xs
xsm
sm
md
lg

ธกส.ยันไม่ยืดจำนำข้าว แฉกลโกง-จนท.มีเอี่ยว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน- "ยิ่งลักษณ์" แจงงบรับจำนำข้าว 2.7 แสนล้าน ครม.ไม่ได้เปิดวงเงินกู้ใหม่ ว้าก รมต.เศรษฐกิจ ไม่ช่วยกันชี้แจง ด้าน ธ.ก.ส.ยันไม่ขยายเวลารับจำนำข้าว “พาณิชย์” ตั้งกรรมการสอบข้าวเน่าที่พิษณุโลก เอกชนอัดรัฐไม่โปร่งใสขายข้าว ชาวนาอ่างทองบุกศาลากลางเรียกร้องขยายเวลารับจำนำข้าวแล้ว จับได้แล้วเถ้าแก่โรงสีฉาวพิจิตรโกงชาวนา ผู้ต้องหาแฉผ่านสื่อหมดเปลือก กระบวนการโกงจำนำข้าว ยันเจ้าหน้าที่มีเอี่ยว โกงทั้งต้นน้ำ-กลางน้ำ-ปลายน้ำ   

น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม กล่าวถึงกรณี ครม.มีมติอนุมัติงบประมาณ 2.7 แสนล้านบาท เมื่อต้นเดือนกันยายนเพื่อรับจำนำข้าว ปีการผลิต 2556/2557 จะนำเงินในส่วนไหนมาจ่ายว่า สิ้นปีจะมีการปิดบัญชี ซึ่งตามหลัก ครม.ได้อนุมัติกรอบวงเงินกู้ไว้แล้วไม่เกิน 5 แสนล้านบาท ตรงนั้นจะเป็นกรอบเงินกู้ที่ทางธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธ.ก.ส.) จะทำหน้าที่ต่อ ซึ่งตามหลักจะต้องใช้วงเงินเดิมที่กรอบครม.เคยอนุมัติไว้

ผู้สื่อข่าวถามว่า แต่การอนุมัติงบประมาณของครม.ครั้งที่ผ่านมา เป็นการอนุมัติเงินกู้เกินเพดาน นายกฯ กล่าวว่า ไม่เกิน คือเป็นไปตามกรอบที่ครม.อนุมัติ ในวงเงิน 5 แสนล้านบาท และวงเงินที่อนุมัติ 2.7 แสนล้านบาทนี้ ไม่ใช่กรอบเงินกู้ใหม่ ยังเป็นกรอบเดิม โดยทางกระทรวงพาณิชย์ จะต้องมีการระบายข้าวเพื่อนำเงินกลับมาเข้าคลัง เพื่อที่จะใช้วงเงินนี

เมื่อถามว่า การใช้เงินจะไม่เกิน 5 แสนล้านบาทในโครงการรับจำนำข้าว ในรอบฤดูการผลิตใช่หรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า ทั้งโครงการประกาศไปแล้ว จะใช้งบประมาณ 2.7 แสนล้านบาท ตามที่กระทรวงพาณิชย์วางไว้ เมื่อถามว่า การขายข้าวให้จีน เป็นการขายให้กับเอกชนหรือไม่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า ต้องถามรายละเอียดจากนายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ ซึ่งจริงๆแล้ว เราทราบแต่ตัวเลข ส่วนรายละเอียดต้องให้กระทรวงพาณิชย์ชี้แจง

*** “ปู” เครียด รมต.ไม่ชี้แจง

แหล่งข่าวจากที่ประชุมครม. เปิดเผยว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ แสดงความไม่พอใจ ในเรื่องที่รัฐบาลถูกโจมตีเรื่องเศรษฐกิจ โดยนายกฯ ต้องการให้รัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจทุกคนช่วยออกมาชี้แจงเรื่องของตัวเองที่ทอดทิ้ง เพราะมีเรื่องบิดเบือนเยอะ โดยเฉพาะกรณีของกระทรวงพาณิชย์ ที่พรรคประชาธิปัตย์โจมตีเรื่องข้าวเน่า

“เรื่องไหนที่สังคมต้องการความมีน้ำหนัก ความน่าเชื่อถือรัฐมนตรีต้องชี้แจงเอง และในส่วนของโฆษกกระทรวง ถือว่าชี้แจงน้อยเกินไป เพราะทุกวันนี้มีประเด็นเศรษฐกิจหลายเรื่องที่รุมเข้ามา ทำไมแต่ละกระทรวงจึงปล่อยให้อยู่เฉย ให้คนเข้าใจผิด เพราะจะเป็นการส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจของประเทศ และอย่าให้คนมองว่า เศรษฐกิจกำลังจะแย่ ประชาชนเดือดร้อนแล้วรัฐบาลไม่ทำอะไร ต้องมาแก้ไขในความเข้าใจที่ผิดไม่ใช่ปล่อยโจมตีอย่างไม่ถูกต้อง” แหล่งข่าว อ้างคำพูดนายกฯ

**“วราเทพ”อ้างขอดูงบฯ ก่อน

นายวราเทพ รัตนากร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และรมช.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวถึง กรณีที่เกษตรกรภาคกลาง ออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลขยายเวลาการรับจำนำข้าวออกไปจนถึงสิ้นเดือนต.ค. ว่า ขณะนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำลังรวบรวมข้อมูลอยู่ เพราะได้ปิดโครงการนี้ไปแล้ว คงต้องมาดูตัวเลขยอดการรับจำนำข้าวเมื่อตอนปิดโครงการแล้ว ว่าเป็นจำนวนเท่าใด และชาวนาที่ไม่สามารถเข้าร่วมโครงการได้ จะมีคุณสมบัติที่จะเข้าร่วมโครงการได้หรือไม่ ซึ่งรัฐบาลกำลังจะเร่งพิจารณาให้

** ระวังจำนำข้าวรอบใหม่ไม่ได้เงิน

นายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณี นายยรรยง พวงราช รมช.พาณิชย์ ออกมาตำหนิคณะกรรมการปิดบัญชีโครงการจำนำข้าวว่า นายยรรยง ควรจะทำตัวเป็นรัฐมนตรีที่มีมารยาทมากกว่านี้ และทำหน้าที่ของตัวเอง ด้วยการรายงานกระทรวงการคลังว่า ข้าวในสต๊อกของ อตก. และอคส. เหลืออยู่เท่าไร เพื่อให้คณะกรรมการฯปิดบัญชีได้ อย่าไปต่อว่าข้าราชการตงฉิน ที่ไม่ใช่กังฉินเหมือนข้าราชการบางคน และควรจะให้เกียรติข้าราชการด้วย ซึ่งนายกรัฐมนตรี ต้องดูแลปัญหาด้วยตัวเอง เลิกทัวร์ทั้งใน และนอกประเทศ แล้วพิสูจน์ตัวเองด้วยการทำงาน

**"วรงค์"เตรียมยื่นป.ป.ช.สอบเผาข้าวทิ้ง

นพ.วรงค์ เดชกิจยิกรม ส.ส.พิษณุโลก พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงความคืบหน้ากรณีพบการเผาทำลายข้าว 5 เปอร์เซ็นต์ ที่นำมาทิ้งในบริเวณพื้นที่นา อ.วัดโบสถ์ จ.พิษณุโลก จำนวน 1,300 ตัน ว่า ภายในสัปดาห์นี้ ตนจะยื่นเรื่องนี้ต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อให้สืบหาข้อมูลที่มาที่ไปข้าวดังกล่าว ว่าเหตุใดจึงมาทิ้งในบริเวณนั้น เพราะที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่องค์การตลาดเพื่อเกษตรกร(อตก.) ยังออกมาชี้แจงสับสน และขัดแย้ง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องออกมาอ้างว่าเกิดจากการสันดาป หรือเอามากองไว้เพื่อรอเคลมประกัน

*** ธ.ก.ส.ลั่นดาลไม่ยืดจำนำข้าว

นายบุญไทย แก้วขันตี รองผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า กรณีที่เกษตรกรภาคกลางเรียกร้องให้ขยายระยะเวลารับจำนำข้าวในปีการผลิตปี 2555/56 นั้นธ.ก.ส.ไม่สามารถขยายเวลาออกไปได้อีก เพราะถือว่าได้ปิดโครงการไปแล้วเมื่อวันที่ 15 กันยายน สำหรับพื้นที่ภาคกลางและตะวันออกเฉียงเหนือ โดยการจ่ายเงินในโครงการจะยึดใบประทวนที่ออกให้เกษตรกร ณ วันที่ 15 กันยายนเป็นหลัก เพราะหากขยายเวลา ก็จะทำให้เรื่องยืดเยื้อออกไปอีก โดยธ.ก.ส.ได้จ่ายเงินให้กับเกษตรไปแล้ว 3.3 แสนล้านบาท คิดเป็นจำนวนข้าว 21 ล้านตัน จากมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่กำหนดไว้ไม่เกิน 22 ล้านตัน คิดเป็นเงิน 3.45 แสนล้านบาท ซึ่งต้องเหลือเงินไว้ สำหรับพื้นที่ภาคใต้ด้วย เพราะจะปิดโครงการวันที่ 15 พฤศจิกายน

สำหรับเงินที่จะใช้ในโครงการรับจำนำข้าวปีการผลิต 2556/57 นายบุญไทยกล่าวว่า ตามมติครม.ที่กำหยดให้ใช้วงเงินไม่เกิน 2.7 แสนล้านบาทนั้น หากนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหมมีนโยบายที่จะใช้เงินระบายข้าวทั้งจำนวน โดยไม่ต้องใช้เงินกู้เพิ่มเติมอีก ก็เป็นหน้าที่ของกระทรวงพาณิชย์ที่จะต้องทำตามนโยบายของรัฐบาล จากเดิมที่ธ.ก.ส.ได้เตรียมแผนการบริหารจัดการด้วยการใช้เงินจากการระบายข้าวเพียง 1 แสนล้านบาท ส่วนที่เหลืออีก 1.7 แสนล้านบาท จะมาจากเงินกู้ของสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) จากที่มีเพดานการค้ำประกันเงินกู้เหลือเพียง 2.5 แสนล้านบาท

“โครงการรับจำข้าวรอบใหม่ ธ.ก.ส.ตั้งใจที่จะไม่ใช้เงินจากสภาพคล่องของธ.ก.ส.เลย เพราะในปีการผลิตปี 2555/56 เองก็ยังมีสภาพคล่องส่วนเกินที่ธ.ก.ส.ได้สำรองจ่ายไปก่อน 1.6 แสนล้านบาท ที่ต้องได้รับการชำระหนี้จากเงินระบายข้าวให้หมด เพื่อให้สามารถปิดโครงการได้ในวงเงินไม่เกิน 5 แสนล้านบาทภายในสิ้นปีนี้ตามมติครม.” นายบุญไทยกล่าว

นายบุญไทยกล่าวว่า โครงการรับจำนำข้าวปีการผลิต 2555/56 ที่ใช้เงินไปทั้งสิ้น 6.6 แสนล้านบาท ธ.ก.ส.ได้รับเงินจากกระทรวงพาณิชย์จากการระบายข้าวทั้งสิ้น 1.5 แสนล้านบาท โดยเป็นการชำระหนี้ในโครงการเก่า 2 หมื่นล้านบาท จึงเหลือ 1.3 แสนล้านบาท ที่นำมาชำระสภาพคล่อง 9 หมื่นล้านบาทที่ธ.ก.ส.ได้ใช้ไปก่อนหน้า เพื่อให้มีวงเงินเหลือและนำกลับมาใช้ใหม่ได้ ส่วนที่เหลือ 4 หมื่นล้านบาท นำไปชำระเงินกู้ในส่วนที่สบน.ดำเนินการกู้ยืมให้เต็มวงเงิน 4.1 แสนล้านบาทตามมติครม. จึงยังไม่มีเงินเหลือพอที่จะมาชำระส่วนที่ธ.ก.ส.สำรองไปก่อน 1.6 แสนล้านบาทได้ จนกว่าจะมีเงินจากการระบายข้าวเข้ามาเพิ่มเติม

***“พณ.”ตั้งกก.สอบข้าวเน่าที่พิษณุโลก

นายยรรยง พวงราช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กระทรวงพาณิชย์ได้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงกรณีข้าวเน่าที่จังหวัดพิษณุโลก โดยให้ตรวจสอบว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นว่าเกิดจากอะไร มีความเสียหายอย่างไรบ้าง ทั้งต่อตัวข้าว สาธารณชน สิ่งแวดล้อม โครงการของรัฐ รวมไปถึงให้ตรวจสอบว่ามีการทุจริตเกิดขึ้นหรือไม่ และมีใครที่เกี่ยวข้องและต้องรับผิดชอบกับข้าวที่ได้รับความเสียหายดังกล่าว โดยให้รายงานผลการตรวจสอบต่อคณะอนุกรรมการกำกับดูแลการรับจำนำข้าว เพื่อพิจารณาภายใน 2 สัปดาห์ และจากนั้นจะรายงานให้คณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) พิจารณาต่อไป

ทั้งนี้ จากการตรวจสอบในเบื้องต้น ข้าวที่พบว่ามีการเน่าเสียและเกิดไฟไหม้ที่จังหวัดพิษณุโลก เป็นข้าวที่เก็บรักษาไว้ในโกดังของบริษัท เกษตรไพศาลธัญกิจ จำกัด เป็นข้าวขาว 5% ที่รับจำนำมาและเก็บไว้ตั้งแต่ปี 2551 มีจำนวนทั้งสิ้น 13,464 ตัน และได้ขายไปในรูปแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) ให้กับรัฐวิสาหกิจของจีนในช่วงปลายปี 2555 จำนวน 13,000 ตัน ซึ่งผู้ซื้อได้จ่ายเงินค่าข้าวครบทั้งจำนวนที่ซื้อ และได้มาขนข้าวออกไปแล้วจำนวน 11,966 ตัน คงเหลือรับมอบ 1,033 ตัน ทำให้คงเหลือข้าวที่ยังค้างส่งมอบกับข้าวที่คงเหลือในโกดังรวมทั้งสิ้น 1,497 ตัน

**จับเถ้าแก่โรงสีฉาวพิจิตรโกงชาวนา

ที่ จ.พิจิตร พ.ต.อ.ธวัชชัย มวญนรา รอง ผบก.ภ.จว.พิจิตร กล่าวว่า ชุดสืบสวนตำรวจภูธรจังหวัดพิจิตร และ สภ.โพทะเล ผสานกำลังนำหมายศาลจังหวัดพิจิตรเข้าจับกุมตัวนายมุนินทร์ จันทรา เจ้าของบริษัท โรงสีแอล-โกลด์ เมนูแฟคเจอร์ จำกัด ตามหมายจับศาลจังหวัดพิจิตร เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2556 ในคดีร่วมกันฉ้อโกงข้าวชาวนาในโครงการรับจำข้าว และยักยอกทรัพย์ที่เป็นข้าวเปลือก และข้าวสารองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) ทั้งหมด 12,000 ตัน

พล.ต.ต.กฤษณะ ศิริปิยะวัฒน์ ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดพิจิตร กล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า คดีโกงโครงการรับจำนำข้าวในครั้งนี้ ถือเป็นคดีใหญ่ ดังนั้นได้สั่งพนักงานสอบสวนให้ทำสำนวนให้ละเอียด ถึงแม้ว่าผู้ต้องหาจะให้การปฏิเสธ หรือขอให้การในชั้นศาลอย่างเดียวก็ตาม

** แฉขบวนการโกงจำนำข้าว
     
  อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้นายมุนินทร์ จันทรา หรือ “เสี่ยหนุ่ม” เคยเปิดปากให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อมวลชนในท้องถิ่น ก่อนที่จะเดินทางไปให้สัมภาษณ์รายการข่าวของสถานีใหญ่โดยตรงในกรุงเทพฯ ในลักษณะคล้ายกันว่า หัวใจของโรงสีที่เข้าโครงการรับจำนำข้าวกับรัฐบาล คือ ได้ออกใบประทวนแล้วจึงจะเกิดรายได้จากคำสั่งสีแปร แต่ที่ผ่านมาโรงสีของเขาถูกเจ้าหน้าที่ อ.ต.ก.กลั่นแกล้ง หน่วงเหนี่ยวเวลาการออกใบประทวนไว้นานถึง 4 เดือน ไม่ออกใบประทวนตามหลักเกณฑ์ และในช่วงที่ดึงเวลาอยู่นั้น ก็ไปประชาสัมพันธ์ให้ชาวนามาแจ้งความเอาผิดกับโรงสีว่า โรงสีของตนโกงชาวนาอีกแล้ว พอถึงขั้นนั้นตนอธิบายให้ชาวนาฟังอย่างไรก็ไม่มีใครฟังแล้ว จึงทำให้ชาวนามีความเดือดร้อน เมื่อไม่มีเงินจะกิน ไม่มีเงินจะลงทุนทำนาในรอบใหม่ ก็วิ่งเข้า-ออกโรงสีทุกวันมาร้องขอความช่วยเหลือ เห็นหน้า เห็นอกเห็นใจกัน ปรับทุกข์ซึ่งกันและกัน จนมีความสัมพันธ์เป็นเหมือนพี่น้องกัน
       
       จนตนทนไม่ไหวเพราะชาวนาบอกว่า ไม่จำนำข้าวแล้วอยากจะได้เงินสด ข้าวเปลือกตันละ 5-6 พันบาท ก็ยอมขายเอาเงินสดเป็นความสมัครใจของชาวนา ตนเองจึงหาทางออกเอาเงินสดจ่ายชาวนาไปตันละ 5-6 พันบาท โดยไม่คิดดอกเบี้ย แต่บอกกับชาวนาว่า ข้าวที่อยู่ในโรงสีแอลโกลด์ฯ นั้น เป็นข้าวที่อยู่ในโครงการรับจำนำข้าวและอยู่ในเงื่อนไขตามมติ กขช. พวกเราชาวนาจะต้องได้ใบประทวน
       
       นายมุนินทร์ ยังบอกอีกว่า ตนรับจำนำข้าวด้วยการวัดความชื้น และตีราคาตามมาตรฐาน ซึ่งข้าวที่รับจำนำในช่วงนั้นคือเดือน มกราคม - กุมภาพันธ์ เป็นข้าวที่มีคุณภาพดีมาก เพราะความชื้นจะอยู่ที่ 25% ตีราคาให้ได้ถึงตันละ 12,480 บาท แต่ก็มีคนปล่อยข่าวว่า โรงสีแอลโกลด์ฯ รับจำนำข้าวให้ราคาสูงกว่าที่อื่นถึงตันละ 1 พันบาทเศษ ซึ่งเป็นคำกล่าวหาของเจ้าหน้าที่ อ.ต.ก.พิจิตร จนมีปากเสียงกับพนักงานกันอยู่หลายครั้ง โดยมีชาวนานั่งฟังและเห็นเหตุการณ์อยู่ด้วย
       
       นายมุนินทร์ ยังอ้างว่า ชาวนาที่เห็นเหตุการณ์ยังมาต่อว่าเจ้าหน้าที่ของ อ.ต.ก. ว่าเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐได้อย่างไร? ชาวนาจะจำนำข้าวได้ราคา แต่เจ้าหน้าที่ อ.ต.ก.กลับมาต่อว่าโรงสี      
     
  นายมุนินทร์ เล่าอีกว่า เจ้าหน้าที่ อ.ต.ก.พิจิตรมากดดันตนเองจะให้รับจำนำข้าวราคาต่ำๆ ซึ่งตนก็เห็นว่าไม่ถูกต้องจึงมีปากเสียงกัน และยืนยันว่าไม่ได้โกง       
     
  “เสี่ยหนุ่ม” ยังพูดอีกว่า ตอนที่ตนเริ่มเข้าโครงการับจำนำข้าวของรัฐที่จังหวัดพิจิตร ก็มีคนกลางมาเจรจาว่า ถ้าได้เข้าโครงการรับจำนำข้าวได้ มีคำสั่งในการแปรรูปข้าวเพื่อส่งเข้าคลังสินค้าแล้ว จะได้ใบประทวนก็จะมีรายรับ คุณมุนินทร์ จะจ่ายเท่าไหร่? ซึ่งเป็นค่าเคลียร์ ตนก็ตอบไปว่าไม่มีปัญหา เพราะเป็นการคอรัปชั่นกันจนเป็นประเพณีปฏิบัติที่ชาวโรงสีจะเป็นที่รู้กัน และจริงๆแล้วสังคมก็น่าจะรู้ รัฐบาลก็น่าจะรู้ ตนก็ยินยอมอยู่แล้วในการที่จะจ่ายเงินให้กับผู้ตรวจสอบคุณภาพสินค้าที่ อ.ต.ก.จ้างมา ที่เรียกว่า “เซอร์เวย์เยอร์” โดยการจ่ายแบบนี้เรียกว่า “ค่าเหยียบแผ่นดิน” ถ้าเป็นข้าวสารคุณภาพดี ถึงแม้จะผ่านเกณฑ์ก็ต้องจ่ายกระสอบละ 10 บาท ซึ่งตนเองก็จ่ายด้วยดี       
       
และอยากท้าว่า ให้ไปผ่ากองข้าวสารตามโกดังต่างๆทั้งใน พิจิตรและที่อื่นๆ รับรองได้ว่า ข้าวอยู่หน้าประตูจะเป็นข้าวดี ส่วนที่อยู่กลางกองจะเป็นข้าวด้อยคุณภาพ เพราะว่าเป็นข้าวจากเขมร และพม่า รวมถึงข้าวคุณภาพเก่าที่ประมูลมาจากคลังสินค้า แล้วมาเวียนเข้าเป็นสต็อกส่งมอบเข้าคลังสินค้า ซึ่งจะต้องจ่ายเงินให้กับเซอร์เวย์เยอร์ กระสอบละ 50 บาท ทำเรื่องผิดให้เป็นเรื่องถูก เพื่อแลกกับใบประทวน ส่วนที่เป็นข้าวใหม่ข้าวดี โรงสีก็เอาไปขายส่งออกและบรรจุข้าวถุงขายในประเทศได้กำไร 2-3 ชั้น
       
       นายมุนินทร์ บอกต่ออีกว่า ผู้มีอำนาจเรื่องนี้คือตำรวจ DSI แต่ดูข้าวสารไม่เป็น จะดูเป็นก็เพียงแค่เห็นข้าวสารเป็นข้าวสาร แต่จะไม่รู้ว่าข้าวหอมมะลิตันละ 3 หมื่นบาทนั้น แท้จริงแล้วคือ ข้าวพันธุ์พิษณุโลก ราคาถูกตันละไม่ถึง 1 หมื่นบาท หรือถ้าจะดูเป็น ก็แค่มองว่าเป็นข้าวผัดพริก ข้าวผัดกระเพราเท่านั้น       
       
“เสี่ยหนุ่ม”บอกว่า โครงการรับจำนำข้าวปีที่แล้วทั่วประเทศประมาณ 150 ล้านกระสอบ คิดดูเอาเองว่าเป็นเงินเท่าไหร่? และจะมีข้าวที่เข้ามาปลอมปน และสวมรอยว่าเป็นข้าวตามโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลมาก

****เอกชนอัดรัฐไม่โปร่งใสขายข้าว

นายวิชัย อัศรัสกร รองประธานกรรมการหอการค้าไทย ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการติดตามเสนอแนะปัญหาโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาล กล่าวว่า รัฐบาลนี้แปลกประหลาด โดยเฉพาะการขายข้าวจีทูจี ทั้งๆ ที่ขายให้กับเอกชน แต่มาอ้างเป็นจีทูจี จึงอยากให้กระทรวงพาณิชย์ชี้แจงว่ามีจริงหรือไม่ เพราะมีการตรวจสอบแล้ว พบว่ามีข้าวที่ขายในรูปจีทูจีน้อยมาก

ส่วนโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาล ก็มีปัญหาเรื่องความโปร่งใส ทั้งๆ ที่เอกชนเคยให้ข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลไปแล้ว 3 ข้อ คือ รับจำนำในราคาตลาด ช่วยเหลือชาวนาอย่างยั่งยืน และเร่งระบายสต๊อกอย่างโปร่งใส แต่เท่าที่ติดตาม ก็มีความพยายามแค่ในระดับหนึ่ง รวมทั้งยังมีปัญหาเรื่องไม่สามารถปิดบัญชีจำนำข้าวได้ จึงไม่รู้ว่าใช้เงินไปเท่าไร ขาดทุนเท่าไร ซึ่งเท่าที่ติดตามดู เวลานี้พูดกันถึงขาดทุนแล้ว 3 แสนล้านบาท ใช้เงินจำนำ 5 แสนล้านบาท และใช้เกินอีก 1.7 แสนล้านบาท รวมเป็น 6.7 แสนล้านบาท บวกโครงการใหม่อีก 2.7 แสนล้านบาท รวมแล้วเกือบ 1 ล้านล้านบาท ซึ่งเป็นเงินที่มาก และเป็นภาระต่อประชาชน

*** อ.ต.ก.ยันข้าวเน่า รอเคลมประกัน

วานนี้ (17 ก.ย.) แหล่งข่าวระดับสูงจากคลังสินค้า องค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) ประจำจังหวัดพิษณุโลก เปิดเผยว่า กรณีที่พบกองข้าวสารบรรจุกระสอบ (โครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปรังปี 2551) ถูกเผาทำลายบริเวณถนนเลียบคลองชลประทานหมู่ 7 ต.วัดโบสถ์ อ.วัดโบสถ์ จ.พิษณุโลก ยืนยันว่า อ.ต.ก.ได้ขายข้าวที่ฝากอยู่ในโกดัง บจก.เกษตรไพศาลธัญกิจ ให้ผู้ซื้อไปหมดเรียบร้อยแล้ว 13,000 ตัน แต่มีข้าวเปียกน้ำอยู่ 1,300 ตัน ทำให้ค้างอยู่ในโกดังเพื่อรอเคลมประกัน

ต่อมาเจ้าของโกดังหวั่นเกรงว่าจะเกิดไฟไหม้ข้าว จึงใช้รถตักข้าวดันไปไว้ด้านหลังโกดัง บังเอิญใกล้กับแหล่งน้ำ และนาข้าวทำให้เกิดเรื่องขึ้นทั้งที่ไม่ควรเป็นเรื่อง ซึ่งข้าวที่ปรากฏมีมูลค่าอยู่ แต่ต้องรอเคลมประกันซึ่งไม่รู้เมื่อไหร่

แหล่งข่าวคนเดิมกล่าวอีกว่า ส่วนภาพที่ปรากฏว่ามีการเผานั้น ยืนยันว่าข้าวระอุตั้งแต่อยู่ในโกดังแล้ว จนกระทั่งรถแบ็กโฮดันข้าวออกมา ซึ่งก่อนดำเนินการเคลื่อนย้ายสู่หลังโกดัง เลขที่ 77 หมู่ 7 ถนนพิษณุโลก-เด่นชัย อ.วัดโบสถ์ ก็มีเจ้าหน้าที่รัฐ และตำรวจเป็นพยานยืนยัน ก่อนขนไปกองไว้บริเวณที่สาธารณะเพราะหวั่นว่าจะเกิดไฟไหม้ แต่กระสอบข้าวยังมีคราบดำจากการระอุ ล่าสุด อ.ต.ก.พิษณุโลกได้รับคำสั่งต้องเคลียร์ข้าว 1,300 ตันนี้ออกให้หมด เพื่อไม่ให้ชาวนาเดือดร้อนจากน้ำเสียและกลิ่นเหม็น

**ชาวนาอ่างทองบุกศาลากลาง

ที่ จ.อ่างทอง เวลา 09.30 น.วานนี้ ชาวนาจากจังหวัดอ่างทอง และตัวแทนชาวนาจาก 10 จังหวัดภาคกลางตอนล่างกว่า 500 คน ได้รวมพลชุมนุมกันที่บริเวณหน้าศาลากลางจังหวัดอ่างทอง ที่บริเวณหน้าพระบรมรูปรัชกาลที่ 5 เพื่อยื่นหนังสือเรียกร้องให้รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ขยายเวลารับจำนำข้าว ท่ามกลางการรักษาความปลอดภัยอย่างเข้มงวดจากเจ้าหน้าที่ตำรวจชุดปราบจราจลของตำรวจภูธรจังหวัดอ่างทอง

นายทรงพล พูลสวัสดิ์ ประธานสภาเกษตรกรจังหวัดอ่างทอง เปิดเผยว่า การมาชุมนุมในวันนี้เพื่อแสดงให้เห็นถึงความเดือดร้อนของชาวนาในภาคกลาง โดยชาวนาจะรอผลการประชุม ครม.อยู่ที่นี่จนกว่าจะรู้ผล ซึ่งหากไม่มีการตอบรับจากรัฐบาลจะรวมพลไปชุมนุมที่ลพบุรีในวันที่ 19 กันยายนนี้ที่จะมีการประชุมครม.สัญจร และจะยกระดับการชุมนุมเพิ่มขึ้นทันที

***ผู้ปลูกมันอีสานจี้รัฐเปิดรับจำนำ ต.ค.นี้

เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังใน จ.นครราชสีมา และบุรีรัมย์ รวมตัวบริเวณหน้าที่ว่าการอำเภอหนองบุญมาก จ.นครราชสีมา เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลช่วยเหลือ หลังราคาขายตกต่ำเหลือกิโลกรัมละ 2 บาท 30 สตางค์ ทำให้ประสบภาวะขาดทุน จึงต้องการให้รัฐบาลเปิดโครงการรับจำนำในราคา 2 บาท 75 สตางค์ ตั้งแต่เดือนตุลาคมนี้

นอกจากนี้ กลุ่มผู้ปลูกมันสำปะหลังยังยื่นข้อเรียกร้องให้รัฐบาลจ่ายเงินชดเชยต้นทุนการผลิตให้เกษตรกรกิโลกรัมละ 70 สตางค์ และประกาศมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังภายในวันที่ 30 กันยายนนี้
กำลังโหลดความคิดเห็น