xs
xsm
sm
md
lg

มิงกะลาบา “มัณฑะเลย์” ยลเสน่ห์อดีตราชธานี ร่วมพิธีล้างพระพักตร์พระพุทธรูปมีชีวิต

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภูเขามัณฑะเลย์ ปัจจุบันเป็นสถานที่ชมทิวทัศน์ยอดนิยมของเมืองมัณฑะเลย์
พูดถึงประเทศในอาเซียนที่เนื้อหอมที่สุดในตอนนี้ ต้องยกให้สหภาพพม่า หรือประเทศพม่า เพื่อนบ้านที่มีประวัติศาสตร์เกี่ยวพันกับประเทศไทยมายาวนาน และเป็นประเทศที่น่าจับตาทั้งเรื่องเศรษฐกิจ การเมือง และที่สำคัญคือการท่องเที่ยว เพราะตอนนี้หลายๆ สายการบินต่างพากันเปิดเส้นทางบินตรงจากกรุงเทพฯ ไปยังเมืองต่างๆ ของพม่า และยิ่งตอนนี้กำลังมีข่าวความคืบหน้าในเรื่องการยกเว้นวีซ่าสำหรับนักท่องเที่ยวชาวไทยที่จะไปเยือนพม่า ก็ยิ่งเพิ่มความคึกคักในกับการท่องเที่ยวเข้าไปใหญ่

“ตะลอนเที่ยว” ก็ได้มีโอกาสไปเยือนพม่าเมื่อเร็วๆ นี้ หลังจากที่สายการบินบางกอกแอร์เวย์สเปิดให้บริการเที่ยวบินตรงสู่กรุงเทพฯ ไปยังมัณฑะเลย์วันละ 1 เที่ยวบิน ตั้งแต่เดือน ก.ย. ที่ผ่านมา เป็นโอกาสดีที่จะได้มาเที่ยวชมเมืองมัณฑะเลย์ซึ่งถือเป็นเมืองใหญ่ของภาคกลางที่ปัจจุบันถือเป็นเมืองศูนย์กลางทางเศรษฐกิจของพม่า และนอกจากนั้นมัณฑะเลย์ยังเป็นเมืองหลวงเก่าของพม่าที่เต็มไปด้วยประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจ มาครั้งนี้มั่นใจว่าจะได้รับความรู้และเกร็ดประวัติศาสตร์น่าสนใจของเมืองมัณฑะเลย์อย่างเต็มเปี่ยม เพราะมี อาจารย์เผ่าทอง ทองเจือ มาเป็นวิทยากรบรรยายให้ความรู้ตลอดทั้งทริป
พระราชวังมัณฑะเลย์ที่สร้างจำลองขึ้นใหม่
ยลพระราชวัง ฟังเรื่องราวประวัติศาสตร์มัณฑะเลย์

“มัณฑะเลย์” เป็นเมืองหลวงเก่าของพม่า เป็นราชธานีสุดท้ายก่อนที่พม่าจะตกเป็นอาณานิคมของประเทศอังกฤษ และยังเป็นเมืองที่เต็มไปด้วยร่องรอยของประวัติศาสตร์และงานศิลป์อันล้ำค่า ผู้สร้างเมืองมัณฑะเลย์ขึ้นเป็นราชธานีก็คือ “พระเจ้ามินดง” กษัตริย์ผู้ทรงย้ายราชธานีจากกรุงอมรปุระมาสร้างเมืองใหม่ขึ้นใน พ.ศ.2400 ณ บริเวณพื้นที่ระหว่างแม่น้ำอิระวดีและภูเขาลูกหนึ่งที่มีชื่อว่า “มัณฑะเลย์” พร้อมตั้งชื่อเมืองตามภูเขาว่า “เมืองมัณฑะเลย์” โดยทรงเห็นว่าที่นี่มีชัยภูมิที่เหมาะสม อยู่ไกลจากการรุกรานของกองทัพเรืออังกฤษ และด้วยความเชื่อว่าภูเขามัณฑะเลย์เป็นภูเขาศักดิ์สิทธิ์ที่พระพุทธเจ้าเคยเสด็จมาประทับที่นี่ พร้อมทั้งมีพุทธทำนายว่าจะเป็นเมืองที่เจริญรุ่งเรืองด้วยพุทธศาสนา

ปัจจุบัน “ภูเขามัณฑะเลย์” กลายเป็นจุดชมวิวเมืองมัณฑะเลย์ที่เหมาะสมที่สุดและยังมองไปได้ไกลถึงแม่น้ำอิระวดี ทุกๆ เย็นจึงมีนักท่องเที่ยวจำนวนมากขึ้นไปชมวิวเมืองมัณฑะเลย์มุมสูงพร้อมทั้งชมพระอาทิตย์ตก โดยบนยอดเขานั้นยังมีปูชนียสถานให้สักการะกันอีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นวิหารบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ พระพุทธรูป “ชเวยัตตอ” หรือพระพุทธรูปปางพยากรณ์ที่สร้างขึ้นตามตำนานที่ว่าพระพุทธเจ้าได้เสด็จมาที่นี่ดังที่กล่าวไปแล้ว และยังมีวิหารตองซูพญา ที่เป็นอาคารทรงมณฑปมีระเบียงให้เดินชมวิวรอบทิศ
นักท่องเที่ยวถ่ายรูปกับวิหารวัดชเวนันดอ
แน่นอนว่าเมื่อเป็นราชธานีเก่า ย่อมต้องมีพระราชวังเป็นศูนย์กลางของเมืองด้วยเช่นกัน นั่นก็คือ “พระราชวังมัณฑะเลย์” ที่สร้างขึ้นในสมัยพระเจ้ามินดง ด้วยการรื้อพระราชวังจากเมืองหลวงเดิมคืออมรปุระมาสร้างใหม่ และสร้างเพิ่มเติมอย่างงดงามวิจิตร โดยเป็นอาคารไม้ที่มีการประดับตกแต่งด้วยไม้แกะสลักปิดทองอย่างอลังการ แต่น่าเสียดายที่ว่าอาคารพระราชวังเหล่านี้ได้ถูกทำลายราบคาบในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่ทางรัฐบาลพม่าได้สร้างจำลองขึ้นใหม่เพื่อให้นักเที่ยวได้เที่ยวชมกัน
ภายในวิหารวัดชเวนันดอ
แม้พระราชวังมัณฑะเลย์ในวันนี้จะดูไร้ชีวิตชีวาเพราะการสร้างจำลองขึ้นใหม่ทำได้เพียงแค่ภายนอก อีกทั้งยังจำลองความอลังการมาได้ไม่ถึง 1 ใน 10 แต่หากได้เดินชมบรรยากาศของพระราชวังพร้อมกับได้ฟังประวัติศาสตร์อันแสนดราม่าของราชธานีมัณฑะเลย์ในช่วงก่อนที่พม่าจะตกเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษ ที่เต็มไปด้วยการเข่นฆ่าเพื่อแย่งชิงอำนาจ ความอ่อนแอหูเบาของพระเจ้าสีป่อ กษัตริย์องค์สุดท้ายของพม่า และความหลงมัวเมาในอำนาจจนต้องทำทุกวิถีทางแม้กระทั่งฆ่าพระญาติพระวงศ์นับร้อยเพื่อกุมอำนาจไว้ในมือของพระนางศุภยลัต พระมเหสี ทำให้ประวัติศาสตร์พม่าในช่วงนี้เต็มไปด้วยความมืดมน (คลิกอ่านรายละเอียดได้ใน "มัณฑะเลย์...บนเสน่ห์ประวัติศาสตร์สุดดราม่า")
ทั้งภายนอกและภายในงดงามไปด้วยไม้แกะสลัก
แต่ก่อนที่จะมืดมนไปมากกว่านี้ “ตะลอนเที่ยว” ขอวกกลับมาที่ตัวพระราชวังกันอีกครั้ง ที่กล่าวไปว่าพระราชวังมัณฑะเลย์นี้จำลองความอลังการมาได้ไม่ถึง 1 ใน 10 นั่นก็เพราะยังคงมีตำหนักหลังหนึ่งในพระราชวังที่เหลือรอดจากไฟสงครามมาได้ นั่นก็คือพระตำหนักที่ประทับของพระเจ้ามินดง โดยหลังจากพระเจ้ามินดงสวรรคต พระราชโอรสคือพระเจ้าสีป่อก็โปรดฯ ให้ย้ายพระตำหนักแห่งนี้ออกจากวัง (ตามความเชื่อว่าหลังพระราชบิดาสวรรคตต้องทำการย้ายพระตำหนัก) มาไว้ยังที่ที่เป็น “วัดชเวนันดอ” ในปัจจุบัน
งานแกะสลักไม้อันงามวิจิตรบนหลังคา
พระตำหนักหลังนี้เป็นอาคารไม้ก่อสร้างอย่างงดงาม แม้ขนาดจะไม่ใหญ่โตนักแต่มีความอลังการตรงที่ลวดลายแกะสลักประดับตกแต่งไม่ว่าจะเป็นที่ผนัง เชิงชาย ปั้นลม ระเบียง บานประตูหน้าต่าง กรอบประตูหน้าต่าง ต่างแกะสลักได้อย่างละเอียดวิจิตรละลานตา นับเป็นสุดยอดงานแกะสลักไม้ที่เหลือรอดมาให้เราได้เห็นเป็นบุญตา เพราะฉะนั้นลองนึกดูว่าหากพระราชวังมัณฑะเลย์ไม่ถูกทำลายไป ความอลังการของท้องพระโรง หรือที่ประทับของกษัตริย์จะมีมากมายกว่านี้สักกี่เท่า
มณฑปที่ประดิษฐานพระมหามัยมุนี
“พระมหามัยมุนี” พระพุทธรูปมีชีวิต

จุดมุ่งหมายของนักท่องเที่ยวส่วนมาก โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจากเมืองพุทธด้วยกันอย่าง “ตะลอนเที่ยว” เมื่อมายังเมืองมัณฑะเลย์ก็คือการได้มากราบสิ่งศักดิ์สิทธิ์สูงสุด 1 ใน 5 ของพม่า นั่นก็คือ “พระมหามัยมุนี” ซึ่งสิ่งศักดิ์สิทธิ์หนึ่งเดียวที่เป็นพระพุทธรูป (อีก 4 สิ่งศักดิ์สิทธิ์ได้แก่ เจดีย์ชเวดากอง เมืองย่างกุ้ง พระธาตุอินทร์แขวน เมืองไจก์โถ่ เจดีย์ชเวมอดอร์ หรือเจดีย์มุเตา เมืองหงสาวดี และเจดีย์ชเวซิกอง เมืองพุกาม) หากใครมามัณฑะเลย์แล้วไม่ได้ไปสักการบูชาท่านก็เหมือนว่ายังมาไม่ถึง หรือหากได้มาสักการะท่านแล้ว แต่ยังไม่ได้ชม “พิธีล้างพระพักตร์พระมหามัยมุนี” ก็เรียกว่ามาถึงที่แล้วแต่ไม่ได้เห็นของดีที่ควรค่าแก่การชม (คลิกชมคลิป "พิธีล้างพระพักตร์พระมหามัยมุนี พระพุทธรูปมีชีวิต")
เจ้าอาวาสใช้พัดทองคำพัดโบกหลังจากล้างพระพักตร์พระพุทธรูป
“พระมหามัยมุนี” เป็นพระพุทธรูปหล่อทองสำริดปางมารวิชัยทรงเครื่อง หน้าตักกว้าง 9 ฟุต สูง 12 ฟุต สร้างขึ้นในราว พ.ศ. 688 โดยพระเจ้าจันทสุริยะ กษัตริย์แห่งเมืองธรรมวดี แคว้นยะไข่ ซึ่งทรงศรัทธาในองค์พระพุทธเจ้าอย่างมาก จึงได้สร้างพระพุทธรูปเพื่อเป็นตัวแทนของพระองค์ขึ้น แต่มาถึง พ.ศ. 2327 พระเจ้าปดุงซึ่งเป็นกษัตริย์พม่าได้ไปตีเมืองยะไข่ และอัญเชิญพระพุทธมหามัยมุนีข้ามแม่น้ำอิรวดีมาประทับที่มัณฑะเลย์ได้สำเร็จ ปัจจุบันองค์พระประดิษฐานอยู่ที่ “วัดมหามัยมุนี” หรือชื่อดั้งเดิมคือ วัดปยกยี (Payagyi) ที่หมายถึงวัดยะไข่ เพราะเดิมพระมหามัยมุนีประดิษฐานอยู่ที่เมืองยะไข่นั่นเอง
ชาวพม่าผู้ศรัทธาตื่นมาร่วมพิธีล้างพระพักตร์พระมหามัยมุนีเป็นจำนวนมากทุกเช้า
ความเชื่อสำคัญอย่างหนึ่งที่ชาวพม่าเชื่อและศรัทธากันมายาวนานก็คือ พระมหามัยมุนีเป็นพระพุทธรูปมีชีวิต เพราะพระพุทธเจ้าได้ประทานลมหายใจอันศักดิ์สิทธิ์เข้าไปในพระวรกายของพระพุทธรูปองค์นี้ นี่จึงเป็นต้นกำเนิดของพิธีล้างพระพักตร์พระมหามัยมุนี ที่เจ้าอาวาสจะต้องจัดพิธีล้างหน้าแปรงฟันให้พระพุทธรูปทุกๆ วันในตอนเช้ามืด เพราะถือว่าท่านมีชีวิต มีลมหายใจ นับเป็นพิธีแห่งความศรัทธาหนึ่งเดียวที่สืบต่อกันมานับพันปี

หากใครอยากมาชมพิธีล้างพระพักตร์จะต้องมาที่วัดตั้งแต่เวลาประมาณตี 4 ท่านเจ้าอาวาสจะเป็นคนประกอบพิธีด้วยตัวเอง โดยน้ำที่ใช้ล้างพระพักตร์จะมีส่วนผสมของน้ำไม้จันทน์หอมและทานาคา (สมุนไพรที่ชาวพม่าใช้ทาใบหน้าเพื่อบำรุงผิว) นอกจากล้างพระพักตร์แล้วยังต้องมีการแปรงพระโอษฐ์ (ริมฝีปาก) ที่เป็นดังการแปรงฟัน เช็ดพระพักตร์ให้สะอาดเงางาม และใช้พัดโบกให้พระวรกายแห้ง ซึ่งอุปกรณ์ในการล้างพระพักตร์ทั้งขันน้ำและพัดล้วนทำจากทองคำ แสดงให้เห็นถึงความศรัทธาสูงสุดที่มอบแด่องค์พระพุทธมหามัยมุนี
มณฑปครอบแผ่นจารึกหินอ่อนที่วัดกุโสดอ
ชมหลากหลายวัดงามเมืองมัณฑะเลย์

พม่าได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่ยังคงมีศรัทธาเหนียวแน่นในพระพุทธศาสนา ในเมืองจึงมีวัดมากมายหลายแห่งให้พุทธศาสนิกชนได้เข้าวัดทำบุญกัน นักท่องเที่ยวอย่างเรานอกจากจะได้ไหว้พระทำบุญร่วมกันแล้ว ก็ยังจะได้เห็นศิลปะและสถาปัตยกรรมงามๆ ของวัดแต่ละแห่งในเมืองมัณฑะเลย์ ไม่ว่าจะเป็น “วัดกุโสดอ” วัดที่พระเจ้ามินดงทรงสร้างขึ้นพร้อมๆ กับการสร้างเมืองใน พ.ศ.2400 และพระองค์ยังโปรดเกล้าฯ ให้จัดสังคายนาพระไตรปิฎกครั้งที่ 5 ของโลกขึ้น โดยทรงให้จารึกพระไตรปิฎกจำนวน 84,000 พระธรรมขันธ์ลงบนแผ่นหินอ่อน 729 แผ่น รวม 1,428 หน้า และได้สร้างมณฑปสีขาวครอบแผ่นจารึกหินอ่อนเหล่านี้ไว้ 1 แผ่นต่อ 1 มณฑป เรียงรายรอบพระเจดีย์มหาโลกมารชิน ที่จำลองแบบมาจากเจดีย์ชเวสิกองแห่งเมืองพุกาม
พระพุทธรูปหินอ่อนองค์โตที่วัดมัณฑะเลย์จอกทอคยี
ส่วนที่ “วัดมัณฑะเลย์จอกทอคยี” ก็เป็นอีกหนึ่งวัดสำคัญของเมืองที่ตั้งอยู่บริเวณเชิงเขามัณฑะเลย์ ภายในวัดประดิษฐานพระพุทธรูปหินอ่อนองค์ใหญ่ที่สร้างในสมัยพระเจ้ามินดง แล้วเสร็จใน พ.ศ. 2408 องค์พระแกะสลักจากหินอ่อนเพียงก้อนเดียวออกมาเป็นพระพุทธรูปที่มีพุทธลักษณะอันงดงาม และเคยเป็นพระพุทธรูปหินอ่อนที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในพม่า ก่อนจะถูกชิงตำแหน่งโดยพระพุทธรูปหินอ่อนสร้างใหม่ในเมืองย่างกุ้งเมื่อไม่กี่ปีมานี้
พระปางไสยาสน์ในวัดกุสินารา
อีกหนึ่งวัดที่เชิงเขามัณฑะเลย์คือ “วัดกุสินารา” วัดเก่าแก่อายุกว่า 120 ปี ที่สร้างขึ้นในสมัยพระเจ้ามินดง ชื่อวัดคือชื่อเดียวกับเมืองกุสินาราในประเทศอินเดียซึ่งเป็นสถานที่ปรินิพพานของพระพุทธเจ้า ภายในวัดจึงสร้างเป็นบรรยากาศคล้ายโถงถ้ำอันลึกลับ บนเสาวาดเป็นลวดลายของต้นสาละซึ่งตามตำนานเล่าว่าพระพุทธเจ้าปรินิพพานในป่าใต้ต้นสาละ พระพุทธรูปประธานของวัดเป็นพระพุทธรูปปางไสยาสน์อันงดงาม ด้านซ้ายและขวามีรูปปั้นพระสาวก พระฤาษี ยักษ์ และนักบวช ที่เข้ามาเฝ้าพระพุทธเจ้าเมื่อปรินิพพาน

และมาปิดท้ายการเที่ยวเมืองมัณฑะเลย์ที่ “วัดชเวอินบิน” ซึ่งอยู่ชานกรุงมัณฑะเลย์ วัดแห่งนี้เป็นวัดที่เอกชนสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2438 เป็นอาคารเก่าแก่ ดูได้จากประตูแบบโบราณที่ใช้วิธีเปิดยกขึ้นทั้งบานแล้วใช้ไม้ค้ำยันไว้ ภายในวัดมีภาพแกะสลักไม้ที่เชิงเสาโดยรอบเป็นเรื่องทศชาติชาดก มีงานแกะสลักไม้ในอารมณ์คล้ายๆ กับวัดชเวนันดอ อาจไม่อลังการเท่า แต่ “ตะลอนเที่ยว” ก็เดินชมความงามได้อย่างเพลิดเพลิน ไม่น้อยเลยทีเดียว
วัดชเวอินบิน อีกหนึ่งวัดที่งดงามด้วยงานไม้แกะสลัก
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

สายการบินบางกอกแอร์เวย์ส เปิดให้บริการเที่ยวบินตรงกรุงเทพฯ สู่มัณฑะเลย์ด้วยเครื่องบินแอร์บัส 319 ขนาด 144 ที่นั่ง เที่ยวบินออกจากกรุงเทพฯ PG709 เวลา 12.00 น. ถึงมัณฑะเลย์ เวลา 13.20 น. ขากลับ เที่ยวบิน PG710 ออกจากมัณฑะเลย์ เวลา 14.10 น. ถึงกรุงเทพฯ เวลา 16.35 น. ผู้โดยสารของสายการบินบางกอกแอร์เวย์สทุกท่านสามารถใช้บริการห้องพักรับรองผู้โดยสาร บูทีค เลาจน์ (Boutique Lounge) ได้ที่สนามบินสุวรรณภูมิ โดยให้บริการอาหาร เครื่องดื่ม ชา กาแฟ อินเตอร์เน็ต Wifi spot และมุมเด็กเล่น สำหรับสมาชิกฟลายเออร์โบนัส ระดับพรีเมียร์ขึ้นไป สามารถใช้บริการห้องรับรอง บลูริบบอนคลับ เลาจน์ (Blue Ribbon Club Lounge) ที่สนามบินสุวรรณภูมิได้อีกด้วย ผู้ที่สนใจสามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติม และสำรองที่นั่งได้ที่ www.bangkokair.com โทร 1771 ตลอด 24 ช.ม.

* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com

 

กำลังโหลดความคิดเห็น