xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

เปลี่ยนนาข้าวเป็นไร่อ้อย น้ำท่วมก็ทำประมง โซนนิ่งเกษตรแบบนายกนกแก้ว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีที่ยังคง “เอ๋อ” กับนโยบายโซนนิ่งภาคการเกษตร
ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์-“โซนนิ่งภาคการเกษตร”เป็นหนึ่งในชุดคำพูดไม่กี่คำที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มักจะพูดอยู่เสมอ เมื่อถูกสื่อมวลชนซักถามถึงการแก้ไขปัญหาราคาสินค้าเกษตร ราวกับว่านี่เป็นยาวิเศษที่จะแก้ไขปัญหาภาคในการเกษตรของไทยให้หมดสิ้นในไม่ช้านี้

การจัดโซนนิ่งภาคการเกษตร เป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญของรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ที่วางวัตถุประสงค์ไว้สวยหรูว่าจะเพิ่มประสิทธิภาพการแข่งขันให้กับประเทศ ผ่านการเพิ่มประสิทธิภาพและผลผลิตทางการเกษตร

ตามนโยบายดังกล่าวนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ออกประกาศพื้นที่ที่มีความเหมาะสมในการปลูกพืช 13 ชนิด ได้แก่ ข้าว มันสำปะหลัง ยางพารา ปาล์มน้ำมัน อ้อยโรงงาน ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ลำไย สับปะรด มังคุด ทุเรียน เงาะ มะพร้าว และกาแฟ

รวมทั้งพื้นที่ที่มีความเหมาะสมในการทำปศุสัตว์ 5 ชนิดได้แก่ ไก่เนื้อ ไก่ไข่ สุกร โคเนื้อ และโคนม ประกาศพื้นที่ที่เหมาะสมในการทำการประมง 2 ชนิด ได้แก่ การเลี้ยงกุ้ง และการทำประมงน้ำจืด

โดยได้มอบหมายให้เกษตรจังหวัดทำความเข้าใจกับเกษตรกรในแต่ละพื้นที่ถึงการปรับการเพาะปลูกให้เหมาะสมกับพื้นที่ของตนเอง และให้ผู้ว่าราชการจังหวัดในแต่ละจังหวัดวางแผนในการเพาะปลูกในพื้นที่ โดยจะต้องใช้การตลาดนำการผลิตเพื่อลดปัญหาผลผลิตล้นตลาด และรายได้ของเกษตรกร

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ยังมีแผนจะลงนามบันทึกความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอีก 9 องค์กร ได้แก่ สมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย สมาคมปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มแห่งประเทศไทย กระทรวงมหาดไทย กระทรวงพลังงาน กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงคมนาคม ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนนโยบายการจัดโซนนิ่งให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 25 มิ.ย.ที่ผ่านมา น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร พร้อมด้วย นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกฯ และ รมว.คลัง นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รมว.พาณิชย์ และนายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ ในขณะนั้น พร้อมด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ร่วมประชุมการบูรณาการงานด้านแผนที่และการจัดทำโซนนิงภาคเกษตร

ต่อมาวันที่ 29 มิ.ย. น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวในรายการ “รัฐบาลยิ่งลักษณ์พบประชาชน” ถึงการโซนนิ่งภาคการเกษตร แต่ก็ให้ภาพได้เพียงคร่าวๆ ว่า ได้ให้กระทรวงมหาดไทยสำรวจพื้นที่เพื่อหาทางเลือกให้ประชาชนมีรายได้เพิ่มขึ้นแล้ว และได้รับเสียงตอบรับเป็นอย่างดี ส่วนการแก้ปัญหาราคาสินค้าตกต่ำในระยะยาวนั้น ทางรัฐบาลได้แนะนำให้ประชาชนปลูกพืชพลังงาน เช่น อ้อย และมันสําปะหลัง ที่เป็นที่ต้องการของตลาด พร้อมทั้งดูพืชผลตามฤดูกาล เพื่อหาช่องทางการจำหน่ายให้แก่ชาวสวนผลไม้

อย่างไรก็ตาม จนถึงขณะนี้ กระทรวงเกษตรฯ สามารถกำหนดโซนนิ่งได้เพียงพืชเกษตร 6 ชนิด ได้แก่ เขตที่เหมาะกับการปลูกข้าวมีทั้งสิ้น 75 จังหวัด 793 อำเภอ 5,669 ตำบล แบ่งเป็น ภาคเหนือ 17 จังหวัด ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 20 จังหวัด ภาคกลาง 18 จังหวัด ภาคตะวันออก 7 จังหวัด และภาคใต้ 13 จังหวัด เขตเหมาะสมสำหรับการปลูกอ้อยโรงงาน 51 จังหวัด 432 อำเภอ 2,369 ตำบล แบ่งเป็น ภาคกลาง 11 จังหวัด ภาคตะวันออก 6 จังหวัด ภาคเหนือ 14 จังหวัด ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 20 จังหวัด

เขตเหมาะสมสำหรับการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์รวมทั้งสิ้น 42 จังหวัด แบ่งเป็น ภาคเหนือ 17 จังหวัด ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 12 จังหวัด ภาคกลาง 7 จังหวัด ภาคตะวันออก 6 จังหวัด

เขตเหมาะสมสำหรับปลูกยางพารามีทั้งสิ้น 68 จังหวัด 499 อำเภอ 2,251 จังหวัด แบ่งเป็น ภาคกลาง 8 จังหวัด ภาคตะวันออก 7 จังหวัด ภาคเหนือ 17 จังหวัด ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 20 จังหวัด และภาคใต้ 14 จังหวัด

เขตเหมาะสมสำหรับการปลูกมันสำปะหลังมีทั้งสิ้น 49 จังหวัด 478 อำเภอ 2,314 ตำบล แบ่งเป็น ภาคกลาง 9 จังหวัด ภาคตะวันออก 6 จังหวัด ภาคเหนือ 14 จังหวัด และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 20 จังหวัด

และสุดท้ายคือเขตเหมาะสมสำหรับการปลูกปาล์มน้ำมัน มีทั้งสิ้น 26 จังหวัด 185 อำเภอ 856 ตำบล แบ่งเป็น ภาคกลาง 5 จังหวัด ภาคตะวันออก 7 จังหวัด และภาคใต้ 14 จังหวัด

รูปธรรมของนโยบายนี้ที่เห็นชัดเจนอันแรก ตามคำให้สัมภาษณ์ของนายวราเทพ รัตนากร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา กระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีแผนที่จะให้จังหวัดกำแพงเพชรเป็นพื้นที่นำร่องในการปรับเปลี่ยนพื้นที่ปลูกข้าวที่ไม่เหมาะสมสู่การปลูกอ้อย โดยเบื้องต้นจะเปลี่ยนแปลงพื้นที่ปลูกข้าวที่ไม่เหมาะสมเป็นพื้นที่ปลูกอ้อยประมาณ 50,000 ไร่

ส่วนนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกฯ และ รมว.คลังกล่าวในรายการ “รัฐบาลยิ่งลักษณ์พบประชาชน” เมื่อวันที่ 31 สิงหาคมที่ผ่านมาว่า รัฐบาลเตรียมนำเงินกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง ที่ได้จากการเก็บค่าธรรมเนียมการส่งออกยางพารา ซึ่งปัจจุบันมีอยู่กว่า 1 หมื่นล้านบาท มาใช้ในการสนับสนุนการโค่นต้นยางเก่าที่มีอายุเกิน 25 ปี เพื่อนำพื้นที่ไปปลูกปาล์มน้ำมันแทน ตามแนวทางในการจัดวางแผนเกษตรโซนนิ่ง

นอกนั้น ก็เป็นเพียงคำพูดเจื้อยแจ้วของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ระหว่างการเดินสายไปทัวร์จังหวัดต่างๆ ที่บอกว่าจะจัดโซนนิ่งการเกษตรให้เหมาะสมกับสภาพของพื้นที่จังหวัดนั้น เช่น ไปราชบุรี เมื่อวันที่ 8 ส.ค. ก็บอกว่า จังหวัดราชบุรีปลูกข้าวได้ผลผลิตไม่มาก ควรให้นำพื้นที่ดังกล่าวมาปลูกพืชชนิดอื่น เช่น อ้อย หญ้าสำหรับเลี้ยงโคนม ข้าวโพดสำหรับผลิตเป็นอาหารสัตว์ หรือปรับพื้นที่ให้เป็นฟาร์มเลี้ยงโคนม

วันที่ 17 ก.ย.ร.ท.หญิง สุนิสา เลิศภควัต รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุม ครม.ว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้กำชับในเรื่องราคาอ้อย โดยขอให้กระทรวงอุตสาหกรรมตามงานและเร่งทำโครงสร้างราคามา โดยจะมีการเร่งรัดให้มีการประชุมโซนนิง ในเรื่องของการปรับเปลี่ยนการปลูกข้าวนาปรังในช่วงนอกฤดูกาลมาปลูกอ้อย หรือพืชชนิดอื่นแทน หรือหากในช่วงน้ำท่วมก็ให้ทำประมง ก็จะทำให้มีรายได้มากขึ้นในทุกฤดูกาล โดยจะนำโมเดลนี้ไปทำในพื้นที่ภาคกลางก่อน

หาก น.ส.ยิ่งลักษณ์พูดในที่ประชุม ครม.จริงตามที่รองโฆษกรัฐบาลแถลง ก็สะท้อนว่าในหัวของนายกฯ หุ่นเชิดไม่ได้ซึมซับความรู้พื้นฐานด้านการเกษตรเข้าไปเลย

นั่นเพราะ พืชแต่ละชนิดย่อมจะเหมาะสมกับภูมิประเทศที่แตกต่างกัน และการปลูกให้ได้ผลดีเกษตรกรต้องมีความเชี่ยวชาญเฉพาะในการปลูกพืชนั้นๆ รวมทั้งต้องมีตลาดรองรับผลผลิตที่ได้ด้วย

การคิดแบบง่ายๆ ว่าจะปรับพื้นที่ปลูกข้าวไปปลูกอ้อย หรือเปลี่ยนพื้นที่ทำนาที่ถูกน้ำท่วมไปทำประมง แสดงว่า นโยบายการจัดโซนนิ่งของรัฐบาลยังคงสะเปะสะปะไร้ทิศทาง และไม่ใช่ทางออกของการแก้ไขปัญหาภาคการเกษตรของประเทศนี้ นอกจากเป็นเพียงชุดคำพูดหนึ่งที่นายกฯ มีไว้ใช้เอาตัวรอดเมื่อถูกนักข่าวถามเท่านั้น


กำลังโหลดความคิดเห็น