xs
xsm
sm
md
lg

สนธิ ลิ้มฯ ผิด 112 ได้อย่างไร

เผยแพร่:   โดย: สุรวิชช์ วีรวรรณ

ผมดูเหตุผลที่ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับคำพิพากษาของศาลชั้นต้นที่ให้จำคุกนายสนธิ ลิ้มทองกุล 2 ปี โดยไม่รอลงอาญา แล้วรับไม่ได้จริงๆ ครับ อันเนื่องมาจากคดีที่นายสนธิถูกฟ้องเพราะนำคำพูดส่วนหนึ่งของนางดา ตอร์ปิโด มาเปิดเผยเพื่อเรียกร้องให้ตำรวจจับกุมดำเนินคดี หลังจากก่อนหน้านี้ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษายกฟ้อง

โดยศาลชั้นต้นระบุว่า วิญญูชนก็ไม่อาจเข้าใจได้ว่าจำเลยมีเจตนาใส่ร้าย โจมตีสถาบันพระมหากษัตริย์ ประกอบกับคำยืนยันของพยาน การกระทำของจำเลยจึงไม่มีเจตนากระทำความผิดตามฟ้อง พิพากษายกฟ้อง

ผมเห็นด้วยกับศาลชั้นต้นนะครับว่า หากมองที่ “เจตนา” การที่นายสนธินำคำพูดของดา ตอร์ปิโด บางส่วนมาเปิดเผย เพื่อเรียกร้องให้ตำรวจจับกุมดำเนินคดีนางดานั้น วิญญูชนโดยทั่วไปก็ฟังแล้วรู้ได้ทันทีว่า เป็นไปเพราะมีเจตนาให้ตำรวจจับกุมดำเนินคดีนางดา ไม่มีทางที่จะแปรเจตนาของผู้พูดเป็นการดูหมิ่น หมิ่นประมาท อาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ตามกฎหมายอาญา มาตรา 112 ได้เลย

แต่ศาลอุทธรณ์กลับมีคำพิพากษาว่า จากการที่จำเลยพูด ทำให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ส่งผลกระทบต่อสถาบัน อันเป็นการกระทำที่ไม่ระมัดระวัง การกระทำเป็นการครบองค์ประกอบความผิดแล้ว จึงเป็นความผิดฐานดูหมิ่นสถาบันตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 อุทธรณ์ของโจทก์ฟังขึ้น ลงโทษจำคุก 3 ปี แต่คำให้การเป็นประโยชน์ลดโทษ 1 ใน 3 คงจำคุก 2 ปี

ผมยังไม่เห็นคำพิพากษาฉบับเต็มนะครับ แต่ตรวจสอบในสื่อมวลชนหลายค่ายก็ได้ข้อความตรงกันดังที่กล่าวมานี้ ผมเข้าใจนะครับว่า ข้างบนนั้นเป็น “ดุลพินิจ” ของศาล ที่ท่านต้องมั่นใจว่าได้ใช้อำนาจอย่างยุติธรรมตามตัวบทกฎหมายและตามดุลพินิจของท่านแล้ว

ผมให้ความเคารพดุลพินิจของผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์นะครับ แต่ในฐานะที่ผมอยู่ในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจนนำมาสู่การฟ้องร้องคดี และศาลได้มีคำพิพากษากลับคำพิพากษาของศาลชั้นต้นลงมานั้น ผมไม่อาจยอมรับได้เลยว่า นายสนธิ ซึ่งผมรู้จักและมีวัตรปฏิบัติที่จงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์จะมี “เจตนา” ดูหมิ่น หมิ่นประมาท อาฆาตมาดร้ายต่อพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ได้เลย

เมื่อเห็นว่า นายสนธิ มิได้มีเจตนาแล้ว ผมจึงไม่เห็นเลยว่า นายสนธิจะต้องรับผิดในคดีนี้ได้อย่างไร

มาตรา 59 บัญญัติว่า บุคคลจะต้องรับผิดในทางอาญา ก็ต่อเมื่อได้กระทำโดยเจตนา เว้นแต่จะได้กระทำโดยประมาท ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้ต้องรับผิด เมื่อได้กระทำโดยประมาท หรือเว้นแต่ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติไว้ โดยแจ้งชัดให้ต้องรับผิด แม้ได้กระทำโดยไม่มีเจตนา

ผมเข้าใจเอาเองนะครับว่า ศาลอุทธรณ์อาจพิจารณาว่า การกระทำของนายสนธิย่อมเล็งเห็นผลอยู่แล้วว่า การนำคำพูดบางส่วนของนางดา ตอร์ปิโดมาเปิดเผยนั้นย่อมทำให้ข้อความอันมีความผิดตามมาตรา 112 ถูกเผยแพร่ต่อสาธารณะเป็นการทำให้เสื่อมเสียต่อเกียรติยศของพระมหากษัตริย์

แต่ดังที่ได้กล่าวไว้แล้วว่าผมอยู่ในเหตุการณ์ด้วยตัวเอง และได้รับฟังนายสนธินำข้อความของนางดา ตอร์ปิโด ดังกล่าวมาเปิดเผยในวันนั้น ด้วยสติสัมปชัญญะที่ครบถ้วนผมแปรเจตนานั้นเป็นอย่างอื่นไม่ได้เลยนอกจากเชื่อว่าการพูดของนายสนธินั้นก็เพื่อเรียกร้องให้ตำรวจจับกุม ไม่อาจคิดได้เลยว่า นายสนธิจะมีเจตนาเพื่อให้เสื่อมเสียต่อเกียรติยศของพระมหากษัตริย์

นอกจากนั้นในคดีนี้ในศาลชั้นต้น อัยการได้นำนายตำรวจมาสืบพยานฝ่ายโจทก์ ถามว่า เมื่อได้ฟังทั้งคำพูดของนายสนธิและนางดาแล้ว เห็นว่า มีเจตนาต่างกันหรือไม่ พยานบอกว่าเจตนาต่างกันนายสนธิพูดเพื่อปกป้องสถาบัน เมื่อสืบพยานฝ่ายโจทก์อีกปากคือแม่ค้าขายน้ำ ทนายได้ซักถามในคำถามเดียวกัน แม่ค้าขายน้ำซึ่งมีความรู้เพียง ป. 4 ให้การต่อศาลว่า การพูดของนายสนธินั้นมีเจตนาเพื่อปกป้องสถาบัน

ผมว่าตรงนี้แหละครับที่ศาลชั้นต้นระบุว่า วิญญูชนก็ไม่อาจเข้าใจได้ว่าจำเลยมีเจตนาใส่ร้ายโจมตีสถาบันพระมหากษัตริย์

รวมทั้งผมไม่อาจเห็นด้วยกับคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ได้เลยว่า การกระทำของจำเลยเป็นการกระทำที่ไม่ระมัดระวัง เพราะนายสนธิได้หยิบยกถ้อยคำเพียงบางส่วนของนางดามาเปิดเผยเท่านั้น นอกจากนั้นคำพิพากษาส่วนนี้ยังใช้ถ้อยคำไม่ชัดเจน เช่นขาดความระมัดระวังนั้นปกติใช้ในความหมายว่าประมาท ไม่ใช่เจตนาย่อมเล็งเห็นผล ซึ่งมักจะใช้กับคำว่า "ควรคาดหมายได้ว่า"

กรณีดังกล่าวมีปัญหาที่ต้องพิจารณาก็คือ การนำเอาข้อความที่อาจถูกกล่าวหาว่ากระทบเสื่อมเสียต่อพระมหากษัตริย์ มาแสดงซ้ำจะเป็นความผิดหรือไม่ เรื่องนี้ต้องพิจารณาจากโครงสร้างความรับผิดทางอาญา คือต้องเป็นการกระทำโดยเจตนา (ประสงค์ต่อผล หรือย่อมเล็งเห็นผล) โดยการกระทำนั้นกระทบต่อสิ่งที่กฎหมายมุ่งคุ้มครองครบองค์ประกอบความผิดที่กฎหมายระบุไว้ล่วงหน้า และการกระทำนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่มีเหตุให้มีอำนาจทำได้

จะเห็นได้ว่า ผู้ที่ไปแจ้งความต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจย่อมต้องแสดงข้อความนั้นต่อเจ้าหน้าที่ แต่เป็นการกระทำที่ไม่ผิดกฎหมาย เพราะเป็นการกล่าวโทษตามที่กฎหมายรับรองไว้ ในคำพิพากษาเอง ก็ต้องระบุถ้อยคำที่จำเลยถูกกล่าวหาว่าหมิ่นประมาท แต่ 1) โดยอำนาจหน้าที่ของศาล และ 2)โดยเจตนาของศาล การกล่าวซ้ำข้อความย่อมไม่เป็นการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ น่าคิดต่อไปว่า ผู้ที่นำเอาคำพิพากษาที่ระบุว่าจำเลยได้กล่าวถ้อยคำว่าอย่างไรไปบอกเล่าต่อไป หรือไปกล่าวซ้ำจะเป็นความผิดหรือไม่ คำตอบคือไม่ ซึ่งทั้งหมดนี้คือกรณีตามมาตรา 329 ป.อาญา จะอ้างว่าไม่ระมัดระวังได้ไหม ก็คงไม่ได้ มีอย่างเดียวคือไปบิดเบือน หรือตัดต่อเพียงเพื่อจะได้ทำให้เสื่อมเสียเกียรติยศของพระมหากษัตริย์ โดยประสงค์ต่อผลหรือเล็งเห็นผลให้เกิดกระทบเสียหายต่อเกียรติยศชื่อเสียง หรือก่อให้เกิดการดูหมิ่นเกลียดชังเท่านั้น

และการต่อสู้คดีในศาลกรณีนี้จำเลยก็ได้ต่อสู้ว่าเป็นการปฏิบัติหน้าที่พลเมืองตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 70 บุคคลมีหน้าที่พิทักษ์รักษาไว้ซึ่งชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญนี้

นอกจากนั้นผมยังเห็นว่า การกระทำของจำเลยเป็นการติชมโดยสุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 329 แม้ว่า บรมครูทางกฎหมายหลายท่าน เคยอธิบายว่าอ้างมาตรา 329 มาใช้ต่อสู้ในกรณี มาตรา 112 ไม่ได้ เพราะเป็นความผิดต่อความมั่นคง และพระมหากษัตริย์อยู่ในฐานะที่ได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญมิให้ผู้ใดล่วงละเมิด ซึ่งผมไม่เห็นด้วยกับบรมครูทางกฎหมายที่เห็นว่าไม่อาจอ้างมาตรา 329ได้ เพราะจะเกิดข้อแตกต่างต่อกรณีพระราชินี และรัชทายาททันที นอกจากจะอธิบายว่าทั้งสองตำแหน่งเป็นส่วนหนึ่งของพระมหากษัตริย์ ซึ่งในแง่รัฐธรรมนูญก็จะกลายเป็นการคุ้มครองสถาบัน ไม่ใช่คุ้มครององค์ประมุขไป นอกจากนี้หากอธิบายว่าการอ้างมาตรา 329 ทำไม่ได้ ก็จะทำให้การกระทำของเจ้าพนักงานและศาลกลายเป็นความผิดไปด้วย ความเห็นของบรมครูทั้งสองนี้จึงมีช่องโหว่อยู่

ขอยืนยันว่าการแสดงความเห็นของผมนี้มิได้มีเจตนาจะให้มีอิทธิพลเหนือความรู้สึกของประชาชนต่อการพิจารณาคดีของศาล แต่เล็งเห็นถึงความยุติธรรมในฐานะของปุถุชนคนหนึ่งเท่านั้นครับ
กำลังโหลดความคิดเห็น