xs
xsm
sm
md
lg

ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาเตรียมสรรหา ผู้ถูกเสนอชื่อเป็น กกต.จำนวน 2 คน

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม


ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาเตรียมสรรหาบุคคลที่จะเสนอชื่อเป็น กกต.จันทร์นี้ เผยมีผู้ที่จะถูกเสนอรายชื่อทั้งหมด 9 คน คัดเหลือเพียง 2 คน แล้วส่งให้วุฒิสภาเห็นชอบ

วันนี้ (29 ก.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายไพโรจน์ วายุภาพ ประธานศาลฎีกา จะเรียกประชุมผู้พิพากษาศาลฎีกาทั้งหมด เพื่อประชุมใหญ่ศาลฎีกา พิจารณาสรรหาบุคคลที่สมควรถูกเสนอชื่อให้เป็นคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) แทนชุดปัจจุบันที่ได้ครบวาระลงแล้ว ในวันที่ 30 ก.ย.นี้ เวลา 09.00 น. ที่ศาลฎีกา สนามหลวง

โดยการประชุมใหญ่ศาลฎีกา มีผู้พิพากษาผู้มีอำนาจและมีสิทธิออกเสียงลงคะแนนทั้งสิ้น 156 คน ส่วนการลงคะแนนสรรหาจะใช้วิธีการลงคะแนนลับ โดยจะให้ผู้พิพากษาในที่ประชุมใหญ่ลงคะแนน 2 รอบ

รอบแรก ผู้พิพากษาที่มาประชุมแต่ละคนสามารถใช้สิทธิลงคะแนนเลือกบุคคลที่มีคุณสมบัติเหมาะสมได้ไม่เกิน 4 คน ซึ่งขั้นตอนนี้ที่ประชุมใหญ่จะเลือกผู้ที่ได้รับคะแนนสูงสุดเท่านั้นจำนวน 4 คน เพื่อนำรายชื่อมาลงคะแนนอีกครั้งในรอบที่สอง แล้วคัดเลือกให้ได้ 2 คน ครบตามจำนวน เพื่อเสนอเป็นผู้ที่สมควรถูกเสนอชื่อเป็น กกต.ให้สมาชิกวุฒิสภา หรือ ส.ว.พิจารณาเห็นชอบ โดยรอบสองนี้ผู้ที่ได้รับการคัดเลือกจะต้องได้คะแนนเกินกึ่งหนึ่งของผู้พิพากษาทั้งหมดที่เข้าประชุม

อย่างไรก็ตาม การคัดเลือกรอบที่ 2 นั้น หากปรากฏว่าไม่สามารถคัดเลือกให้ได้ 2 คนในคราวเดียว อาทิเช่น มีเพียง 1 คนใน 4 คนได้รับคะแนนกึ่งหนึ่งตามเกณฑ์ ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาก็ต้องนำรายชื่อ 3 คนที่เหลือ มาลงคะแนนใหม่จนกว่าจะได้ผู้ที่มีคะแนนเกินกึ่งหนึ่งของที่ผู้พิพากษาที่มาประชุม
          
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับการสรรหาบุคคลที่สมควรถูกเสนอชื่อให้ ส.ว.พิจารณาเพื่อเห็นชอบเป็น กกต.จากที่ประชุมใหญ่นั้น ขณะนี้มีผู้ที่จะถูกเสนอต่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาเลือกทั้งสิ้น 9 คน ประกอบด้วย นายศุภชัย สมเจริญ อดีตเคยดำรงตำแหน่งสำคัญในศาลยุติธรรมเป็นประธานศาลอุทธรณ์ภาค 1 เมื่อปี 2552 ซึ่งตำแหน่งเทียบเท่ากับรองประธานศาลฎีกา ก่อนที่จะเกษียณอายุราชการและได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้พิพากษาอาวุโสในศาลฎีกา

นางเปรมใจ กิติคุณไพโรจน์ ผู้พิพากษาอาวุโสในศาลฏีกา ที่จะเกษียณราชการวันที่ 30 ก.ย.นี้ ซึ่งได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้พิพากษาอาวุโส ประจำศาลอุทธรณ์ วันที่ 1 ต.ค.นี้ และเป็นภรรยานายกิติศักดิ์ กิติคุณไพโรจน์ อดีตตุลาการรัฐธรรมนูญ พิจารณาคดียุบพรรคไทยรักไทย

นายบุญส่ง น้อยโสภณ ผู้พิพากษาอาวุโส ศาลอุทธรณ์ภาค 7 ซึ่งหลังจากเกษียณราชการจะได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้พิพากษาอาวุโส ประจำศาลอุทธรณ์ ในวันที่ 1 ต.ค.นี้

นายธีรวัฒน์ ธีรโรจน์วิทย์ ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลอุทธรณ์ ซึ่งมีประสบการณ์ในการพิจารณาคดีเลือกตั้งท้องถิ่น ขณะที่จะเกษียณราชการในวันที่ 30 ก.ย.นี้ และได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้พิพากษาอาวุโสศาลอุทธรณ์ วันที่ 1 ต.ค.นี้

นายชัยสิทธิ์ ตราชูธรรม ประธานแผนกคดีเลือกตั้งในศาลฎีกา เจ้าของสำนวนคดีปล่อยกู้ธนาคาร กรุงไทย จำกัด (มหาชน) และคดีนายศุภชัย โพธิ์สุ อดีต รมช.เกษตรและสหกรณ์ พรรคภูมิใจไทย กระทำผิดกฎหมายเลือกตั้งปราศรัยหาเสียงขณะเป็นเปิดการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการตามโครงการ “แลกเปลี่ยนเรียนรู้ ประสบการณ์ดำเนินงานของประธานกลุ่มเกษตรกรใช้สารอินทรีย์ เพื่อลดการใช้สารเคมีทางการเกษตร” รวมทั้งเคยดำรงตำแหน่งประธานศาลอุทธรณ์ เมื่อปี 2552 และเป็นผู้ทำความเห็นแย้งองค์คณะผู้พิพากษาในคดีหลีกเลี่ยงการชำระภาษีหุ้นชินฯ มูลค่า 738 ล้านบาท โดยเห็นว่าไม่ควรให้รอการลงโทษจำคุก 2 ปีนายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ อดีตประธานกรรมการบริหาร บริษัท ชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เนื่องจากภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่มีการหลีกเลี่ยงในคดีนี้มีจำนวนสูงถึง 273 ล้านบาท นอกจากนี้ ยังเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายภาษีอากร เป็นอาจารย์พิเศษที่สอนด้านกฎหมายภาษี จนได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นศาสตราจารย์

นายพิชิต คำแฝง อดีตรองประธานศาลฎีกา เคยเป็นประธานแผนกคดีแรงงาน ในศาลฎีกา และเป็น 1 ใน 9 องค์คณะผู้พิพากษาในคดีทุจริตจัดซื้อที่ดินย่านรัชดาภิเษก ที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และคุณหญิงพจมาน ดามาพงศ์ ภริยา ตกเป็นจำเลยต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และเคยได้รับการลงคะแนนจากที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา ที่คัดเลือกผู้พิพากษาศาลฎีกาจำนวน 5 คน ไปทำหน้าที่เป็นตุลาการรัฐธรรมนูญตัดสินคดียุบพรรค โดยนายพิชิต ได้คะแนนเป็นลำดับที่ 5 เท่ากับนายนุรักษ์ มาประณีต จึงต้องคัดให้เหลือเพียงคนเดียว นอกจากนี้ ยังเป็น 1 ในองค์คณะพิจารณาคดีที่นายวีระ มุกสิกพงศ์ สมัยดำรงตำแหน่งรมช.มหาดไทย หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เมื่อปี 2531

ม.ล.ฤทธิเทพ เทวกุล อดีตรองประธานศาลฎีกา เคยเป็นผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา ผู้พิพากษาศาลฎีกา ซึ่งเป็นองค์คณะผู้พิพากษาเสียงข้างน้อย 8-1 ที่เห็นว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ไม่มีความผิด กรณีออกนโยบาย 5 มาตรการเอื้อประโยชน์ให้ธุรกิจตัวเอง ในคดียึดทรัพย์ 4.6 หมื่นล้าน และเคยเป็นผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลอุทธรณ์ภาค 5 อธิบดีผู้พิพากษาภาค 9 รองอธิบดีผู้พิพากษาภาค 5 ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลอาญา ผู้พิพากษาศาลแพ่ง ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดกระบี่ ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลประจำ กระทรวง ช่วยทำงานในตำแหน่งผู้พิพากษาศาลแพ่งผู้พิพากษาประจำกระทรวง ช่วยทำงานในตำแหน่งผู้พิพากษาศาลอาญา

นายวรวุฒิ โรจนพานิช เป็นผู้คลุกคลีด้านกีฬาในฐานะนักข่าววิทยุมากว่า 40 ปี มีสายสัมพันธ์ที่ดีกับฟีฟ่า อดีต ส.ว.สรรหาภาคอื่นๆ และได้รับการเลือกให้เป็นประธานคณะกรรมาธิการการกีฬาวุฒิสภา 2 สมัย และเป็น 1 ใน 63 สว.ที่ลงชื่อสนับสนุนการเปิดประชุมรัฐสภา เพื่อรับฟังการแถลงนโยบายรัฐบาลนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ในช่วงที่มีเหตุการณ์ตำรวจใช้กำลังสลายการชุมนุมในตอนเช้าวันที่ 7 ต.ค. 51 จนมีมีผู้บาดเจ็บสาหัสหลายราย นอกจากนี้เคยเป็นอดีตประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท Rs&s จำกัด รองผู้อำนวยการฝ่ายบริหารโรงพยาบาลเพชรบุรีตัดใหม่  และกรรมการผู้จัดการ บริษัททศภาค จำกัด

และนายประวิช รัตนเพียร อดีตผู้ตรวจการแผ่นดิน เคยได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส.หลายสมัย เมื่อเข้าสู่การเมืองได้รับแต่งตั้งเป็นรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง และในปี 2541 ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง รมช.พาณิชย์ ปี 2548 ได้รับการแต่งตั้งเป็น รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี นอกจากนี้ยังเคยเป็นประธานกรรมการบริหาร บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ผู้แทนการค้าไทย อธิการบดีมหาวิทยาลัยรัตนบัณฑิตจังหวัดภูเก็ต ผู้พิพากษาศาลจังหวัดระนอง ผู้พิพากษาประจำกระทรวง ช่วยทำงานในตำแหน่งผู้พิพากษาศาลจังหวัดสุโขทัย เป็นผู้ช่วยผู้พิพากษา เมื่อปี 2519

ขณะที่ผู้ที่ถูกจับตามองจากหลายฝ่ายสำหรับการคัดเลือกครั้งนี้ ในส่วนของตุลาการก็มีทั้งนายชัยสิทธิ์ ตราชูธรรม นางเปรมใจ กิติคุณไพโรจน์ ซึ่งทั้งสองเคยสมัครเข้าสรรหาเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ แทนนายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ อดีตประธานศาลรัฐธรรมนูญที่ลาออก

ส่วนผู้ที่ไม่ได้อยู่สายตุลาการ แม้มีความเคลื่อนไหวจากภายนอกว่านายประวิช รัตนเพียร น่าจะได้ลุ้นจากที่ประชุมใหญ่ด้วยเช่นกัน แต่เนื่องจากในการลงคะแนนของที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกานั้น ผู้พิพากษาจะใช้สิทธิด้วยความอิสระ จึงเป็นได้ที่ผลอาจไม่เป็นไปตามที่หลายฝ่ายจับตามอง ซึ่งมีความเป็นไปได้ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาจะพิจารณาจากตุลาการที่เป็นคนในด้วยกันเอง ซึ่งได้ทราบประวัติการทำงานกันมานาน
กำลังโหลดความคิดเห็น