xs
xsm
sm
md
lg

พลิกปูมว่าที่ ครม.หน้าใหม่ ยิ่งลักษณ์ 1/5

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายจาตุรนต์ ฉายแสง
การปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) ของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ครั้งที่ 5 ซึ่งเกิดขึ้นครั้งหลังสุด แม้จะมองว่าเป็นการปรับภาพลักษณ์หลังคะแนนนิยมลดลงจากนโยบายต่างๆ แต่ก็เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ว่า บุคคลที่ถูกเสนอชื่อแต่ละคนมีลักษณะการปูนบำเหน็จให้คนที่รับใช้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และผู้ต้องหาหนีคดีอาญาแผ่นดิน

“ทีมข่าวการเมือง ASTVผู้จัดการออนไลน์” ขอนำเสนอประวัติคร่าวๆ ของว่าที่รัฐมนตรีหน้าใหม่แต่ละคนว่ามีความสัมพันธ์กับ พ.ต.ท.ทักษิณอย่างไรบ้าง

• นายจาตุรนต์ ฉายแสง

อดีตรักษาการหัวหน้าพรรคไทยรักไทย ที่คาดว่าจะได้รับการแต่งตั้งเป็น รมว.ศึกษาธิการ แทนนายพงศ์เทพ เทพกาญจนา ที่ลดเก้าอี้เหลือเพียงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี เป็นชาว จ.ฉะเชิงเทรา เป็นบุตรคนโตของนายอนันต์ ฉายแสง อดีต ส.ส.ฉะเชิงเทรา และ อดีต รมช.เกษตรและสหกรณ์ เป็นคนเดือนตุลา ใช้ชื่อจัดตั้งว่า “สหายสุภาพ” จบการศึกษาคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ปริญญาโทด้านเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยแห่งรัฐนิวยอร์ก ที่บัฟฟาโล สหรัฐอเมริกา และได้รับทุน Teaching ของมหาวิทยาลัยอเมริกัน สหรัฐอเมริกา

ก้าวเข้าสู่เส้นทางการเมืองเป็น ส.ส.ฉะเชิงเทรา พรรคประชาธิปัตย์ ปี 2529 และสมัยที่ 2 ในปี 2531 ต่อมา ได้ย้ายมาสังกัดพรรคความหวังใหม่ เป็น รมช.คลัง สมัยรัฐบาล พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ และได้รับการเลือกตั้งต่อเนื่องกันมาโดยตลอด จนกระทั่งในการเลือกตั้งปี 2544 นายจาตุรนต์ ได้เป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคไทยรักไทย เป็น รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รมว.ยุติธรรม รองนายกรัฐมนตรี และตำแหน่งสุดท้ายเป็น รมว.ศึกษาธิการ กระทั่งเกิดรัฐประหารในปี 2549 หลังจากนั้น ได้ดำรงตำแหน่งรักษาการหัวหน้าพรรคไทยรักไทย แทน พ.ต.ท.ทักษิณ และถูกยุบพรรคในที่สุด

• นายพีระพันธุ์ พาลุสุข

ส.ส.ยโสธร เขต 3 พรรคเพื่อไทย ทีมกฎหมายพรรคเพื่อไทย และดำรงตำแหน่งรองประธานคณะกรรมาธิการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ คาดว่าจะได้รับการแต่งตั้งเป็น รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี แทนนายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล เป็นหนึ่งในคนสนิทของนางเยาวภา วงศ์สวัสดิ์ ส.ส.เชียงใหม่ เขต 3 พรรคเพื่อไทย จบการศึกษานิติศาสตรบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ปริญญาโทด้านการทูต และปริญญาเอกสาขากฎหมาย มหาวิทยาลัยปารีส เคยเป็นอาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง และดำรงตำแหน่งรองอธิการบดีฝ่ายกิจการนักศึกษา

เข้าสู่เส้นทางการเมือง ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นครั้งแรกในการเลือกตั้งใหญ่ปี 2526 ในนามพรรคชาติไทย แต่ไม่ได้รับการเลือกตั้ง แต่ได้เป็น ส.ส.ครั้งแรกในสังกัดพรรคประชาธิปัตย์ เมื่อครั้งเลือกตั้งซ่อมปี 2528 และเป็น ส.ส.ยโสธร ในปี 2538 ในสังกัดพรรคชาติไทย กระทั่งช่วงรัฐบาลพรรคไทยรักไทย ปี 2544-2548 ไม่ได้ลงสมัครรับเลือกตั้ง แต่ได้เข้ารับตำแหน่งผู้ช่วย และที่ปรึกษารัฐมนตรีหลายกระทรวง ก่อนลงสมัคร และเป็น ส.ส.ยโสธร อีกครั้งในปี 2550 สังกัดพรรคพลังประชาชน และ 2554 สังกัดพรรคเพื่อไทย รวม 6 สมัย

• นายพิชิฏ ชื่นบาน

ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย อดีตทนายความของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และผู้ต้องหาหนีคดีอาญาแผ่นดิน ที่คาดว่าจะได้รับการแต่งตั้งเป็น รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี จบการศึกษานิติศาสตรบัณฑิต และศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (รัฐศาสตร์) มหาวิทยาลัยรามคำแหง เนติบัณฑิต เดิมทำงานเป็นทนายความ และที่ปรึกษากฎหมาย เปิดสำนักกฎหมาย พิชิต ชื่นบาน แอนด์ แอสโซซิเอท ในซอยจรัญสนิทวงศ์ 40 โดยเป็นทนายความประจำตัว คุณหญิงพจมาน ชินวัตร (นามสกุลในขณะนั้น) ทำหน้าที่ว่าความคดีทุจริตการจัดซื้อที่ดินย่านถนนรัชดาภิเษก

เมื่อวันที่ 10 มิ.ย.2551 นายธนา ตันศิริ หนึ่งในทีมทนายความของนายพิชิต นำถุงขนมใส่เงินสด จำนวน 2 ล้านบาท ให้แก่เจ้าหน้าที่ธุรการ ซี 7 ของสำนักงานศาลฎีกา ซึ่งตรงกับวันที่ พ.ต.ท.ทักษิณ เดินทางมารายงานตัวต่อศาลหลังกลับจากต่างประเทศ โดยมีนายพิชิฏ เดินทางมาด้วย ทั้งนี้ นายธนา กล่าวว่า มบอกว่าระยะนี้ต้องมาติดต่อบ่อย เห็นใจ เจ้าหน้าที่เลยเอาของมาฝากให้ไปแบ่งกัน และเจ้าหน้าที่ธุรการซี 7 ยืนยันว่าภายในถุงมีขนม และเงิน นอกจากนี้ ยังได้ตรวจสอบเทปจากกล้องโทรทัศน์วงจรปิดเพื่อเป็นหลักฐาน

วันที่ 25 มิ.ย.2551 ศาลฎีกามีคำสั่งให้ลงโทษสถานหนักจำคุก 6 เดือน โดยไม่รอลงอาญา และคัดค้านการประกันตัวต่อ นายพิชิฏ พร้อมด้วย น.ส.ศุภศรี ศรีสวัสดิ์ ซึ่งเป็นคนแจ้งเจ้าหน้าที่ธุรการ ซี 7 ให้ไปพบ และนายธนา รวมทั้งให้เลขานุการศาลฎีกาเข้าแจ้งความต่อตำรวจ เพื่อดำเนินคดี มูลความผิดฐานให้สินบนแก่เจ้าพนักงาน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 144 ต่อมาวันที่ 9 ก.ย.2552 สภาทนายความมีมติเอกฉันท์ให้ถอนใบอนุญาตว่าความทั้ง 3 เป็นเวลา 5 ปี กระทั่งนายพิชิฏ ลงสมัครและได้รับเลือกให้เป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อ รวมทั้งทำงานในคณะทำงานด้านกฎหมายพรรคเพื่อไทย

• นายชัยเกษม นิติสิริ

อดีตอัยการสูงสุด ที่คาดว่าจะได้รับการแต่งตั้งเป็น รมว.ยุติธรรม จบการศึกษานิติศาสตรบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปริญญาโทจากมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ประเทศสหรัฐอเมริกา เริ่มรับราชการเป็นอัยการผู้ช่วย และได้รับการเลื่อนตำแหน่งเรื่อยมา กระทั่งตำแหน่งสูงสุด คือ อัยการสูงสุด ในเดือนตุลาคม 2550 ในขณะที่ดำรงตำแหน่งอัยการสูงสุดได้รับตำแหน่งกรรมการและกรรมการตรวจสอบ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กรรมการและประธานกรรมการตรวจสอบ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) และในปี 2555 นายชัยเกษม ได้รับตำแหน่งในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร หลายตำแหน่ง เช่น ประธานสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ คณะกรรมการคดีพิเศษ กรมสอบสวนคดีพิเศษ กรรมการตรวจสอบ บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม

การทำหน้าที่อัยการสูงสุดของนายชัยเกษม ในช่วงปี 2550-2552 เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ว่ารับใช้นักการเมือง โดยเฉพาะหลังเปลี่ยนตัวอัยการสูงสุดจาก นายพชร ยุติธรรมดำรง ที่เกษียณอายุราชการ เป็นนายชัยเกษม ได้มีคำสั่งไม่ฟ้องคดีที่คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ฟ้องร้องอายัดทรัพย์ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และผู้ต้องหาหนีคดีอาญาแผ่นดิน ขณะเดียวกัน นายชัยเกษม ยังถูก คตส. ฟ้องร้อง ในคดีการทุจริตคอร์รัปชันการจัดซื้อเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิด ซีทีเอ็กซ์ 9000 ในฐานะอดีตกรรมการบริหารบริษัท การท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย จำกัด (มหาชน) อีกด้วย ซึ่ง ป.ป.ช.เป็นผู้ฟ้องคดีต่อศาลฎีกาเอง

โดยในช่วงที่นายชัยเกษม เป็นอัยการสูงสุด สำนวนคดีเกือบทั้งหมดที่ คตส. ส่งมาให้อัยการเป็นโจทก์ฟ้อง ต้องมาติดอยู่ที่ชั้นการสั่งคดีของอัยการ ไม่ว่าจะเป็นคดีแปลงสัมปทานเป็นภาษีสรรพสามิต หรือคดีที่ขอศาลยึดทรัพย์อันได้มาจากการร่ำรวยผิดปกติ 7.6 หมื่นล้าน ตกเป็นของแผ่นดิน ส่วนคดีสำคัญ ทุจริตโครงการออกสลากพิเศษ 2 และ 3 ตัว (หวยบนดิน) คดีทุจริตจัดซื้อกล้ายาง 90 ล้านต้น คตส. ต้องแต่งทนายฟ้องศาลเองทั้งหมด นอกจากนี้ ยังมีคดีแบงก์กรุงไทย อนุมัติเงินกู้ให้เครือกฤษดามหานคร ซึ่งเป็นการปล่อยสินเชื่อให้แก่บริษัทที่เป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) โดยคดีนี้ คตส.ชี้มูลความผิด พ.ต.ท.ทักษิณ กับพวก รวมทั้งชี้มูลความผิดนายพานทองแท้ ชินวัตร ในข้อหารับของโจร รวมทั้งคดีที่ คตส.ชี้มูลความผิดนายวัฒนา เมืองสุข อดีต รมว.การพัฒนาสังคมฯ กับพวก ฐานทุจริตต่อหน้าที่ กรณีเรียกรับเงินจากเอกชนโครงการบ้านเอื้ออาทรของการเคหะแห่งชาติ (กคช.) ที่ยังติดอยู่ในชั้นการพิจารณาสั่งคดีของอัยการจนถึงบัดนี้

อ่านประกอบ : คุณสมบัติของ ประธาน ก.ล.ต. คนใหม่ / โชกุน

• นางปวีณา หงสกุล

ไม่มีใครไม่รู้จัก “เจ๊ปิ๊ก” ในฐานะประธานมูลนิธิปวีณาเพื่อเด็กและสตรี น้องสาวของ อาภัสรา หงสกุล ซึ่งคาดว่าจะได้รับการแต่งตั้งเป็น รมว.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ แทนนายสันติ พร้อมพัฒน์ ที่ถูกปรับออกจากตำแหน่ง จบการศึกษาปริญญาตรี Bachelor Of Commerce Bliss College เมืองโคลัมบัส รัฐโอไฮโอ สหรัฐอเมริกา ศิลปศาสตรบัณฑิต ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาเศรษฐศาสตร์การเมือง คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คหกรรมศาสตรบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาพัฒนาการครอบครัวและเด็ก สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล และศึกษาศาสตรมหาบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง

ก้าวเข้าสู่การเมืองในสังกัดพรรคประชากรไทย ของนายสมัคร สุนทรเวช และต่อมาย้ายไปอยู่พรรคชาติพัฒนา เป็น ส.ส.กทม. 6 สมัย ปี 2531, 2535 และ 2538 สังกัดพรรคประชากรไทย, ปี 2539 และ 2544 สังกัดพรรคชาติพัฒนา และปี 2548 สังกัดพรรคไทยรักไทย เป็น รมช.แรงงานและสวัสดิการสังคม ปี 2541 รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ปี 2542 ประธานชมรมรัฐสภาสตรีไทยคนแรก นอกจากนี้ ยังเคยลงสมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ปี 2543 และ 2547 แต่ไม่ได้รับเลือกตั้ง อย่างไรก็ตาม ในปี 2550 ได้ถูกตัดสิทธิทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปี เนื่องจากเป็นกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย ภายหลังจึงได้เข้าร่วมกิจกรรมทางการเมืองกับพรรคชาติไทย

ด้านชีวิตส่วนตัว ในปี 2542 ได้ก่อตั้งมูลนิธิปวีณาหงสกุลเพื่อเด็กและสตรี (องค์การสาธารณประโยชน์) ต่อมา ในช่วงถูกตัดสิทธิทางการเมือง 5 ปี ในปี 2552 นางปวีณา ป่วยเป็นมะเร็งทรวงอกมานานกว่า 5 ปี โดยที่ไม่มีใครทราบนอกจากคนในครอบครัว ปัจจุบันรักษาจนเกือบหายเป็นปกติ นอกจากนี้ ยังมีสายสัมพันธ์ที่ดีกับ พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ในด้านธุรกิจที่ลงทุนร่วมกัน เช่น บริษัท บ้านปวีณา จำกัด และ บริษัท ธรรมชาติเพื่อชุมชน จำกัด แต่ แจ้งว่าไม่มีรายได้หลายปีติดต่อกัน นอกจากนี้ พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ตกเป็นข่าวลาราชการไปต่างประเทศ หลังก่อนหน้านี้ถูกวิพากษ์วิจารณ์กรณีโชว์รูป พ.ต.ท.ทักษิณ ประดับยศตอนเข้ารับตำแหน่ง ผบช.น. พร้อมข้อความ “มีวันนี้เพราะพี่ให้” ขณะที่นางปวีณา ตกเป็นข่าวกรณีเดินทางไปร่วมรับประทานอาหารร่วมกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ในงานเลี้ยงที่โรงแรมแห่งหนึ่งบนเกาะฮ่องกงในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน

• นายวิเชษฐ์ เกษมทองศรี

อดีตประธานคณะกรรมการบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ซึ่งยื่นใบลาออกเมื่อวานนี้ (26 มิ.ย.) คาดว่าจะได้รับการแต่งตั้งเป็น รมว.ทรัพยากรธรรมชาติ จบการศึกษาปริญญาตรี สาขาบริหารธุรกิจ จากวิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษา (วิทยาเขตบพิตรพิมุข จักวรรดิ) เมื่อปี 2529 และปริญญาโท สาขารัฐประศาสนศาสตร์ จากสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ปี 2541 เป็น ส.ส.ราชบุรี พรรคชาติพัฒนา ปี 2539 ต่อมา ในรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ปี 2546 จึงได้รับการแต่งตั้งเป็น รมช.คมนาคม กระทั่งได้ถูกตัดสิทธิทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปี และในปี 2555 ได้สมัครเข้าเป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทย

• นายพ้อง ชีวานันท์

ส.ส.พระนครศรีอยุธยา เขต 2 พรรคเพื่อไทย ที่คาดว่าจะได้รับการแต่งตั้งเป็น รมช.คมนาคม จบการศึกษาวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และปริญญาโทด้านบริหารวิศวกรรม มหาวิทยาลัยมิสซูรี สหรัฐอเมริกา อดีตเป็นที่ปรึกษาคนสนิทของนายมนตรี พงษ์พานิช อดีตหัวหน้าพรรคกิจสังคม แต่วางมือทางการเมืองระยะหนึ่ง กระทั่งลงสมัคร ส.ส. พระนครศรีอยุธยา เมื่อปี 2544 ในสังกัดพรรคไทยรักไทย ปัจจุบันเป็น ส.ส.สมัยที่ 4 ในสังกัดพรรคเพื่อไทย เจ้าของพื้นที่ อ.ท่าเรือ อ.บางปะหัน อ.นครหลวง อ.มหาราช และ อ.บ้านแพรก อยู่ในขั้วของนายวิทยา บุรณศิริ อดีต รมช.สาธารณสุข แกนนำกลุ่มอยุธยา ที่มี ส.ส.อยู่ในมือ 4 คน

• นางเบญจา หลุยเจริญ

อดีตอธิบดีกรมศุลกากร ที่ร่อนใบลาออกมาหมาดๆ โดยคาดว่าจะได้รับการแต่งตั้งเป็น รมช.คลัง จบการศึกษาบัญชีบัณฑิต ต่อด้วยนิติศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เริ่มต้นทำงานเป็นหัวหน้าฝ่ายตรวจสอบภาษี 1 สำนักงานสรรพากรเขต 7 ในปี 2533 เติบโตในสายงานสรรพากร กระทั่งในปี 2546 เป็นรองอธิบดีกรมสรรพากร ก่อนย้ายไปเป็นผู้ตรวจราชการ กระทรวงการคลังปี 2548 ต่อด้วยรองปลัดกระทรวงการคลังปี 2551 อธิบดีกรมสรรพสามิตปี 2554 และอธิบดีกรมศุลกากรปี 2555

นางเบญจา เป็นเพื่อนร่วมรุ่นวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร (วปรอ.) รุ่น 4616 จบการศึกษาปี 2547 กับนางมณฑาทิพย์ โกวิทเจริญกุล น้องสาว พ.ต.ท.ทักษิณ ชินัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และผู้ต้องหาหนีคดีอาญาแผ่นดิน นายทรงวุฒิ ชินวัตร และนายดำรงค์ เกษมเศรษฐ์ อดีตประธานกรรมการบริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน)

สมัยที่นางเบญจา เป็นที่ปรึกษาด้านพัฒนาฐานภาษี ปฏิบัติราชการแทนอธิบดีกรมสรรพากรในขณะนั้น น.ส.ปราณี เวชพฤกษ์พิทักษ์ ซึ่งเป็นตัวแทน บริษัท แอมเพิลริช อินเวสต์เมนต์ ซึ่งเป็นบริษัทที่จดทะเบียนนิติบุคคลในหมู่เกาะบริติช เวอร์จิน ได้ซื้อหุ้น บริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ได้ทำหนังสือลงวันที่ 1 กรกฎาคม 2548 หารือเรื่องการเสียภาษีในการซื้อขายหุ้นให้แก่ นายพานทองแท้ และ น.ส.พินทองทา ชินวัตร บุตรชาย และบุตรสาวของ พ.ต.ท.ทักษิณ มีภาระต้องชำระภาษีอากรตามประมวลรัษฎากรหรือไม่

ต่อมา นางเบญจา ตอบข้อหารือดังกล่าว ผ่านหนังสือที่ กค 0706/7896 ลงวันที่ 21 กันยายน 2548 ตอบกลับไปว่า กรณีนายพานทองแท้ และ น.ส.พินทองทา ชินวัตร บุตรชายและบุตรสาวของ พ.ต.ท.ทักษิณ กรณีไปซื้อหุ้น บมจ.ชิน คอร์ปอเรชั่น จำนวน 329.2 ล้านหุ้น ราคาหุ้นละ 1 บาท นอกตลาดหลักทรัพย์ฯ ก่อนที่จะนำหุ้นมาขายผ่านตลาดหลักทรัพย์ฯ ในราคาหุ้นละ 49.25 บาท ให้แก่กองทุนเทมาเส็กว่า ไม่เข้าข่ายต้องเสียภาษี เพราะไม่มีภาระภาษี แต่ในปี 2549 นายศิโรตม์ สวัสดิ์พาณิชย์ อธิบดีกรมสรรพากร ยืนยันว่าต้องเสียภาษี และกลายเป็นคดีความในที่สุด

นอกจากนี้ ในสมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้แต่งตั้งนางเบญจา เป็นประธานคณะกรรมการบริหารสลากกินแบ่งรัฐบาล รวมทั้งยังแต่งตั้ง พล.ต.ต.สุรสิทธิ์ สังขพงศ์ เพื่อนร่วมรุ่น พ.ต.ท.ทักษิณ สมัยนักเรียนนายร้อยตำรวจ (นตร.) รุ่นที่ 26 อดีตผู้อำนวยการสลากกินแบ่งรัฐบาล และนายวีรภัทร ศรีไชยา ทนายความของคุณหญิงพจมาน ณ ป้อมเพ็ชร เป็นกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาลอีกด้วย แต่ปลายปี 2554 นางเบญจา ได้ขอลาออกจากตำแหน่ง ท่ามกลางความขัดแย้งเรื่องการจัดสรรโควตาสลากกินแบ่งรัฐบาลในเวลานั้น

• นายวีระวัฒน์ โอสถานุเคราะห์

ส.ส.กาฬสินธุ์ เขต 2 พรรคเพื่อไทย ที่คาดว่าจะได้รับการแต่งตั้งเป็น รมช.คลัง แทนนายทนุศักดิ์ เล็กอุทัย ที่ถูกปรับออกจากตำแหน่ง จัดว่าเป็นม้ามืดโนเนม จบการศึกษาศิลปศาสตรบัณฑิต สาขารัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม ปริญญาตรีด้านการเงิน และปริญญาโทด้านการตลาด จากมหาวิทยาลัยลองบีช สหรัฐอเมริกา ลงสมัคร ส.ส.กาฬสินธุ์ สังกัดพรรคพลังประชาชน ปี 2551 แทนนางอรดี สุทธศรี ภรรยา ซึ่งเป็นอดีต ส.ส.และผู้สมัคร ส.ส.กาฬสินธุ์ เขต 2 พรรคไทยรักไทย ที่ถูกตัดสิทธิทางการเมือง 5 ปี กระทั่งปัจจุบันเป็น ส.ส.สมัยที่ 2 เจ้าของพื้นที่ อ.ยางตลาด และ อ.ฆ้องชัย

• นายวิสาร เตชะธีระวัฒน์

อดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย ถือเป็นสายตรงของ นางเยาวภา วงศ์สวัสดิ์ ส.ส.เชียงใหม่ เขต 3 พรรคเพื่อไทย มีความใกล้ชิดกับนายยงยุทธ ติยะไพรัช ซึ่งถูกตัดสิทธิทางกรเมืองในคดียุบพรรคพลังประชาชน กลับเข้าสู่ถนนการเมือง หลังถูกตัดสิทธิทางการเมือง 5 ปี คาดว่าจะได้รับการแต่งตั้งเป็น รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แทนนายปรีชา เร่งสมบูรณ์สุข ส.ส.เลข เขต 1 ที่ถูกปรับออก และมีปัญหาการทำงานกับนายยงยุทธ ที่ถูกมองว่าเป็นรัฐมนตรีตัวจริงในกระทรวงนี้

จบการศึกษานิติศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยรามคําแหง และรัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็น ส.ส.เชียงราย มาแล้ว 8 สมัย เริ่มจากพรรครวมไทยปี 2529 ก่อนย้ายไปพรรคสามัคคีธรรม พรรคชาติพัฒนา พรรคนำไทย พรรคประชาธิปัตย์ สมัยเดียวกับนายยงยุทธ ก่อนลาออกไปลงสมัคร ส.ส.พรรคไทยรักไทย จากนั้นถูกยุบพรรค และส่งบุตรสาวคนเดียวอย่าง นางวิสาระดี อมรวิวัฒน์ ลงสมัคร ส.ส. และได้รับเลือกตั้ง 2 สมัย เจ้าของพื้นที่ 4 ตำบลใน อ.เมืองเชียงราย และ อ.พาน

• นายสรวงศ์ เทียนทอง

ส.ส.สระแก้ว เขต 3 มีชื่อเล่นว่า “บอย” บุตรชายคนโตของ “ไดโนเหนาะ” นายเสนาะ เทียนทอง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย กลุ่มวังน้ำเย็น จากทั้งหมด 5 คน คาดว่าจะได้รับการแต่งตั้งเป็น รมช.อุตสาหกรรม แทนนายฐานิสร์ เทียนทอง หลานของนายเสนาะ ซึ่งเป็น ส.ส.สระแก้ว เขต 1 จบการศึกษาบริหารธุรกิจ สาขาธุรกิจระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยจอห์นสัน แอนด์ เวลส์ สหรัฐอเมริกา เป็น ส.ส.มาแล้ว 3 สมัย ในสังกัดพรรคไทยรักไทย ปี 2544, พรรคประชาราช ปี 2550 และพรรคเพื่อไทย ปี 2554 เจ้าของพื้นที่ อ.อรัญประเทศ อ.ตาพระยา อ.โคกสูง และบางส่วนของ อ.วัฒนานคร

• นางสิริกร มณีรินทร์

อดีตหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งพรรคไทยรักไทย คาดว่าจะได้รับการแต่งตั้งเป็น รมช.ศึกษาธิการ แทนนายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช ที่ถูกโยกไปเป็น รมช.มหาดไทย จบการศึกษาอักษรศาสตรบัณฑิต จากมหาวิทยาลัยซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย ปริญญาโท สาขาวรรณคดีเปรียบเทียบ จากมหาวิทยาลัยเกรนอป ประเทศฝรั่งเศส และปริญญาเอกในสาขาเดียวกัน จากมหาวิทยาลัยปารีส เป็นภรรยา พล.ต.อ.วงกต มณีรินทร์ เพื่อนร่วมรุ่นกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และผู้ต้องหาหนีคดีอาญาแผ่นดิน

นางสิริกร เริ่มรับราชการเป็นอาจารย์ประจำที่คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เมื่อปี พ.ศ.2517 จากนั้นในปี พ.ศ.2531 จึงได้ลาออกมารับตำแหน่งผู้บริหารบริษัทเครือยนตรกิจกรุ๊ป ก่อนร่วมก่อตั้งพรรคไทยรักไทย ได้รับตำแหน่ง รมช.ศึกษาธิการ และ รมช.สาธารณสุข ในรัฐบาลของทักษิณ กระทั่งได้ถูกตัดสิทธิทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปี และในปี 2555 ได้สมัครเข้าเป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทย
นายพีระพันธุ์ พาลุสุข
นายพิชิฏ ชื่นบาน
นายชัยเกษม นิติสิริ
นางปวีณา หงสกุล
นายวิเชษฐ์ เกษมทองศรี
นายพ้อง ชีวานันท์
นางเบญจา หลุยเจริญ
นายวีระวัฒน์ โอสถานุเคราะห์
นายวิสาร เตชะธีระวัฒน์
นายสรวงศ์ เทียนทอง
นางสิริกร มณีรินทร์
กำลังโหลดความคิดเห็น