ปีนี้สำนักงานอัยการสูงสุดมีอายุครบ 120 ปี วันที่ 1 เมษายนที่ผ่านมา นายจุลสิงห์ วสันตสิงห์ อัยการสูงสุดแถลงข่าวว่า อัยการเป็นองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ มีความเป็นกลางในการสั่งคดี อัยการไม่ยุ่งเกี่ยวกับทางการเมือง ไม่เข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ต้องมีอิสระในการทำงานทุกอย่างทำไปตามหลักของเหตุผลและตามหลักนิติธรรม ไม่สั่งคดีไปตามกระแส ไม่มีระบบสองมาตรฐาน มีเพียงมาตรฐานเดียวเท่านั้น เพื่อให้ประชาชนได้รับความไว้วางใจ และหากใครสงสัยในการทำงานของอัยการ ก็สามารถตรวจสอบได้
จริงหรือ ที่อัยการไม่มีสองมาตรฐานในการสั่งคดี
เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายนปีที่แล้ว พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด (สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญากรุงเทพใต้ 3) ในฐานะโจทก์ได้ยื่นฎีกาให้ศาลฏีกากลับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในคดีที่ พนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องนายขุนทอง ลอเสรีวานิช บรรณาธิการผู้พิมพ์ ผู้โฆษณา หนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวันเป็นจำเลยในคดีหมิ่นประมาทผู้อื่นด้วยการโฆษณา สืบเนื่องจากการตีพิมพ์ข่าวในหนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวัน ฉบับลงวันที่ 20 สิงหาคม 2551 ข้อความว่า
“เลี้ยบลุย มั่นใจไทยแลนด์ 2 สตง.พบหลังบ้าน รมต.เอี่ยว”
“เลี้ยบ” คือ นพ.สุรพงษ์ สืบวงษ์ลี รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง สมัยรัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช
“ไทยแลนด์ 2” คือ งานมหกรรมมั่นใจไทยแลนด์ ดีแน่ ถูกแน่ เพื่อคนไทย ครั้งที่ 2 ระหว่างวันที 13-15 กันยายน 2551 ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์
ประเด็นที่ นำไปสู่การฟ้องร้องคือ ข้อความที่อ้างแหล่ง่ขาวจากสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน หรือ สตง.ที่ระบุว่า สตง.กำลังตรวจสอบว่า การจัดงานนี้จะใช้รูปแบบการจัดซื้อจัดจ้างโดยใช้มติ ครม.ไม่ใช้วิธีการประมูลด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ ตามระเบียบที่กำหนดว่าโครงการที่มีมูลค่าสูงกว่า 5 ล้านบาทต้องใช้หรือไม่ นอกจากนี้จะต้องตรวจสอบบริษัทเอกชนที่รับจัดงานและประชาสัมพันธ์โครงการด้วยว่า มีความสัมพันธ์กับ รมว.คลังและคณะที่ปรึกษาหรือไม่ โดยความคืบหน้าล่าสุดพบว่า การจดทะเบียนบริษัท เป็นช่วงเดียวกับการจดทะเบียนของบริษัทที่นางปราณี สืบวงศ์ลี ภริยา รวม.คลังถือหุ้นอยู่
ด้วยข้อความเพียงเท่านี้ ทำให้ “หลังบ้านเลี้ยบ” คือนางปราณีไปแจ้งความที่ สน .ลุมพินีให้ดำเนินคดีกับนายขุนทองข้อหาหมิ่นประมาทด้วย การโฆษณา
คดีหมิ่นประมาทเป็นคดีอาญาที่ผู้เสียหายจะฟ้องร้องคดีต่อศาลเองหรือ ไปแจ้งความให้ตำรวจเรียกผู้ต้องหามาสอบสวนแล้วสั่งให้อัยการพิจารณาว่าจะส่งฟ้องหรือไม่ หากอัยการสั่งฟ้อง อัยการก็จะอยู่ในฐานะโจทก์ วิธีนี้ นอกจากจะเป็นการกลั่นแกล้งให้ผู้ถูกกล่วหาต้องเสียเวลาไปให้ปากคำกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ต้องถูกพิมพ์มือ ถ่ายรูป ทำประวัติอาชญากรแล้ว ยังเป็นการประหยัดค่าใช้จ่ายของผู้กล่าวหา ไม่ต้องจ้างทนายเอง แต่ใช้ทนายของแผ่นดินมาว่าความในคดีที่เป็นเรื่องส่วนตัวของตน
คดีนี้ อัยการสั่งฟ้องต่อศาลอาญากรุงเทพใต้ ศาลพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 328 ประกอบพระราชบัญญัติจดแจ้งการพิมพ์ พ.ศ. 2550 มาตรา 4 จำคุก 2 ปี และปรับ 100,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษมีกำหนด 2 ปี
จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์เห็นว่าข้อความที่พิมพ์โฆษณามิใช่เป็นการใส่ความผู้เสียหายอันเป็นการหมิ่นประมาทผู้เสียหายตามฟ้องโจทก์แต่อย่างใด ข้อความที่ว่า สตง.ตรวจสอบบริษัทเอกชนที่รับจัดงานและประชาสัมพันธ์โครงการการลงทุนเพื่ออนาคตของคนไทยที่จดทะเบียน ช่วงเดียวกันกับการจดทะเบียนของบริษัทที่ผู้เสียหายถือหุ้นอยู่มิได้มีความหมายว่า บริษัทเอกชนที่รับจัดงานและประชาสัมพันธ์โครงการดังกล่าวเป็นบริษัทของผู้เสียหายเข้าไปมีส่วนร่วมหรือเข้าไปแสวงหาผลประโยชน์จากการจัดงานแต่อย่างใด จึงมิใช่เป็นการใส่ความผู้เสียหายอันเป็นการหมิ่นประมาทผู้เสียหายตามฟ้องโจทก์
อุทธรณ์ของจำเลยฟังขึ้น พิพากษากลับให้ยกฟ้อง
พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษ ฝ่ายคดีอาญากรุงเทพใต้ 3 ไม่เห็นด้วยกับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ จึงยื่นฎีกา ขอให้ศาลฎีกาลงโทษจำเลยตามฟ้อง
คดีหมิ่นประมาทซึ่งเป็นคดีเล็กๆ น้อยๆ และเป็นเรื่องส่วนตัวของนางปราณีกับหนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวัน อัยการของแผ่นดินซึ่งไม่ได้กินเงินเดือนของนางปราณี กลับกัดไม่ปล่อย ทำหน้าที่เป็นทนายให้กับนางปราณีอย่างเต็มที่มาแล้วสองศาล ยังอาสาสู้ต่อให้ถึงศาลฎีกา
ผิดกันกับคดีคุณหญิงพจมาน ณ ป้อมเพ็ชร์ นายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ และนางกาญจนาภา หงส์เหิร กรณีเลี่ยงภาษีหุ้นชินคอร์ป มูลค่า 546 ล้านบาท ศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุกคนละ 3 ปี โดยไม่รอลงอาญา ศาลอุทธรณ์กลับคำพิพากษายกฟ้องคุณหญิงพจมาน และนางกาญจนาภา และให้จำคุกนายบรรณพจน์ 2 ปี ปรับ 1 แสนบาท โทษจำให้รอลงอาญา 1 ปี
คำพิพากษาศาลอุทธรณ์นี้ แม้แต่นายชัยสิทธิ์ ตราชูธรรม ประธานศาลอุทธรณ์ในขณะนั้น ยังทำความเห็นแย้งว่า ไม่ควรรอลงการลงอาญานายบรรณพจน์ เพราะภาษีที่มีการหลีกเลียงในคดีนี้มีจำนวนสูงถึง 273 ล้านบาท แต่อัยการสูงสุดเห็นด้วยกับเหตุผลของศาลอุทธรณ์ ไม่ฎีกา ปล่อยให้คนโกงภาษีลอยนวลไม่ต้องรับผิด
ระหว่างคดีหมิ่นประมาทที่ผู้เสียหายคือเอกชนไม่มีอะไรที่เป็นความเสียหายของประเทศชาติเลย กับคดีโกงภาษีที่รัฐโดนโกงภาษีเป็นเงินถึง 273 ล้านบาท บวกกับค่าปรับอีกเท่าตัวเป็นเงินถึง 546 ล้านบาท หากถามนายจุลสิงห์ว่าเหตุใดอัยการจึงมีความเห็นที่แตกต่างกันราวฟ้าดิน คดีขี้หมูราขี้หมาแห้งที่ไม่เกี่ยวอะไรกับผลประโยชน์ของชาติเลย อัยการกลับทุ่มเทว่าความให้ผู้เสียหายถึงสามศาล แต่คดีโกงภาษีแผ่นดินถึง 546 ล้านบาท อัยการกลับวางเฉย ยอมรับคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์โดยไม่โต้แย้ง นายจุลสิงห์ก็คงตอบว่า การสั่งคดีเป็นดุลยพินิจโดยอิสระของอัยการเจ้าของคดี
แต่สิ่งที่เหมือนกันของสองคดีนี้คือผู้ได้ประโยชน์จากการใช้ดุลพินิจของอัยการ มีอำนาจ หรือมีความสัมพันธ์กับผู้มีอำนาจทางการเมืองในขณะนี้
โชคดีของนายจุลสิงห์ที่แถลงว่าอัยการมีความเป็นกลางสั่งคดี ไม่เข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ไม่มีสองมาตรฐานในวัน April fool day ซึ่งใครจะพูดโกหกอะไรก็ได้ ไม่มีใครเชื่ออยู่แล้วว่า เป็นเรื่องจริง