xs
xsm
sm
md
lg

“อรรถพล”ขึ้นนำทัพ “ทนายแผ่นดิน” รอพิสูจน์หัวใจ“อัยการสูงสุด”คนใหม่

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวการเมือง

 อรรถพล ใหญ่สว่าง
การประชุมลับวุฒิสภาเมื่อ 9 ก.ย.ที่ผ่านมาที่ประชุมวุฒิสภามีมติให้ความเห็นชอบนาย อรรถพลใหญ่สว่างเป็นอัยการสูงสุดคนใหม่ด้วยคะแนน 137 ต่อ 0 ไม่ลงคะแนน 1 ขั้นตอนหลังจากนี้ประธานวุฒิสภาจะนำชื่ออรรถพล ขึ้นทูลเกล้าฯ ต่อไป

“ว่าที่อัยการสูงสุด-อรรถพล ใหญ่สว่าง”รองอัยการสูงสุดจะมารับหน้าที่ “อัยการสูงสุด”คนใหม่แทนจุลสิงห์ วสันตสิงห์ อัยการสูงสุดคนปัจจุบันที่จะพ้นจากตำแหน่งหลัง 30 ก.ย. นี้

ยังไม่เข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการแต่ “ว่าที่อัยการสูงสุด”ก็เริ่มออกงานแล้ว

หลังจากที่มีเสียงวิจารณ์กันมากถึงการทำงานของอัยการกรณีที่มีความเห็นขัดแย้งกับคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.)ในคดีทุจริตจัดซื้อทุจริตจัดซื้อรถและเรือดับเพลิงของกรุงเทพมหานครฯ มูลค่า 6,687,489,000 บาท จนทำให้ป.ป.ช.ยื่นฟ้องคดีต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเอง

และสุดท้ายศาลฎีกาฯก็มีคำพิพากษาเมื่อ 10 ก.ย. 2556 ตัดสินจำคุก ประชา มาลีนนท์ อดีตรมช.มหาดไทย เป็นเวลา 12 ปี และพล.ต.ต.อธิลักษณ์ ตันชูเกียรติ อดีตผู้อำนวยการสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณกทม.ที่โดนตัดสินจำคุก 10 ปี

มีเสียงวิจารณ์กันมากว่าหากสุดท้ายป.ป.ช.ไม่ยื่นฟ้องต่อศาลฎีกาฯเอง คำพิพากษาคดีประวัติศาสตร์ที่ศาลพิพากษาจำคุก ประชา มาลีนนท์อดีตรมต.หลายสมัยทั้งรมช.มหาดไทย-รมช.คมนาคม-รมว.พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ก็คงไม่เกิดขึ้น

ส่งผลให้เกิดกระแสตีกลับวิจารณ์การทำงานของอัยการอย่างมากตามมาทันที

ด้วยความที่อรรถพลว่าที่อัยการสูงสุดเคยผ่านคดีสำคัญๆทางการเมืองมาแล้วมากมาย โดยเฉพาะที่ผู้คนจดจำได้ดี ก็คือการเป็นหัวหน้าทีมคณะทำงานของสำนักงานอัยการสูงสุดในการยื่นฟ้องและว่าความคดียุบพรรคไทยรักไทย-ยุบพรรคประชาธิปัตย์ในช่วงปี 50 ที่สุดท้ายศาลรธน.ในเวลานั้นที่มีปัญญา ถนอมรอด อดีตประธานศาลฎีกาเป็นประธานตุลาการรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ยุบพรรคไทยรักไทยและตัดสิทธิการเมืองห้าปีกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย แต่คำร้องคดียุบพรรคประชาธิปัตย์ศาลรธน.ยุคนั้นให้ยกคำร้อง

แล้วก็ยังมีอีกหลายคดีสำคัญที่อรรถพลเคยรับผิดชอบเช่นคดีอัยการสูงสุดยื่นฟ้อง อดีตคณะกรรมการป.ป.ช. ชุดที่มีพล.ต.อ.วุฑฒิชัย ศรีรัตนวุฑฒิ เป็นประธาน ป.ป.ช.ในความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่หรือกระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ กรณีขึ้นค่าตอบแทนให้ตนเอง

คดีนี้ศาลฎีกาฯได้ตัดสินว่าป.ป.ช.ชุดดังกล่าวกระทำความผิดตามฟ้องและแสวงหาผลประโยชน์ให้ตนเองโดยอำเภอใจจึงพิพากษาให้จำคุกจำเลยในคดีดังกล่าวที่เป็นอดีตป.ป.ช. คนละ 2 ปีแต่โทษจำคุกศาลให้รอลงอาญาไว้ 2 ปี

หรืออย่างในคดีอัยการสูงสุดยื่นฟ้องยึดทรัพย์พ.ต.ท.ทักษิณชินวัตร ต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ก็ได้ อรรถพล คนนี้คอยทำหน้าที่ให้ข่าวกับสื่อมวลชนในเรื่องขั้นตอนคดีความทั้งในชั้นอัยการและในชั้นศาลฎีกาฯ

ดังนั้นตัว อรรถพล จึงเป็นอัยการชั้นผู้ใหญ่ของสำนักงานอัยการสูงสุด ที่ค่อนข้างคุ้นเคยกับสื่อมวลชนและทันกระแสการวิพากษ์วิจารณ์อะไรต่างๆทางการเมืองและในประเด็นร้อนๆ ได้เร็วและจับกระแสได้ทันท่วงที

จึงไม่แปลกที่ทำไมยังไม่ทันเข้ารับตำแหน่ง อัยการสูงสุด “อรรถพล ว่าที่อัยการสูงสุด”จัดการเปิดแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนแบบทันทีหลังศาลฎีกาฯมีคำพิพากษาจำคุกประชามาลีนนท์และพล.ต.ต.อธิลักษณ์ เมื่อ 11 ก.ย. 56 คล้อยหลังศาลฎีกาฯตัดสินคดีวันเดียว

คำแถลงดังกล่าว มีความน่าสนใจไม่น้อยเพราะทำให้เห็นทิศทางการทำงานของว่าที่อัยการสูงสุดหลังจากนี้ได้เป็นอย่างดีโดยเฉพาะกับบทบาทการประสานงานร่วมกันระหว่างสององค์กรใหญ่คือ “สำนักงานอัยการสูงสุด-สำนักงานป.ป.ช.”ซึ่งที่ผ่านมามักมีปัญหาการทำงานร่วมกันตลอดในการมีความเห็นทางคดีสำคัญๆทางการเมืองโดยเฉพาะคดีการสอบสวนการทุจริตที่ป.ป.ช.รับไม้มาจากคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ(คตส.)

พบว่าอรรถพล พยายามแจงว่าที่ผ่านมา ป.ป.ช.กับอัยการ ไม่ได้มีปัญหาความขัดแย้งอะไรกันในการทำคดีต่างๆอาจมีความเห็นบางจุดที่ต่างกันบ้าง แต่ก็ยังคุยกันได้ และจริงๆแล้วความเห็นทางคดีที่ต่างกันก็มีไม่มากนัก

ส่วนคดีทุจริตรถดับเพลิงฯที่ศาลฎีกาฯตัดสินออกมา อรรถพลก็ยกมาว่าก่อนหน้านี้ที่อัยการเห็นแย้งกับป.ป.ช.ว่าไม่ควรยื่นฟ้องจำเลยในคดีนี้บางคนผลก็ออกมาแล้วว่า ศาลฎีกาฯก็ตัดสินยกฟ้องจำเลยคนที่อัยการเห็นว่าไม่ควรยื่นฟ้อง

พูดง่ายๆก็คือ ว่าที่อัยการสูงสุดแถลงตีกินเพื่อพยายามบอกกับสังคมว่างานนี้อัยการไม่ได้เสียหน้าที่ปล่อยให้ป.ป.ช.ยื่นฟ้องคดีต่อศาลเอง ดั่งคำแถลงตอนหนึ่งของว่าที่อัยการสูงสุดตอนหนึ่งดังนี้

“แม้อัยการไม่ได้ยื่นฟ้องคดีเพราะในการพิจารณาสำนวนครั้งนั้นมีความเห็นต่างกับป.ป.ช. ที่ต้องการให้ฟ้องจำเลยทุกคน แต่อัยการเห็นว่าควรฟ้องบางคนซึ่งการที่อัยการมีความเห็นสั่งไม่ฟ้องจำเลยที่ 1 นายโภคิน พลกุลอดีต รมว.มหาดไทยปัจจุบันเป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี นายวัฒนา เมืองสุข อดีต รมว.พานิชย์ และนายอภิรักษ์ โกษะโยธิน อดีตผู้ว่าฯกทม.นั้นก็ปรากฏว่าตรงกับผลคำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเมื่อวานนี้

ดังนั้นไม่ถือว่าเป็นการเสียหน้าที่อัยการไม่ฟ้องคดีให้ ป.ป.ช. อย่างไรก็ดีสำหรับการทำงานร่วมกับป.ป.ช.ก่อนหน้านี้ผมได้เคยร่วมสัมมนา กับ ป.ป.ช.แล้ว กำหนดแนวทางชัดเจนว่าจะเอามติจากการตั้งคณะทำงานร่วมกันระหว่าง ป.ป.ช.และอัยการถือเป็นเด็ดขาดแต่หากมีความเห็นไม่ตรงกันในบางเรื่อง ทาง ป.ป.ช.ก็สามารถที่จะส่งฟ้องคดีเองได้”

“ทีมข่าวการเมือง”อยากให้ทุกฝ่ายจับตาบทบาทการทำงานของอัยการในยุคที่กำลังจะมีผู้นำคนใหม่ที่ชื่อ อรรถพล ใหญ่สว่างกันให้ดี ว่าหลังจากนี้จะเป็นอย่างไร

เนื่องจากการทำงานของอัยการสูงสุดในยุคหลังๆที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นในยุค เรวัติ ฉ่ำเฉลิม -พชร ยุติธรรมดำรง-ชัยเกษมนิติสิริ มาจนถึงยุค จุลสิงห์ วสันตสิงห์ที่กำลังจะพ้นจากตำแหน่งในอีกสิบกว่าวันต่อจากนี้ จะพบว่าอดียอัยการสูงสุดที่ถูกเอ่ยชื่อถึงข้างต้น มีเรื่องราวอะไรให้ได้พูดถึงกันในด้านลบไม่มากก็น้อย

เช่นกรณีชัยเกษมนิติสิริที่ตอนนี้มานั่งเป็นรมว.ยุติธรรมให้กับรัฐบาลยิ่งลักษณ์ชินวัตร ถือเป็นอดีตอัยการสูงสุดไม่กี่คนที่หันมาสู่ถนนการเมือง แล้วพาสชั้นขึ้นเป็นรัฐมนตรีแบบรวดเร็วซึ่งที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่า แทบไม่มีอัยการสูงสุดคนไหนเล่นการเมืองเลยหลังพ้นจากตำแหน่งมีเพียงชัยเกษมคนเดียว ซึ่งหลังก่อนหน้านี้ รัฐบาลยิ่งลักษณ์ก็ตั้งให้ชัยเกษมเป็นประธานคณะกรรมการหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยมาแล้ว

ขณะที่ตอนที่ชัยเกษมเป็นอัยการสูงสุด เคยถูกคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ(คตส.)ชี้มูลความผิดในคดีทุจริตโครงการจัดซื้อเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิดซีทีเอ็กซ์ 9000 สนามบินสุวรรณภูมิในฐานะอดีตบอร์ดบริษัทการท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย (ทอท.)ซึ่งในชั้นคตส.มีการชี้มูลความผิดกับบุคคลต่างๆ รวมทั้งสิ้น 25 ราย

ในความผิดที่คตส.ชี้ว่าได้ร่วมกันเสนอค่าจ้างปรับเปลี่ยนสายพานลำเลียงและติดตั้งเครื่องตรวจวัตถุระเบิดแพงกว่าความเป็นจริง1,714.846ล้านบาท เป็นเหตุให้รัฐได้รับความเสียหายจากความผิดในคดีนี้แต่ต่อมาในชั้นป.ป.ช.ก็มีการยกคำร้องไม่เอาผิดกับผู้ถูกชี้มูลความผิดหลายคนในคดีนี้เช่นทักษิณชินวัตร-สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ

แต่ข่าวจากป.ป.ช.บอกว่าคนที่ถูกชี้มูลความผิดบางคนที่เป็นพวกอดีตบอร์ดทอท.ที่ตามข่าวบางสำนักบอกว่ามีชื่อ“ชัยเกษม” รวมอยู่ด้วยยังต้องลุ้นว่าจะรอดหรือไม่รอดในชั้นป.ป.ช.ที่น่าจะมีความชัดเจนมากขึ้นในช่วงเดือนตุลาคมนี้

หรือปัญหากับตัวอัยการสูงสุดคนปัจจุบัน “จุลสิงห์”ที่แม้จะพยายามเก็บตัวเงียบ ไม่เคยให้ข่าวใดๆกับสื่อ แต่บางกรณีก็ทำให้เกิดกระแสวิจารณ์การทำงานของอัยการสูงสุดคนนี้ไม่น้อยเช่นเรื่องที่ จุลสิงห์มีคำสั่ง “ไม่ฎีกา”คดีเลี่ยงภาษีหุ้นบริษัท ชินคอร์ปอเรชั่นจำกัด (มหาชน)อันเป็นคดีอันโด่งดังอย่างมากเพราะจำเลยในคดีนี้ล้วนเป็นคนดังคือนายบรรณพจน์ดามาพงศ์ - คุณหญิงพจมาน ชินวัตร-นางกาญจนาภาหงส์เหิน เลขานุการส่วนตัวคุณหญิงอ้อ เป็นจำเลยที่ 1-3 ในข้อหาร่วมกันหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากร ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 37

โดยคดีดังกล่าวศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยทั้งสามตามคำฟ้องของอัยการคือจำคุกจำเลยที่1 และ 2 คือบรรณพจน์และคุณหญิงพจมาน คนละ 3 ปี ส่วนนางกาญจนาภา ศาลสั่งจำคุก 2 ปี และต่อมาจำเลยทั้ง 3ยื่นอุทธรณ์สู้คดี ซึ่งศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลรัษฎากรมาตรา 37 (2) ให้จำคุก 2 ปี และปรับ 1 แสนบาท โทษจำคุกให้รอลงอาญา 1 ปี ส่วนคุณหญิงพจมานและนางกาญจนาภา ให้ยกฟ้อง

แล้วในที่สุดคดีก็สิ้นสุดลงเมื่อ จุลสิงห์ อัยการสูงสุด มีคำสั่งไม่ยื่นฎีกาจนทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์กันไปอื้ออึง

จะเห็นได้ว่าเสียงวิจารณ์และการพูดถึงสำนักงานอัยการสูงสุดของผู้คนในสังคม ในช่วงหลังๆเกิดขึ้นมาก โดยเฉพาะการทำความเห็นในคดีสำคัญๆ

ด้วยเหตุนี้ ตัวผู้นำองค์กรอัยการสูงสุดจึงมีความสำคัญมากกับการนำพาองค์กรนี้ให้เป็นที่เชื่อถือและศรัทธาของประชาชน

เพราะต้องไม่ลืมว่า “อัยการ”คือ”ทนายแผ่นดิน” เป็นหนึ่งในองค์กรสำคัญของกระบวนการยุติธรรม หากคนในสังคมไม่เชื่อถือหรือมีข้อเคลือบแคลงใจกับการทำงานของอัยการมันก็จะส่งผลต่อความน่าเชื่อถือและการยอมรับของคนในสังคมต่อกระบวนการยุติธรรมตามไปด้วย

จึงน่าคิดว่าแล้วบทบาท-การยอมรับของประชาชนต่อสำนักงานอัยการสูงสุดนับจากนี้ในยุคที่จะมีผู้นำคนใหม่ชื่อ “อรรพล ใหญ่สว่าง”ซึ่งมีบทบาทในการคุมคดีสำคัญๆมาแล้วมากมายจะดีขึ้นหรือแย่ลง?
จุลสิงห์ วสันตสิงห์
ชัยเกษม นิติสิริ
 รถดับเพลิงที่มีปัญหาทุจริต
กำลังโหลดความคิดเห็น