xs
xsm
sm
md
lg

หวั่นราคายางดำดิ่ง! ส่งผลให้เกษตรกร อ.สุไหงโก-ลก ปลูกพืชอื่นทดแทน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

                    นางมยุรี อรุณวงศ์ เกษตรอำเภอสุไหงโก-ลก
นราธิวาส - เกษตรอำเภอสุไหงโก-ลก ห่วงเกษตรกรในพื้นที่จะทำลายต้นยางเพื่อปลูกพืชอื่นทดแทนในภาวะที่ราคายางพาราตกต่ำ ทั้งที่สภาพพื้นดินในพื้นที่เหมาะแก่การปลูกยางพารามากกว่าพืชชนิดอื่น

วันนี้ (2 ก.ย.) นางมยุรี อรุณวงศ์ เกษตรอำเภอสุไหงโก-ลก ห่วงราคายางพาราตกต่ำ จะทำให้เกษตรชาวสวนยางพาราในพื้นที่ทำลายต้นยางแล้วเปลี่ยนไปทำการเกษตรอื่นทดแทน เนื่องจาก อ.สุไหงโก-ลก มีการปลูกยางพาราสูงถึง 22,471 ไร่ จากพื้นที่ทำการเกษตรทั้งหมด 33,875 ไร่

ทั้งนี้ หากพื้นที่ใดที่สภาพพื้นดินเหมาะแก่การทำการเกษตรด้านอื่นก็พร้อมที่จะสนับสนุน และให้คำแนะนำเพื่อพัฒนาให้ผลผลิตทางเกษตรมีคุณภาพดียิ่งขึ้น แต่หากพื้นที่ใดที่เหมาะแก่การปลูกยางพาราอยู่แล้ว ก็อยากให้ทำต่อไปเพราะยังมั่นใจว่าสภาพดินในพื้นที่เหมาะแก่การปลูกยางพารามากว่าพืชชนิดอื่น ซึ่งแม้การปลูกยางพาราต้องใช้ระยะเวลาในการปลูกนาน แต่ก็สามารถเก็บผลผลิตได้ต่อเนื่อง มีความเสี่ยงที่จะได้รับความเสียหายจากแมลงศัตรูพืชน้อย อีกทั้งยากต่อการเสียหายหากไม่ใช่ภัยพิบัติรุนแรง ไม่เหมือนผลผลิตทางการเกษตรชนิดอื่นที่มีความอ่อนไหวต่อปัจจัยแวดล้อมจนต้องมีการดูแลเป็นพิเศษ จนมีต้นทุนการผลิตเพิ่มสูงขึ้น

ส่วนราคายางพาราที่ตกต่ำในขณะนี้ ต้องยอมรับว่าเกิดจากภาวะเศรษฐกิจของตลาดโลกที่ชะลอตัว อีกทั้งยางพารามีการปลูกโดยทั่วไปทั้งในประเทศไทยซึ่งจากเดิมจะมีเฉพาะในจังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่ปัจจุบันพบว่าปลูกทั่วไปในหลายจังหวัดทั่วประเทศ เช่นเดียวกับในต่างประเทศที่มีการปลูกอย่างแพร่หลาย ดังนั้น เมื่อผลผลิตมีมากขึ้นแต่ความต้องการของตลาดเท่าเดิม หรือลดลง จึงส่งผลให้ราคายางพาราตกต่ำลงต่อเนื่อง ซึ่งจากปัจจัยดังกล่าวทำให้เห็นว่าเกษตรกรส่วนใหญ่จะทำตามกระแสเป็นหลักโดยไม่ได้คำนึงถึงผลประกอบการในระยะยาว

จึงมักได้ยินข่าวเมื่อราคาปาล์มน้ำมันปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น ก็จะตัดต้นยางเพื่อปลูกปาล์มน้ำมันจนล้นตลาด และทำให้ราคาปาล์มน้ำมันตกต่ำ เมื่อราคายางพาราปรับตัวสูงขึ้นก็หันมาทำลายต้นปาล์มเพื่อปลูกยางพาราอีก จนส่งผลกระทบดังที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ดังนั้น ผลผลิตทางการเกษตรไม่เหมาะที่จะอิงกระแสของตลาด เพราะพืชผลแต่ละชนิดต้องใช้เวลานานในการปลูกกว่าจะได้ผลผลิต ซึ่งเมื่อได้ผลผลิตตามที่ต้องการก็อาจเป็นช่วงเดียวกับที่ผลผลิตของเกษตรกรทั้งหมดออกมาพร้อมกันล้นตลาด จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะทำให้ผลผลิตของตนในขณะนั้นมีราคาสูงขึ้นได้

แนวทางที่ดีที่สุดในขณะนี้เพื่อให้เกษตรกรอยู่ได้ และได้รับผลกระทบน้อยที่สุด คือการพัฒนาผลผลิตให้มีคุณภาพสูงขึ้น จนสามารถแข่งขันกับตลาดใหญ่ได้ การใช้ปุ๋ยอินทรีย์แทนปุ๋ยเคมีที่มีราคาสูง การปลูกพืชอื่นเพิ่มในพื้นที่ปลูกต้นยางพารา หรือปลูกพืชหมุนเวียนเพื่อเพิ่มรายได้ อีกทั้งอาจต้องใช้วิธีแปรรูปผลผลิตเพื่อขยายตลาดไปยังลูกค้ากลุ่มอื่นซึ่งหน่วยงานภาครัฐในพื้นที่ก็พร้อมสนับสนุนนักวิชาการเข้าไปเป็นที่ปรึกษาเพื่อแนะนำและฝึกอบรมให้อยู่แล้ว
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น