xs
xsm
sm
md
lg

วิจารณ์สถาบันไปทำไม

เผยแพร่:   โดย: ชัยอนันต์ สมุทวณิช

ในปัจจุบันพระมหากษัตริย์ทรงอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ แต่มีสิทธิพิเศษตรงที่ไม่ต้องถูกฟ้องร้อง ผู้เสนอให้มีการปรับปรุงเห็นว่าควรให้รัฐสภาสามารถพิจารณาความผิดของพระมหากษัตริย์ได้ เรื่องนี้เป็นเรื่องที่น่าถกเถียงกัน เพราะพระมหากษัตริย์แม้จะเป็นบุคคล แต่โดยสถานภาพแล้วก็ไม่อาจทำอะไรต่ออะไรเหมือนกับคนโดยทั่วไป และการให้รัฐสภามีอำนาจเอาผิดได้นั้น ก็ไม่ได้ระบุไว้ว่าในความผิดประเภทใด นอกจากนั้น รัฐสภาแม้จะเป็นตัวแทนของประชาชน แต่ก็เป็นฝ่ายการเมือง

ขนบธรรมเนียมประเพณีทางการปกครองของไทย มีการควบคุมตรวจสอบสถาบันพระมหากษัตริย์จากจิตสำนึกภายในมากกว่าเป็นการควบคุมทางกฎหมาย ในอดีตพระมหากษัตริย์ได้รับการกล่อมเกลาให้มีทศพิธราชธรรม ซึ่งเป็นการควบคุมตนเองมากกว่าเป็นการควบคุมจากภายนอก

ผู้วิจารณ์เสนอให้มีการยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ข้อนี้มีผู้เห็นว่าน่าจะมีการแก้ไขปรับปรุง เพราะอาจถูกใช้เป็นเครื่องมือกลั่นแกล้งบุคคลก็ได้ การที่กฎหมายเปิดโอกาสให้ใครก็ได้สามารถแจ้งความฟ้องร้องได้ น่าจะมีการทบทวน แต่ก็น่าจะยังคงมีไว้ เพราะทุกประเทศต่างมีกฎหมาย

กระแสการวิจารณ์สถาบันพระมหากษัตริย์ ยังคงมีต่อไปแม้จะทำกันอย่างไม่เปิดเผย คนที่ดูรายการตอบโจทย์ชม ส.ศิวรักษ์ ว่าพูดดี แต่เห็นว่า สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล “แรงไป” จน ส.ศิวรักษ์ต้องคอยเบรก

ในสมัยก่อน เมื่อปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็มีผู้วิจารณ์สถาบันพระมหากษัตริย์ แม้จะเป็นสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ก็ตาม ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 6 ได้มีการเปิดเสรีภาพทางความคิดเห็น มีบทความวิจารณ์สถาบันพระมหากษัตริย์มากมาย สถานการณ์นี้เป็นเรื่อยมาจนถึงสมัยรัชกาลที่ 7 จนพระคลังข้างที่ต้องออกหนังสือพิมพ์ “พิมพ์ไทย” มาเป็นกระบอกเสียงของรัฐบาล

ดังนั้น จะเห็นได้ว่าการวิจารณ์สถาบันพระมหากษัตริย์นั้น ไม่ใช่ของใหม่ ในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ พระมหากษัตริย์ทรงอยู่เหนือกฎหมาย จึงเป็นธรรมดาอยู่เองที่จะมีการวิจารณ์พระราชอำนาจ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงปรารภไว้ว่า พระมหากษัตริย์มักจะตกเป็นจำเลยเสมอแม้ฝนไม่ตก ฟ้าไม่ร้อง ก็โทษพระมหากษัตริย์ แสดงว่า แม้จะมีอำนาจเด็ดขาดสูงสุด แต่ก็มีความรับผิดชอบเด็ดขาดสูงสุดเช่นกัน

ในสมัยรัชกาลที่ 7 มีราษฎรเป็นกรรมกรรถรางชื่อ นายถวัติ ฤทธิเดช ฟ้องพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ในข้อหาหมิ่นประมาท คนสงสัยว่ารัฐบาลจะรู้เห็นเป็นใจด้วย คุ้มครองประมุขของรัฐทั้งสิ้น

การเสนอให้ยกเลิกองคมนตรีไม่ได้บอกเหตุผลไว้ว่า ทำไมโดยปกติองคมนตรีทำหน้าที่ช่วยแบ่งเบาพระราชภารกิจหลายอย่าง โดยเฉพาะการตรวจสอบฎีกาที่มีผู้ถวายนับเป็นพันๆ ฉบับ นอกจากนั้น ยังมีงานอื่นๆ เช่น งานช่วยเหลือประชาชน และการเป็นประธานในพระราชพิธี หรืองานที่มีผู้จัดอีกมากมาย การมีองคมนตรีไม่ได้ก่อให้เกิดการเพิ่มพระราชอำนาจแก่สถาบันพระมหากษัตริย์แต่อย่างใด แม้จะมีการวิจารณ์องคมนตรีแต่ก็ควรแยกแยะระหว่างสถาบันองคมนตรีกับตัวบุคคล

การเสนอให้ยกเลิกพระราชบัญญัติจัดระเบียบทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ก็ไม่ปรากฏเหตุผลที่ชัดเจน นอกเสียจากว่าผู้วิจารณ์เห็นว่า พระมหากษัตริย์มีทรัพย์สินที่สามารถทำผลประโยชน์ได้ แต่ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์นั้น ก็เป็นกรรมสิทธิ์ส่วนบุคคลที่รัฐธรรมนูญรับรอง

บางคนเห็นว่า ข่าวพระราชสำนักไม่ควรจะมี แต่การมีข่าวพระราชสำนักก็เป็นการเชื่อมโยงสถาบันกับประชาชน ต้องไม่ลืมว่ามีประชาชนจำนวนมากที่จงรักภักดี และต้องการทราบพระราชกรณียกิจต่างๆ

การเสนอให้ยกเลิกพระราชอำนาจในการแสดงความคิดเห็นของการเมืองทั้งหมด ดูจะเป็นการกลัวเกรงบารมีของสถาบันพระมหากษัตริย์มากเกินเหตุ ในแต่ละปีพระมหากษัตริย์จะมีพระราชวโรกาสในการแสดงความเห็นน้อยมาก พระราชดำรัสต่างๆ ก็มักจะเป็นการที่ทรงสั่งสอนให้ข้อคิดมากกว่า ส่วนความเห็นทางการเมืองที่ว่ากันนั้น ก็จะดูเป็นเรื่องที่มีการตีความมากกว่าที่จะเป็นความคิดเห็นที่เรียกได้ว่ามีลักษณะทางการเมืองโดยตรง

ประการสุดท้ายคือ การรับบริจาค เรื่องนี้หากใครสนใจศึกษาเรื่องกาชาด และงานการกุศลอื่นๆ แล้ว ก็จะเห็นว่าการบริจาคมีข้อดีมากกว่าข้อเสีย และประโยชน์ก็กลับมาสู่ประชาชน จึงไม่มีเหตุสมควรที่จะห้ามไม่ให้มีการบริจาค

ข้อเสนอเหล่านี้เป็นประเด็นสำคัญที่เป็นเรื่องจำเป็นเร่งด่วนหรือไม่ ความเห็นเหล่านี้เป็นความเห็นที่ขาดข้อสนับสนุนที่ดีนอกเสียจากมาตรา 112 ซึ่งมีประเด็น ส่วนเรื่องอื่นๆ ไม่น่าจะเป็นเรื่องสำคัญแต่อย่างใด

ในปัจจุบัน สถาบันพระมหากษัตริย์ทรงเป็นที่พึ่งของประชาชนได้ ในยุคที่การเมืองเป็นการเมืองที่มีอำนาจเด็ดขาด บทบาทของสถาบันพระมหากษัตริย์ที่เห็นได้ชัดก็คือ เป็นสถาบันที่ป้องกันอำนาจทางการเมืองที่เป็นเผด็จการเบ็ดเสร็จ
กำลังโหลดความคิดเห็น