหาศาลรัฐธรรมนูญฐานะองค์กรที่ทำหน้าที่ตรวจสอบถ่วงดุล
จากนั้นที่ประชุมจึงเริ่มต้นพิจารณาในประเด็นเนื้อหามาตรา 3 โดยนายธานี อ่อนละเอียด สว.สรรหากล่าวว่าได้ขอแปรญัตติโดยเสนอให้วุฒิสภา 200 คน มาจาก การเลือกตั้งรายจังหวัด 125 คน และ ให้เลือกจากปาร์ตี้ลิสต์กลุ่มวิชาชีพ ให้ได้ 75 คน

**สว.จวกระบบสรรหาผูดขาดอำนาจ
นายกฤช อาทิตย์แก้ว สว.กำแพงเพชร ขอแปรญัตติให้ สว.มาจาการเลือกตั้งจังหวัดละ 2 คน โดยยืนยันสนับสนุนที่มาของ สว.ที่มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด เพราะเห็นว่าระบบ สว.สรรหา มาจากการแต่งตั้งของกลุ่มบุคคลเพียง 7 คน ไม่ได้มาจากการตัดสินใจของประชาชน ส่วนที่มองว่า สว.เลือกตั้งผูกติดกับพรรคการเมืองนั้น ขอให้ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยอย่าจินตนาการล่วงหน้า เพราะประชาชนมีวิจารณญาณในการเลือกตัวบุคคลให้มาทำหน้าที่ที่ไม่จำเป็นต้องสังกัดพรรคการเมือง
“วันนี้ขนาดผู้ใหญ่บ้าน อบต.อบจ. สส.ล้วนต้องผ่านการเลือกตั้งทั้งหมด แล้วเหตุใดจึงยกเว้นเพียง สว.สรรหา แล้วถามว่าหากจะให้สรรหา สส.บ้างจะยอมได้หรือไม่ เพราะฉะนั้นอย่าผูกอำนาจเพียง 7 คน แล้ว 7 คนนี้ก็มาจากการที่ คมช.เลือกมา ดังนั้นขอให้มอบอำนาจแก่ประชาชน อย่างในพื้นที่ผม มีพรรคการเมืองส่งผู้ลงสมัครจริง แต่ผมก็สู้กับพรรคการเมือง แล้วก็แพ้ผมตลอด ดังนั้นประชาชนไม่โง่ อย่าจินตนาการไปเองว่าเขาจะเลือกใคร” นายกฤชกล่าว
นายกฤช กล่าวด้วยว่า การคัดเลือก สว.สรรหาที่ผ่านมา จนถึงวันนี้ สว.สรรหาหลายคนต้องลาออกแล้ว เพราะมาจากคน 7 คนที่ไม่เข้าใจการคัดเลือก ไม่ตรวจสอบ ทำให้ผิดเงื่อนไขของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพราะไปผูกอำนาจอยู่กับคนเพียง 7 คน ส่วนที่โจมตีว่าเป็นการแก้ไขกฎหมายโดยมีผลประโยชน์ทับซ้อน เพราะ สว.ร่วมแก้กฎหมายที่ต่ออายุให้ สว.นั้น ถามว่าเมื่อครั้งที่ สส.แก้ไขกฎหมายเงินบำนาญให้ตัวเองไม่ถือเป็นผลประโยชน์ทับซ้อนบ้างหรือ
นายอรรถพร พลบุตร สส.เพชรบุรี พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ลุกขึ้นขอแปรให้มี สว.200 คน มาจากการเลือกตั้ง 100 คน และมาจากการเลือกตั้งโดยสมาชิกองค์กรวิชาชีพ องค์กรอาชีพที่ได้รับการจดทะเบียน 100 คน มาจากสภาทนายความ องค์กรวิชาชีพด้านสาธารณสุข คุรุสภา สภาวิชาชีพบัญชี สมาคมธนาคารไทย สภาเกษตรแห่งชาติ เป็นต้น
นายอรรถพร กล่าวอีกว่า ประเทศไทยยึดหลักการว่าต้องรับฟังอำนาจของประชาชน ประชาธิปไตยเป็นของประชาชน โดยประชาชน เพื่อประชาชน แต่ในโลกแห่งความเป็นจริงของการเมืองไทยตั้งแต่มีรัฐธรรมนูญปี 2540 เป็นต้นมา เกิดปัญหาการเมือง วุฒิสภากลายเป็นสภาทาส เปิดช่องให้เกิดการทุจริตคอร์รัปชันระดับเล็ก กลาง ใหญ่ และทุจริตในเชิงนโยบาย
“ดังนั้นบริบทสังคมการเมืองที่เป็นอำนาจของทุนสามานย์ ทุนโสมม จึงทำให้เกิดการร่างรัฐธรรมนูญ 50 ที่ต้องการติดเบรกพรรคการเมือง โดยใช้ระบบ สว.สรรหาขึ้นมาถ่วงดุล สว.ที่มาจากการเลือกตั้ง ดังนั้นเวลานี้เราอยู่ในโลกประชาธิปไตยแห่งความเป็นจริงที่มีการทุจริตมหาศาล โครงการขาดทุนนับ 6 แสนล้าน เราไม่สามารถนำประชาธิปไตยในโลกแห่งความจริงไปเทียบกับยุคเพลโต โสเครติสได้” นายอรรถพรกล่าว
นายอรรถพร กล่าวว่า นอกจากการถ่วงดุล วุฒิสภายังมีหน้าที่คลอดองค์กรอิสระ ทั้งศาลรัฐธรรมนูญ กกต. คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.) คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน เป็นต้น ซึ่งองค์กรอิสระเหล่านี้เป็นอำนาจที่ 4 ในการตรวจสอบรัฐบาล หากพรรคการเมืองคุมอำนาจที่ 4 ได้เท่ากับคุมอำนาจเบ็ดเสร็จทั้ง 3 ด้าน บริหาร นิติบัญญัติ และองค์กรอิสระ เหลือเพียงฝ่ายตุลาการเพียงอำนาจเดียวเท่านั้นที่ทำหน้าที่ตรวจสอบพรรคการเมือง

** ‘ยิ่งลักษณ์’ โผล่ประชุมสภา
นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ สส.กทม.พรรคเพื่อไทย ลุกขึ้นแปรญัตติแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 111 ให้ สว.มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด 220 คน โดยเสนอให้มีการเลือกตั้ง สว.1 คนต่อสัดส่วนประชากร 3 แสนคน โดยยึดตามสัดส่วนประชากร 66 ล้านคนในประเทศไทย ทั้งนี้เชื่อว่า สว.ที่มาจากประชาชนย่อมสะท้อนเสียงของประชาชนได้ โดย สว.อาจรับฟังความเห็นของประชาชนมาบอก สส.ในพื้นที่ ต่างจาก สว.สรรหา ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง
“การเลือกตั้งมันไม่เหมือน สว.สรรหา ที่เขาส้มหล่น มีขาใหญ่ 7 คนตั้งกันมา วันนี้ท่านด่ากราดว่าพรรคการเมืองจะยึดอำนาจสว. เป็นสภาผัว สภาเมีย ทั้งที่ยังไม่มีการเลือกตั้ง เท่ากับว่าท่านยังไม่ทันนอน ชิงฝันร้ายไปเสียก่อน อยากถามว่าจะกลัวอะไรกับเสียงประชาชนนักหนา มาด่าว่าเป็นสภาขี้ข้า ขอบอกว่าผมยอมเป็นขี้ข้าประชาชน 3 แสนคนดีกว่าเป็นขี้ข้าคน 7 คน” นายจิรายุกล่าว
นอกจากนี้นายจิรายุยังอภิปรายว่า สส.ฝ่ายค้านมักพูดว่า สภาเป็นเผด็จการ ใช้เสียงข้างมากลากไป เเต่ขอถามว่าสมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ สส.พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ไม่ใช้เสียงข้างมากลากไปหรือ จึงขอถามประชาชนว่าประเทศไทยต่อจากนี้ จะให้เอาเสียงข้างน้อยชนะทุกเรื่องหรือ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าการอภิปรายของนายจิรายุทำให้นายนิพิฏฐ์ อิทรสมบัติ สส.พัทลุง พรรคประชาธิปัตย์ ลุกขึ้นประท้วงว่า การอภิปรายของนายจิรายุทำให้เสียงข้างน้อยเสียหาย เพราะจะไปสรุปเช่นนั้นไม่ได้ ขอยืนยันว่าเสียงข้างมากเป็นเผด็จการ เพราะไม่มีที่ไหนเสนอร่างกฎหมายที่นิรโทษกรรมความผิด ใช้เสียงข้างมากปิดหูปิดตาประชาชน เห็นได้จากฮิตเลอร์ก็มาจากเสียงข้างมาก และมาจากเสียงเลือกตั้ง และเมื่อไรก็ตามที่เสียงข้างมากเป็นเผด็จการ ประชาชนก็ไม่รู้ว่าหายนะกำลังจะเกิดขึ้น เราไม่ต้องการชนะทุกเรื่อง แต่สู้ในสิ่งที่ท่านไม่มีเหตุผล และยืนยันว่าเราจะสู้ต่อ
“เสียงข้างมากสะท้อนความต้องการได้ แต่ตัดสินความชั่วความเลวไม่ได้ ขอให้นายจิรายุไปเรียนหนังสือเสียใหม่ และเห็นด้วยว่าการตัดสินผิดหรือถูกต้องใช้กระบวนการยุติธรรม ถ้าตรงไหนขัดแย้งหรือผิดกฎหมายให้นำไปสู่ศาลยุติธรรม อย่าฆ่าตัดตอนกระบวนการยุติธรรม ด้วยการออกกฎหมายนิรโทษกรรม” นายนิพิฏฐ์กล่าว
อย่างไรก็ตาม น.ส.จารุพรรณ กุลดิลก สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ลุกขึ้นประท้วงนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภาว่า ไม่ควบคุมการประชุมปล่อยให้ สส.ปชป.เปรียบเทียบรัฐสภาไทยกับฮิตเลอร์ ทำให้ประเทศชาติเสียหาย ทั้งที่ไม่ถูกต้องตามหลักข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ อย่าให้ต่างชาติว่าได้ว่าคนไทยไม่รู้ประวัติศาสตร์ ไปเทียบสภาไทยกับฮิตเลอร์
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เวลา 14.10 น. น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ในฐานะ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย พร้อมด้วย นางเยาวภา วงศ์สวัสดิ์ สส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย ได้เดินทางเข้าร่วมการประชุมร่วมกันของรัฐสภา โดยไปนั่งในที่นั่งในส่วน สส.พรรคเพื่อไทย สร้างความฮือฮาให้แก่บรรดา สส.พรรคเพื่อไทย และกลุ่ม สว.เลือกตั้ง โดยนายกฯเข้าประชุมสภารวมเวลา 30 นาที ขณะเดียวกันได้ยกมือขออภิปรายในกรณีที่ถูกพาดพิงด้วย
ขณะที่ นายประเสริฐ ประคุณศึกษาพันธ์ ส.ว.ขอนแก่น อภิปรายมาตรา 3 โดยนายประเสริฐระบุตอนหนึ่งว่า เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม นายกฯอยู่ที่ตึกสันติไมตรี ตนได้ถูกเชิญเข้าไปอยู่ในสภาปฏิรูป โดยระหว่างที่นายประเสริฐอภิปรายได้พูดชื่นชมการทำหน้าที่นายกรัฐมนตรีอยู่หลายครั้ง และระบุว่า "นายกฯเก่ง นายกฯสวย"
ทำให้นายสาธิต ปิตุเตชะ ส.ส.ระยอง พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ประท้วงว่า อภิปรายโดยหวังเชลียร์เพื่อลง ส.ส. แต่นายประเสริฐระบุว่าพูดในลักษณะเชียร์ในสิ่งที่ถูกต้อง พร้อมระบุว่า "ผมแพ้ความสวยของนายกฯ มีนักข่าวมาถามผม ผมจึงบอกว่าถ้าทำดีท่านจะกู้ตระกูลของท่านได้" แต่นายสาธิตยังคงใช้ประสิทธิประท้วงนายประเสริฐว่ามาตรานี้ แก้ไขมาตรา 112 ไม่มีประเด็นนายกฯสวยเก่ง ขอให้นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา ควบคุมการประชุมด้วย ทำให้นายสมศักดิ์พยายามกำชับให้นายประเสริฐอภิปรายอยู่ในประเด็นหลายครั้ง
ทั้งนี้ ที่ประชุมคาดว่าจะดำเนินการไปถึงเวลา 02.00 น. และต่อในวันที่28 ส.ค. ส่วนวันที่ 29 ส.ค. จะเป็นการประชุมสภาผู้แทนราษฏร
กำลังโหลดความคิดเห็น