xs
xsm
sm
md
lg

ช่วยเอา ‘บรรหาร’ ไปปฏิรูปก่อน

เผยแพร่:   โดย: สุรวิชช์ วีรวรรณ

การประชุมสภาปฏิรูปการเมืองที่รัฐบาลจัดขึ้นจบลงด้วยการเสนอให้นายบรรหาร ศิลปอาชา เป็นผู้ประสานงานเพื่อดึงกลุ่มองค์กรต่างๆ เข้าร่วม หลังจากการเปิดสภาฯ นัดแรกนั้นเต็มไปด้วยฝ่ายที่สนับสนุนรัฐบาลเป็นส่วนใหญ่ หากไม่นับกลุ่มองค์กรเอกชนต่างๆ ที่เข้าร่วมตามภาระหน้าที่แต่ไม่ได้มีบทบาทและนัยที่สำคัญอะไร

ดูเหมือนว่า เป้าหมายของบรรหารก็คือ การดึงกลุ่มคนที่อยู่ตรงข้ามรัฐบาลและไม่เห็นด้วยกับสภาปฏิรูปการเมืองของรัฐบาลไม่ว่าจะเป็นฝ่ายค้าน กลุ่มพันธมิตรฯ กลุ่ม 40 ส.ว. ฯลฯ ไปเข้าร่วมสภาปฏิรูปการเมือง โดยคาดหวังว่านายบรรหารจะมีบารมีมากพอที่จะสมานกลุ่มต่างๆ เข้าด้วยกันได้

แต่คำถามไม่ได้อยู่ที่ว่า นายบรรหารจะสามารถประสานกลุ่มต่างๆ เข้าร่วมได้หรือไม่ แต่อยู่ที่แนวทางสภาปฏิรูปการเมืองของรัฐบาลนั้นสามารถแก้ปัญหาของประเทศในขณะนี้ได้จริงๆ หรือ รวมไปถึงคำถามที่ว่า สภาปฏิรูปการเมืองนั้นต้องการแก้ปัญหาของชาติบ้านเมืองอย่างแท้จริง หรือจริงๆ แล้วอะไรคือปัญหาที่ต้องการปฏิรูปกันแน่

เพราะทันทีที่ปรากฏชื่อของนายบรรหาร เป็นโต้โผใหญ่ที่ได้รับมอบหมายจากที่ประชุมให้เป็นแกนหลักสำคัญในการขับเคลื่อนสภาปฏิรูปการเมือง คำถามของสังคมที่ผุดขึ้นทันที ก็คือ นายบรรหารนั่นเองแท้จริงแล้วก็คือ อุปสรรคสำคัญของการปฏิรูปการเมืองไม่ใช่หรือ

จึงมีเสียงพูดในทำนองว่า การเมืองจะปฏิรูปได้ก็ต่อเมื่อคนอย่างนายบรรหาร และคนที่ได้รับเชิญเข้าร่วมสภาปฏิรูปนั่นแหละถอยห่างออกไปจากการเมืองเสียก่อน กลายเป็นว่า ผู้ที่เข้าร่วมในสภาปฏิรูปนั่นแหละที่เป็นอุปสรรคขวากหนามของการปฏิรูปการเมืองเสียเอง

สภาปฏิรูปการเมืองของรัฐบาลจึงเป็นสภาปาหี่และสภาปฏิกูลของใครอีกหลายคน เพราะไม่มีใครเชื่อว่าจะปฏิรูปการเมืองได้ด้วยนักการเมือง

ถ้าจะว่าไปแล้วสภาพของนายบรรหารและพรรคของนายบรรหารนั่นแหละคือ ตัวอย่างการเมืองที่ล้าหลัง พรรคชาติไทยพัฒนาของนายบรรหารนั้นเป็นพรรคการเมืองในความหมายที่แท้จริงหรือ ผมว่า ประชาธิปไตยในพรรคของนายบรรหารก็ไม่มีด้วยซ้ำไป

แน่นอนว่า ความหมายของพรรคการเมืองที่แท้จริงนั้นต้องเป็นที่รวมของกลุ่มคนที่มีอุดมการณ์ทางการเมืองที่คล้ายคลึงกัน และมีจุดมุ่งหมายไปสู่การได้รับความไว้วางใจจากประชาชนเพื่อให้สามารถเข้าไปเป็นรัฐบาลบริหารประเทศ สามารถนำนโยบายของพรรคไปใช้เพื่อให้เกิดประโยชน์กับประเทศชาติและประชาชน

แต่พรรคการเมืองของนายบรรหารเหมือนกับระบบกงสีที่เป็นกิจการในครอบครัว ที่มีนายบรรหารเป็นเถ้าแก่เท่านั้นเอง โดยมีสมาชิกในพรรคเป็นเพียงลูกจ้าง เราจึงเห็นนายบรรหารเข้าไปจัดการกับกระทรวงทบวงกรมต่างๆ ที่ได้รับมอบหมายในฐานะพรรคร่วมรัฐบาล โดยมีบทบาทเหนือรัฐมนตรีของพรรค ทำตัวเป็น “อภิรัฐมนตรี” ทั้งๆ ที่นายบรรหารถูกจำกัดสิทธิทางการเมือง รัฐมนตรีภายใต้พรรคชาติไทยพัฒนาจึงเป็นเพียงตัวแทนหุ่นเชิดของนายบรรหารเท่านั้นเอง

การเมืองในพรรคของบรรหารจึงเป็นการเมืองที่ล้าหลัง และไม่ได้เป็นพรรคการเมืองที่อุดมการณ์เพื่อประเทศชาติและประชาชนหรือคำนึงถึงผลประโยชน์ของส่วนรวม แต่เป็นพรรคที่มีอุดมคติว่า เป็นรัฐบาลแล้ว “อิ่มหมีพีมัน” เป็นฝ่ายค้านแล้ว “อดอยากปากแห้ง”

ซึ่งคำว่า “อดอยากปากแห้ง” นี้ก็มีที่มาจากการที่นายบรรหาร เป็นผู้กล่าวไว้เองว่า การเป็นฝ่ายค้านนั้นไม่สามารถหาผลประโยชน์สนับสนุนทางการเงินและอื่นๆ จากงบประมาณแผ่นดินได้เท่ากับการเป็นฝ่ายรัฐบาล ซึ่งคำพูดนี้ก็สะท้อนถึงเป้าหมายทางการเมืองของพรรคและตัวตนของนายบรรหารที่มีประวัติเติบโตมาจากพ่อค้าที่วิ่งเข้ากลุ่มอำนาจการเมืองนั่นแหละ

พรรคของบรรหารจึงเป็นพรรคการเมืองที่พร้อมเสียบกับทุกฝ่ายไม่ว่าฝ่ายไหนจะมาเป็นแกนนำรัฐบาล ไม่ว่าอีกฝ่ายจะมีอุดมการณ์อย่างไร

แน่นอนว่า การปฏิรูปการเมืองไทยนั้น เป็นเพียงองค์ประกอบย่อยของการปฏิรูปประเทศที่ต้องการการเปลี่ยนแปลงในเชิงโครงสร้างอีกมาก แต่สภาปฏิรูปการเมืองของรัฐบาลที่กำลังเดินหน้าอยู่นี้จะเดินหน้าไปสู่เป้าหมายของการปฏิรูปการเมืองได้อย่างไร เมื่อมันเห็นชัดเจนอยู่แล้วว่า นักการเมืองที่ได้รับเชิญเข้าร่วมในสภาปฏิรูปการเมืองนั่นแหละที่เป็นปัญหาของการเมืองไทย

หลายคนในสภาปฏิรูปการเมือง คืออุปสรรคขวากหนามและเป็นไดโนเสาร์ทางการเมือง และว่าไปแล้วนายบรรหารนั่นแหละที่เป็นระดับแกนนำไดโนเสาร์

นอกจากนักการเมืองคือ ปัญหาของการเมืองไทยที่ต้องการการปฏิรูปเป็นลำดับต้นแล้ว เราจะเห็นว่า องค์ประกอบของพรรคการเมืองก็เป็นตัวปัญหาที่สำคัญของพรรคการเมืองไทย เพราะพรรคการเมืองไม่ได้สะท้อนอุดมการณ์ร่วมของคนในพรรคอย่างแท้จริง แต่กฎหมายได้ออกแบบให้พรรคการเมืองกลายเป็นเหมือนกับพรรคของกลุ่มทุน กระทั่งพรรคการเมืองคือ บริษัทที่เข้ามาลงทุนทางการเมืองเท่านั้นเอง

จนเศรษฐีแบบทักษิณหอบเงินเข้ามาเล่นการเมือง เริ่มต้นด้วยการซื้อตัว ส.ส.ซื้อพรรคการเมืองควบรวม แล้วสามารถยึดครองประเทศนี้ได้ในที่สุด

วันนี้ ส.ส.ถูกกำหนดให้ต้องสังกัดพรรค และถูกควบคุมผ่านพรรคการเมืองด้วยมติของพรรค ซึ่งกำหนดโดยนายทุนเจ้าของพรรคไม่ใช่ประชาธิปไตยในพรรค ฝ่ายนิติบัญญัติซึ่งควรจะต้องทำหน้าที่ตรวจสอบการทำงานของฝ่ายบริหารก็กลายเป็นเครื่องมือของฝ่ายบริหาร ไม่ใช่ปากเสียงของประชาชน ไม่ใช่การแบ่งแยกอำนาจอธิปไตยซึ่งเป็นกลไกของระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริง

เราจึงเห็นว่า เราไม่สามารถพึ่งพานักการเมืองในประเทศนี้ได้ในการแก้ปัญหาความเท่าเทียมกันในสังคม ความเหลื่อมล้ำในประเทศซึ่งเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่สลับซับซ้อน ตราบเท่าที่การเมืองถูกออกแบบให้เป็นการลงทุนเพื่อเข้ามาแสวงหาผลประโยชน์ นักการเมืองจึงเป็นตัวแทนของนายทุนที่ตอบสนองผลประโยชน์ของชนชั้นนายทุนเท่านั้น

เราจึงเห็นแต่การเมืองเพื่อการลงทุนแบบพรรคการเมืองของทักษิณ และการเมืองแบบธุรกิจในครอบครัวของบรรหาร และมองเห็นประชาชนเป็นลูกค้าและเป็นแหล่งผลประโยชน์ และมี ส.ส.ที่ทำงานตอบแทนผลประโยชน์ของนายจ้าง

การปฏิรูปการเมืองเบื้องต้นจึงเป็นเรื่องที่ง่ายนิดเดียว คือนักการเมืองต้องคำนึงถึงผลประโยชน์ของประชาชนและประเทศชาติมากกว่าตัวเองและนายทุนเจ้าของพรรค และนายทุนเจ้าของพรรคต้องทำให้พรรคเป็นที่รวมของคนที่มีอุดมการณ์เพื่อประเทศชาติและบ้านเมืองมากกว่าเป็นบริษัทที่แสวงหากำไร

ปฏิรูปการเมืองนั้นดีครับ แต่ว่าไปแล้วคนที่ต้องปฏิรูปตัวเองเสียก่อนก็คือ โต้โผใหญ่อย่างนายบรรหารนั่นแหละครับ
กำลังโหลดความคิดเห็น