xs
xsm
sm
md
lg

สถาบันพระมหากษัตริย์ไทย

เผยแพร่:   โดย: ชัยอนันต์ สมุทวณิช

หมู่นี้มีข่าวหมิ่นเบื้องสูงอยู่บ่อยๆ ในสมัยรัชกาลที่ 7 มีกรรมกรชื่อ นายถวัติ ฤทธิเดช ไปยื่นฟ้องพระปกเกล้าฯ ข้อหาหมิ่นประมาทด้วย เวลานั้นสถาบันพระมหากษัตริย์กำลังถูกรัฐบาลกดดันอย่างหนัก เพราะรัฐบาลเห็นว่า พระองค์ท่านขัดขวางทางของรัฐบาลหลายอย่าง วิธีการกดดันก็คือ ถอนกำลังทหารรักษาพระองค์ออกมา และกระทำการต่างๆ นานา เช่น เอาที่ดินของทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ออกมาขายให้พวกพ้อง เป็นต้น

สถาบันพระมหากษัตริย์ถูกวิพากษ์วิจารณ์มาเป็นระยะๆ ในปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็มีกระแสเช่นว่านี้ พอมาถึงสมัยรัชกาลที่ 6 ก็ยิ่งมีเสียงวิจารณ์หนาหูขึ้น ทั้งนี้เป็นเพราะปัจจัยหลายประการ ประการแรก รัชกาลที่ 6 ทรงให้ความเอาใจใส่ขุนนางมากกว่าแต่ก่อน มีการพระราชทานที่ดิน และเงิยให้ขุนนางมากมาย มีการจัดตั้งเสือป่าขึ้นและเปิดโอกาสให้หนังสือพิมพ์มีเสรีภาพมากขึ้น

การวิพากษ์วิจารณ์พระเจ้าอยู่หัวในสมัยก่อน เป็นเรื่องที่พอคาดคิดได้ เพราะเป็นสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ พระมหากษัตริย์ทรงมีพระราชอำนาจมาก และนอกจากนั้นยังมีพวกเจ้าที่รับราชการในตำแหน่งเสนาบดีหลายองค์ ผู้วิจารณ์ก็วิจารณ์ทั้งตัวสถาบัน และองค์พระมหากษัตริย์เอง

ในปัจจุบันการวิจารณ์สถาบันพระมหากษัตริย์ ถือว่าเป็นการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ การที่มีกฎหมายเอาผิดบุคคลเช่นนี้ ก็ก่อให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นการเหมาะสมหรือไม่ เพราะใครก็ได้สามารถแจ้งความเอาผิดได้ ดังนั้นบางคนจึงอาจถูกกลั่นแกล้งได้ นักกฎหมายเห็นว่าควรลงบทลงโทษไว้ แต่ควรมีการแก้ไขให้เหมาะสม

ผู้วิจารณ์สถาบันพระมหากษัตริย์ในเมืองไทยมีหลายจำพวก พวกแรกคือนักวิชาการที่เห็นว่าสถาบันนี้ควรมีการปฏิรูป แต่จะทำอย่างไรนั้นก็ยังไม่ชัดเจน จะชัดเจนก็มีอยู่เฉพาะเรื่องการแก้ไขกฎหมายอาญา มาตรา 112 อีกพวกหนึ่งเห็นว่าพระมหากษัตริย์ควรอยู่เหนือการเมืองอย่างเด็ดขาด แม้แต่จะแสดงความคิดเห็นก็ไม่ได้

พวกที่แย่ที่สุดเห็นจะเป็นผู้ซึ่งใช้วาจาที่ไม่เหมาะสม พวกนี้ถูกติดคุกไปหลายคนแล้ว อย่างเช่น “ดา ตอร์ปิโด” เป็นต้น ก็ยังดูไม่ออกว่าคนเหล่านี้ออกมาพูดจาก้าวร้าวเพราะเหตุใด พระองค์ท่านทรงทำอะไรให้เป็นที่ไม่พอใจ หรือจะแสดงความกล้าว่า ข้านี้แน่

อีกพวกหนึ่งคือ พวกที่เชื่อว่าพระมหากษัตริย์ยังมีอำนาจมากคือ สามารถบงการอะไรอยู่เบื้องหลังได้ จึงออกมาวิจารณ์ โดยเฉพาะเมื่อมีรัฐประหาร และมีคณะทหารเข้าเฝ้า คนพวกนี้เชื่อในทฤษฎี Conspiracy

ที่จริงแล้วพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่ Active ดังเห็นได้จากการมีโครงการพระราชดำริมากมาย โครงการเหล่านี้เกิดขึ้นเพราะมีช่องว่างของระบบราชการที่มักจะไม่ประสานงานกัน งานของโครงการพระราชดำริเป็นงานประเภทริเริ่ม และเป็นการประสานงานระหว่างหน่วยงานหลายหน่วย เราจะเห็นพระปรีชาสามารถของพระองค์ท่านเกือบทุกด้าน โดยเฉพาะด้านการจัดการน้ำ

การที่เรามีพระมหากษัตริย์ที่ทรง Active เช่นนี้ ย่อมถือได้ว่าเป็นผลดีต่อประชาชน เพราะเท่ากับว่าประชาชนมีที่พึ่งที่มิได้หวังผลในแง่ที่นักการเมืองหวัง ดังนั้นกิจการใดก็ตามที่มาจากพระมหากษัตริย์ จึงเป็นกิจการที่ไม่เป็นฝักฝ่าย และไม่มีผลประโยชน์ซ่อนเร้น

พระมหากษัตริย์ไทยทรงเป็นผู้นำมวลชน ทรงเป็นแรงบันดาลใจของประชาชน และทรงเป็นขวัญกำลังใจของประชาชน ที่เขาไม่รู้สึกว่าอยู่อย่างโดดเดี่ยว มีนักการเมืองบางคนที่ต้องการเป็นผู้นำมวลชน มองว่าสถาบันพระมหากษัตริย์มีบทบาทมากเกินไป ความคิดที่จะจำกัดบทบาทให้เป็นเพียงพิธีกรรมจึงเกิดขึ้น และแพร่หลายอยู่ในกลุ่มคนบางพวกที่ทำเว็บไซต์วิพากษ์วิจารณ์สถาบันอยู่ในเวลานี้

สถาบันพระมหากษัตริย์ของไทย หากจะมี “อำนาจ” ก็คงเป็น “อำนาจอ้างอิง” มากกว่าอำนาจตามความหมายที่แท้จริง และเป็น “บารมี” ที่มีแต่พระคุณมากกว่าพระเดช สถาบันพระมหากษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตย จึงมีลักษณะเป็นสถาบันทางวัฒนธรรมมากกว่าสถาบันทางการเมือง และหากจะมีการเปลี่ยนแปลงใดๆ แล้ว ก็น่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงเชิงวัฒนธรรมมากกว่าการเปลี่ยนแปลงแบบอื่น
กำลังโหลดความคิดเห็น