xs
xsm
sm
md
lg

รองอธิการฯอุเทนถวายเชื่อศิษย์เก่า-ศิษย์ปัจจุบันรวมตัวไร้เหตุรุนแรง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายสืบพงศ์ ม่วงชู รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ตะวันออก วิทยาเขตอุเทนถวาย กล่าวถึงกรณีศิษย์เก่าอุเทนถวายเตรียมนัดชุมนุม"ศิษย์เก่าทั่วสยามโรงเรียนอุเทนถวาย" ในวันพรุ่งนี้ (15 มี.ค.) เพื่อรักษาสิทธิในที่ดินเชื่อว่า การชุมนุมที่จะมีขึ้นของทั้งศิษย์เก่าและปัจจุบันจะเป็นการชุมนุมโดยสงบไม่มีความรุนแรง เพราะทุกคนมาด้วยความบริสุทธิ์ใจ โดยกิจกรรมจะเป็นการรวมตัวกันในเวลา 11.00 น.จากนั้นเดินไปที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อวางพวงหรีด ซึ่งการรวมตัวและชุมนุมจะเป็นไปด้วยความเรียบร้อย แต่ห่วงเรื่องมือที่สามที่อาจทำให้ชื่อเสียงของอุเทนถวายต้องแปดเปื้อน แต่ทราบว่าทางตำรวจนครบาลได้จัดกำลังคอยดูแลความสงบเรียบร้อยให้แล้ว ส่วนทางออกของปัญหาเรื่องนี้ ขอให้รอพระบรมราชวินิจฉัยตามที่เคยถวายฎีกาเกี่ยวกับเรื่องที่ดินของอุเทนถวายก่อนจะมีการตัดสินใดๆ ก็ตาม
นายสืบพงศ์ กล่าวต่อไปว่า จากการสืบค้นข้อมูลของศิษย์เก่า และมีหลักฐานทางประวัติศาสตร์อย่างชัดเจน ทำให้ทราบว่าอุเทนถวายก่อสร้างขึ้นโดยพระบรมราชวินิจฉัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ซึ่งทรงโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจุฑาธุชธราดิลก กรมขุนเพ็ชรบูรณ์อินทราชัย เป็นผู้ดำเนินงานก่อสร้างโรงเรียนช่างไม้แห่งแรกของประเทศไทยขึ้น เพื่อให้ประเทศไทยมีช่างฝีมือทางด้านงานไม้ โดยไม่ต้องพึ่งพาช่างต่างประเทศ ในปี 2461 ซึ่งถือว่าเป็นความภาคภูมิใจของชาวอุเทนถวาย แต่หลังพระองค์สิ้นพระชนม์ในปี 2466 ทำให้งานก่อสร้างโรงเรียนช่างไม้หยุดชะงัก ซึ่งรัชกาลที่ 6 ได้พระราชทานเงิน 10,000 บาท เพื่อใช้ในงานพระศพ และถูกนำมาใช้ในงานก่อสร้างโรงเรียนต่อด้วย ซึ่งถือว่าที่ดินดังกล่าวเป็นที่ดินมรดก
นายสืบพงศ์ กล่าวต่อไปว่า แต่ปี 2482 จอมพล ป.พิบูลสงคราม อดีตอธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ขณะนั้น ได้รวมที่ดินมรดก และโอนที่ดินให้เป็นกรรมสิทธิ์ของจุฬาฯ ทำให้จุฬาฯ มีที่ดินถึง 1,200ไร่ แต่ที่ดินของอุเทนถวายมีเพียง 21 ไร่ ซึ่งการรวมที่ดินดังกล่าวยังส่งผลไปถึงการควบรวมสถานเสาวภา ซึ่งเพิ่งมีการแก้ไขโอนที่ดินคืนให้สภากาชาดไทย เมื่อปี 2522 ทางอุเทนถวายจึงหวังว่า จะได้รับการโอนที่ดินในกรณีดังกล่าวเช่นเดียวกัน เพราะวัตถุประสงค์ของการก่อสร้างโรงเรียนอุเทนถวายเป็นพระราชประสงค์ของรัชกาลที่ 6 และเป็นการพระราชทานที่ดินให้ก่อสร้างตั้งแต่แรก ไม่เคยมีหลักฐานว่าเช่าที่ดินจากจุฬาฯ มาก่อน ซึ่งหากนับรวมการก่อตั้งโรงเรียนอุเทนถวายสมัยใช้ชื่อเดิมว่า โรงเรียนช่างไม้ ที่อยู่ภายใต้การดูแลของโรงเรียนเพาะช่างจะมีอายุรวมถึง 100 ปี แต่หากนับชื่ออุเทนถวาย ก็มีมากว่า 80 ปีแล้ว
กำลังโหลดความคิดเห็น