ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์-3 ตุลาคม 2556
พุทธศาสนิกชนชาวไทยจากทั่วทุกสารทิศพร้อมใจกันเดินทางไปถวายพระพร “สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก” เนื่องในวโรกาสที่ทรงเจริญพระชันษาครบ 100 ปี อย่างไม่ขาดสาย ทั้งที่ “วัดบวรนิเวศวิหาร” และ “โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์” ที่ประทับรักษาพระวรกาย จนทำให้สถานที่ทั้ง 2 แห่งคับแคบไปถนัดใจ
ความจริงต้องบอกว่า ไม่ใช่แค่วันที่ 3 ตุลาคมเท่านั้น หากแต่เนื่องแน่นนับตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2556 ซึ่งเป็นวันแรกที่จัดงาน จนถึงวันที่ 7 ตุลาคม 2556 ซึ่งเป็นวัดสุดท้ายของการจัดงาน “พระชันษา 100 ปี สดุดีพระสังฆบิดร” เลยทีเดียว
คงไม่ต้องถามว่า ทำไมถึงเกิดปรากฏการณ์เช่นนั้น
เพราะเป็นที่รับรู้กันดีอยู่แล้วว่า เจ้าพระคุณสมเด็จพระญาณสังวรซึ่งได้รับการสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ลำดับที่ 19 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์นั้น ได้ทรงปฏิบัติพระศาสนกิจเพื่อประเทศชาติและประชาชนในด้านต่างๆ มากมายอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยตลอดพระชนม์ชีพ จนได้รับการขนานพระนามว่า “พระของประชาชน”
เป็นความปลื้มปีติของพุทธศาสนิกชนคนไทยที่มีโอกาสได้ร่วมแสดงมุทิตาจิตต่อองค์สมเด็จพระสังฆราชที่ทรงเจริญพระชันษาครบ 100 ปี เป็นพระประมุขแห่งคณะสงฆ์ไทยที่ทรงดำรงตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายกที่ยาวนานที่สุดแห่งกรุงรัตนโกสินทร์
และนับจากนี้ไปคือ เรื่องราวบางแง่บางมุมของสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายกที่น่าสนใจและน่าศึกษาเรียนรู้เพื่อเป็นแบบอย่างแก่ชีวิต
ทรงมีเชื้อสายทั้งจีน ญวน ผสมคนไทยอยุธยาและชาวปักษ์ใต้
สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ประสูติเมื่อเวลาราว 4 นาฬิกาหรือตีสี่ วันศุกร์ขึ้น 4 ค่ำ เดือน 11 ปีฉลู ตรงกับวันที่ 3 ตุลาคม พ.ศ.2456 ณ บ้านเลขที่ 367 ถนนปากแพรก ตำบลบ้านเหนือ อำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรี เป็นบุตรคนหัวปีของนายน้อยและนางกิมน้อย คชวัตร
ภูมิประวัติในวัยเด็กของสมเด็จพระสังฆราชถือว่ามีความน่าสนใจยิ่ง และอาจถือเป็นตัวอย่างความเป็น “ชาวสยาม” แต่ดึกดำบรรพ์ได้ดี ด้วยสืบสาแหรกตระกูลมาจากหลายทิศหลายทางต่างชาติต่างภาษา
เริ่มจากวงศาคณาญาติฝ่ายบิดา กล่าวคือนายเล็กซึ่งเป็นปู่ของพระองค์สืบเชื้อสายทางหนึ่งมาจาก “หลวงพิพิธภักดี(ช้าง)” ชาวกรุงเก่าหรือชาวอยุธยา ขณะที่มารดาของนายเล็กชื่อนางจีนเป็นสาวชาวใต้จากเมืองตะกั่วทุ่ง ซึ่งปัจจุบันอยู่ในจังหวัดพังงา
ขณะที่วงศาคณาญาติฝ่ายมารดา คุณตาคือนายทองคำบิดาของนางกิมน้อย เป็นคนเชื้อสายญวน ส่วนมารดาชื่อนางเฮงเล็กเป็นคนจีน แซ่ตัน ดั้งเดิมบรรพบุรุษโดยสารเรือสำเภามาจากเมืองจีน เรือแตกก่อนถึงฝั่งเมืองไทย แต่ก็รอดชีวิตมาขึ้นฝั่งเมืองไทยได้ แล้วจึงไปตั้งถิ่นฐานค้าขายอยู่เมืองกาญจนบุรี ส่วนชื่อกิมน้อยซึ่งเป็นมารดาของเจ้าพระคุณก็เป็น “ภาษาญวน” กิมแปลว่าเข็ม กิมน้อยก็คือ “เข็มน้อย” โดยญาติข้างฝ่ายมารดานี้ต่อมาใช้นามสกุลว่า “รุ่งสว่าง”
ทรงเป็นพระอภิบาลในหลวง ทรงเป็นพระราชกรรมวาจาจารย์พระบรมฯ
เจ้าพระคุณสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ทรงบรรพชาเป็นสามเณรเมื่อพระชนมายุ 14 พรรษา ณ วัดเทวสังฆาราม กาญจนบุรี แล้วเข้ามาอยู่ศึกษาพระปริยัติธรรม ณ วัดบวรนิเวศวิหาร จนพระชนมายุครบอุปสมบท และทรงอุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ วัดเทวสังฆารามในปี 2476 จากนั้นทรงอุปสมบทซ้ำเป็นธรรมยุติกนิกาย ณ วัดบวรนิเวศวิหาร เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ พุทธศักราช 2476โดยสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ ทรงเป็นพระอุปัชฌาย์ และยังคงฉายา “สุวฑฺฒโน” (มีความหมายว่าผู้เจริญดี) ซึ่งสมเด็จพระสังฆราชเจ้าฯ ได้ประทานให้เมื่อครั้งเป็นสามเณร
ทั้งนี้ ทรงดำรงสมณศักดิ์มาโดยลำดับดังนี้ ทรงเป็นพระราชาคณะชั้นสามัญ พระราชาคณะชั้นราช และพระราชาคณะชั้นเทพ ในราชทินนามที่ พระโศภณคณาภรณ์ ทรงเป็นพระราชาคณะชั้นธรรมที่ พระธรรมวราภรณ์ ทรงเป็นพระราชาคณะชั้นเจ้าคณะรองที่ พระสาสนโสภณ ทรงเป็นสมเด็จพระราชาคณะที่ สมเด็จพระญาณสังวร และทรงได้รับพระราชทานสถาปนาเป็น สมเด็จพระสังฆราช ในราชทินนามที่ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก เมื่อวันที่ 21 เมษายน พุทธศักราช 2532 นับเป็นสมเด็จพระสังฆราช พระองค์ที่ 19 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
เกร็ดที่น่าสนใจเกี่ยวกับสมณศักดิ์ของเจ้าพระคุณก็คือ เมื่อครั้งที่ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ครั้งแรกให้เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญที่พระโสภน คณาภรณ์(หมายความว่าผู้เป็นอาภรณ์หรือเครื่องประดับของหมู่คณะอันงาม) ราชทินนามนี้ไม่เคยมีการก่อนในประวัติศาสตร์ ถือเป็นราชทินนามที่ตั้งขึ้นใหม่สำหรับพระราชทานแก่ท่านโดยเฉพาะ
ถัดมาในปี 2495 และ 2498 พระโศภนคณาภรณ์ก็ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นราชและพระราชาคณะชั้นเทพตามลำดับ โดยังคงราชทินนาม “พระโศภนคณาภรณ์” อยู่เช่นเดิม
นอกจากนี้เมื่อได้รับพระราชทานสถาปนาเป็นพระราชาคณะชั้นเจ้าคณะรองที่พระสาสนโภณ(มีความหมายว่าผู้งามในพระศาสนาหรือผู้ยังพระศาสนาให้งาม) ซึ่งต้องบอกว่าเป็นราชทินนามนี้เป็นราชทินนามพิเศษ เพราะพระราชสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทรงมีพระราชดำริผูกขึ้นเพื่อพระราชทานแก่พระมหาสา ซึ่งภายหลังได้รับสถาปนาเป็นสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช(สา ปุสฺสเทโว) วัดราชประดิษฐ์สถิตมหาสีมาราม สมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 9 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
ส่วนราชทินนามสมเด็จพระญาณสังวร พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 ทรงโปรดฯ ให้ตั้งขึ้นใหม่เพื่อพระราชทานสถาปนาพระญาณสังวร(สุก) พระราชาคณะฝ่ายวิปัสสนา เป็นสมเด็จพระราชาคณะครั้งแรกเมื่อปี 2359 สมเด็จพระญาณสังวรจึงเป็นตำแหน่งพิเศษที่จะโปรดฯ พระราชทานสถาปนาแก่พระเถรผู้ทรงคุณทางวิปัสสนาธุระเท่านั้น ซึ่งภายหลังสมเด็จพระญาณสังวร(สุก) ได้รับพระราชทานสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช(สุก ญาณสังวร) และก็ไม่เคยมีการพระราชทานสถาปนาตำแหน่งที่พระญาณสังวรให้แก่พระเถราจารย์รูปใดอีกเลยกระทั่งปี 2515 นับเป็นเวลาถึง 152 ปี
นอกจากพระกรณียกิจตามหน้าที่ตำแหน่งแล้ว เจ้าพระคุณสมเด็จพระญาณสังวร ยังได้ทรงปฏิบัติหน้าที่พิเศษ อันมีความสำคัญยิ่งอีกหลายวาระ กล่าวคือ ทรงเป็นพระอภิบาลในพระภิกษุพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลปัจจุบัน เมื่อครั้งเสด็จออกทรงพระผนวช เมื่อพุทธศักราช 2499 พร้อมทั้งทรงถวายความรู้ในพระธรรมวินัยตลอดระยะเวลาแห่งการทรงพระผนวช
อีกเกือบ 20 ปีต่อมา เจ้าพระคุณให้สัมภาษณ์ถึงเหตุการณ์ครั้งนั้นว่า
“สมเด็จพระสังฆราชเจ้าได้ทรงมอบหมายให้เป็นพระพี่เลี้ยง ก็ได้ปฏิบัติหน้าที่ซึ่งได้ทรงมอบหมายให้สนองพระเดชพระคุณ จากการที่ได้ปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวได้มีความรู้สึกว่า พระภิกษุพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะได้ทรงผนวชตามราชประเพณีเพียงอย่างเดียวเท่านั้นหามิได้ แต่ทรงผนวชด้วยพระราชศรัทธาที่ตั้งมั่นในพระพุทธศาสนาอย่างแท้จริง มิได้ทรงเป็นบุคคลจำพวกที่เรียกว่า ‘หัวใหม่’ ไม่เห็นศาสนาเป็นสำคัญ แต่ได้ทรงเห็นคุณค่าของพระศาสนา ฉะนั้น ถ้าเป็นบุคคลธรรมดาสามัญก็กล่าวได้ว่า ‘บวชด้วยศรัทธา’ เพราะทรงผนวชด้วยพระราชศรัทธาประกอบด้วยพระปัญญาและได้ทรงปฏิบัติพระธรรมวินัยอย่างเคร่งครัด...”
ขณะเดียวกันก็ทรงเป็นพระราชกรรมวาจาจารย์ ในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ์ สยามมกุฎราชกุมาร เมื่อครั้งเสด็จออกทรงผนวชเป็นพระภิกษุ เมื่อพุทธศักราช 2521 อีกด้วย
ทรงเคยสอบตกเปรียญ 4ทรงเป็นนักปฏิบัติกรรมฐาน
เจ้าพระคุณสมเด็จพระญาณสังวร ทรงเป็นผู้ใคร่ในการศึกษา ภายในปีแรกที่เข้ามาอยู่วัดบวรนิเวศวิหาร ขณะเป็นสามเณรทรงสอบได้นักธรรมชั้นตรี ถัดมาปี 2473 อายุ 18 ปี สอบได้นักธรรมชั้นโทและเปรียญธรรม 3 ประโยค นำมามาซึ่งความปีติยินดีอย่างยิ่ง ดังที่เจ้าพระคุณได้บันทึกความรู้สึกในครั้งนั้นไว้ว่า “ไม่มีปีใดที่ให้ความสุขกายสุขใจมากเท่ากับคราวที่สอบ ป.ธ.3ได้”
จากนั้น เจ้าพระคุณตั้งใจเรียนประโยค 4 ต่อมาด้วยความคาดหวังอย่างสูงพร้อมทั้งเก็งข้อสอบที่คาดว่าน่าจะออกไว้ด้วยความมั่นอกมั่นใจ แต่เมื่อถึงคราวสอบปรากฏว่าข้อสอบกลับออกประโยคง่ายๆ ที่ไม่ได้สนใจเตรียมมา ทำให้รู้สึกเสียใจและท้อถอยถึงกับปลงว่าดูท่าจะหมดวาสนาในทางพระศาสนาเสียแล้ว แต่หลังจากคิดทบทวนและไตร่ตรองดูก็ได้พบความจริงว่า เป็นผลจากความประมาท ปีต่อมาจึงเรียนซ้ำประโยค 4 อีกครั้งและเตรียมสอบนักธรรมเอ ด้วย ซึ่งผลการสอบปรากฏว่าสอบได้ทั้งนักธรรมชั้นเอกและเปรียญธรรม 4 ประโยคในปี 2475
ดังนั้น จะเห็นได้ว่าทรงมีพระอัธยาศัยใฝ่รู้ใฝ่เรียนมาตั้งแต่ทรงเป็นพระเปรียญ โดยเฉพาะในด้านภาษา ทรงศึกษาภาษาต่างๆ เช่น อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมัน จีน และ สันสกฤต จนสามารถใช้ประโยชน์ได้เป็นอย่างดี กระทั่งเจ้าพระคุณสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ พระอุปัชฌาย์ของพระองค์ทรงเห็นว่า จะเพลินในการศึกษามากไป
วันหนึ่งระหว่างที่เจ้าพระคุณกำลังง่วนสนใจศึกษาภาษาต่างๆ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า ได้มีรับสั่งให้เข้าเฝ้าแล้วตรัสถามว่า “กำลังเรียนใหญ่หรือ อย่าบ้าเรียนมากนัก หัดทำกรรมฐานเสียบ้าง” รับสั่งดังกล่าว ทำให้เจ้าพระคุณหันมาสนใจการปฏิบัติกรรมฐาน และทำตลอดมาอย่างต่อเนื่อง โดยถือเอาสมเด็จพระสังฆราชเจ้าฯ เป็นครูกรรมฐานพระองค์แรก
แต่ขณะเดียวกันก็มิได้ละจากเส้นทางสายปริยัติ โดยสอบได้ชั้นสูงขึ้นเรื่อยๆ ชนิดแทบจะเรียกได้ว่า “ปีเว้นปี” กระทั่งสอบได้เปรียญธรรม 9 ประโยค อันถือเป็นระดับชั้นสูงสุดในปี 2484 ขณะมีอายุได้ 29 ปีและมีพรรษาในภิกขุภาวะเพียง 9 ปีเท่านั้น
ด้วยเหตุดังกล่าว จึงสามารถกล่าวได้ว่าทรงเป็นพระมหาเถระที่ทรงภูมิธรรมทั้งด้านปริยัติและด้านปฏิบัติ
ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ เมื่อได้รับการพระราชทานสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช กล่าวคือโดยปกติแล้วตามธรรมเนียมที่ถือเป็นประเพณีปฏิบัติกันมาแต่ครั้งต้นกรุงรัตนโกสินทร์ สมเด็จพระสังฆราชที่เป็นพระบรมวงศานุวงศ์จะมีพระนามเฉพาะแต่ละพระองค์ไป เช่น สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส หรือสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรยาณวงศ์ ส่วนสมเด็จพระสังฆราชที่เป็นสามัญชนจะได้รับพระราชทานสถาปนาในราชทินนามสำหรับตำแหน่งคือ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณเหมือนกันทุกพระองค์ เจ้าพระคุณสมเด็จฯ จึงทรงเป็นพระสังฆราชพระองค์แรกที่มิได้เป็นพระบรมวงศานุวงศ์ ทว่า ทรงได้รับพระราชทานสถาปนาในราชทินนามพิเศษ ทั้งนี้ก็เพื่อให้พระเกียรติคุณทางวิปัสสนาธุระเป็นที่ปรากฏอยู่สืบไป
ทรงเป็นสหายธรรมหลวงมหาตาบัว-ท่านพุทธทาส
นอกจากนี้ หลายคนอาจจะยังไม่รู้ว่า สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชฯ ทรงมีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับพระเถราจารย์ที่สำคัญของไทย หลายต่อหลายรูป แต่ที่ว่ากันว่าใกล้ชิดมีอยู่ 2 รูปคือ พระธรรมวิสุทธิมงคล หรือหลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน แห่งวัดป่าบ้านตาด จังหวัดอุดรธานี และพระธรรมโกศาจารย์ หรือท่านพุทธทาสภิกขุ แห่งสวนโมกขผลาราม จังหวัดสุราษฎร์ธานี
แน่นอน เรื่องนี้ย่อมมีที่มาที่ไป
กล่าวคือ ในปี 2509 คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติให้กรมการศาสนาดำเนินการฝึกอบรมพระธรรมทูตเพื่อส่งไปประกาศพระศาสนาในต่างประเทศ ในความอุปถัมภ์ของรัฐบาล ในการนี้มหาเถรสมาคมเห็นชอบแต่งตั้งพระสาสนโสภณ(สมณศักดิ์ของเจ้าพระคุณในขณะนั้น) เจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหารและกรรมการมหาเถรสมาคมให้เป็นประธานกรรมการอำนวยการฝึกอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศ
ในการนี้พระเถราจารย์ซึ่งร่วมอยู่ในคณะกรรมการชุดแรก ล้วนแล้วแต่ปรากฏนามว่าเป็นภิกษุผู้ทรงภูมิธรรมและปฏิบัติแห่งยุครัชกาลปัจจุบันทั้งสิ้น อาทิ
สมเด็จพระมหาวีรวงศ์(พิมพ์ ธมฺมธโร) วัดพระศรีมหาธาตุ
พระราชชัยกวี(เงื่อม อินฺทปญฺโญ) ภายหลังได้เป็นที่พระธรรมโกศาจารย์ หรือที่รู้จักกันในชื่อท่านพุทธทาสภิกขุ แห่งสวนโมกขผลาราม จังหวัดสุราษฎร์ธานี
พระราชสิทธิมุนี(โชดก ญาณสิทฺธิ) ภายหลังได้เป็นที่พระธรรมธีรราชมหามุนี วัดมหาธาตุ
พระปัญญานันทมุนี(ปัน ปญฺญานนฺโท) ภายหลังได้เป็นที่พระพรหมมังคลาจารย์ หลวงพ่อปัญญานันทภิกขุ วัดชลประทานรังสฤษฎ์ จังหวัดนนทบุรี
พระมหาบัว ญาณสมฺปนฺโน ภายหลังได้เป็นพระธรรมวิสุทธิมงคล วัดป่าบ้านตาด จังหวัดอุดรธานี
เล่ากันมาว่า ในระยะเริ่มต้นของการฝึกอบรมพระธรรมทูตนั้น บางครั้งได้ไปอบรมพระธรรมทูตที่สวนโมกข์ อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี เจ้าพระคุณฯ และท่านพุทธทาสภิกขุใช้วิธีการฝึกฝนบรรดาพระภิกษุตามธรรมเนียมดั้งเดิมแบบยุคพุทธกาล กระทั่งว่า เมื่อบิณฑบาตกลับมาแล้วให้พระสงฆ์ฉันภัตตาหารอยู่ตามโคนไม้ เมื่อถึงเวลาอนุโมทนาท่านก็จะไม่ให้สวดมนต์เช่นที่เคยทำกันมา แต่จะใช้วิธีเรียกภิกษุรูปใดรูหนึ่งขึ้นมาแล้วให้เทศน์แทน โดยกำหนดว่า เมื่อเรียกรูปไหนก็ต้องเทศน์ได้ทุกรูป เพื่อฝึกฝนความพร้อมในการเป็นพระธรรมทูต
นอกจากนี้ ยังมีเหตุการณ์ที่ล่ากันว่าเมื่อคราวท่านพุทธทาสภิกขุอาพาธหนักนั้น เจ้าพระคุณได้เคยไปเยี่ยมท่านพุทธทาสภิกขุที่ได้ขอละสังขาร โดยท่านให้เหตุผลว่า อายุเกินพระพุทธเจ้ามาแล้ว แต่เจ้าพระคุณได้ขอไว้ หลังจากนั้นอาการของท่านพุทธทาสก็ฟื้นขึ้นมาและมีชีวิตอยู่ต่อมาอีกลหายปี
เจ้าคุณพระศายกวงศ์วิสุทธิ์ หรือ ดร.อนิลมาน ธมฺมสากิโย ผู้ช่วยเลขานุการสมเด็จพระสังฆราช ซึ่งเป็นหนึ่งในคณะผู้ติดตาม เล่าว่า ตอนที่เสด็จไปเยี่ยมนั้น ท่านพุทธทาสยังไม่ได้อาพาธหนัก ยังไม่ล้มหมอนนอนเสื่อ เป็นแต่เพียงเจ็บออดแอด ยังออกมารับเสด็จได้เป็นชั่วโมง ท่านพาไปดูโรงมหรสพทางวิญญาณ ลานหินโค้ง แล้วก็นำเสด็จมาประทับที่ม้าหินหน้ากุฏิที่ปกติเก้าอี้ม้าหินนั้นท่านอาจารย์พุทธทาสนั่งประจำ ท่านอาจารย์พุทธทาสทูลสมเด็จพระสังฆราชให้ประทับแล้วท่านก็ไม่ยอมนั่ง ท่านพุทธทาสทูลว่า “ขอประทานกราบสมเด็จพระสังฆราชหน่อยที่อุตส่าห์เสด็จมาเยี่ยมถึงวัด” เจ้าพระคุณสมเด็จฯ ทรงพยายามห้าม แต่ท่านไม่ยอม แล้วต่างคนก็ต่างกราบ พอท่านพุทธทาสกราบ เจ้าพระคุณสมเด็จฯ ก็บอกไม่ได้ๆ ก็ต้องกราบกลับ
ส่วนเรื่องขอให้มีชีวิตต่อนั้น พระอาจารย์อนิลมานบอกว่า เหมือนกับเวลาไปเยี่ยมคนที่รู้จักกันแล้วระหว่างคุยก็ปรารภเรื่องสังขารว่าไม่ไหวแล้ว แล้วเจ้าพระคุณสมเด็จฯ ก็รับสั่งว่าขออาราธนาใต้เท้าอยู่ก่อนอย่าเพิ่งไป...
นอกจากนั้น เมื่อครั้งมีพระพลานามัยแข็งแรง สมเด็จพระสังฆราชฯ จะเสด็จไปยังวัดป่าในต่างจังหวัดเป็นเวลาอย่างน้อย 1 เดือนเป็นประจำทุกปีเพื่อทรงเยี่ยมและสนทนาธรรมกับครูบาอาจารย์ฝ่ายกรรมฐาน เช่น หลวงปู่ขาว อนาลโย หลวงปู่เสาร์ กันตสีโล เป็นโอกาสให้ให้ทรงปฏิบัติองค์อย่างพระป่าเช่นเดียวกับพระรูปอื่น ทรงปฏิบัติสมาธิกรรมฐานอย่างวิเวกท่ามกลางความเงียบสงัดของธรรมชาติป่าเขา
นอกจากนี้ อีกวัดหนึ่งที่เสด็จไปก็คือ วัดป่าบ้านตาดของหลวงตามหาบัว ดังปรากฏรูปถ่ายในหลายวาระ
สอบที่มาคาถาชินบัญชร
คาถาชินบัญชรเป็นที่นับถือสวดกันแพร่หลาย กล่าวกันว่าเป็นของเจ้าพระคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์(โต พรหมฺรังสี) วัดระฆังโฆสิตาราม ครั้งหนึ่ง นายฉันทิชย์ กระแสสินธุ์ ได้เคยนำมาขอให้สมเด็จพระสังฆราชฯ แปลเพื่อพิมพ์ในหนังสือประวัติของเจ้าพระคุณสมเด็จฯ แต่ในฐานะที่สมเด็จฯ เชี่ยวชาญด้านปริยัติ ท่านพิจารณาแล้วยังเกิด “สงสัยในถ้อยคำและประโยคหลายแห่ง เพราะไม่อาจจับความได้ ทั้งเมื่อได้พบจากหลายสำนักเข้า ก็ได้พบคำที่ผิดเพี้ยนบ้างเกือบทุกฉบับ ไม่อาจตัดสินได้ว่าที่ถูกต้องเป็นอย่างใด ได้เคยนึกสงสัยมานานแล้วว่า เจ้าพระคุณสมเด็จฯ ได้เรียบเรียงขึ้นเองหรือได้ต้นฉบับมาจากไหน”
จนต่อมาเมื่อ ดร.เกษม ศิริสัมพันธ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการได้นำหนังสือ The Mirror of The Dhamma(กระจกธรรม) มาถวาย หนังสือเล่มนั้นเป็นหนังสือขนาดเล็กๆ เรียบเรียงโดยภิกษุนารทมหาเถระและกัสสปเถระ พิมพ์ในประเทศศรีลังกา เมื่ออ่านคาถาชินบัญชรในหนังสือเล่มนั้นดูแล้ว ปรากฏว่า
“...ก็ได้พบคำและประโยคที่เคยสงสัยในฉบับที่สวดกันในเมืองไทย ซึ่งจับความได้หายความข้องใจ จึงคิดว่าจะคัดฉบับลังกามาพิมพ์เพื่อผู้ที่ต้องการทราบจะได้อ่านพิจารณา และคิดจะปรับปรุงฉบับที่สวดกันที่เมืองไทย อนุวัตรฉบับลังกาเฉพาะที่เห็นว่าสมควรจะปรับปรุงด้วย”
ทั้งนี้ เมื่อเปรียบเทียบฉบับไทยและฉบับลังกาแล้ว สมเด็จพระญาณสังวรจึงสรุปได้ว่า “ต้นฉบับเดิมนั้นเป็นอันเดียวกันแน่ ฉบับลังกานั้นมี 22 บท ส่วนฉบับที่สวดกันในเมืองไทยมี 14 บท ก็คือ 14 บทข้างต้นของฉบับลังกานั่นเอง เพราะความเดียวกัน ถ้อยคำก็เป็นอันเดียวกันโดยมาก ส่วนคำอธิษฐานท้ายบทที่ 14 ของบทที่สวดกันในเมืองไทย ย่อตัดมาอย่างรวบรัดดีมาก บทคาถาที่ 9 ของฉบับไทย บรรทัดที่ 2 น่าจะเกินไป แต่จะคงไว้ก็ได้ ส่วนคาถาบทที่ 12 และ 13 สลับบรรทัดกัน เมื่อแก้ใหม่ตามฉบับที่ปรับปรุงแล้วนี้ จะถูกลำดับดี”
หนังสือเล่มนี้จึงเป็นการประชุมและชำระพระคาถาชินบัญชรสำนวนต่างๆ และให้ความรู้สมบูรณ์แปลกใหม่กว่าที่เคยทราบกันมา ภายหลังจากการตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 2518 ยังโปรดให้จัดสัมมนา ณโรงเรียนยุพราชวิทยาลัย จังหวัดชียงใหม่ เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2530 ก่อนจะตีพิมพ์ฉบับแก้ไขเพิ่มเติมครั้งที่ 2 เพื่อปรับปรุงให้ดีขึ้นกว่าเมื่อพิมพ์ครั้งแรกอีกด้วย
และต่อมาทรงได้รับข้อมูลจากพระเถระชาวพม่าคือท่านธัมมานันทะ ถึงได้ทราบจากหลักฐานของฝ่ายพม่าระบุว่า คาถาชินบัญชรแต่งในเมืองไทยในสมัยอาณาจักรล้านนาอยู่ใต้การปกครองของราชวงศ์พม่า และชาวพม่าเชื่อว่าพระเถระล้านลาแต่งขึ้นตามพระประสงค์ของกษัตริย์พม่าที่ปกครองล้านนาในสมัยนั้น จึงทรงสันนิษฐานว่า สมเด็จพระพุฒาจารย์(โต) น่าจะได้ฉบับเดิมมาตัดทินให้พอเหมาะพอดีตามที่ท่านต้องการ
ส่วนเมื่อถามว่าสมเด็จพระสังฆราชสวดมนต์บทใดเป็นประจำ จากการสืบค้นข้อมูลพบว่า ทรงสวดหลายบทไปเรื่อยไม่ซ้ำ และทรงทบทวนปาฏิโมกข์ อยู่เสมอเพื่อไม่ให้ลืม เนื่องจากทรงทบทวนปาฏิโมกข์เป็นประจำ จึงจำปาฏิโมกข์ได้คล้อง
บางครั้งเมื่อเสด็จไปพักแรมยังวัดต่างจังหวัดและตรงกับวันพระกลางเดือนหรือสิ้นเดือน ก็จะทรงขออนุญาตเจ้าอาวาสของวัดนั้นสวดปาฏิโมกข์ให้พระสงฆ์ในวัดนั้นฟัง โดยทรงกล่าวกับเจ้าอาวาสว่า “ขออนุญาตสวดปาฏิโมกข์ถวาย” ซึ่งเป็นเรื่องที่หายากมากที่พระผู้ใหญ่ระดับนี้จะสวดปาฏิโมกข์เอง
อย่างไรก็ตาม หลังจากทรงปฏิบัติพระกรณียกิจมามากมาย กระทั่งได้รับการยอมรับว่า เป็นสมเด็จพระสังฆราชที่ทรงคุณอันประเสริฐรูปหนึ่งแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เวลาที่ล่วงเลยไปและพระชนมายุที่เพิ่มขึ้นทำให้ประชวรต้องเสด็จเข้ารับการรักษาพระวรกายและประทับรักษาพระองค์ ณโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นมา จากนั้นมหาเถรสมาคม(มส.) ซึ่งเป็นองค์กรปกครองสูงสุดของคณะสงฆ์ไทยได้แต่งตั้งให้สมเด็จพระพุฒาจารย์(เกี่ยว อุปเสโณ) เจ้าอาวาสวัดสระเกศราชวรมหาวิหาร เป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราชในวันที่ 26 มกราคม 2547
ต่อมาได้มีการแต่งตั้งคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราชเพื่อบริหารกิจการคณะสงฆ์แทนพระองค์ขึ้นในวันที่ 20 กรกฎาคมปีเดียวกันนั้นเองจำนวน 7 รูป โดยมีสมเด็จพระพุฒาจารย์(เกี่ยว อุปเสโณ) ในฐานะพระที่มีอาวุโสสูงสุดโดยสมณศักดิ์ทำหน้าที่ประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช กระทั่งสมเด็จพระพุฒาจารย์ได้มรณภาพภาพไปเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2556 ที่ผ่านมา จึงได้มีการแต่งตั้ง “สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์(ช่วง วรปญฺโญ)” เจ้าอาวาสวัดปากน้ำขึ้นทำหน้าที่ประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราชแทน
ขณะที่พระราชาคณะที่เหลืออีก 6 รูปประกอบด้วย สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ วัดสัมพันธวงศ์ สมเด็จพระมหามุนีวงศ์ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม สมเด็จพระวันรัต วัดบวรนิเวศวิหาร สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ วัดสุทัศนเทพวราราม สมเด็จพระธีรญาณมุนี วัดเทพศิรินทราวาส และสมเด็จพระพุทธชินวงศ์ วัดพิชยญาติการามวรวิหาร
ทั้งนี้ การแต่งตั้งคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวได้ก่อให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ตามมามากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นเรื่องความเหมาะสม เนื่องจากไม่เคยปรากฏเหตุการณ์เช่นนี้มาก่อนในประวัติศาสตร์
...วันนี้ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายกได้เจริญพระชันษาครบ 100 ปี จึงเป็นวโรกาสอันเป็นมงคลที่พุทธศาสนิกชนคนไทยจะได้พร้อมใจกันถวายพระพรให้ทรงมีพระพลานามัยที่แข็งแรง เจริญพระชนม์ชีพเพื่อเป็นมิ่งขวัญและเป็นเสาหลักของบวรพุทธศาสนาสืบไปตราบนานเท่านาน....
ทีฆายุโก โหตุ สังฆราชา
ทีฆายุโก โหตุ พระสังฆบิดร
ขอขอบคุณข้อมูลจากหนังสือ
-99 คำถามเกี่ยวกับสมเด็จพระสังฆราช
-พระผู้สำรวมพร้อม
-จดหมายเหตุพระราชพิธีสถาปนาสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก