xs
xsm
sm
md
lg

บทพิสูจน์อัยการยุค “จุลสิงห์” “ทนายโจร”หรือ “ทนายแผ่นดิน”

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวการเมือง

จุลสิงห์ วสันตสิงห์
ของขวัญวันอำลาตำแหน่งหลังเกษียณอายุราชการที่ ถาวร เสนเนียมรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ มอบให้กับ “จุลสิงห์ วสันตสิงห์” อดีตอัยการสูงสุดหมาดๆ ด้วยการยื่นคำร้องต่อ ป.ป.ช.ให้ดำเนินคดีกับ จุลสิงห์โทษฐานไม่ฏีกาคดีทำนิติกรรมอำพรางเพื่อหลีกเลี่ยงภาษีระหว่างคุณหญิงพจมาน ดามาพงษ์กับ นายบรรณพจน์ ดามาพงษ์

หลังจากศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาที่ค้านสายตาคนดูกลับคำพิพากษาชั้นต้นที่ให้จำคุกบุคคลทั้งคู่ 3 ปีโดยไม่รอลงอาญามาเป็นยกฟ้องกรณีคุณหญิงพจมาน ส่วนบรรณพจน์ พิพากษาว่ามีความผิดจริงลงโทษคุก 1ปี แต่โทษให้รอลงอาญา โดยจุลสิงห์ตัดสินใจไม่ยื่นฎีกาคดีนี้เพื่อให้การตัดสินตามกระบวนการยุติธรรมถึงที่สุดแต่ใช้อำนาจอัยการสูงสุดในฐานทนายแผ่นดิน ไม่ยื่นศาลฎีกาเพื่อรักษาเงินแผ่นดิน

นับได้ว่านอกจากจะทะลวงเข้าขั้วหัวใจแล้วยังทำให้ชีวิตหลังเกษียณของ จุลสิงห์ ไม่ราบรื่นอย่างที่คิด แม้อาจจะได้ตำแหน่งแห่งหนในรัฐวิสาหกิจหรือ บริษัทเอกชนยักษ์ใหญ่ที่ใดที่หนึ่งก็ตาม

แต่กรรมจะไล่ล่า จุลสิงห์ จนกว่าจะสิ้นลมหายใจ !

โดยเฉพาะประเด็นทิ้งทวนที่ ถาวร เจ้าเก่า ออกมาแฉว่า มีคำสั่งไม่ฟ้อง “ทักษิณชินวัตร” นักโทษหนีคดี ในคดีก่อการร้าย ก่อนที่จะเกษียณอายุราชการ นับเป็นการกล้าท้าทายความผิดทางกฎหมาย

ไม่ต่างจาก ยงยุทธ วิชัยดิษฐ อดีตปลัดมหาดไทยที่เคยรับใช้ช่วยงาบธรณีสงฆ์จนได้ขยับตูดไปนั่งเป็นปลัดแต่สุดท้ายหนีกรรมไม่พ้นแม้เหตุการณ์ผ่านมานานกว่าสิบปี คนทำผิดก็ไม่มีสิทธิพ้นผิดโดย ป.ป.ช.ชี้มูลว่า ยงยุทธ มีความผิดวินัยร้ายแรงฐานทุจริตต่อหน้าที่ทำให้หมดโอกาสที่จะเล่นการเมืองตลอดชีวิตจากที่กำลังรุ่งโรจน์อยู่ในตำแหน่งรมว.มหาดไทย ก็ตกเก้าอี้แบบสายฟ้าผ่าโดยไม่ทันได้ตั้งตัวและยังต้องใช้ชีวิตช่วงบั้นปลายขึ้นโรงขึ้นศาลอีกนานหลายปี

เป็นชะตากรรมที่ จุลสิงห์ ควรดูเอาไว้เป็นเยี่ยงอย่างเพราะผลงานที่ทำไว้เรียกได้ว่า “เข้าตานายใหญ่ทำลายประเทศ” ได้ไม่แพ้ “ขี้ข้า”คนอื่น ๆ ในสังกัดดูไบ

แม้ จุลสิงห์ จะเป็น อัยการสูงสุดในยุครัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะแต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเป็นคนของพรรคประชาธิปัตย์เพราะคนที่รู้จักจุลสิงห์เป็นอย่างดีจะรู้ว่าเขาชอบ “สีแดง” คุยกันง่ายดีแต่เนื่องจากระบบของอัยการจะคัดเลือกอัยการสูงสุดจากที่ประชุมคณะกรรมการอัยการซึ่งมีมติเป็นเอกฉันท์ 14:0 ให้ จุลสิงห์ด้วยระบบอาวุโสขึ้นเป็นผู้นำองค์กรแทน “ชัยเกษม นิติสิริ”โดยไม่มีคู่แข่ง

ตอนที่เป็นอัยการสูงสุดยุคอภิสิทธิ์ ก็มีคำถามตัวใหญ่มาก ๆ ว่าทำไมอัยการจึงไม่ติดตามดำเนินคดีกับ ทักษิณ ชินวัตร นักโทษหนีคุก 2 ปี ทั้ง ๆ แตกต่างจากวีรกรรมในสมัยที่ดำรงตำแหน่ง อธิบดีอัยการต่างประเทศเป็นหัวหน้าทีมไล่ล่า “ปิ่น จักกะพาก” อดีตผู้บริหารระดับสูงบริษัทเงินทุนเอกธนกิจผู้ต้องหาคดียักยอกทรัพย์ที่หนีไปอยู่อังกฤษ

แม้กรณีนี้จะคว้าน้ำเหลว แต่ก็ประสบความสำเร็จในการนำตัว ราเกซสักเสนา อดีตที่ปรึกษากรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพพาณิชยการ จำกัด (มหาชน)ผู้ต้องหายักยอกทรัพย์แบงค์บีบีซีที่กบดานอยู่ประเทศแคนาดาได้เป็นผลสำเร็จในเวลาต่อมาก่อนที่คดีจะหมดอายุความ

จริงอยู่ว่าการติดตามตัวนักโทษหนีคดีที่มีเงินมหาศาลอย่าง ทักษิณเปลี่ยนพาสปอร์ตเดินทางเป็นว่าเล่นมีความเป็นพลเมืองในหลากหลายประเทศไม่ใช่เรื่องง่ายแต่ก็ไม่ถึงกับเกินความสามารถที่จุลสิงห์จะทำได้ หากยังมีสำนึกของการเป็น “ทนายแผ่นดิน” หลงเหลืออยู่

แต่หลายคดีที่เกี่ยวกับการทุจริตในยุคทักษิณ หรือแม้แต่การจาบจ้วงเบื้องสูงกลับถูกดองเค็มอยู่ในสำนักงานอัยการสูงสุดยาวนานกว่า2 ปี โดยไม่มีความคืบหน้า

เมื่อฟ้าเปลี่ยนสีอำนาจเปลี่ยนมือผลงานแรกของจุลสิงห์ที่ออกลายให้เห็นคือ การไม่ยื่นฎีกาคดีเลี่ยงภาษีกว่า 500 ล้านบาทของคุณหญิงพจมาน และบรรณพจน์ ดามาพงษ์ฟอกคุณหญิงพจมานกลายเป็นคนบริสุทธิ์ผุดผ่องจากที่ศาลชั้นต้นเคยชี้ไว้ว่า

“จำเลยทั้ง 3 (พจมาน บรรณพจน์กาญจนา หงษ์เหิน เลาขาพจมาน) เป็นผู้มีฐานะ ทางเศรษฐกิจและสังคมสูงโดยเฉพาะอย่างยิ่ง กระทำผิดฐานให้ถ้อยคำอันเป็นเท็จเพื่อหลีกเลี่ยงการเสียภาษีจำเลยที่ 2 (พจมาน) เป็นภรรยาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองระดับผู้บริหารประเทศจำเลยทั้ง 3 จึงต้องนอกจากมีหน้าที่ปฏิบัติตนเยี่ยงพลเมืองดีทั่วๆไปแล้วยังควรดำรงตนเป็นตัวอย่างที่ดีสมฐานะทางเศรษฐกิจและสังคมด้วย

แต่จำเลยทั้ง 3 กลับร่วมกันกระทำการหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากรอันเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนต่อกฎหมาย ไม่เป็นธรรมต่อสังคมและระบบภาษี ทั้งๆที่จำนวนค่าภาษีอากรที่จำเลยที่ 1 จะต้องชำระทางกฎหมายและจำเลยที่ 2 จะเป็นผู้ชำระแทนในที่สุดนั้นเทียบไม่ได้กับจำนวนทรัพย์สินที่จำเลยที่ 2 และครอบครัวมีอยู่ในขณะนั้น”

จากบุคคลชั้นสูงที่ไม่ประพฤติตนเป็นพลเมืองที่ดีหนีภาษีทั้งที่รวยมหาศาลกลายเป็นคนไม่ได้กระทำความผิดใด ๆ ในทันทีที่ จุลสิงห์ไม่ยื่นฎีกา จะรับอะไรไปบ้างจากการตัดสินใจครั้งนั้นไม่รู้ แต่ที่รับไปแล้วแน่ ๆคือ คดีที่ถาวร ยื่น ต่อ ป.ป.ช.

ไม่เพียงเท่านั้นสำนักงานอัยการสูงสุดภายใต้การดูแลของ จุลสิงห์ยังมีคำสั่งไม่ฟ้อง “จักรภพ เพ็ญแข” ในข้อหาจาบจ้วงสถาบันอีกด้วย จากที่ต้องหลบ ๆซ่อน ๆ หนีคดี วันนี้จักรภพ สามารถเดินเข้ามาในประเทศไทยได้อย่างผู้บริสุทธิ์แต่ที่ไม่กลับมาเพราะติดใจของดีอยู่ที่เขมรเลยลืมความหลังที่เมืองไทยไปซะแล้ว

แม้ว่าวันนี้จะยังไม่มีหลักฐานที่แน่ชัดว่า จุลสิงห์ ได้เซ็นคำสั่งทิ้งทวนไม่ฟ้องนักโทษหนีคดีทักษิณ ฐานก่อการร้าย จริงหรือไม่ แต่ในที่สุดความจริงก็ต้องปรากฏว่า “แอบทำผิดตอนวัยใกล้ฝั่ง” หรือไม่

และหากข่าวที่ออกมาเป็นเรื่องจริงไม่เพียงแต่จะสั่นคลอนความเชื่อมั่นที่คนไทยมีต่อกระบวนการยุติธรรมตั้งต้นเท่านั้้นยังเป็นปัจจัยเพิ่มความขัดแย้งในสังคมมากขึ้นขณะที่ผู้มัอำนาจที่ไร้ธรรมนำการปกครองก็จะยิ่งลุแก่อำนาจขาดความละอายต่อบาปทำร้ายประเทศได้อย่างย่ามใจ

เพราะสามารถเอาชนะระบบกฎหมายไทยที่คนใช้มันเฮงซวยยอมเป็น “ขี้ข้า” ได้

ด้วยเหตุลักษณะนี้ ใช่ว่าจะไม่เคยเกิดขึ้นแต่อัยการสูงสุดเคยถอนฟ้องคดีวัดพระธรรมกายโดยอ้างเหตุผลเพื่อความปรองดองมาแล้วว่า รัฐธรรมนูญให้ความเป็นอิสระอัยการสูงสุดในการสั่งคดีเพื่อผลประโยขน์และความสงบในบ้านเมืองซึ่งหากมีการถอนฟ้องจริงย่อมไม่ได้ถอนเฉพาะแค่ ทักษิณ เพียงคนเดียวแต่แกนนำที่ปลุกให้คนไป ฆ่า ไปเผา ทำร้ายประเทศที่ถูกดำเนินคดีเป็นผู้ก่อการร้าย 26 คน ที่มีนักโทษหนีคดีเป็นจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้บงการย่อมหลุดทั้งยวงเนื่องจากเป็นคดีที่อยู่ในสำนวนเดียวกัน

นี่จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมการพิจารณาร่างนิรโทษกรรมของวรชัย เหมะ จึงอืดอาดยืดยาดแตกต่างจากที่พยายามดันสุดลิ่มให้พิจารณาเป็นวาระแรกแต่กลับไปดองเค็มในกรรมาธิการฯอย่างชวยสงสัย

หากมีการถอนฟ้องเกิดขึ้นจริงก็จะเป็นคำตอบสำหรับเรื่องนี้เพราะกฎหมายนิรโทษกรรมของ วรชัย ก็แค่ปาหี่หลอกคนเสื้อแดงเท่านั้นแต่ของจริงคือแกนนำหลุดหมด เพราะอัยการถอนฟ้องไม่จำเป็นต้องรอการนิรโทษกรรมด้วยซ้ำไป

เชื่อได้เลยว่าหากเรื่องนี้แดงขึ้นมา จุลสิงห์ ก็คงอ้างคอป.ที่รัฐบาลเคยฉีกรายงานทิ้งและไม่ยอมปฏิบัติตามแนวทางปรองดองที่เสนอให้ค้นหาความจริงมาใช้เป็นประโยชน์จากข้อเสนอที่ให้อัยการชะลอการดำเนินคดีอาญาในช่วงเผาเมืองไว้ก่อน

แต่ปัญหาคือ คดีนี้มันขึ้นสู่ศาลไปแล้วเกินเลยจากข้อเสนอให้ชะลอการดำเนินคดีอาญาก่อนส่งศาลของคอป.ดังนั้นแนวทางที่จะอ้างต่อก็คงไม่พ้นเหตุผลที่เคยใช้ในกรณีถอนฟ้องวัดธรรมกายยุคทักษิณเรื่องอำนาจ จนลัทธิจานบินบิดเบือนหลักแห่งศาสนาพุทธอย่างโจ๋งครึ่มโดยมีรัฐบาลยิ่งลักษณ์คอยหนุนหลัง และยังใช้วัดธรรมกายล้างสมองครู เด็กนักเรียนและข้าราชการ ด้วยโครงการธรรมมะที่ดำเนินการร่วมกับวัดธรรมกายเท่านั้น

ถ้าหลุดคดีก่อการร้ายได้ ก็มองข้ามช็อตต่อไปได้เลยว่าคดีทุจริตที่ยาวเป็นหางว่าวคาอยู่ในศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองไม่ว่าจะเป็น คดีซุกหุ้นซึ่งมีโทษสองกระทง กระทงละ 3 ปี คดีแจ้งบัญชีทรัพย์สินเป็นเท็จ คดีทุจริตหวยบนดินคดีทุจริตปล่อยสินเชื่อธนาคารกรุงไทย 9 พันล้านบาท ฯลฯก็มีสิทธิหลุดไปพร้อม ๆ กัน

เพราะคนอย่างทักษิณเวลามีอำนาจ “เล็ก ๆ ไม่ ใหญ่ ๆ ทำ”เพื่อแสดงอำนาจบาตรใหญ่ข่มขวัญคนไทยทั้งประเทศ ให้เห็นว่า “กูอยู่เหนือกฎหมาย” แต่เชื่อเถอะว่ายังไงก็ไม่มีทาง “อยู่เหนือกฎแห่งกรรม”

สิ่งที่น่าสังเวชใจคือระบบวางไว้อย่างดีให้อัยการเป็นอิสระเพื่อจะได้ทำหน้าที่เป็นทนายแผ่นดินได้อย่างเต็มที่ ไม่ถูกครอบงำหรือแทรกแซง แต่กลับคุกเข่าก้มกราบศิโรราบให้กับความชั่วจนกลายสภาพเป็น “ทนายโจร” มากกว่าที่จะเป็น “ทนายแผ่นดิน”ไปเสียแล้ว
พจมาน ดามาพงษ์
บรรณพจน์ ดามาพงษ์

กำลังโหลดความคิดเห็น