xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ย้ายผู้ว่าฯ ล็อตสุดท้าย “สมุนแม้ว”วางตัวขี้ข้าเบ็ดเสร็จ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายวันชัย สุทธิวรชัย ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี ที่เคยมีเรื่องอื้อฉาวจากกรณีคลิปเสียงรับสินบน แต่ยังก้นเหนียวได้นั่งเก้าอี้ตัวเดิม
ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์-โผแต่งตั้งโยกย้ายผู้ว่าราชการจังหวัดล็อตสุดท้ายก่อนสิ้นปีงบประมาณ 2556 ได้ผ่านมติ ครม.ออกมาเรียบร้อยแล้ว เมื่อวันที่ 24 กันยายนที่ผ่านมา ซึ่งก็ไม่ผิดจากความคาดหมายนัก เมื่อคนที่ได้เลื่อนตำแหน่ง ก็คือคนที่ทำงานรับใช้นักการเมืองได้เข้าตาเท่านั้น

ส่วนคนที่แข็งข้อก็ผิดหวังไปตามระเบียบ

ท่ามกลางกระแสข่าวที่ว่า ก่อนคลอดโผล็อตสุดท้ายออกมานั้น คนในระดับแกนนำพรรคเพื่อไทยได้เข้ามาล้วงลูกจนเละตุ้มเป๊ะไปหมด และเมื่อผลออกมา คนในมหาดไทยต่างงุนงงไปตามๆ กัน

นั่นเพราะบางคนที่เพิ่งถูกย้ายตามมติ ครม.เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2556 ยังไม่ได้ไปนั่งจริงๆ ก็ถูกย้ายกลับมาที่เดิม

บางคนถูกย้ายให้ไปตำรงตำแหน่งใหม่ให้มีผลวันที่ 1 ตุลาคม แต่หลังจากนั้นเพียงวันเดียว ก็ถูกย้ายให้ไปอยู่อีกตำแหน่ง

ทั้งนี้ มติ ครม.เมื่อวันที่ 24 กันยายนที่ผ่านมา เห็นชอบแต่งตั้งโยกย้าย “ผู้ว่าราชการจังหวัด” และ “ผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทย” ชุดสุดท้าย แบ่งเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดแต่งตั้งขึ้นแทนตำแหน่งเกษียณ 14 ตำแหน่ง ผู้ตรวจราชการ 3 ตำแหน่ง และโยกย้ายสลับเก้าอี้อีก 5 ตำแหน่งโดยลำดับที่ 1-6 เป็นการย้ายสลับข้าราชการระดับ 10 ด้วยกันเอง ในระดับผู้ว่าราชการจังหวัด ลำดับที่ 7-23 เป็นการแต่งตั้งเลื่อนตำแหน่งจากระดับ 9 คือรองผู้ว่าราชการจังหวัดและรองอธิบดีฯ เป็นระดับ 10 ซึ่งทั้งหมดก็เป็นไปตามโผ ที่คนของนักการเมืองซีกรัฐบาลต่างก็สมหวังไปตามๆ กัน

นอกจากนี้ มติ ครม.วันเดียวกัน ยังได้เห็นชอบบัญชีรายชื่อตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอ ให้สลับตำแหน่ง ผู้ว่าราชการจังหวัด และ ผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทย เพิ่มเติม อีก 8 ตำแหน่ง โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 2 ต.ค.เป็นต้นไป ซึ่งพบว่า บัญชีรายชื่อในคำสั่งที่สองที่ให้มีผล 2 ตุลาคม จะพบว่ามีชื่ออยู่ 4 คนที่ไปซ้ำกับบัญชีแรก คือ นายเสรี ศรีหะไตร ที่คำสั่งแรกขยับจากรองผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี เป็น ผู้ว่าราชการจังหวัดอ่างทอง แต่คำสั่งที่สองให้ไปเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดพัทลุง คนที่ 2 นายปวิณ ชำนิประศาสน์ ที่คำสั่งแรกขยับขึ้นจากรองผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรปราการ เป็น ผู้ตรวจราชการกระทรวง แต่คำสั่งที่สองให้ไปเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดอ่างทอง คนที่ 3 คือ นายธนาคม จงจิระ ที่คำสั่งแรกขยับขึ้นจากรองผู้ว่าราชการจังหวัดลพบุรี เป็น ผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทย แต่คำสั่งที่สอง ให้ไปเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดลพบุรี และคนที่ 4 คือ นายสมศักดิ์ ปะริสุทโธ เหมทานนท์ ขยับขึ้นจากรองอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น เป็น ผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี แต่ในคำสั่งที่ 2 ให้โยกจากผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี ไปเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง เท่ากับว่าบางคนอาทิ นายธนาคม จงจิระ ซึ่งคำสั่งแรกขยับขึ้นจากรองผู้ว่าราชการจังหวัดลพบุรี เป็น ผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทย แต่คำสั่งที่สอง ให้ไปเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดลพบุรี ก็คือไปนั่งเป็นผู้ตรวจฯ แค่วันเดียวแล้ววันรุ่งขึ้น 2 ตุลาคม ก็ไปนั่งเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดลพบุรีเลย

แหล่งข่าวจากกระทรวงมหาดไทยแจ้งว่า เหตุที่เป็นเช่นนี้ เพราะในการเปิดสอบคัดเลือกเลื่อนระดับจากระดับ 9 เป็นระดับ 10 ของกระทรวงมหาดไทยที่แบ่งออกเป็นสองกลุ่มคือสอบขึ้นเป็นผู้ว่าราชการจังหวัด และเป็นผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทย การเปิดสอบดังกล่าวเปิดโอกาสให้ระดับ 9 สามารถใช้สิทธิสอบได้ทั้งสองอย่าง คือจะสอบเป็นผู้ว่าฯ ก็ได้หรือจะสอบเป็นผู้ตรวจฯ ก็ได้ หรือจะสอบทั้งสองอย่างก็ได้ ทำให้บางคนสอบได้ผู้ว่าฯ บางคนสอบได้ผู้ตรวจฯ แต่สอบไม่ได้ผู้ว่าฯ จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้ในคำสั่งที่ 2 มีบางคนซ้ำกับบัญชีแรกจำนวน 4 คน

อย่างไรก็ตาม ก่อนที่รายชื่อแต่งตั้งโยกย้ายครั้งนี้จะผ่านมติ ครม.ออกมา มีกระแสข่าวว่าฝ่ายการเมืองในรัฐบาลและพรรคเพื่อไทยทั้งแกนนำพรรคและ ส.ส.ของพรรคเข้ามาผลักดันคนของตัวเองให้เข้ามารับตำแหน่งในพื้นที่ หรือไม่ก็ดันให้มีตำแหน่งใหญ่ขึ้น
ไม่ว่าจะเป็นนางเยาวภา วงศ์สวัสดิ์ ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย ในฐานะผู้มีบารมีคนหนึ่งในพรรค เพราะเป็นน้องสาวของ นช.ทักษิณ ชินวัตร เจ้าของพรรคตัวจริง

นายภูมิธรรม เวชยชัย เลขาธิการพรรคเพื่อไทย ผู้รับใช้ใกล้ชิดอีกคนหนึ่งของ นช.ทักษิณ

นายยงยุทธ ติยะไพรัช อดีตรองหัวหน้าพรรคพลังประชาชน ที่เคยก่อคดีทุจริตการเลือกตั้งจนพรรคต้องถูกยุบ แต่ยังคงมีบารมีในภาคเหนือตอนบน เพราะเข้าถึง นช.ทักษิณได้ตลอด

ส่วนบางจังหวัดในพื้นที่ภาคกลาง ก็มีข่าวว่านายบรรหาร ศิลปอาชา ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา ที่กำลังรับบทม้าใช้ของ นช.ทักษิณในละครปฏิรูปการเมือง ได้เข้ามาขอคนของตัวเองให้อยู่ในพื้นที่

ขณะที่ผู้ว่าราชการจังหวัดบางคนที่ไม่ใช่คนของพรรคเพื่อไทย อาทิ นายธีระยุทธ เอี่ยมตระกูล ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง ที่ถูกย้ายไปเป็นผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทย ตามมติ ครม.วันที่ 20 สิงหาคม โดยให้มีผลในวันที่ 1 ตุลาคมนี้ ทั้งที่นายธีระยุทธเหลืออายุราชการเพียงปีเดียว ได้ส่งหนังสือถึงกระทรวงมหาดไทยตั้งแต่วันอังคารที่ 24 กันยายน พร้อมกับหนังสือส่งคืนพัสดุทางราชการคืนให้หน่วยงาน โดยหนังสือลาออกระบุตอนหนึ่งว่า “ไม่ประสงค์จะดำรงตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทย และต้องการจะประกอบอาชีพอื่น”

ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์ของชาวจังหวัดตรังว่าเป็นเรื่องของการเมืองระดับชาติที่เข้ามาล้วงลูก นั่นเพราะ ตลอดระยะเวลาในการดำรงตำแหน่งของนายธีระยุทธ ช่วง 1 ปี 6 เดือน ไม่มีสิ่งใดที่บกพร่องเสียหาย

การตัดสินใจลาออกโดยไม่ยอมไปรับตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทย ได้รับการยกย่องว่าเป็นความกล้าหาญของนายธีระยุทธ แสดงให้เห็นถึงการเป็นนักปกครองมืออาชีพ ที่ไม่ยอมอ่อนข้อให้แก่การเมือง ไม่ให้มาสั่งให้ซ้ายหันขวาหันได้ตามอำเภอใจ

ส่วนคนที่ก่อเรื่องอื้อฉาวอย่างนายวันชัย สุทธิวรชัย ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี กรณีคลิปเสียงเรียกรับสินบน และก่อนหน้านี้ได้ถูกกระทรวงมหาดไทยย้ายมาช่วยราชการชั่วคราวพร้อมกับถูกตั้งกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง แต่ในการแต่งตั้งโยกย้ายครั้งนี้ นายวันชัยกลับยังก้นเหนียวได้นั่งเก้าอี้เดิมต่อไป

ท่ามกลางกระแสข่าวที่ว่า ส.ส.อุบลราชธานีสายนายเกรียง กัลป์ตินันท์ รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทยและอดีต ส.ส.อุบลราชธานีหลายสมัย เป็นคนช่วยนายวันชัยไม่ให้ถูกโยกย้าย แม้ว่านายวันชัยจะขัดแย้งอย่างหนักกับพล.ต.อ.ชิดชัย วรรณสถิตย์ อดีต รมว.มหาดไทยที่ดูแลพื้นที่อุบลราชธานีบางเขตเลือกตั้งให้กับพรรคเพื่อไทยก็ตาม

รวมทั้งมีกระแสข่าวอีกว่านายเกรียงได้ช่วยเหลือด้วยการหนีบนายวันชัย ไปพบแกนนำพรรคเพื่อไทยหลายต่อหลายคน เช่น นางเยาวภา วงศ์สวัสดิ์ รวมถึงพาไปหา นช.ทักษิณ ที่ต่างประเทศ เพื่อขอยื้อเก้าอี้เอาไว้ โดยมีเงินสดๆ หล่นอยู่ที่เชียงใหม่หลายล้านบาท

การแต่งตั้งโยกย้ายผู้ว่าราชการจังหวัดครั้งนี้ จึงเป็นการแต่งตั้งโยกย้ายที่ไม่ได้พิจารณาตามขีดความสามารถและความเหมาะสมของตัวผู้ว่าฯ ที่จะไปพัฒนาพื้นที่ต่างๆ แต่เป็นการวางคนที่พร้อมจะเป็นขี้ข้ารับใช้นักการเมืองพรรคพวกของตนในอนาคตเท่านั้น


กำลังโหลดความคิดเห็น