ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับจำคุก “สนธิ ลิ้มทองกุล” 3 ปี ก่อนลดเหลือ 2 ปี กรณีสรุปคำพูดดา ตอร์ปิโด หมิ่นสถาบัน ปราศรัยซ้ำบนเวทีพันธมิตรฯ ปี 51 หลังศาลชั้นต้นยกฟ้องเนื่องจากจำเลยไม่มีเจตนา แต่เป็นการเรียกร้องตำรวจดำเนินการจับกุม
วันนี้ (1 ต.ค.) ที่ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ห้องพิจารณาคดี 814 ศาลอาญานัดอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ คดีหมายเลขดำที่ อ.2066/2553 ที่พนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 10 เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายสนธิ ลิ้มทองกุล อดีตแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เป็นจำเลย ในความผิดฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 มาตรา 8 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112
กรณีวันที่ 20 ก.ค. 2551 เวลากลางคืนหลังเที่ยง จำเลยนี้ได้ขึ้นปราศรัยบนเวทีปราศรัยกลุ่มผู้ชุมนุมพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย บริเวณเชิงสะพานมัฆวานรังสรรค์ ด้วยการกระจายเสียงเครื่องขยายเสียง ท่ามกลางประชาชนที่มาฟังจำนวนหลายคน มีการถ่ายทอดสดทางสถานีโทรทัศน์เอเอสทีวี และทางอินเทอร์เน็ต โดยผ่านทางเว็บไซต์ของเอเอสทีวีให้ประชาชนทั้งคนไทยและต่างชาติได้รับชมและรับฟังทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ มีข้อความซึ่งจำเลยนำเอาคำปราศรัยของ น.ส.ดารณี ชาญเชิงศิลปะกุล ที่พูดบนเวทีปราศรัยที่ท้องท้องสนามหลวง อันเป็นการพูดที่มีถ้อยคำหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์มาพูดซ้ำ อาจทำให้ประชาชนเข้าใจผิด เหตุเกิดที่แขวงและเขตดุสิต กทม. ขอให้ลงโทษตามรัฐธรรมนูญ แห่งราชอาญาจักรไทย พ.ศ. 2550 มาตรา 8 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ซึ่งจำเลยให้การปฏิเสธ คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ต่อมาโจทก์ยื่นอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ประชุมตรวจสำนวนแล้วเห็นว่า คดีมีประเด็นต้องวินิจฉัยว่าจำเลยมีเจตนาดูหมิ่นสถาบันหรือไม่ เห็นว่าข้อเท็จจริงที่โจทก์และจำเลยโต้แย้งกันในศาลล่างฟังได้ว่า จำเลยนำคำพูดของ น.ส.ดารณี หรือดา ตอร์ปิโด ที่พูดพาดพิงสถาบันเบื้องสูง มาปราศรัยที่เวทีพันธมิตรฯ ซึ่งเป็นการนำคำพูดมาหมิ่นประมาทซ้ำ ที่จำเลยอ้างว่าไม่เจตนา แต่เอาคำพูดมาปราศรัยเพื่อให้มีการดำเนินคดีกับ น.ส.ดารณี หรือดา ตอร์ปิโด ศาลอุทธรณ์เห็นว่า จำเลยไม่มีความจำเป็นต้องเอาเนื้อหามาถ่ายทอดพูดซ้ำในที่สาธารณะ เพราะประชาชนบางส่วนไม่ทราบว่า น.ส.ดารณี หรือดา ตอร์ปิโด พูดอย่างไร ก็มาทราบจากการที่จำเลยพูด ทำให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ ส่งผลกระทบต่อสถาบัน อันเป็นการกระทำที่ไม่ระวังระวังอย่างเพียงพอ การกระทำเป็นการครบองค์ประกอบความผิดแล้ว จึงเป็นความผิดฐานดูหมิ่นสถาบันฯ ตาม ป.อาญา มาตรา 112 อุทธรณ์ของโจทก์ฟังขึ้น ลงโทษจำคุก 3 ปี แต่คำให้การเป็นประโยชน์ ลดโทษ 1 ใน 3 คงจำคุก 2 ปี
หลังฟังคำพิพากษา นายสุวัตร อภัยภักดิ์ ทนายความได้นำหลักทรัพย์เป็นกรมธรรม์ประกันอิสรภาพของบริษัท วิริยะประกันภัย จำกัด (มหาชน) วงเงิน 3 แสนบาท ยื่นขอประกันตัวต่อศาลต่อไป ซึ่งต่อมานายสุวัตร อภัยภักดิ์ ทนายความได้เพิ่มหลักทรัพย์เป็นกรมธรรม์ประกันอิสรภาพ เป็นวงเงิน 5 แสนบาทต่อศาล ซึ่งศาลอุทธรณ์ได้พิจารณาแล้วให้นายสนธิ ลิ้มทองกุล ได้ประกันตัวเพื่อต่อสู้คดีในศาลฎีกาต่อไป
หลังฟังคำพิพากษา นายสุวัตร อภัยภักดิ์ ทนายความ ได้นำดำเนินการขอประกันตัวระหว่างยื่นฎีกาสู้คดี โดยยื่นหลักทรัพย์เป็นกรมธรรม์ประกันอิสรภาพของ บ.วิริยะประกันภัย จำกัด มีวงเงินประกัน 3 แสนบาท ก่อนได้เพิ่มหลักทรัพย์เป็นกรมธรรม์ประกันอิสรภาพ วงเงินประกัน 5 แสนบาท
ขณะที่นายสนธิให้สัมภาษณ์ภายหลังได้ประกันตัวว่า คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ซึ่งตนยอมรับว่านำคำพูดของ น.ศ.ดารณีมาปราศรัยบนเวทีจริง แต่นำมาพูดเพียงบางส่วน เจตนาก็เพื่อต้องการให้เจ้าหน้าที่ดำเนินคดีต่อ น.ส.ดารณี โดยก่อนหน้านั้น น.ส.ดารณีได้พูดปราศรัยหมิ่นเบื้องสูง ที่เวทีท้องสนามหลวงหลายครั้ง แต่เจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจนิ่งเฉยไม่ดำเนินการอะไร และคดีนี้พยานโจทก์ก็ให้การขัดแย้งกัน โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจบางคนยังเห็นว่าการปราศรัยของตนไม่มีเจตนาหมิ่นเบื้องสูง อย่างไรก็ตาม คดีนี้เป็นคดีความมั่นคง ซึ่งศาลชั้นต้นเห็นว่าจะต้องพิจารณาถึงเจตนาอย่างละเอียดรอบคอบ ขณะที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยเพียงว่าตนนำคำพูดมาปราศรัยซ้ำ จึงพิพากษาจำคุก 3 ปี แต่ลดโทษเหลือ 2 ปี โดยศาลไม่ได้มองว่าตนมีเจตนาหมิ่นเบื้องสูงหรือไม่ อย่างไรก็ตามคดีนี้คงต้องสู้กันต่อในศาลฎีกา
อย่างไรก็ตาม คดีนี้ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาวันที่ 26 ก.ย. 2555 สรุปใจความได้ว่า ศาลพิเคราะห์คำเบิกความและพยานหลักฐานทั้งสองฝ่ายแล้วเห็นว่าการพูดของจำเลยสืบเนื่องมาจากการที่ น.ส.ดารณี ชาญเชิงศิลปะกุล พูดบนเวทีปราศรัยที่ท้องสนามหลวง เป็นการพูดโดยถอดข้อความบางตอนมาสรุปให้ประชาชนฟัง โดยจำเลยเห็นว่าคำพูดของ น.ส.ดารณีเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้าย พระมหากษัตริย์ และพระราชินี จึงเรียกร้องให้ พล.ต.อ.พัชรวาท วงศ์สุวรรณ ผบ.ตร.ขณะนั้นดำเนินคดีต่อ น.ส.ดารณี จึงเห็นได้ว่าการที่จำเลยสรุปคำพูดของ น.ส.ดารณี เมื่อฟังโดยรวมแล้วเป็นการแสดงให้เห็นว่าจำเลยมีเจตนาที่จะเรียกร้องให้มีการดำเนินคดีต่อ น.ส.ดารณี การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นการขยายคำพูดของ น.ส.ดารณีอันมีเจตนาโดยตรงเพื่อหมิ่นประมาทหรือดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ และพระราชินี การกระทำของจำเลยจึงไม่มีความผิดตามฟ้อง ให้พิพากษายกฟ้อง