พิจิตร - ตำรวจนำ “เสี่ยหนุ่ม” เจ้าของโรงสีฉาว ผู้ต้องหาฉ้อโกงชาวนา-ยักยอกข้าว อ.ต.ก.ฝากขังเรือนจำพิจิตรแล้ว พร้อมค้านประกัน ด้านผู้การสั่งย้ำให้ จนท.เค้นสอบทุกมิติ ขณะที่ผู้ต้องหาแฉผ่านสื่อหมดเปลือกขบวนการโกงจำนำข้าว ยันเจ้าหน้าที่มีเอี่ยว โกงทั้งต้นน้ำ-กลางน้ำ-ปลายน้ำ ชี้ “เซอร์เวเยอร์” ตัวดีกินหัวคิวเวียนเทียนข้าวเขมร-พม่า-ข้าวเก่า
รายงานข่าวจากจังหวัดพิจิตรแจ้งว่า หลังตำรวจชุดสืบสวนภูธรจังหวัดพิจิตร และตำรวจภูธร สภ.โพทะเล ผสานกำลังนำหมายศาลจังหวัดพิจิตรเข้าจับกุมตัวนายมุนินทร์ จันทรา เจ้าของตัวจริงบริษัทโรงสีแอล-โกลด์ แมนูแฟคเจอร์ จำกัด ผู้ต้องหาในคดีฉ้อโกงชาวนา-ยักยอกข้าว อ.ต.ก.รวม 12,000 ตัน ได้ในอพาร์ตเมนต์หรู เขตห้วยขวาง กรุงเทพฯ คืนก่อนหน้านี้ ล่าสุดเมื่อเวลาประมาณ 17.00 น.เจ้าหน้าที่ตำรวจได้นำตัวนายมุนินทร์ หรือเสี่ยหนุ่ม ไปฝากขังที่เรือนจำกลางจังหวัดพิจิตรแล้ว
ขณะที่นายจักริน เปลี่ยนวงษ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดพิจิตร ซึ่งเป็นประธานคณะกรรมการข้าวระดับจังหวัด ซึ่งได้นัดหมายที่จะแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนตั้งแต่ช่วงบ่ายที่ผ่านมา โดยมีกลุ่มชาวนาหลายสิบคนเดินทางมารอด้วย แต่ปรากฏว่านายมุนินทร์ได้ใช้สิทธิไม่ยอมมานั่งโชว์แถลงข่าว เพราะปฏิเสธข้อกล่าวหา จึงยังถือว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ตามกฎหมายตราบใดที่ศาลยังไม่ได้ตัดสิน
ผู้ว่าราชการจังหวัดพิจิตรจึงได้เพียงกล่าวว่า ที่ผ่านมาตน และนายชาติชาย เจียมศรีพงษ์ นายก อบจ.พิจิตร รวมถึงคณะผู้บริหารของ อบจ.ได้สละเงินเดือนคนละ 2 เดือน รวมถึงได้ขอรับบริจาคเงิน ได้เงินมา 4.8 ล้านบาทแจกจ่ายให้ชาวนา 121 คน เฉพาะในส่วนที่แจ้งความดำเนินคดีต่อโรงสีแอล-โกลด์ แมนูแฟคเจอร์ จำกัดเท่านั้น และยังได้แจกจ่ายสิ่งของต่างๆ มากมาย
ด้าน พล.ต.ต.กฤษณะ ศิริปิยะวัฒน์ ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดพิจิตร กล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า คดีโกงโครงการรับจำนำข้าวในครั้งนี้ถือเป็นคดีใหญ่ ดังนั้นได้สั่งพนักงานสอบสวนให้ทำสำนวนให้ละเอียด ถึงแม้ว่าผู้ต้องหาจะให้การปฏิเสธ หรือขอให้การในชั้นศาลอย่างเดียวก็ตาม
โดยตนได้สั่งการไปว่าให้ตั้งคำถามครอบคลุมทุกมิติ ตั้งแต่คดีเก่าเมื่อปี 2548/2549 สมัยที่ใช้ชื่อโรงสีก้องเกียรติว่ามีพฤติการณ์อย่างไร อีกทั้งการขอเข้าโครงการรับจำนำปี 54/55 ทั้งที่โรงสีถูกขึ้นบัญชีดำแล้วเปลี่ยนชื่อโรงสีมาเป็นโรงสีแอล-โกลด์ แมนูแฟคเจอร์ จำกัด เปลี่ยนชื่อกรรมการบริหารบริษัทชุดใหม่ แต่ตั้งอยู่ในสถานที่เดิม ซึ่งแท้ที่จริงแล้วไม่น่าจะเข้าโครงการรับจำนำได้ ให้สอบเค้นด้วยว่าติดสินบนใครบ้างจึงเข้าโครงการรับจำนำได้
นอกจากนี้ มีหลักฐานจากการสอบสวนเบื้องต้นของ พ.ต.อ.ธวัชชัย มวญนรา รองผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดพิจิตร เพิ่มเติมอีกว่า โรงสีดังกล่าวไม่มีเงินวางค้ำประกัน แต่ทำไม อ.ต.ก.จึงปล่อยให้รับจำนำข้าวได้ รวมถึงการสั่งสีแปรรูปข้าวเปลือกเป็นข้าวสาร เอาข้าวสารส่งเข้าคลังสินค้าไปแลกกับใบประทวน ซึ่งมีลักษณะเหมือนแชร์ลูกโซ่ และจะเค้นสอบเอาผู้ที่กระทำผิดถึงแม้จะเป็นข้าราชการ หรือเจ้าหน้าที่ อ.ต.ก.มาดำเนินคดีให้ถอนรากถอนโคน ส่วนถามแล้วผู้ต้องหาปฏิเสธ หรือไม่ตอบ ก็จะได้เป็นสำนวนการสอบสวนให้อัยการและศาลยุติธรรมได้ไต่สวนต่อไป
สำหรับกรณีที่นำตัวมาแถลงข่าวเป็นสิทธิของผู้ต้องหา ถ้าเขาไม่ยอมก็บังคับไม่ได้ แต่จะขออำนาจฝากขัง และคัดค้านการประกันตัว เนื่องจากเกรงว่าจะไปข่มขู่พยาน และอาจหลบหนี ซึ่งวันนี้ได้ขออำนาจศาลฝากขังและส่งตัวเข้าเรือนจำพิจิตรแล้ว
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้นายมุนินทร์ จันทรา หรือ “เสี่ยหนุ่ม” เคยเปิดปากให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อมวลชนในท้องถิ่น ก่อนที่จะเดินทางไปให้สัมภาษณ์รายการข่าวของสถานีใหญ่โดยตรงในกรุงเทพฯ ในลักษณะคล้ายกันว่า หัวใจของโรงสีที่เข้าโครงการรับจำนำข้าวกับรัฐบาล คือได้ออกใบประทวนแล้วจึงจะเกิดรายได้จากคำสั่งสีแปร แต่ที่ผ่านมาโรงสีของเขาถูกเจ้าหน้าที่ อ.ต.ก.กลั่นแกล้ง หน่วงเหนี่ยวเวลาการออกใบประทวนไว้นานถึง 4 เดือน ไม่ออกใบประทวนตามหลักเกณฑ์ และในช่วงที่ดึงเวลาอยู่นั้นก็ไปประชาสัมพันธ์ให้ชาวนามาแจ้งความเอาผิดโรงสีว่าโรงสีของตนโกงชาวนาอีกแล้ว พอถึงขั้นนั้นตนอธิบายให้ชาวนาฟังอย่างไรก็ไม่มีใครฟังแล้ว จึงทำให้ชาวนามีความเดือดร้อน เมื่อไม่มีเงินจะกิน ไม่มีเงินจะลงทุนทำนาในรอบใหม่ ก็วิ่งเข้า-ออกโรงสีทุกวันมาร้องขอความช่วยเหลือ เห็นหน้า เห็นอกเห็นใจกัน ปรับทุกข์ซึ่งกันและกัน จนมีความสัมพันธ์เป็นเหมือนพี่น้องกัน
จนตนทนไม่ไหวเพราะชาวนาบอกว่าไม่จำนำข้าวแล้วอยากจะได้เงินสด ข้าวเปลือกตันละ 5-6 พันบาทก็ยอมขายเอาเงินสดเป็นความสมัครใจของชาวนา ตนเองจึงหาทางออกเอาเงินสดจ่ายชาวนาไปตันละ 5-6 พันบาทโดยไม่คิดดอกเบี้ย แต่บอกกับชาวนาว่า ข้าวที่อยู่ในโรงสีแอล-โกลด์ฯ นั้นเป็นข้าวที่อยู่ในโครงการรับจำนำข้าวและอยู่ในเงื่อนไขตามมติ กขช. พวกเราชาวนาจะต้องได้ใบประทวน
นายมุนินทร์ยังบอกอีกว่า ตนรับจำนำข้าวด้วยการวัดความชื้น และตีราคาตามมาตรฐาน ซึ่งข้าวที่รับจำนำในช่วงนั้นคือเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ เป็นข้าวที่มีคุณภาพดีมาก เพราะความชื้นจะอยู่ที่ 25% ตีราคาให้ได้ถึงตันละ 12,480 บาท แต่ก็มีคนปล่อยข่าวว่าโรงสีแอล-โกลด์ฯ รับจำนำข้าวให้ราคาสูงกว่าที่อื่นถึงตันละ 1 พันบาทเศษ ซึ่งเป็นคำกล่าวหาของเจ้าหน้าที่ อ.ต.ก.พิจิตร จนมีปากเสียงกับพนักงานกันอยู่หลายครั้ง โดยมีชาวนานั่งฟังและเห็นเหตุการณ์อยู่ด้วย
นายมุนินทร์ยังอ้างว่า ชาวนาที่เห็นเหตุการณ์ยังมาต่อว่าเจ้าหน้าที่ของ อ.ต.ก.ว่าเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐได้อย่างไร ชาวนาจะจำนำข้าวได้ราคา แต่เจ้าหน้าที่ อ.ต.ก.กลับมาต่อว่าโรงสี
นายมุนินทร์เล่าอีกว่า เจ้าหน้าที่ อ.ต.ก.พิจิตรมากดดันตนเองจะให้รับจำนำข้าวราคาต่ำๆ ซึ่งตนก็เห็นว่าไม่ถูกต้องจึงมีปากเสียงกัน และยืนยันว่าไม่ได้โกง
“เสี่ยหนุ่ม” ยังพูดอีกว่า ตอนที่ตนเริ่มเข้าโครงการับจำนำข้าวของรัฐที่จังหวัดพิจิตรก็มีคนกลางมาเจรจาว่า ถ้าได้เข้าโครงการรับจำนำข้าวได้ มีคำสั่งในการแปรรูปข้าวเพื่อส่งเข้าคลังสินค้าแล้วจะได้ใบประทวนก็จะมีรายรับ คุณมุนินทร์จะจ่ายเท่าไหร่ ซึ่งเป็นค่าเคลียร์ ตนก็ตอบไปว่าไม่มีปัญหา เพราะเป็นการคอร์รัปชันกันจนเป็นประเพณีปฏิบัติที่ชาวโรงสีจะเป็นที่รู้กัน และจริงๆ แล้วสังคมก็น่าจะรู้ รัฐบาลก็น่าจะรู้ ตนก็ยินยอมอยู่แล้วในการที่จะจ่ายเงินให้ผู้ตรวจสอบคุณภาพสินค้าที่ อ.ต.ก.จ้างมาที่เรียกว่า “เซอร์เวเยอร์” โดยการจ่ายแบบนี้เรียกว่า “ค่าเหยียบแผ่นดิน” ถ้าเป็นข้าวสารคุณภาพดี ถึงแม้จะผ่านเกณฑ์ก็ต้องจ่ายกระสอบละ 10 บาท ซึ่งตนเองก็จ่ายด้วยดี
และอยากท้าว่า ให้ไปผ่ากองข้าวสารตามโกดังต่างๆ ทั้งในพิจิตร และที่อื่นๆ รับรองได้ว่าข้าวอยู่หน้าประตูจะเป็นข้าวดี ส่วนที่อยู่กลางกองจะเป็นข้าวด้อยคุณภาพ เพราะว่าเป็นข้าวจากเขมร และพม่า รวมถึงข้าวคุณภาพเก่าที่ประมูลมาจากคลังสินค้า แล้วมาเวียนเข้าเป็นสต๊อกส่งมอบเข้าคลังสินค้า ซึ่งจะต้องจ่ายเงินให้เซอร์เวเยอร์กระสอบละ 50 บาท ทำเรื่องผิดให้เป็นเรื่องถูก เพื่อแลกกับใบประทวน ส่วนที่เป็นข้าวใหม่ข้าวดีโรงสีก็เอาไปขายส่งออกและบรรจุข้าวถุงขายในประเทศได้กำไร 2-3 ชั้น
นายมุนินทร์บอกต่ออีกว่า ผู้มีอำนาจเรื่องนี้คือตำรวจ DSI แต่ดูข้าวสารไม่เป็น จะดูเป็นก็เพียงแค่เห็นข้าวสารเป็นข้าวสาร แต่จะไม่รู้ว่าข้าวหอมมะลิตันละ 3 หมื่นบาทนั้นแท้จริงแล้วคือข้าวพันธุ์พิษณุโลกราคาถูกตันละไม่ถึง 1 หมื่นบาท หรือถ้าจะดูเป็นก็แค่มองว่าเป็นข้าวผัดพริก ข้าวผัดกะเพราเท่านั้น
“เสี่ยหนุ่ม” บอกว่า โครงการรับจำนำข้าวปีที่แล้วทั่วประเทศประมาณ 150 ล้านกระสอบ คิดดูเอาเองว่าเป็นเงินเท่าไหร่ และจะมีข้าวที่เข้ามาปลอมปน และสวมรอยว่าเป็นข้าวตามโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลมากน้อยเพียงใด