ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์-ในที่สุดก็เป็นที่ชัดแจ้งแล้ว สำหรับ “บัญชีโยกย้ายนายทหารประจำปี 2556” หลังจากราชกิจจานุเบกษา เล่ม 130 ตอนพิเศษ 118 ง 15 กันยายน 2556 หน้า 1-44 ได้ลงประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องให้นายทหารรับราชการ โดยมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้นายทหารรับราชการสนองพระเดชพระคุณ จำนวน 861 อัตรา ให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. โดย น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
ทั้งนี้ การโยกย้ายนายทหารในตำแหน่งสำคัญๆ ในปีนี้ ต้องถือว่ามีความน่าสนใจไม่น้อยเช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสิ่งที่เกิดขึ้นในกองทัพบกภายใต้การกุมบังเหียนของ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ผู้บัญชาการทหารบกคนปัจจุบันเนื่องเพราะมีการจัดแถว 5 เสือกองทัพบกใหม่
โดยให้ พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร (ตท.14) เสธ.ทบ. เป็นรอง ผบ.ทบ. เพื่อเตรียมขึ้นมาเป็น ผบ.ทบ. หลัง พล.อ.ประยุทธ์เกษียณในปี 2557 ขณะที่ พล.ท.ฉัตรชัย สาริกัลยะ (ตท.12) ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษ ทบ. และ พล.ท.ไพบูลย์ คุ้มฉายา (ตท.15) แม่ทัพภาคที่ 1 ขยับขึ้นเป็น ผช.ผบ.ทบ. และ พล.ท.อักษรา เกิดผล (ตท.14) รอง เสธ.ทบ.ขึ้นเป็น เสธ.ทบ. ด้าน พล.อ.จิระเดช โมกขะสมิต (ตท.13) ผู้ช่วย ผบ.ทบ. ที่พลาดหวังจากตำแหน่งปลัด กห. ขึ้นเป็นประธานคณะที่ปรึกษา ทบ. ในอัตราจอมพล
นอกจากนั้น พล.อ.ประยุทธ์ยังปรับเปลี่ยนตำแหน่งในสายคุมกำลังด้วย โดยส่ง พล.ท.ธีรชัย นาควานิช (ตท.14) รอง เสธ.ทบ. ซึ่งเป็นนายทหารสายบูรพาพยัคฆ์ มาเป็นแม่ทัพภาคที่ 1 เพื่อจ่อเข้า 5 เสือ ทบ. โดยให้ พล.ต.เทพพงศ์ ทิพยจันทร์ (ตท.18) ผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์ (ผบ.พล.ร.2 รอ.), พล.ต.ศุภวัฒน์ เชิดธรรม (ตท.16) ผบ.มณฑลทหารบกที่ 14 (ผบ.มทบ.14), พล.ต.สิงหศักดิ์ อุทัยมงคล(ตท.16) ผบ.มทบ.11 ขึ้นเป็นรองแม่ทัพภาคที่ 1 ขณะที่กองทัพภาคที่ 2 ขยับ พล.ต.ชาญชัย ภู่ทอง (ตท.14) รองแม่ทัพภาคที่ 2 นายทหารใกล้ชิด พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ อดีต รมว.กลาโหม ขึ้นเป็นแม่ทัพภาคที่ 2 และให้ พล.ต.ชวลิต ชุนประสาร (ตท.15) รองแม่ทัพภาคที่ 2 เป็นแม่ทัพน้อยที่ 2, พล.ต.ชลิต เมฆมุขดา (ตท.16) ผบ.พล.ร.6 และ พล.ต.จารุเกียรติ ชัยวงษ์ (ตท.14) เสธ.กองทัพน้อยที่ 2 เป็นรองแม่ทัพภาคที่ 2, พล.ต.สมศักดิ์ นิลบรรเจิดกุล (ตท.16) ผบ.พล.ม.1 เป็นรองแม่ทัพภาคที่ 3, พล.ต.ปราการ ชลยุทธ (ตท.15) รองแม่ทัพภาคที่ 3 เป็นรองแม่ทัพภาคที่ 4, พล.ต.นพวงษ์ สุรวิชัย (ตท.15) ผบ.พล.ร.5 เป็นรองแม่ทัพภาคที่ 4, พล.ต.ชรินทร์ อมรแก้ว (ตท.16) เสธ.กองทัพภาคที่ 4 เป็นรองแม่ทัพภาคที่ 4 ขณะที่ พล.ท.วลิต โรจนภักดี (ตท.15) แม่ทัพน้อยที่ 1 ยังอยู่ในตำแหน่งเดิมต่อไป เพื่อรอขึ้นแม่ทัพภาคที่ 4 ในบัญชีโยกย้ายนายทหารกลางปีหน้า แทน พล.ท.สกล ชื่นตระกูล แม่ทัพภาคที่ 4 ที่จะขยับเข้ามากินอัตราพลเอกก่อนเกษียณ
ขณะเดียวกันก็มีการปรับเปลี่ยนผู้บังคับหน่วยระดับ ผบ.พล.ด้วย โดยขยับ พ.อ.บรรเจิด ฉางปูนทอง เป็น ผบ.พล.ม.1, พ.อ.กู้เกียรติ ศรีนาคา รอง ผบ.พล.ร.2 รอ. เป็น ผบ.พล.ร.2 รอ., พ.อ.ธนะศักดิ์ เก่งถนอมม้า เป็น ผบ.ศูนย์สงครามพิเศษ, พ.อ.ธรากร ธรรมวินทร เป็น ผบ.พล.ร.6, พล.ต.เรืองศักดิ์ สุวรรณนาคะ ผบ.มทบ.42 เป็น ผบ.พล.ร.5
กรณีตำแหน่งแม่ทัพภาคที่ 1 นั้นถือเป็นประเด็นที่น่าสนใจไม่น้อย เพราะงานนี้มีการเมืองแทรกเข้ามาเต็มๆ เพราะไม่เช่นนั้นแล้ว พล.อ.ประยุทธ์คงจะดัน “บิ๊กอู๊ด” พล.ท.วลิต โรจนภักดี แม่ทัพน้อยที่ 1 น้องรักแห่งบูรพาพยัคฆ์ขึ้นเป็นแม่ทัพภาคที่ 1 ไปแล้ว แต่เนื่องเพราะ “คนเสื้อแดง” ซึ่งมีอำนาจล้นฟ้าล้นแผ่นดินในขณะนี้ไม่พอใจที่จะเห็นนายทหารที่มีส่วนสำคัญในการปราบปรามคนเสื้อแดงขึ้นคุมกำลัง เพราะบิ๊กอู๊ดมีบทบาทสำคัญในการกระชับพื้นที่ตั้งแต่เหตุการณ์ที่สามเหลี่ยมดินแดงในช่วงสงกรานต์ปี 2552 และสี่แยกคอกวัวปี 2553
แถมจะดันให้ “บิ๊กโชย” พล.ต.กัมปนาท รุดดิษฐ์” รองแม่ทัพภาคที่ 1 ขึ้นเป็นแม่ทัพภาคที่ 1 แทนก็ติดปัญหาเดียวกันเพราะบิ๊กโชยคือผู้นำกำลังทหารเข้ากระชับพื้นที่วัดปทุมวนารามเสียอีก สุดท้ายหวยจึงออกที่ “บิ๊กหมู” พล.ท.ธีระชัย นาควานิช” ที่ต้องทิ้งโอกาสขึ้นเป็นพล.อ.มารั้งตำแหน่งแม่ทัพภาคที่ 1 แทน บิ๊กต็อก-พล.ท.ไพบูลย์ คุ้มฉายาที่ขยับเข้าไลน์ 5 เสือ ทบ.เป็นผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก
งานนี้ พลังของคนเสื้อแดงทำให้เส้นทางชีวิตรับราชการทหารของ พล.ท.วลิตมีปัญหาหนักหนาสาหัส เพราะไม่เพียงแต่ตำแหน่งแห่งหนในกองทัพภาคที่ 1 เท่านั้น หากแต่ไม่ว่าจะย้ายไปใหญ่ที่ใดก็ดูเหมือนจะติดขัดทั้งสิ้น แม้จะวางโผไว้ให้ พล.ท.วลิตไปรั้งตำแหน่งแม่ทัพภาคที่ 4 ในการปรับย้ายกลางปีหน้าก็ตาม
ที่เด็ดไม่แพ้กันก็คือตำแหน่ง ผบ.พล.ปตอ.ที่เดิมมีข่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์จะย้าย “พล.ต.โชติอนันต์ปรีชา ทรัพย์หิรัญ” ขึ้นเป็น รอง ผบ.นปอ.เพื่อให้พ้นการคุมกำลังปฏิวัติ แต่ในที่สุดก็ไปไม่ถึงฝั่งฝัน เมื่อปรากฏเสียงที่ทรงพลังดังมาจากสองพี่น้องตระกูลชินวัตรกระซิบที่ข้างหู
และทั้งสองกรณีทำให้สังคมเห็นสภาพที่แท้จริงในกองทัพบกว่าเป็นอย่างไร ใครคือผู้มีอำนาจตัวจริง
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่ พล.ท.วลิต โรจนภักดี แม่ทัพน้อยที่ 1 พลาดตำแหน่งแม่ทัพภาคที่ 1 ว่า ตนเองเป็นผู้ตัดสินใจ และถามว่าผิดตรงไหน เพราะต้องพิจารณาคนทั้งกองทัพประมาณ 260,000 นาย ไม่ได้ดู พล.ท.วลิตเพียงคนเดียว ทุกคนทำหน้าที่ในแต่ละหน้าที่มากบ้างน้อยบ้าง พล.ท.วลิตก็ทำหน้าที่ดีที่สุดในงานที่ได้รับมอบหมาย ส่วนคนอื่นก็ทำงานที่ได้รับมอบหมายไปอีกงานหนึ่งดีที่สุดเหมือนกัน เมื่อถึงเวลาก็ต้องอยู่ช่วงจังหวะต่างๆ ด้วย หากยังมีเตรียมทหารรุ่นที่ 14 อยู่ ก็ให้รุ่นที่ 14 ขึ้นก่อนได้หรือไม่ ส่วนเตรียมทหารรุ่นที่ 15 ค่อยขึ้นทีหลัง ทุกอย่างหมุนเวียนกันอยู่แบบนี้
ที่เด็ดที่สุดคือเมื่อถามว่า หมายความว่าโอกาสที่ พล.ท.วลิตจะขึ้นตำแหน่งแม่ทัพภาคที่ 1 โดยที่ไม่มีกลุ่มคนเสื้อแดงออกมาสกัดกั้นนั้นยังมีอยู่ใช่หรือไม่ เพราะพล.ท.วลิตเคยนำกำลังทหารเข้ากระชับพื้นที่ของกลุ่มคนเสื้อแดงที่สี่แยกคอกวัวเมื่อปี 2553 พล.อ.ประยุทธ์ย้อนถามว่า แล้วเสื้อแดงอยู่ในคณะกรรมการปรับย้ายนายทหารชั้นนายพลหรือไม่ การแต่งตั้งโยกย้ายนายทหารต้องดูความอาวุโสเป็นหลัก ส่วนที่มีการมองว่ามีการเมืองนอกกองทัพมาเข้ามากดดันนั้นจะกดดันได้อย่างไร เพราะการกดดันคือการบังคับโดยไม่ยินยอม แต่ที่ผ่านมาคณะกรรมการฯได้มีการหารือร่วมกัน
“ผมไม่เคยคิดว่าจะได้เป็นแม่ทัพภาคที่ 1 ไม่เคยคิดจะได้เป็น ผบ.ทบ. และไม่เคยขอใครด้วย มันถึงได้เป็น ส่วนที่มองว่าจะมีความน้อยเนื้อต่ำใจจาก แม่ทัพภาคอื่นหรือไม่ ที่ไม่ได้ขึ้นมาเป็น 5 เสือ ทบ.นั้น ผมถามว่ามันขึ้นได้ครั้งละกี่คน ตำแหน่งมี 5 ตำแหน่ง สมมุติว่าง 2 ตำแหน่ง ถามว่าใครสมควรจะได้ขึ้น ทั้ง 4 กองทัพภาคจะได้ขึ้นหมดเลยหรือไม่ มันก็ไม่ได้ การจะปรับขึ้นไม่ใช่เรื่องอาวุโสอย่างเดียว แต่ต้องดูเรื่องความเหมาะสม และการหมุนเวียนในภาพใหญ่ ในแต่ละกองทัพผมมีสัดส่วนของผมว่ากองทัพนี้นายพลควรจะได้กี่คน รุ่นไหนควรจะได้เท่าไหร่ ผมก็นำตารางใหญ่ของผมมาดู ไม่ได้แค่นึกว่าจะเอาคนนี้หรือคนนั้นมาขึ้น เพราะคนนี้เป็นลูกน้อง คนนั้นอยู่กับผมมา ส่วนนั้นญาติหรือเหลน มันไม่ใช่ ถ้าตั้งแบบนั้นก็อย่ามาเป็นเลย บางคนในคำสั่งผมยังไม่รู้จัก เพราะทั้งหมดให้แม่ทัพภาคเสนอขึ้นมา ถ้าไม่ขัดข้อง ผมก็ให้ขึ้นตามที่เขาตั้ง แต่หากคนนี้อาวุโสกว่าคนนั้นก็สลับเพื่อความเหมาะสม ซึ่งเป็นสิทธิของผม” ผบ.ทบ.อธิบาย
ส่วนตำแหน่งสำคัญต่างๆ ของหน่วยงานอื่นที่น่าสนใจก็อย่างเช่น สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม (กห.) พล.อ.นิพัทธ์ ทองเล็ก (ตท.14) รองปลัด กห. ที่สามารถเบียด พล.อ.จิระเดช โมกขะสมิต (ตท.13) ผู้ช่วย ผบ.ทบ. ขึ้นเป็น ปลัด กห.ได้เป็นผลสำเร็จ, พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ (ตท.12) ที่ปรึกษาพิเศษ ทบ., พล.อ.สนธิศักดิ์ วิทยาเอนกนันท์ (ตท.14) ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษสำนักงานปลัด กห., พล.ร.อ.พลวัฒน์ สิโรดม (ตท.13) ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารเรือ (ผช.ผบ.ทร.) และ พล.อ.อ.ทรงธรรม โชคณาพิทักษ์ (ตท.14) ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารอากาศ (ผช.ผบ.ทอ.) ขึ้นเป็นรองปลัด กห. เป็นต้น
ด้านกองบัญชาการกองทัพไทย พล.ร.อ.อมรเทพ ณ บางช้าง (ตท.13) ประธานคณะที่ปรึกษากองทัพเรือ เป็นรอง ผบ.ทร., พล.อ.อ.อดิศักดิ์ กลั่นเสนาะ (ตท.12) ประธานคณะที่ปรึกษา ทอ. เป็นประธานคณะที่ปรึกษากองบัญชาการกองทัพไทย, พล.อ.ศิริชัย ดิษฐกุล (ตท.13 ) ผช.ผบ.ทบ. ข้ามมาเป็น เสธ.ทหาร เป็นต้น
สำหรับกองทัพเรือ พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย (ตท.13) รอง ผบ.ทร. เป็น ผบ.ทร., พล.ร.อ.ชัยวัฒน์ เอี่ยมสมุทร (ตท.12) หัวหน้าคณะนายทหารฝ่ายเสนาธิการประจำผู้บังคับบัญชา เป็นประธานคณะที่ปรึกษา ทร., พล.ร.อ.จักรชัย ภู่เจริญยศ (ตท.13) เสธ.ทร. เป็น รอง ผบ.ทร., พล.ร.อ.ไกรสร จันทร์สุวานิชย์ (ตท.13) ที่ปรึกษาพิเศษ ทร. ขึ้นเป็นผู้ช่วย ผบ.ทร. และ พล.ร.อ.ทวีวุฒิ พงศ์พิพัฒน์ (ตท.15) ที่ปรึกษาพิเศษกองทัพเรือ เป็น เสธ.ทร.
ขณะที่กองทัพอากาศ พล.อ.อ.สฤษดิ์พงษ์ โกมุททานนท์ (ตท.13) ผู้บัญชาการกรมควบคุมปฏิบัติการทางอากาศ (ผบ.คปอ.) ขึ้นเป็นรอง ผบ.ทอ., พล.อ.อ.อารยะ งามประมวญ (ตท.13) เสธ.ทอ. เป็นประธานคณะที่ปรึกษา ทอ.,พล.อ.อ.ธงชัย แฉล้มเขต (ตท.13) หัวหน้าคณะนายทหารฝ่าย เสธ.ประจำผู้บังคับบัญชา เป็น ผช.ผบ.ทบ., พล.อ.อ.ตรีทศ สนแจ้ง (ตท.14) ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษ ทอ. เป็น เสธ.ทอ.
อย่างไรก็ตาม จากการตรวจสอบเบื้องลึกพบว่า บัญชีรายชื่อโยกย้ายนายทหารปีนี้กระจายให้นายทหารทุกกลุ่มอำนาจ ไล่ตั้งแต่ฝ่ายที่ใกล้ชิดรัฐบาล และฝ่ายอำมาตย์ เช่น สำนักงานปลัด กห. ก็มี พล.ต.พิศณุ พุทธวงศ์ ผู้ทรงคุณวุฒิกองทัพบก นายทหารคนสนิทของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ เป็นผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษสำนักงานปลัด กห. (อัตรา พล.ท.) รวมทั้งนายทหารอดีตนายทหารใกล้ชิดของ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ องคมนตรี เช่น พล.อ.บุญชู เกิดโชค ผบ.รร.เตรียมทหาร เป็นเจ้ากรมกิจการชายแดนทหาร, พล.ต.ชัยชนะ นาคเกิด รอง ผอ.ศูนย์ต่อต้านก่อการร้าย เป็น ผบ.รร.เตรียมทหาร
และทั้งหมดคือสภาพความเป็นจริงของกองทัพในยุคที่มี “นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” เป็นนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม