xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ศาล รธน.กับจำนำข้าว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์-การที่ศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องร่าง พรบ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2557 ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญไว้

แสดงให้เห็นว่า คดีดังกล่าวมีมูลพอประมาณ

ทั้งนี้เมื่อวันที่ 25 ก.ย.ที่ผ่านมา สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญได้มีการเผยแพร่เอกสารผลการประชุมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ กรณีที่ประธานรัฐสภาส่งความเห็นของนายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ว.สรรหา กับคณะรวม 50 คน และคำร้องของนายวิรัตน์ กัลยาศิริ ส.ส.ปชป. กับคณะ รวม 62 คน ที่ได้เข้าชื่อกันยื่นเรื่องต่อประธานรัฐสภา เพื่อให้ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2557 มาตรา 27 ในส่วนของงบประมาณศาลยุติธรรม และศาลปกครอง และมาตรา 28 งบประมาณของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีความขัดแย้งหรือตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ มาตรา168 วรรคแปด และวรรคเก้า หรือไม่

โดยศาลพิจารณาแล้วมีคำสั่งรับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัย  และให้ประธานคณะกรรมาธิการฯ สำนักงบประมาณ สำนักศาลปกครอง สำนักงานศาลยุติธรรม และสำนักงาน ป.ป.ช. ทำคำชี้แจงเป็นหนังสือยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญภายในวันที่ 1ตุลาคมนี้ และให้ประธานคณะกรรมาธิการฯ และผู้แทนของหน่วยงานดังกล่าว ชี้แจงต่อศาลรัฐธรรมนูญในวันที่ 2 ตุลาคมนี้ ที่อาคารศาลรัฐธรรมนูญ ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ

นอกจากนี้ศาลรัฐธรรมนูญยังมีมติ 5 ต่อ 2 รับคำร้องเพื่อพิจารณาว่า นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา นายนิคม ไวยรัชพานิช ประธานวุฒิสภา กับพวกรวม 310 คน กระทำการเพื่อล้มล้างการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้หรือไม่

โดยเมื่อวันพุธที่ 25 กันยายนที่ผ่านมา ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเสียงข้างมาก 5 ต่อ 2 เห็นว่า กรณีมีมูลเป็นการกระทำเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปโดยวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 วรรคหนึ่ง จึงมีคำสั่งให้รับคำร้องทั้ง 2 ไว้พิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 วรรค 2

ส่วนคำร้องให้ศาลมีคำสั่งกำหนดให้คุ้มครองชั่วคราวเป็นกรณีฉุกเฉินให้ผู้ถูกร้องทั้งหมดระงับการลงมติวาระ 3 นั้นมีคำสั่งให้ยกคำร้อง

นอกจากนี้ นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ พร้อมด้วยนายราเมศ รัตนเชวง ทีมกฎหมายพรรคประชาธิปัตย์ เข้ายื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยว่าการดำเนินการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ประเด็นที่มาของ ส.ว. เป็นการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 หรือไม่

รวมทั้งขอให้มีคำสั่งไต่สวนเพื่อพิจารณากำหนดวิธีการคุ้มครองชั่วคราวชะลอการลงมติวาระ 3 ไว้ก่อนจนกว่าจะมีคำวินิจฉัย และขอให้มีคำสั่งว่าการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าวเป็นโมฆะ ในกรณีมีคลิปวิดีโอ ส.ส.พรรคเพื่อไทยเสียบบัตรลงคะแนนแทนกันในระหว่างการลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับประเด็นที่มาของ ส.ว. มาตรา 9 ในการประชุมรัฐสภาวันที่ 10 ก.ย. เวลา 17.33 น. มาตรา 10 วันที่ 11 ก.ย. เวลา 11.43 น. ซึ่งถือว่าการกระทำดังกล่าวขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 122 ว่าด้วยสมาชิกรัฐสภาต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความสุจริต และมาตรา 126 ที่ระบุว่า สมาชิกมีสิทธิ์ลงมติ 1 คนต่อ 1 เสียง และจะต้องมีสมาชิกเกินกึ่งหนึ่งในการลงมติ

นั่นจึงทำให้ “ศาลรัฐธรรมนูญ” มีภาระหนักมากพอสมควร

โดยเฉพาะอย่างยิ่งการยืนระหว่างเขาควาย

ศาลรัฐธรรมนูญกลายเป็นความหวังของกลุ่มคนที่เชื่อว่า รัฐบาลคิดคดต่อรัฐธรรมนูญ และเงินของแผ่นดิน

แต่ศาลรัฐธรรมนูญกลับเป็น “หอกข้างแคร่” ของพรรคพวกรัฐบาล เช่นเดียวกับ ขบวนการโกงจำนำข้าว

แม้มีข้อเรียกร้อง และวิพากษ์วิจารณ์จำนวนมากมายเพียงใด

แต่รัฐบาลเท่านั้นที่มีอำนาจยกเลิกโครงการ

คนที่คัดค้านโครงการจำนำข้าว เพราะเห็นว่าเกิดความสูญเสียไปแล้วกว่า 2 แสนล้านบาท ก็ต้องวิพากษ์วิจารณ์กันต่อไป

แต่รัฐบาลยิ่งลักษณ์กลับเฉยเมย เพราะถือว่า เงินเหล่านั้นไม่ใช่เงินของคุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

นายมุนินทร์ จันทรา เสี่ยเจ้าของบริษัทโรงสี แอลโกลด์ เมนูแฟคเจอร์ จำกัด ที่ถูกหมายจับในคดีร่วมกันฉ้อโกงข้าวชาวนาในโครงการรับจำข้าวที่จ.พิจิตร และยักยอกทรัพย์ที่เป็นข้าวเปลือกและข้าวสารขององค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) ทั้งหมด 12,000 ตัน ความเสียหายเกือบ 100 ล้านบาท บอกกับนักข่าว่า

“เริ่มเข้าโครงการรับจำนำข้าวที่ จ.พิจิตร ก็มีคนกลางมาเจรจาว่า ถ้าได้เข้าโครงการมีคำสั่งในการแปรรูปข้าวเพื่อเข้าส่งยังคลังสินค้าแล้วจะได้ใบประทวนก็จะมีรายรับ จะจ่ายเท่าไหร่เป็นค่าเคลียร์ ซึ่งก็ตอบไปว่าไม่มีปัญหา เพราะเป็นการคอร์รัปชันจนเป็นประเพณีปฏิบัติที่ชาวโรงสีรู้กัน และจริงๆ แล้วสังคมก็น่าจะรู้ รัฐบาลก็น่าจะรู้ ซึ่งก็ยินยอมจ่ายเงินให้ผู้ตรวจสอบคุณภาพสินค้าที่ อ.ต.ก.จ้างมา ที่เรียกว่าเซอร์เวเยอร์ โดยการจ่ายแบบนี้เรียกว่าค่าเหยียบแผ่นดิน ถ้าเป็นข้าวสารคุณภาพดีแม้ผ่านเกณฑ์ก็ต้องจ่ายกระสอบละ 10 บาท ซึ่งก็จ่ายด้วยดี”

“อยากท้าว่าให้ไปผ่ากองข้าวสารตามโกดังต่างๆทั้งในพิจิตรและที่อื่นๆ รับรองได้ว่าข้าวอยู่หน้าประตูเป็นข้าวดี ส่วนที่อยู่กลางกองเป็นข้าวด้อยคุณภาพ เพราะเป็นข้าวที่เอามาเวียนเทียนจากเขมรและพม่า รวมถึงข้าวคุณภาพเก่าที่ประมูลมาจากคลังสินค้าก็จะนำมาเวียนเข้าเป็นสต็อกส่งมอบเข้าคลังสินค้าก็จะต้องจ่ายเงินให้กับเซอร์เวเยอร์กระสอบละ 50 บาท ทำเรื่องผิดให้เป็นเรื่องถูก เพื่อแลกกับใบประทวน ส่วนที่เป็นข้าวใหม่ข้าวดีโรงสีก็เอาไปขายส่งออกและบรรจุข้าวถุงขายในประเทศ ได้กำไร 2-3 ชั้น”

“โครงการรับจำนำข้าวปีที่แล้วทั่วประเทศประมาณ 150 ล้านกระสอบ คิดดูเอาเองว่าเป็นเงินเท่าไหร่ และจะมีข้าวที่เข้ามาปลอมปนและสวมรอยว่าเป็นข้าวตามโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลมากน้อยเพียงใด”เจ้าของโรงสีบอกช่องทางโกง

นั่นหมายความว่า โครงการรับจำนำข้าวมีเงินรั่วไหลไม่ถึงมือเกษตรกรถึง 7,500 ล้านบาท

และในฤดูกาลผลิตปีนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.นี้ รัฐบาลจะเริ่มรับจำนำข้าวนาปี และนาปรัง ด้วยเงินจำนวน 270,000 ล้านบาท

ทั้งนี้ระยะเวลารับจำนำ ในช่วงนาปี (ครั้งที่ 1) เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 56-28 ก.พ. 57 ส่วนภาคใต้เริ่มวันที่ 1 ต.ค. 56-31 ก.ค. 57 โดยกำหนดราคารับจำนำเท่าเดิม คือ ข้าวเปลือกเจ้า 100% ตันละ 15,000 บาท ข้าวเปลือกหอมมะลิ ตันละ 20,000 บาท จำกัดวงเงินการรับจำนำไม่เกินครัวเรือนละ 350,000 บาท

ส่วนช่วงนาปรัง (ครั้งที่ 2) ตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค.-30 ก.ย. 57 ภาคใต้เริ่มวันที่ 1 ส .ค.-30 พ.ย. 57 โดยยังไม่กำหนดปริมาณการรับจำนำ เพราะต้องพิจารณาจากงบประมาณที่เหลือจากการรับจำนำรอบที่ 1 ก่อน ตามวงเงินที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติให้ใช้รับจำนำทั้ง 2 รอบ 270,000 ล้านบาท โดยในรอบที่ 1 ใช้เงินไปเท่าไร ส่วนที่เหลือจึงจะนำมาใช้จำนำข้าวรอบ 2

ดร.สมพร อิศวิลานนท์ นักวิชาการอาวุโส สถาบันคลังสมองของชาติ บอกว่า ในช่วงนี้สื่อต่างประเทศต่างเห็นตรงกันการลงทุนเช่นนี้ไม่ยั่งยืนและไม่มีทางหาเงินมาอุดหนุนได้ตลอด ซึ่งท้ายที่สุดแล้วการไม่ระบายข้าวออกจากสต็อกก็จะเป็นตัวที่ฆ่าโครงการนี้เอง รวมถึงการดึงทรัพยากรที่มีอยู่มาใช้ในโครงการนี้ จนทำให้การลงทุนของประเทศด้านอื่นๆ ที่ควรได้รับการพัฒนา ตายก่อน เช่น ด้านการศึกษา และสาธารณสุข

“ทุกอย่างชะงักงันเพื่อให้รัฐบาลดึงทุกอย่างมาเดินหน้านโยบายจำนำข้าวต่อไป” นักวิชาการผู้นี้อธิบาย

เขาคาดการณ์ว่า ในปีหน้า หากรัฐบาลเดินหน้าโครงการต่อ ภาระหนี้ประเทศจะสูงถึง 1 ล้านล้านบาท ยิ่งหากเศรษฐกิจเกิดการชะลอตัวจะส่งผลในหลายๆ ด้านตามมา

ทุกอย่างดูเหมือนจะงวดเข้ามาทุกขณะ !!!




กำลังโหลดความคิดเห็น