xs
xsm
sm
md
lg

กรรมเก่าไล่ล่า “จุลสิงห์” พ้นอำนาจเจอข้อหาทุจริต จับคดีอุ้มคนโกง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

จุลสิงห์ วสันต์สิงห์
สะเก็ดไฟ

1ตุลาคมนี้ สำนักงานอัยการสูงสุด ก็เหมือนหลายหน่วยงานภาครัฐที่มีการเปลี่ยนแปลงผู้นำสูงสุดขององค์กรจาก“จุลสิงห์ วสันต์สิงห์”จบชีวิตราชการเมื่อวันจันทร์ที่30 ก.ย.มาเป็น “อรรถพล ใหญ่สว่าง”ที่มานั่งเป็นอัยการสูงสุดแทน

ส่วนบทบาทของอัยการสูงสุดในฐานะผู้นำหน่วย “ทนายแผ่นดิน”ของ “อรรถพล”หลังจากนี้จะเป็นอย่างไรก็ต้องรอติดตามชม
วันสุดท้ายบนเก้าอี้อัยการสูงสุดของ “จุลสิงห์” ต้องเจอกับมรสุมร้ายพัดกระหน่ำเข้ามาส่งท้ายทำให้เกษียณไปแล้ว แต่ก็อย่าได้หวังจะใช้ชีวิตหลังราชการแบบปลอดโปร่งโล่งใจ เมื่อถาวรเสนเนียม ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะทีมกฎหมายพรรค อดีตอัยการซึ่งได้ตามติดตรวจสอบการทำงานของจุลสิงห์มาตลอด ได้ยื่นเรื่องร้องทุกข์กล่าวโทษต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติหรือ ป.ป.ช. ให้ตรวจสอบจุลสิงห์ อดีตอัยการสูงสุด

ในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 200ว่าด้วยเจ้าหน้าที่พนักงานในกระบวนการยุติธรรมปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบฐานไม่สั่งฎีกาคดีคุณหญิงพจมาน ณ ป้อมเพชร อดีตภรรยา พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรอดีตนายกรัฐมนตรี พร้อมพวก จงใจเลี่ยงภาษี 273,060,000 บาทด้วยการโอนหุ้นให้นายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ โดยมีนางกาญจนาภา หงษ์เหินเป็นผู้ดำเนินการทำเป็นขายให้

ลำดับความเป็นมาของเรื่องนี้ “ถาวร”ลำดับให้เห็นภาพเข้าใจกันง่ายๆว่าหลังจากที่อัยการยื่นฟ้องต่อศาลชั้นต้น และมีคำพิพากษาให้จำคุกคุณหญิงพจมานและนางกาญจนาภา หงษ์เหิน เป็นเวลา 3 ปี โดยไม่รอลงอาญาส่วนนายบรรณพจน์จำคุก 1 ปี ไม่รอลงอาญาแต่ศาลอุทธรณ์ตัดสินยกฟ้องคุณหญิงพจมาน และนางกาญจนภาว่าไม่มีความผิดส่วนนายบรรณพจน์ให้จำคุก 1 ปี แต่ให้รอลงอาญาแทน

แต่ปรากฏว่าอัยการกลับไม่ยื่นเรื่องฎีกาหน้าตาเฉยสร้างความกังขาแก่สังคม

“เหตุผลที่ต้องกล่าวโทษนายจุลสิงห์ เพราะอัยการกลับความเชื่อความเห็น กรณีคุณหญิงพจมาน และนางกาญจนาภา จากเห็นว่ามีความผิดเป็นไม่ผิด ซึ่งตามปกติเรื่องในลักษณะดังกล่าวอัยการต้องยื่นฎีกาเกือบทุกเรื่องอีกทั้งอัยการมีความเห็นกรณีบทลงโทษจำคุกตามประมวลรัษฎากรว่ากฎหมายฉบับดังกล่าวไม่มีเจตนารมณ์ไม่ประสงค์ให้จำคุกผู้กระทำความผิดรวมถึงปกปิดข้อเท็จจริงในกรณีสั่งไม่ฎีกา กรณีคุณหญิงพจมานจ่ายค่าหุ้นจากระเป๋าซ้ายใส่กระเป๋าขวาแทนนายบรรณพจน์และยอมจ่ายภาษีมูลค่าเพิ่ม (vat) นายหน้าแทน แต่ได้หนีภาษี 273,060,000

กรณีนายบรรพจน์ ศาลพิพากษาว่าผิดตามฟ้องแต่ลงโทษ 1 ปี รอลงอาญาอีกทั้งประธานศาลอุทธรณ์ได้ตรวจสำนวนและทำความเห็นแจ้งว่าการหลบหนีคดีนี้เป็นจำนวนเงินที่สูงมากไม่สมควรรอลงอาญา แต่อัยการกลับไปก้าวล่วงวินิจฉัยเสียเองว่าแม้จะฎีกาไปศาลฎีกาก็คงจะไม่รับฎีกา

อัยการอ้างว่าการไต่สวนเรื่องการหลบหนีภาษีคดีนี้ได้ไต่สวนโดยไม่มีการออกหมายเรียก ขาดเหตุผลในการอ้างเพราะกฎหมายมุ่งประสงค์ให้ทำการไต่สวนให้เกิดความเป็นธรรมถูกต้องก่อนประเมินว่าภาษีเท่าใด มีการหลบหนีหรือไม่แต่อัยการไปอ้างเรื่องยังไม่ออกหมายเรียก”

ทั้งหมดเป็นประเด็นที่ฝ่ายค้านมองว่าความผิดสำเร็จครบถ้วนกระบวนความเพียงพอต่อการยื่นเรื่องให้ป.ป.ช.สอบสวนเอาผิดย้อนหลังจุลสิงห์อดีตอัยการสูงสุดที่หลังจากนี้ก็จะไปเป็นอัยการอาวุโสซึ่งหากคดีไปถึงกระบวนการยุติธรรมในชั้นสุดท้ายก็จะมีโทษจำคุกระหว่าง 6เดือน ถึง 7 ปี

ทั้งนี้คดีดังกล่าวต้นเรื่องมาจากคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ(คตส.)ที่มีการสอบสวนและยื่นเรื่องเอาผิดต่อบรรณพจน์-คุณหญิงพจมานและนางกาญจนาภาไปยังอัยการสูงสุดในช่วงปี 49-50 โดยเป็นคดีแรกๆที่คตส.สอบสวนและได้ข้อยุติ

อัยการสูงสุดที่รับเรื่องและมีความเห็นสั่งฟ้องเวลานั้นคือ “พชร ยุติธรรมดำรง” ช่วงนั้นการทำงานร่วมกันระหว่างคตส.กับอัยการราบรื่นด้วยดีตลอดแต่มาเกิดปัญหาขึ้นในช่วงหลังจากนั้น โดยเฉพาะตอน “ชัยเกษม นิติศิริ”เป็นอัยการสูงสุด ที่มักมีปัญหากันมาตลอด ในเรื่องการทำความเห็นสั่งคดี

โดยอัยการมักตีสำนวนกลับไปยังคตส.เสมอ ด้วยเหตุพบข้อไม่สมบูรณ์ของคดีที่ก็ไม่ใช่เรื่องแปลกเพราะเวลานั้นคตส.ก็มีการสอบสวนเอาผิดชัยเกษมที่เวลานั้นยังไม่ได้เป็นอัยการสูงสุดด้วยในคดีซีทีเอ็กซ์

อย่างไรก็ตาม ดูแล้วเรื่องการยื่นป.ป.ช.ให้สอบสวนเอาผิดจุลสิงห์ คงเป็นหนังยาวกันต่อไปเพราะก็อย่างที่รู้กัน กระบวนการของป.ป.ช.ล่าช้าอืดเป็นเรือเกลือ กว่าจะรับเรื่องกว่าตั้งเรื่องชงไต่สวนคดี กว่าจะเรียกผู้เกี่ยวข้องอะไรต่างๆ มาชี้แจง ยังไงเสียคงอีกหลายปีกว่าจะได้เรื่องได้ราว

อีกทั้งก็เชื่อว่า แม้ส.ส.ประชาธิปัตย์ยื่นเรื่องไปดังกล่าวก็ไม่ได้ทำให้มีผลใดๆ ต่อตัวจุลสิงห์ ซึ่งรู้กันดีในแวดวงกระบวนการยุติธรรมว่า “มากบารมี”ขนาดไหนขนาดว่า “ชัยเกษม นิติศิริ”อดีตอัยการสูงสุดลูกพี่เก่าของจุลสิงห์ที่ว่ามากบารมีแล้ว ก็ยังเป็นรองจุลสิงห์

สำหรับการทำงานของอัยการในยุคจุลสิงห์มีหลายเรื่องที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์เสมอในเรื่องการสั่งไม่ฟ้องคดีสำคัญๆไม่ใช่แค่การไม่ฎีกาคดีการเลี่ยงภาษีของคุณหญิงพจมานและนายบรรณพจน์เท่านั้นอย่างคดีทุจริตการจัดซื้อรถและเรือดับเพลิง กรุงเทพมหานครที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองตัดสินจำคุก “ประชา มาลีนนท์”อดีตรมช.มหาดไทยก็เป็นอีกหนึ่งคดีที่มีปัญหากันระหว่างป.ป.ช.ที่รับสำนวนคดีนี้มาจากคตส.กับอัยการจนทำให้ป.ป.ป.ช.ต้องให้ทีมสภาทนายความทำหน้าที่ยื่นฟ้องต่อศาลฎีกาฯเอง

จนสุดท้ายศาลฎีกาฯก็มีคำตัดสินที่ทำเอานักการเมือง-ข้าราชการประจำหลายคนที่คิดจะทุจริตโกงประเทศชาติสะดุ้งไปตามๆกัน
หรืออย่างกรณีเรื่องของ “สรยุทธ สุทัศนะจินดา”พิธีกรรายการเล่าข่าวชื่อดัง และกรรมการผู้จัดการบริษัท ไร่ส้ม จำกัดที่ถุกป.ป.ช.ชี้มูลว่ามีความผิดจากการที่พนักงานบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน)ทุจริตช่วยเหลือบริษัท ไร่ส้ม ฯโดยให้โฆษณาเกินกว่าเวลาที่กำหนดในสัญญา ในการจัดรายการคุยคุ้ยข่าวเป็นเหตุให้บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ได้รับความเสียหายถึง 138,790,000 บาทที่ทางอัยการตีกลับสำนวนของป.ป.ช.จนทำให้มีแนวโน้มที่ป.ป.ช.จะต้องยื่นฟ้องคดีต่อศาลเองโดยไม่ผ่านอัยการ

แม้วันนี้ “จุลสิงห์”จะพ้นจากเก้าอี้ใหญ่ในสำนักงานอัยการสูงสุดไปแล้วแต่หลายเรื่องที่เกิดขึ้นในสมัยเจ้าตัวเป็นอสส. คงถูกขุดคุ้ยมานินทาในวงการกระบวนการยุติธรรมไปอีกนาน
กำลังโหลดความคิดเห็น