ม็อบอุเทนถวาย 2 พันคน ตั้งแถวเดินอย่างเป็นระเบียบ มุ่งหน้าสู่จุฬาฯ โดยนายกสโมสรนักศึกษาอุเทนถวาย ได้ยื่นหนังสือเรียกร้องขอความเป็นธรรมในกรรมสิทธิ์ที่ดิน มี ศ.นพ.เจษฎา เป็นตัวแทนจุฬาฯ มารับมอบหนังสือ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ช่วงบ่ายเมื่อเวลา 13.00 น.กลุ่มศิษย์เก่าและศิษย์ปัจจุบันของอุเทนถวาย ประมาณ 2,000 คน ได้เดินขบวนจากอุเทนถวาย โดยใช้เส้นทางบริเวณถนนพญาไทขาเข้า ฝั่งด้านหน้าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มาหยุดรวมตัวยังบริเวณหน้าสำนักงานอธิการบดี และอาคารสำนักงานจัดการทรัพย์สินจุฬาฯ โดยมีการใช้รถบรรทุกซึ่งติดตั้งเครื่องกระจายเสียงทำการปราศรัย ขณะที่นักศึกษาจำนวนกว่า 2,000 คน ตั้งแถวชูป้ายข้อความ อาทิ “จุดยืนอุเทน ยึดมั่นตามกระแสพระราชดำรัสล้นเกล้ารัชกาลที่ 6”, “แผ่นดินนี้คือสถานศึกษา ไม่ใช่ขี้ข้านาย”, “จุฬาฯ แสนล้านพลิกทำเลทองสร้างเงิน”.เป็นต้น โดยนักศึกษายืนอย่างเป็นระเบียบภายใน 1 ช่องทาง และ 2 เปิดช่องทางที่เหลือเพื่อให้สามารถสัญจรไปมาบนท้องถนนได้ เพื่อให้การจราจรไม่ติดขัด ทั้งนี้ ตลอดแนวถนนที่นักศึกษาอุเทนถวายเดินผ่านนั้น มีเจ้าหน้าที่ตำรวจคอยดูแลความปลอดภัยอย่างใกล้ชิด และตั้งแถวกั้นบริเวณทางเข้าสำนักงานอธิการบดีไว้ ทำให้นักศึกษาอุเทนถวาย ไม่สามารถนำรถกระจายเสียงเข้ามาภายในบริเวณจุฬาฯ ได้
จากนั้น ตัวแทนศิษย์เก่าฯ พร้อมด้วยนายลิขิต จิตประวัติ นักศึกษาชั้นปี 2 คณะวิศวกรรมศาสตร์ ในฐานะนายกสโมสรนักศึกษาอุเทนถวาย เข้ายื่นหนังสือเรียกร้องให้การขอความเป็นธรรมในกรรมสิทธิ์ที่ดินของอุเทนถวาย มี ศ.นพ.เจษฎา แสงสุพรรณ รองอธิการบดีฝ่ายบริหาร จุฬาฯ เป็นตัวแทนรับมอบ โดย นายลิขิต กล่าวว่า ตนมาขอความเป็นธรรมในกรรมสิทธิ์ที่ดินของอุเทนถวาย เพราะอุเทนถวายนั้นเป็นโรงเรียนช่างก่อสร้างแห่งแรกของประเทศไทยที่ผลิตบุคลากรที่มีคุณภาพออกมาจำนวนมาก ดังนั้น จึงอยากให้ทางจุฬาฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาช่วยพิจารณาเอกสารทางด้านประวัติศาสตร์ที่ทางอุเทนถวายนำมายื่นครั้งนี้ต่อไป
ด้าน ศ.นพ.เจษฎา กล่าวว่า ตนจะนำเรื่องดังกล่าวเข้าสู่ที่ประชุมคณะบริหารจุฬาฯ และจะศึกษารายละเอียดประวัติศาสตร์ตามเอกสารที่ทางอุเทนถวายได้ยื่นมา
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับบรรยากาศในการชุมนุมนั้น ตัวแทนอุเทนถวายได้ปราศรัยว่า จุฬาฯ และอุเทนถวายอยู่ร่วมกันมานานกว่า 80 ปี และที่ดินดังกล่าวอุเทนถวายได้รับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ร.6 และอุเทนถวายได้ตั้งอยู่ตรงนี้มาตลอดไม่เคยย้ายไปที่อื่น อุเทนและจุฬาฯเป็นเพื่อนบ้านที่มีรั้วติดกัน ส่วนกรณีที่จะให้อุเทนฯย้ายบ้านไปอยู่ที่ ต.บางปลา อ.บางพลี จ.สมุทรปราการนั้น ก็ยินดีไป หากจุฬาฯจะไปร่วมพัฒนาพื้นที่ดังกล่าวด้วย โดยอยากให้ทางจุฬาฯคำนึงถึงสัดส่วนพื้นที่การจัดการศึกษา กับพื้นที่การค้าใหม่ และให้สัดส่วนเหมาะสมตามไม่ใช่เอาแต่ผลประโยชน์ทางธุรกิจเป็นสำคัญ และยืนยันว่าจะไม่ย้ายออกจากตรงนี้เด็ดขาด
ทั้งนี้ ต่อมาเมื่อเวลา 14.40 น.กลุ่มศิษย์เก่าฯ ได้ประกาศยุติการชุมนุมและได้ขอให้ทางผู้บริหารจุฬาฯ พิจารณาข้อเรียกร้องที่อุเทนถวายได้นำมาเสนอ หากยังไม่มีความเปลี่ยนแปลง ครั้งต่อไปอุเทนถวายก็จะยกระดับการชุมนุมเพื่อยืนยันในข้อเรียกร้องเดิมต่อไป