xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

สุดท้ายก็หางโผล่ “สมุนแม้ว”ดันล้างผิดยกแก๊ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วรชัย เหมะ ส.ส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย ผู้เสนอร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ฉบับที่อยู่ระหว่างการพิจารณาในชั้นกรรมาธิการ
ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์-ควบคู่ไปกับการเร่งผ่านร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญประเด็นที่มาของ ส.ว.เพื่อแปรสภาพวุฒิสภาให้กลายเป็นสภาทาสและสภาผัวเมียเหมือนเมื่อครั้ง นช.ทักษิณ ชินวัตร ยังเป็นนายกรัฐมนตรี เพื่อกุมอำนาจฝ่ายนิติบัญญัติให้อยู่ในอุ้งมือได้อย่างเบ็ดเสร็จ

อีกด้านหนึ่ง รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร กำลังเร่งวันเร่งคืนที่จะผ่านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ฉบับที่นายวรชัย เหมะ ส.ส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย เป็นผู้เสนอ ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นการพิจารณาของคณะกรรมาธิการที่ชื่อว่า “คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำผิดเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง การแสดงออกทางการเมืองของประชาชน พ.ศ..... ”

เดิมทีนั้น พรรคเพื่อไทยจะให้เสร็จในชั้นกรรมาธิการภายในสิ้นเดือนกันยายน อย่างไรก็ตาม เมื่อ ส.ส.มีภาระกิจต้องไปช่วยกันลากร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญประเด็นที่มาของ ส.ว.รวมถึงร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2557 ทำให้การพิจารณาร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมในชั้นกรรมาธิการต้องยืดออกไป

ข้ออ้างในการเสนอร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมโดย ส.ส.พรรคเพื่อไทยนั้น บอกว่า เพื่อสร้างความปรองดองขึ้นในชาติ จึงควรนิรโทษความผิดให้บรรดามวลชนทุกกลุ่มทุกสีตั้งแต่หลังเหตุการณ์รัฐประหารเมื่อปี 2549 จนถึง พ.ค.ปี 2554 โดยไม่ครอบคลุมถึงบรรดาแกนนำ ผู้สั่งการ รวมทั้งเจ้าหน้าที่รัฐซึ่งใช้ความรุนแรงทำให้เกิดการสูญเสีย

หากดูผิวเผินก็ดูเหมือนว่า ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ มุ่งจะยกเว้นความผิดให้แก่ผู้เข้าร่วมชุมนุมทางการเมืองด้วยใจบริสุทธิ์ ไม่รวมถึงแกนนำหรือผู้สั่งการให้เกิดความรุนแรง และไม่ครอบคลุมถึง นักโทษหนีคุก ทักษิณ ชินวัตร ผู้ชักใยอยู่เบื้องหลัง ตลอดจนเหล่าแกนนำคนเสื้อแดงที่เป็นผู้ต้องหาก่อการร้ายเผาบ้านทำลายเมืองแต่อย่างใด

อย่างไรก็ตาม หากได้ติดตามการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมในชั้นกรรมาธิการฯ ก็จะเห็นความพยายามของกรรมาธิการจากซีกรัฐบาลที่จะขยายขอบเขตการนิรโทษกรรมให้ครอบคลุมมากกว่าผู้ชุมนุมโดยทั่วไป

ในการประชุมคณะกรรมาธิการชุดนี้ เมื่อวันที่ 12 ก.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการหารือถึงแนวทางในการขอข้อมูลจากหน่วยงานต่างๆ เพื่อกำหนดขอบเขตของบุคคลที่จะได้รับการนิรโทษกรรมจากเหตุการณ์การชุมนุมทางการเมือง มีการเสนอว่าไม่ควรที่จะยึดติดเพียงแค่ช่วงเวลาตั้งแต่เดือนกันยายน 2549 ถึง เดือนพฤษภาคม 2553 แต่ควรรวมเหตุการณ์ก่อนช่วงเวลาดังกล่าวที่เป็นสาเหตุของชนวนความขัดแย้งที่เชื่อมโยงรวมเข้าด้วยกัน แต่สุดท้ายที่ประชุมยังไม่ได้ข้อสรุป

ต่อมาในการประชุมกรรมาธิการฯ วันที่ 19 ก.ย. ซึ่งมีนายสามารถ แก้วมีชัย เป็นประธาน ที่ประชุมมีมติเห็นพ้องว่าให้มีการนิรโทษกรรมผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการกระทำความผิดทางการเมืองโดยยึดตามเหตุการณ์การชุมนุมที่เกิดขึ้นตั้งแต่ พ.ศ.2548 ก่อนเกิดการปฏิวัติ 19 กันยายน พ.ศ.2549 อย่างไรก็ตาม การหารือดำเนินไปได้เพียง 1 ชั่วโมง ก็ต้องมีการเลื่อนการประชุมออกไป เนื่องจากสภาผู้แทนราษฏรมีการพิจารณาเรื่องสำคัญที่ต้องมีการลงมติ

ทั้งนี้ หากจะมองย้อนหลังไปถึงช่วงปี 2548 ต่อเนื่องถึงช่วงก่อนการยึดอำนาจวันที่ 19 กันยายน 2549 เพื่อดูว่าหากมีการขยายขอบเขตการนิรโทษกรรมให้ครอบคลุมถึงช่วงดังกล่าว ใครจะได้ประโยชน์บ้าง ก็จะพบว่าในปี 2548 เริ่มมีการออกมาต่อต้านระบอบทักษิณ โดยนายสนธิ ลิ้มทองกุล ที่ออกมาจัดรายการเมืองไทยรายสัปดาห์สัญจร หลังจากรายการถูกถอดออกจากช่อง 9 โดยเริ่มจัดที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก่อนที่จะย้ายไปที่สวนลุมพินี ซึ่งก็มีคนของรัฐบาลพรรคเพื่อไทยในขณะนั้นจัดม็อบเจ้าหน้าที่ป่าไม้ไปก่อกวน ถึงขึ้นมีการปาประทัดยักษ์เข้าใส่และมีผู้บาดเจ็บเลือดตกยางออก แต่ตำรวจก็ใส่เกียร์ว่าง คดีความไม่คืบหน้า

ในช่วงต้นปีถึงกลางปี 2549 มีการชุมนุมขับไล่ นช.ทักษิณ ชินวัตร นายกฯ รักษาการในขณะนั้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งฝ่าย นช.ทักษิณก็จัดม็อบของตัวเองมาทำร้ายฝ่ายต่อต้าน โดยมีเหตุการณ์อัปยศที่หลายคนยังจำได้ดี คือเหตุการณ์ที่หน้าห้างเซ็นทรัลเวิลด์ในเดือนสิงหาคม 2549 ซึ่งฝ่าย นช.ทักษิณได้ให้ตำรวจจัดม็อบอันธพาล บางคนเป็นผู้ต้องขังที่ยังไม่พ้นโทษ มาทำร้ายประชาชนที่ไปตะโกนขับไล่ จนมีคนแก่และสุภาพสตรีได้รับบาดเจ็บเลือดอาบหลายคน โดยที่คนร้ายผู้ก่อเหตุยังไม่เคยได้รับโทษ ส่วนนายตำรวจที่อยู่เบื้องหลังเหตุการณ์ อย่าง พ.ต.อ.ฤทธิรงค์ เทพจันดา หรือ “โอ๋ สืบ6” ตำแหน่ง ผกก.สส.บก.น.6 ในขณะนั้น แม้จะถูก ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดให้ไล่ออก แต่เมื่อระบอบทักษิณฟื้นคืนชีพ ก็สามารถกลับเข้ารับราชการได้อีก โดยเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น “ธนายุตม์ วุฒิจรัสธำรง” ครองยศ พล.ต.ต. กินตำแหน่งผู้บังคับการตำรวจจังหวัดนนทบุรีในปัจจุบัน

นั่นแสดงว่า การขยายการนิรโทษกรรมให้ครอบคลุมย้อนไปถึงปี 2548 ก็เพื่อลบล้างความผิดให้พรรคพวกบริวารในเครือข่ายระบอบทักษิณที่ยังตกค้างอยู่เท่านั้นเอง

เจตนาที่จะดันทุรังออกกฎหมายนิรโทษกรรมเพื่อพวกพ้องของตนเองปรากฏชัดเจนยิ่งขึ้นในการประชุมคณะกรรมาธิการฯ เมื่อวันที่ 3 ต.ค. โดยมีนายสามารถ แก้วมีชัย ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทยเป็นประธานเช่นเดิม ซึ่งคณะกรรมาธิการได้สอบถามความคืบหน้าการทวงข้อมูลคดีที่เกี่ยวของทางการเมืองจากหน่วยงานต่างๆ ซึ่งได้รับแล้วจาก 4 หน่วยงาน คือสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมสอบสวนคดีพิเศษ ป.ป.ช. และกรมราชทัณฑ์ แต่ยังไม่ได้รับข้อมูลจากศาลและอัยการ

อย่างไรก็ตาม นายวรชัย เหมะ ในฐานะกรรมาธิการได้เสนอให้ที่ประชุมเริ่มพิจารณามาตรา แม้ยังได้รับข้อมูลที่ไม่ครบ โดยอ้างว่าได้ใช้เวลานานแล้วในการหารือแต่ยังไม่สามารถเข้าสู่เนื้อหา ในขณะที่ประชาชนที่ติดคุกไม่ได้รับความยุติธรรม และรอการนิรโทษกรรมอยู่ แต่กรรมาธิการที่เป็น ส.ส.ฝ่ายค้าน อาทิ นายนิพิษฐ์ อินทรสมบัติ ส.ส.พัทลุง มองว่าควรรอให้ข้อมูลครบถ้วนก่อนเริ่มพิจารณามาตรา 1 ซึ่งถ้าเริ่มพิจารณาก่อนแต่เมื่อได้ข้อมูลไม่ครบก็ล่าช้าอยู่ดี

ขณะที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้าน ในฐานะกรรมาธิการ ไม่ติดใจกรณีข้อมูลไม่ครบ แต่ติดใจประเด็นกรณีกรอบกฎหมายที่ร่างมามีความไม่ชัดเจน อาทิ การเทียบเคียงการนิรโทษกรรมครั้งนี้กับการนิรโทษกรรมในอดีต ซึ่งไม่สามารถเทียบเคียงกับเหตุการณ์ใดๆ ได้ ไม่ว่าจะเป็นการนิรโทษกรรมจากการยึดอำนาจ การก่อความไม่สงบ หรือนิรโทษกรรมตัวบุคคล เนื่องจากเหตุการณ์ในอดีตเกิดขึ้นในระยะสั้น และไม่เป็นคดีทางอาญา การประทุษร้าย หรือการทำลายทรัพย์สิน นอกจากนี้ กฎหมายยังเขียนไว้กว้าง นิรโทษกรรมแก่ประชาชนแต่ไม่นิรโทษกรรมเจ้าหน้าที่ ถือว่าไม่ยุติธรรมกับเจ้าหน้าที่ที่ถูกกระทำ

อย่างไรก็ตาม กรรมาธิการที่เป็น ส.ส.พรรคเพื่อไทย อาทิ นายสุนัย จุลพงศธร นายสงวน พงษ์มณี นายแพทย์เชิดชัย ตันติศิรินทร์ ยังคงยืนยันว่าควรที่จะนิรโทษกรรมทั้งเหตุการณ์ ไม่มีการยกเว้น ทำให้ถูกคัดค้านจากนายอภิสิทธิ์ และนายแก้วสรร อติโพธิ กรรมาธิการ ที่เห็นว่าไม่ควรนิรโทษกรรมทุกคดีตลอดทั้งเหตุการณ์ เพราะไม่มีที่ใดในโลกที่จะยกโทษได้ทั้งหมด และไม่สามารถยอมรับให้มีการนิรโทษกรรมกับคดีที่จงใจจับอาวุธตั้งใจประทุษร้ายบุคคล เพราะถือว่าไม่เกี่ยวข้องกับคดีทางการเมือง

ถึงแม้ที่ประชุมคณะกรรมาธิการฯ ที่ผ่านมา จะยังไม่ได้ข้อสรุปเรื่องบุคคลและช่วงเหตุการณ์ที่จะได้รับการนิรโทษกรรมตาม พ.ร.บ.นี้ แต่เมื่อดูท่าทีของกรรมาธิการที่มาจากพรรคเพื่อไทย ก็เห็นแล้วว่าต้องการให้นิรโทษแบบยกเข่งทั้งเหตุการณ์ ไม่ต้องแยกคดีการเมืองหรือคดีอาญา ซึ่งท้ายที่สุดแล้ว เมื่อถึงเวลาที่ร่าง พ.ร.บ.นี้เข้าสู่ขั้นตอนการลงมติ พรรคเพื่อไทยและพรรคร่วมรัฐบาล ก็คงใช้เสียงข้างมากลากไป เช่นเดียวกับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญประเด็นที่มาของ ส.ว.

นั่นหมายถึงว่า บรรดาแกนนำ รวมถึงคนชักใยอย่าง นช.ทักษิณ ชินวัตร ก็จะได้รับประโยชน์จาก พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับนี้ไปด้วย ก็ในเมื่อคนลงมือเผาไม่มีความผิดเสียแล้ว คนสั่งเผาก็พ้นจากความผิดไปโดยปริยาย


กำลังโหลดความคิดเห็น