ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์-ถือได้ว่า นายถาวร เสนเนียม ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ ช่วยเติมสีสันวันฉลองเกษียณอายุราชการที่สุดแสนจะแปลกแหวกแนวแก่นายจุลสิงห์ วสันตสิงห์ อดีตอัยการสูงสุด หมาดๆ ให้ต่างจากบรรดาข้าราชการชั้นผู้ใหญ่คนอื่นๆ เป็นอย่างยิ่ง เพราะโดยทั่วไปแล้ว วันสุดท้ายในชีวิตราชการต่างเลี้ยงอำลา ล่ำลากันด้วยความสุขเกษมเปรม ปรีดิ์ เพื่อเริ่มต้นชีวิตในบั้นปลายอย่างสงบสุข แต่สำหรับนายจุลสิงห์ แล้ว อาจจะไม่เป็นเช่นนั้น
นายถาวร ในฐานะทีมกฎหมายของพรรคประชาธิปัตย์ อดีตอัยการซึ่งได้ตามติดตรวจสอบการทำงานของจุลสิงห์มาตลอด ได้ถือฤกษ์ วันที่ 30 ก.ย. 56 ที่ผ่านมา ยื่นเรื่องร้องทุกข์กล่าวโทษต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ให้ตรวจสอบนายจุลสิงห์ วสันตสิงห์ อัยการสูงสุด (อสส.) กระทำผิดประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 200 ว่าด้วยเจ้าหน้าที่พนักงานในกระบวนการยุติธรรมปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ฐานไม่สั่งฎีกาคดีคุณหญิงพจมาน ณ ป้อมเพชร อดีตภรรยา พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี พร้อมพวก จงใจเลี่ยงภาษี 273,060,000 บาท ด้วยการโอนหุ้นให้นายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ โดยมีนางกาญจนาภา หงษ์เหิน เป็นผู้ดำเนินการขายให้
เรื่องราวของคดีนี้ นายถาวร สรุปรวมความว่า หลังจากที่อัยการยื่นฟ้องต่อศาลชั้นต้น และมีคำพิพากษาให้จำคุกคุณหญิงพจมาน และนางกาญจนาภา หงษ์เหิน ผู้จัดการแทน เป็นเวลา 3 ปี โดยไม่รอลงอาญา ส่วนนายบรรณพจน์ ศาลสั่งจำคุก 1 ปี ไม่รอลงอาญา แต่ศาลอุทธรณ์ตัดสินยกฟ้องคุณหญิงพจมาน และนางกาญจนภา ว่าไม่มีความผิด ส่วนนายบรรณพจน์ให้จำคุก 1 ปี แต่ให้รอลงอาญาแทน เมื่อผลตัดสินคดีของสองศาลออกมาเป็นเช่นนี้ หน้าที่ของอัยการซึ่งเป็นทนายของแผ่นดิน คือ ต้องยื่นฎีกา เพื่อให้ศาลฎีกาตัดสินชี้ขาดให้สิ้นข้อสงสัย และครบถ้วนตามกระบวนการยุติธรรม แต่การณ์กลับปรากฏว่า อัยการสูงสุดกลับไม่ยื่นเรื่องฎีกา
ส่วนเหตุผลที่ต้องกล่าวโทษนั้น ประเด็นหลักๆ ก็คือ อัยการกลับความเชื่อ ความเห็น กรณีคุณหญิงพจมาน และนางกาญจนาภา จากเห็นว่ามีความผิดเป็นไม่ผิด ซึ่งตามปกติเรื่องในลักษณะดังกล่าวอัยการต้องยื่นฎีกาเกือบทุกเรื่อง, อัยการมีความเห็นกรณีบทลงโทษจำคุกตามประมวลรัษฎากร ว่ากฎหมายฉบับดังกล่าวไม่มีเจตนารมณ์ไม่ประสงค์ให้จำคุกผู้กระทำความผิด, อัยการปกปิดข้อเท็จจริงในกรณีสั่งไม่ฎีกา กรณีคุณหญิงพจมานจ่ายค่าหุ้นจากระเป๋าซ้ายใส่กระเป๋าขวาแทนนายบรรณพจน์ และยอมจ่ายภาษีมูลค่าเพิ่ม (vat) นายหน้าแทน แต่ได้หนีภาษี 273,060,000 บาท
กรณีนายบรรพจน์ ศาลพิพากษาว่าผิดตามฟ้องแต่ลงโทษ 1 ปี รอลงอาญา อีกทั้งประธานศาลอุทธรณ์ได้ตรวจสำนวนและทำความเห็นแจ้งว่าการหลบหนีคดีนี้เป็นจำนวนเงินที่สูงมาก ไม่สมควรรอลงอาญา แต่อัยการกลับไปก้าวล่วงวินิจฉัยเสียเองว่าแม้จะฎีกาไป ศาลฎีกาก็คงจะไม่รับฎีกา, อัยการอ้างว่าการไต่สวนเรื่อง การหลบหนีภาษีคดีนี้ได้ไต่สวนโดยไม่มีการออกหมายเรียก ขาดเหตุผลในการอ้าง เพราะกฎหมายมุ่งประสงค์ให้ทำการไต่สวนให้เกิดความเป็นธรรมถูกต้อง ก่อนประเมินว่าภาษีเท่าใด มีการหลบหนีหรือไม่ แต่อัยการไปอ้างเรื่องยังไม่ออกหมายเรียก และป.ป.ช.ก็เคยมีดุลยพินิจแจ้งให้อัยการยื่นฎีกาคดีนี้ แต่อัยการก็เพิกเฉยไม่ใส่ใจต้องการหาเหตุผลมาสั่งไม่ฎีกาอย่างเดียว
สำหรับขั้นตอนหลังจากนี้ หากป.ป.ช.เห็นว่า มีมูลความจริงก็จะตั้งคณะอนุกรรมการและไต่สวนต่อไป และหากมีการกระทำผิดจริงสู้กันในกระบวนการยุติธรรมถึงขั้นสุดท้าย จะมีโทษจำคุกระหว่าง 6 เดือน ถึง 7 ปี
หากย้อนกลับไปดูเหตุและผลที่อัยการสูงสุด สั่งไม่ฟ้องคดีนี้ มีความทะแม่งอยู่หลายประเด็น โดยนายธนพิชญ์ มูลพฤกษ์ อธิบดีอัยการฝ่ายคดีพิเศษ และโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด แถลงเมื่อวันที่ 26 ก.ย. 54 ว่านายจุลสิงห์ มีคำสั่งไม่ฎีกาคดี เพราะว่า 1.ประเด็นความผิดของนายบรรณพจน์ จำเลยที่ 1 ข้อหาหลีกลี่ยงการเสียภาษีอากร ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 37 (2) นั้น พบว่า ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลคำพิพากษาของศาลชั้นต้น โดยให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ตามฟ้องแล้ว เพียงแต่ใช้ดุลพินิจกำหนดโทษใหม่ซึ่งให้รอการลงโทษไว้นั้น
อัยการเห็นว่า เป็นการใช้ดุลพินิจเหมาะสมแก่รูปคดีแล้ว เนื่องจากความรับผิดในทางอาญาตามที่บัญญัติไว้ในประมวลรัษฎากร เป็นเพียงมาตรการที่ใช้เสริมการจัดเก็บภาษีให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ไม่ได้มีเจตนารมณ์ที่จะลงโทษจำคุกผู้ที่ไม่ยอมชำระภาษี หรือชำระไว้ไม่ถูกต้องอันมีพื้นฐานมาจากความรับผิดทางแพ่งแต่อย่างใด จึงเห็นว่ากรณีไม่มีเหตุที่จะฎีกาในประเด็นนี้อีก
2.ประเด็นที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องคุณหญิงพจมาน และนางกาญจนาภา จำเลยที่ 2-3 ในความผิดฐานร่วมกับนายบรรณพจน์ จำเลยที่ 1 หลีกเลี่ยงการเสียภาษี ตามประมวลรัษฎากรมาตรา 37(2) นั้น เห็นว่า ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่า จำเลยที่ 2 ประสงค์จะยกหุ้นของตนในบริษัท ชินวัตรคอมพิวเตอร์ ฯ ที่มีชื่อ น.ส.ดวงตา วงศ์ภักดี เป็นผู้ครอบครองอยู่ ในแก่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นพี่ชายจำนวน 4.5 ล้านหุ้น โดยทำเป็นการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ แม้ศาลชั้นต้นเห็นว่า เป็นการอำพรางเพื่อไม่ต้องชำระภาษี แต่ในชั้นพิจารณา พยานโจทก์ปากนายสุวิทย์ มาไพศาลสิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของบริษัทหลักทรัพย์ภัทร จำกัด ได้เบิกความว่า ในตลาดหลักทรัพย์มีตัวแทนถือหุ้นแทนเจ้าของที่แท้จริงเป็นจำนวนมากเนื่องจากไม่มีกฎหมายห้าม และได้ให้คำแนะนำว่าหากต้องการโอนหุ้นที่ตัวแทนถืออยู่ให้แก่บุคคลอื่น ต้องทำเป็นการซื้อขายหุ้นผ่านตลาดหลักทรัพย์
และในชั้นพิจารณายังได้ความอีกว่าจำเลยที่ 1 และน.ส.ดวงตา ได้เปิดบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ไว้ก่อนเกิดเหตุนานแล้ว และบัญชีดังกล่าวมีการเคลื่อนไหวซื้อขายหุ้นมาโดยตลอด เจือสมกับทางนำสืบของจำเลยที่ 2 และ 3 ที่ต่อสู้ว่า ตนเข้าใจว่าการยกหุ้นให้ต้องทำเป็นการซื้อขาย เพราะหุ้นดังกล่าวเป็นหุ้นที่ทำการซื้อขายอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งก่อนหน้านี้ก็เคยทำเช่นนั้นมาแล้ว และไม่มีฝ่ายใดทักท้วง ทั้งไม่ปรากฏข้อเท็จจริงอื่นว่า จำเลยที่ 2 และ3 มีพฤติการณ์ใดๆ ที่ส่อให้เห็นว่ามีเจตนาร่วมกระทำผิดกับจำเลยที่ 1 ในการหลีกเลี่ยงภาษี การที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าพยานหลักฐานของโจทก์ยังไม่มีน้ำหนักเพียงพอ ต้องยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้เป็นคุณแก่จำเลยที่ 2 และ 3 จึงชอบด้วยเหตุผลแล้ว
3.ประเด็นที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องนายบรรณพจน์ และคุณหญิงพจมาน จำเลยที่ 1- 2 ในความผิดฐานร่วมกันแจ้งข้อความเท็จ หรือถ้อยคำเท็จตามประมวลรัษฎากร มาตรา 37 (1) นั้น เนื่องจากศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า คดีนี้เจ้าพนักงานประเมิน ไม่ได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติและขั้นตอนที่กฎหมายกำหนดเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยมาตรา 19 แห่งประมวลรัษฎากร ดังนั้น การที่จำเลยที่ 1 และ 2 ได้ให้ถ้อยคำกับเจ้าพนักงานที่กระทำโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายดังกล่าวจึงไม่ครบองค์ประกอบความผิดตามประมวลรัษฎากร มาตรา 37 (1)
นอกจากนั้น ศาลอุทธรณ์ยังวินิจฉัยในเนื้อหาคดีว่า การที่จำเลยที่ 1-2 ได้ให้ถ้อยคำต่อเจ้าพนักงานประเมินว่า จำเลยที่ 2 โอนหุ้นให้จำเลยที่ 1 แต่ทำเป็นซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์นั้น เป็นการให้ถ้อยคำตามข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นและมีอยู่จริง เมื่อโจทก์ไม่มีพยานหลักฐานอื่นมายืนยันให้เห็นอย่างชัดแจ้งว่า ถ้อยคำที่จำเลยที่ 1-2 ให้แก่เจ้าพนักงานประเมินนั้น เป็นความเท็จอย่างแน่ชัด เพราะไม่เคยมีอยู่จริง และไม่เคยเกิดขึ้นจริง แต่เป็นการเสกสรรปั้นแต่งข้อเท็จจริงขึ้นมาใหม่ จึงยังไม่อาจฟังยุติว่าเป็นความเท็จ เพียงแต่มีน้ำหนักเชื่อถือได้น้อยเท่านั้น
ประกอบกับพยานโจทก์ปาก นาย ช.นันท์ เพ็ชญไพศิษฐ์ และนางเบญจา หลุยเจริญ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ตรวจสอบภาษีของกรมสรรพากร ที่จำเลยที่ 1-2 เคยให้ถ้อยคำไว้และศาลชั้นต้นเห็นว่าเป็นการให้ถ้อยคำเท็จนั้น ต่างก็ไม่ได้เบิกความยืนยันข้อเท็จจริงเลยว่า ถ้อยคำที่จำเลยที่ 1-2 ให้ไว้แก่ตนนั้นเป็นเท็จ จึงเห็นว่าไม่มีเหตุอันควรฎีกาทั้งข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายในประเด็นนี้เช่นกัน
ในการพิจารณาฎีกานั้นก็ได้นำความเห็นแย้งของประธานศาลอุทธรณ์ ที่มีเห็นว่าไม่สมควรรอลงอาญา นายบรรณพจน์ มาพิจารณาด้วย โดยอัยการเห็นว่า มาตรการกฎหมายสรรพากรต้องการภาษีซึ่งจำเลยได้เสียภาษีถูกต้องทุกอย่าง ขณะที่มาตราลงโทษคดีอาญาเป็นมาตรการเสริม
การแถลงข่าวคราวนั้น โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด ยืนยันถึงกระแสข่าวการวิ่งเต้นให้อัยการพิจารณาไม่ยื่นฎีกาคดีนี้ ด้วยว่า “เรื่องวิ่งเต้นนั้นถ้าเป็นเรื่องใหญ่ๆ อย่างนี้มันเป็นเรื่องยาก ยืนยันเลยว่าไม่มีการวิ่งเต้น ตลอดเวลาการทำงานของอัยการพิจารณาที่พยานหลักฐาน เหตุผล และข้อเท็จจริงต่างๆ ที่ปรากฏในสำนวน ไม่ใช่ปรากฏนอกสำนวน” ส่วนสาธุชนทั่วไปจะเชื่อคำยืนยันของโฆษกอัยการสูงสุดหรือไม่ ก็อีกเรื่องหนึ่ง
คดีนี้ คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ได้สอบสวนและยื่นเรื่องเอาผิดต่อบรรณพจน์-คุณหญิงพจมานและนางกาญจนาภาไปยังอัยการสูงสุดในช่วงปี 49-50 โดยเป็นคดีแรกๆ ที่คตส.สอบสวนและได้ข้อยุติ ซึ่งอัยการสูงสุดที่รับเรื่องและมีความเห็นสั่งฟ้องเวลานั้นคือนายพชร ยุติธรรมดำรง จนกระทั่งนายชัยเกษม นิติศิริ ขึ้นเป็นอัยการสูงสุด คตส.กับอสส. ก็มีปัญหากันมาตลอดในเรื่องการทำความเห็นสั่งฟ้องคดี โดยอัยการมักตีกลับสำนวนที่คตส.เสนอมาโดยอ้างข้อไม่สมบูรณ์ของคดี ซึ่งไม่ใช่เรื่องเหนือความคาดหมายเพราะเวลานั้น นายชัยเกษม ถูกคตส.สอบสวนเอาผิดในคดีสินบนซีทีเอ็กซ์อยู่ด้วย
อย่างไรก็ตาม การยื่นป.ป.ช.เอาผิดนายจุลสิงห์ คงใช้เวลาอีกยาวนานเพราะกระบวนการของป.ป.ช.นั้นเชื่องช้าเสียจนคนทุจริตไม่เกรงกลัว ยิ่งอัยการสูงสุดที่ชื่อ จุลสิงห์ ด้วยแล้ว ในแวดวงกระบวนการยุติธรรมรู้กันดีว่ามากบารมีแค่ไหน แต่ถึงอย่างนั้นพุทธศาสนิกชนทั่วไปก็ไม่เคยลืมว่าเวรกรรมที่ไล่ล่าคนทำชั่วเวลานี้เร็วเสียยิ่งกว่าจรวด