ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์-“นายประชา มาลีนนท์” อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย คือนักการเมืองรายล่าสุดที่ถูกศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีคำพิพากษาให้จำคุกหลังพิสูจน์ชัดว่า กระทำการคิดคิดทรยศต่อบ้านเมืองด้วยการแสวงหาผลประโยชน์จากการทุจริตในคดีทุจริตการจัดซื้อรถและเรือดับเพลิง พร้อมอุปกรณ์บรรเทาสาธารณภัยของกรุงเทพมหานคร(กทม.) มูลค่า 6.6 พันล้านบาท
และนายประชา มาลีนนท์คือนักการเมืองรายที่ 4 ในประวัติศาสตร์การเมืองไทยที่ถูกจับคุก โดยก่อนหน้านี้นักการเมืองคนแรกที่ถูกศาลตัดสินจำคุกก็คือนายรักเกียรติ สุขธนะ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งศาลมีคำพิพากษาจำคุกในคดีทุจริตยาเป็นเวลา 5 ปี และปัจจุบันพ้นโทษและบวชอยู่ใต้ร่มกาสาวพัตร์ คนที่ 2 คือนายวัฒนา อัศวเหม อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทยที่ถูกตัดสินจำคุกในโครงการก่อสร้างบ่อบำบัดน้ำเสีย คลอง ด่าน และคนที่ 3 คือ นช.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งต้องคำพิพากษาจำคุกเป็นเวลา 2 ปี ในคดีทุจริตจัดซื้อที่ดินย่านถนนรัชดาฯ
อย่างไรก็ตาม เรื่องมหัศจรรย์ที่เกิดขึ้นก็คือ นักการเมืองผู้โกงบ้านกินเมืองทั้ง 4 คนที่ถูกลงโทษ ไม่ว่าจะเป็นนายรักเกียรติ สุขธนะ นช.ทักษิณ ชินวัตร นายวัฒนา อัศวเหมและล่าสุดนายประชา มาลีนนท์ ล้วนแล้วแต่หลบหนีคดีไม่ต่างประเทศทั้งสิ้น ราวกับว่า พวกเขาล่วงรู้ชะตากรรมก่อนหน้าอย่างไรอย่างนั้น โดยปัจจุบันกระบวนการยุติธรรมก็ยังไม่สามารถลากคอนักการเมืองชั่วเหล่านั้นมาลงโทษได้ จะมีก็เพียงนายรักเกียรติเพียงคนเดียวเท่านั้นที่ถูกจับได้และติดคุกติดตะรางก่อนที่จะพ้นโทษและบวชเป็นพระกระทั่งถึงในปัจจุบัน
คำถามมีอยู่ว่า กรณีนักโทษหนีคดีเป็นบทเรียนที่เกิดซ้ำซากให้เห็นมาแล้ว หลายต่อหลายครั้ง ทำไมกระบวนการยุติธรรมถึงไม่มีการแก้ไขเพื่อป้องกันมิให้เกิดเหตุการณ์ในทำนองนี้อีก เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นบทพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า นักการเมืองที่โกงบ้านกินเมืองเมื่อทำความผิดแล้วไม่หนี ไม่เคยเกิดขึ้นจริงในประวัติศาสตร์การเมืองไทย
ทั้งนี้ คดีดังกล่าว คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายโภคิน พลกุล อดีต รมว.มหาดไทย, นายประชา มาลีนนท์ อดีต รมช.มหาดไทย, นายวัฒนา เมืองสุข อดีต รมว.พาณิชย์, พล.ต.ต.อธิลักษณ์ ตันชูเกียรติ อดีตผู้อำนวยการสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กทม., บริษัท สไตเออร์ เดมเลอร์ พุค สเปเชียล ฟาห์รซอยก์ จำกัด (ศาลสั่งจำหน่ายคดีชั่วคราว) และ นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน อดีตผู้ว่าฯ กทม.เป็นจำเลยที่ 1-6 ในความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ และการกระทำผิดตาม พ.ร.บ.ฮั้วประมูล จากกรณีทุจริตจัดซื้อรถและเรือดับเพลิง พร้อมอุปกรณ์บรรเทาสาธารณภัย ของกรุงเทพมหานคร มูลค่า 6,687,489,000 บาท โดยคดีนี้มีความยืดเยื้อยาวนานมาเป็นเวลานานกว่า 10 ปี
กระทั่งเมื่อวันที่ 10 กันยายน 2556 ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้มีคำพิพากษาให้ นายประชา มาลีนนท์ อดีต รมช.มหาดไทย และ พล.ต.ต.อธิลักษณ์ ตันชูเกียรติ อดีตผู้อำนวยการสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กทม.มีความผิดตาม พ.ร.บ.ฮั้วประมูล ปี 2542 จากกรณีทุจริตจัดซื้อรถและเรือดับเพลิง พร้อมอุปกรณ์บรรเทาสาธารณภัย ของกรุงเทพมหานคร มูลค่า 6.6 พันล้านบาท ส่วนนายโภคิน พลกุล อดีต รมว.มหาดไทย และนายวัฒนา เมืองสุข อดีต รมว.พาณิชย์ และจำเลยที่เกี่ยวข้องศาลเห็นว่าพยานหลักฐานไม่พอว่ามีส่วนร่วมกระทำผิด พิพากษาให้ยกฟ้อง
ทั้งนี้ ศาลมีคำพิพากษาให้ลงโทษ นายประชา มาลีนนท์ อดีต รมช.มหาดไทย จำเลยที่ 2 และ พล.ต.ต.อธิลักษณ์ ตันชูเกียรติ อดีตผู้อำนวยการสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กทม. จำเลยที่ 4 ที่กระทำความผิดต่อประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ประกอบด้วย มาตรา 83 และความผิดต่อ พ.ร.บ.การเสนอราคาต่อหน่วยงานรัฐ พ.ศ.2542 หรือ พ.ร.บ.ฮั้วประมูล โดยการกระทำผิดดังกล่าวเป็นการกระทำความผิดกรรมเดียวแต่ผิดต่อกฎหมายหลายมาตรา ให้ลงโทษจำเลยที่ 2 และ 4 ในบทหนักสุดในความผิดต่อ พ.ร.บ.การเสนอราคาต่อหน่วยงานรัฐ พ.ศ.2542 หรือ พ.ร.บ.ฮั้วประมูล ให้จำคุกจำเลยที่ 2 เป็นเวลา 12 ปี ไม่รอลงอาญา และจำเลยที่ 4 เป็นเวลา 10 ปี ไม่รอลงอาญา
ที่สำคัญคือ เมื่อวิเคราะห์คำพิพากษาจะเห็นพฤติกรรมการทุจริตของนายประชาที่ชัดเจน เนื่องเพราะเป็นการจัดซื้อที่มีราคาแพงและบริษัทสไตเออร์ฯ ได้รับประโยชน์ถึง 48.77% เมื่อเทียบกับราคาที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทยจัดซื้ออุปกรณ์ประเภทเดียวกันที่ผลิตและจัดจำหน่ายภายในประเทศไทย
และที่ต้องขีดเส้นใต้สองเส้นเอาไว้กันลืมก็คือ นายประชา มาลีนนท์เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทยในสมัยที่นักโทษชายทักษิณ ชินวัตรเป็นนายกรัฐมนตรี
และต้องย้ำด้วยว่า คดีนี้เป็นคดีที่ ป.ป.ช.เป็นผู้ดำเนินการฟ้องร้องเอง หลังจากที่มีความเห็นไม่ตรงกับอัยการสูงสุด
กระนั้นก็ดี แม้ศาลจะมีคำพิพากษาแล้ว แต่ปัญหาของคดีรถและเรือดับเพลิงฯ ก็ใช่ว่าจะจบสิ้นลง เพราะยังมีคดีความและกระบวนการทางกฎหมายที่จะต้องเกิดตามมาอีกหลายกรณี ไม่ว่าจะเป็นกระบวนการยึดทรัพย์ 2 นักโทษชายหนีคดีประชา มาลีนนท์ และพล.ต.ต.อธิลักษณ์ ตันชูเกียรติ ที่ขณะนี้สำนักงานป้องกันและปราบปราบการฟอกเงิน(ปปง.) กำลังดำเนินงาน รวมกระทั่งถึงคดีความระหว่าง กทม.กับบริษัท สไตเออร์ฯ ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาในชั้นอนุญาโตตุลาการ ที่กรุงเจนีวา สวิตเซอร์แลนด์ เพื่อเรียกค่าเสียหายที่ไม่สามารถนำรถและเรือดับเพลิงมาใช้ได้จากผู้ถูกกล่าวหามีน้ำหนักมากขึ้น
นอกจากนี้ ยังมีการฟ้องร้องของบริษัทเอกชน 2 แห่งกับ กทม. คือ บริษัท นามยง เทอร์มินัล จำกัด ที่ดูแลรถดับเพลิงซึ่งจอดอยู่ที่ท่าเรือแหลมฉบัง และบริษัท เทพยนต์ฯ ที่ดูแลเรือและรถดับเพลิงอีกบางส่วน อยู่ที่ อ.ไทรน้อย จ.นนทบุรี ในการฟ้องเรียกค่าเสียหายจาก กทม. ในการเรียกเก็บค่ารักษารถและเรือดับเพลิง ที่ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาล
กล่าวสำหรับการยึดทรัพย์ของนักโทษหนีคดีทั้งสองคนให้ตกเป็นของแผ่นดินเพื่อชดใช้ความเสียหายที่เกิดขึ้นนั้น กล่าวสำหรับนายประชา มาลีนนท์แล้วคงไม่ใช่เรื่องที่ยากเย็นอะไรนักที่ ปปง.ของ พ.ต.อ.สีหนาท ประยูรรัตน์จะตรวจสอบว่าเขามีสมบัติหรือทรัพย์สินเงินทองซุกซ่อนอยู่ที่ไหนบ้าง เพราะนอกเหนือจากภาพความเป็นนักการเมืองแล้ว เขายังถือเป็นนักธุรกิจระดับมหาเศรษฐีแถวหน้าของประเทศไทย และหนึ่งในธุรกิจที่เขามีส่วนเกี่ยวข้องและคนไทยรู้จักกันดีก็คือกิจการสถานีโทรทัศน์ช่อง 3
จากการตรวจสอบข้อมูลที่นายประชายื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินที่ยื่นต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กรณีพ้นตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬายื่นบัญชีกรณีพ้นจากตำแหน่งแล้ว 1 ปี เมื่อ 19 กันยายน 2550 พบว่า นายประชามีทรัพย์สินจำนวน 623,983,743.77 บาท หนี้สิน 3,722,094.55 บาท มีทรัพย์สินมากกว่าหนี้สิน 620,261,649.22 บาท ประกอบด้วยเงินฝาก 218,108,123.77 บาท เงินลงทุน 21 รายการมูลค่า 148,682,070 บาท (ดูตาราง) เงินให้กู้ยืมบริษัทเธียรราชาการก่อสร้าง จำกัด มูลค่า 24 ล้านบาท ที่ดิน 82 แปลง มูลค่า 154,905,333 บาท บ้าน 1 หลัง มูลค่า 50 ล้านบาท คอนโดมีเนียม 4 ห้องมูลค่า 6,825,342 บาท รถยนต์ 2 คัน มูลค่า 11,172,100 บาท ทรัพย์สินอื่น 10,290,775 บาท
ขณะที่นางแพตตรีเซียแมรี่ คู่สมรส มีทรัพย์สิน 55,950,993.79 บาท ประกอบด้วย เงินฝาก 11,671,052.90 บาท เงินลงทุนบริษัทจดทะเบียน 3 บริษัทมูลค่า 9,916,250 บาท หลักทรัพย์จดทะเบียน 25 รายการมูลค่า 19,963,690.89 บาท ทรัพย์สินอื่น 14,400,000 บาท ไม่มีหนี้สิน
รวมสองคน มีทรัพย์สิน 676,212,643.01 บาท
ทั้งนี้ ในจำนวนเงินลงทุน 21 รายการ มากที่สุดคือ บริษัท มาลีนนท์ ทาวเวอร์ จำกัด 1,000,000 หุ้น มูลค่า 100 ล้านบาท
นอกจากนั้น นายประชา เป็นผู้ก่อการจัดตั้งบริษัท ทีวีบี ทรี เน็ตเวอร์ค จำกัด เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2539 ซึ่งบริษัทดังกล่าวมีบริษัท ทีวีบี(โอเวอร์ซีส์) จำกัด มีที่อยู่ เซด้าร์เฮ้าส์ 41 เซดาร์ อเวนิว แฮลมินตัน เอชเอ็ม 12 ประเทศเบอร์มิวด้าร่วมถือหุ้น
ปัจจุบัน นายประชา เป็นกรรมการบริษัทที่เปิดดำเนินการทั้งสิ้น 20 บริษัท ได้แก่
บริษัท เวฟ เอ็นเตอร์เทนเมนท์ จำกัด (มหาชน) บริษัท เวฟ ทีวี จำกัด บริษัท เวฟ มีเดียโปรดักชั่น พลัส จำกัด บริษัท เวฟ ทีวี แอนด์ มูฟวี่ สตูดิโอส์ จำกัด บริษัท ซีวีดี ออแกไนเซอร์ จำกัด บริษัท พี.เอ็ม. แอดไวเซอรี จำกัด บริษัท พี.เอ็ม. เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด บริษัท ซีวิว คอนโดมิเนียม จำกัด บริษัท ไทย โซล่าร์ เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ ดีเวลล็อปเม้นท์ จำกัด บริษัท บางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นต์ จำกัด บริษัท พรหมนำชัย จำกัด บริษัท พัทยา แลนด์ แอนด์ วิลล่า จำกัด บริษัท มาดี มาดี จำกัด บริษัท มาลีนนท์ พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด บริษัท มาลีนนท์ เพลส จำกัด บริษัท มาลีนนท์ เรสซิเด้นซ์ จำกัด บริษัท มาลีนนท์ แลนด์ จำกัด บริษัท มาลีนนท์ วิลล่า จำกัด บริษัท มาลีนนท์ แอสเซท จำกัด บริษัท เมืองทองการก่อสร้าง จำกัด
แต่ที่น่าสนใจก็คือ นายประชาถือหุ้นรายใหญ่ใน บริษัท แนเชอรัล พาร์ค จำกัด (มหาชน) จำนวน 5,950,000,000 หุ้น (4.94%) มูลค่า 5,950,000,000 บาท บริษัท บริษัท เวฟ เอ็นเตอร์เทนเมนท์ จำกัด (มหาชน) 3,000,000 หุ้น มูลค่า 30 ล้านบาท โดยบมจ.เวฟ และ บริษัท พี.เอ็ม. เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด ถือหุ้นในบริษัทอื่นอีกหลายแห่ง หนึ่งในนั้นคือ บริษัท ไทย โซล่าร์ เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด ธุรกิจพลังงานของนายประชาซึ่งมีทุนจดทะเบียน 1,365 ล้านบาท (ร่วมหุ้น ปตท.)
รวมเบ็ดเสร็จฐานธุรกิจนายประชาน่าจะมีมูลค่ามากกว่าหมื่นล้านบาท
และหากมองอาณาจักรทางธุรกิจแล้ว จะเห็นได้ว่านายประชา มาลีนนท์ มีการลงทุนในหลากหลากประเภท ทั้งธุรกิจเอนเตอร์เทนเมนต์ที่เติบโตอย่างยิ่งใหญ่ ขณะที่ธุรกิจใหม่ๆ อย่างโรงไฟฟ้า ภายใต้ชื่อ “ไทย โซลาร์ เอ็นเนอร์ยี่” (TSE) ธุรกิจผลิตไฟฟ้าด้วยความร้อนจากแสงอาทิตย์ ก็มีหัวเรือใหญ่คือ ดร.แคทลีน มาลีนนท์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ TSE ซึ่งเป็นลูกสาวนายประชารับผิดชอบ
ส่วนธุรกิจอสังหาริมทรัพย์คือบริษัท แนเชอรัล พาร์ค จำกัด (มหาชน) หรือเอ็นพาร์ค ก็เป็นอีกธุรกิจที่ตระกูลมาลีนนท์ โดยนายประชาได้เข้ามาสอยหุ้นดังกล่าวผ่านการรับจัดสรรหุ้นเพิ่มทุนเฉพาะเจาะจงนักลงทุน โดยเมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2555 บริษัทฯ ได้แจ้งถึงการอนุมัติให้จัดสรร และเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนที่เหลือ (53,936,699,412 หุ้น) ให้แก่บุคคลในวงจำกัด (Private Placement) แก่ นายประชา มาลีนนท์ และบริษัทที่นายประชา เป็นผู้ถือหุ้นเกินกว่า 50% จำนวน 29,500 ล้านหุ้น คิดเป็น 24.50% ของทุนจดทะเบียนที่จะเรียกชำระ ซึ่งต้องใช้เงินในการลงทุนเกือบ 1,000 ล้านบาท
แต่จากการตรวจสอบข้อมูลของบริษัทฯปรากฏว่า เมื่อวันที่ 9 เม.ย.56 ทางบริษัทฯ ได้แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ ว่า MORGAN STANLEY & CO. INTERNATIONAL PLC ได้เข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับ 1 ของบริษัทฯ มี 23,550 ล้านหุ้น สัดส่วน 19.56% นายฟิลิปวีระ บุนนาค 12,000 ล้านหุ้น สัดส่วน 9.96% นายศานติ ประนิช 12,000 ล้านหุ้น สัดส่วน 9.96% และนายประชา มาลีนนท์ 5,950 ล้านหุ้น คิดเป็น 4.94% ก่อนที่จะถูกศาลฯ ตัดสินมีความผิดในคดีฮั้วการประมูลเรือและรถดับเพลิง
ปัจจุบัน เอ็นพาร์ค เปรียบเสมือนคนป่วยที่อาการดีขึ้น ซึ่งในหลายปีที่ผ่านมา ต้องเจอมรสุมเกี่ยวกับการฟ้องร้องทางคดีของเจ้าหนี้หลายแห่ง จนส่งผลกระทบต่อฐานะการเงิน โดยเฉพาะการตั้งสำรองเงินต้น และดอกเบี้ยจำนวนมหาศาลเกี่ยวกับความเสี่ยงจากการถูกฟ้องร้อง ซึ่งทางเอ็นพาร์ค ก็สามารถฝ่าวิกฤตทางธุรกิจและการเงินมาได้ จนดำเนินการเพิ่มทุนก้อนโต และเริ่มขยายการลงทุนผ่านการเข้าไล่ซื้อโครงการทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด เช่น ซื้อโรงแรมเซ็นทารา แอนด์ คอนเวนชั่น เซ็นเตอร์ จังหวัดขอนแก่น มูลค่าโครงการ 900 ล้านบาท ซื้อที่ดินย่านรามอินทรา และอ่อนนุช เพื่อพัฒนาโครงการคอนโดมิเนียมย่านรามอินทรา มูลค่า 400 ล้าน
แต่กระนั้น แนวทางสำคัญอีกอย่างหนึ่งของธุรกิจเอ็นพาร์ค ที่หากอยู่ภายใต้ร่มเงาของ “ประชา มาลีนนท์” แล้วนั่นก็คือ การล้อ และเคลื่อนไปตามกับธุรกิจเอนเตอร์เทนเมนต์ ซึ่งในเรื่องนี้ นายนคร ลักษณกาญจน์ กรรมการผู้จัดการบริษัทฯ เคยให้ข้อมูลก่อนหน้านี้ถึงภาพเอ็นพาร์คว่า กำลังคุยกับ “ประชา มาลีนนท์” เกี่ยวกับการจัดตั้งบริษัทลูก เพื่อทำธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเอนเตอร์เทนเมนต์ ธุรกิจคงไม่หยุดอยู่แค่การทำ “เรียลเอสเตต” อย่างที่ผ่านมา ตอนนี้กำลังศึกษาเพื่อเข้าไปลงทุนในประเทศกัมพูชาด้วย
“ทุกครั้งที่บริษัทลงทุน คุณประชาก็ต้องลงทุนด้วย เพราะว่าเขาเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ เบื้องต้นกำลังดึงแนวทางที่เขาถนัดออกมาทำงานร่วมกัน ซึ่งเขาชอบด้าน “เอนเตอร์เทนเมนต์” ฉะนั้นคงยึดทางนี้ในการทำธุรกิจ แรกๆ เราคงลงทุนในด้านการเซอร์วิส อธิบายง่ายๆ สมมติ ช่อง 3 ต้องการใช้โรงถ่ายละคร และพื้นที่ในการจัดคอนเสิร์ต เราจะหาให้ อะไรทำนองนั้น ตอนนี้ยังบอกอะไรมากไม่ได้ ต้นปี 2557 คงได้รู้กัน”นายนครให้ข้อมูล
ขณะที่โครงการที่ดินโรงภาษีร้อยชักสาม ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ซอยเจริญกรุง 36 เขตบางรัก กทม. เนื้อที่ 5 ไร่เศษ ซึ่งเป็นโครงการที่ดำเนินการมาแล้ว และต้องผลักดันให้แล้วเสร็จเพื่อให้เกิดรายได้อาจจะต้องกลับมาทบทวนอีกครั้ง แม้ว่าทางภาครัฐจะดูเหมือนว่าจะไฟเขียวให้เอ็นพาร์คเร่งดำเนินการ แต่จนปัจจุบันแล้วยังไม่มีความคืบหน้าเท่าที่ควร
กระนั้นก็ดี หากพิจารณาในเรื่องของตัวเลขผลประกอบการที่สำคัญ ในไตรมาส 2 ปี 56 บริษัทฯ มีสินทรัพย์ 5,765.71 ล้านบาท ดีกว่าช่วง 3 ปีที่ผ่านมา หนี้สิน 1,147.62 ล้านบาท ส่วนของผู้ถือหุ้นขยับขึ้นมาอยู่ที่ 4,617.54 ล้านบาท มีกำไรสุทธิ 415.36 ล้านบาท
ขณะที่ผลจากคดีทำให้เกิดแรงเทขายในหุ้น บริษัท แนเชอรัล พาร์คฯ เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2556 ปรับตัวร่วงลงเป็นอันดับ 1 ในราคาซื้อขายหุ้นที่ลดลงสูงสุดระหว่างวัน อันดับ 1 ของปริมาณซื้อขายระหว่างวันสูงสุด ด้วยปริมาณ 3,279,754,900 หุ้น และปิด ณ ราคา 0.06 บาท ลดลง 0.01 บาท หรือ -14.29%
เช่นเดียวกับ หุ้น บริษัท บีอีซี เวิลด์ จำกัด (มหาชน) หรือ BEC ของตระกูลมาลีนนท์ ที่ได้รับข่าวร้าย กลายเป็นอีกหนึ่งหลักทรัพย์ที่ปรับตัวลดลงด้วยเช่นกัน โดยปิดตลาดเมื่อวันที่ 10 กันยายน BEC อยู่ที่ระดับ 58.25 บาท ลดลง 0.50 บาท หรือ 0.85% มูลค่าซื้อขาย 354.104 ล้านบาท
วันนี้ ประชา มาลีนนท์ได้เผ่นหนีคำพิพากษาไปอยู่ต่างประเทศล่วงหน้าเจริญรอยตามลูกพี่ นช.ทักษิณ ชินวัตรอย่างไม่มีผิดเพี้ยน ซึ่งคงต้องติดตามกันต่อไปว่า สุดท้ายแล้วกระบวนการยุติธรรมของไทยจะสามารถลากคอนายประชามาลงโทษได้หรือไม่ เพื่อลบข้อครหาที่ว่า “คุกประเทศไทยไม่ได้มีไว้สำหรับขังนักกินบ้านกินเมือง”
ล้อมกรอบ//
ย้อนรอย 1 ทศวรรษ คดีรถ-เรือดับเพลิงฉาว
ย้อนรอยคดีนี้ต้องเริ่มกันตั้งแต่ปี 2547 เมื่อ นายสมัคร สุนทรเวช ในสมัยดำรงตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม.ได้เซ็นลงนามซื้อขายเรือและรถดับเพลิง เมื่อวันที่ 27 ส.ค. 2547 โดยการลงนามในสัญญาเกิดขึ้นในขณะนั้นนายสมัคร ซึ่งรักษาการผู้ว่าฯ กทม.ในช่วงรอเลือกตั้งหาผู้ว่าฯ กทม.คนใหม่ วันสุดท้ายของการรักษาการก่อนที่อีกสองวันต่อมา คือในวันที่ 29 ส.ค. 2547 จะเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์ ส่งนายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ลงสมัครรับเลือกตั้ง จึงเห็นว่ามีความผิดปกติในการเร่งลงนามสัญญา
ต่อมานายอภิรักษ์ได้สมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้ว่าฯ กทม.จึงได้ตัดสินใจเปิดแอลซีตามที่ได้ลงนามสัญญาไว้กับบริษัท สไตเออร์ เดมเลอร์ พุค สเปเชียล ฟาห์รซอยก์ จำกัด และหลังจากเปิดแอลซีไปแล้วพบว่า สัญญาดังกล่าวเอกชนมีความได้เปรียบในหลายประการ จึงได้แก้แอลซีใหม่ โดยมีการเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้กับ กทม.เพิ่มเติม เช่น การให้บริษัทจัดอบรมและศึกษาดูงานแก่เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานดับเพลิงของ กทม.ทั้งในและต่างประเทศ แต่หลายฝ่ายก็มองว่าไม่ได้เป็นการแก้ปัญหาสัญญาที่เสียเปรียบ
อย่างไรก็ตาม หลังจากการออกมาแฉสัญญาที่ไม่ชอบมาพากล ผู้ที่เกี่ยวข้องตั้งแต่ระดับรัฐบาล อย่างรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะระหว่างกระทรวงมหาดไทย (มท.) ซึ่งเป็นหน่วยงานกำกับดูแล กทม.และผู้บริหาร กทม.ที่เกี่ยวข้องกับสัญญาโดยตรง ต่างก็ออกมาสาดโคลนทางการเมืองใส่กันว่าใครกันแน่เป็นคนทำผิดหรือตั้งใจจะทุจริต โดยทาง กทม.ก็อ้างเหตุผลที่ว่า มท.ในฐานะกำกับดูแลไปทำสัญญาในระดับประเทศมาแล้ว จึงเร่งให้ กทม.ลงนามเปิดแอลซีเพื่อสัญญาซื้อขายมีผลสมบูรณ์ จะได้ไม่เป็นปัญหากับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศคู่สัญญา ส่วน มท.ก็อ้างว่า ถ้า กทม.เห็นว่าสัญญาผิดก็ไม่ควรยอมรับด้วยการเปิดแอลซี และยกเลิกไป โครงการก็จะไม่เดินหน้า จึงเสมือนเป็นการโยนความรับผิดชอบกันไปมา เมื่อ ป.ป.ช.รับเรื่องมาดำเนินการจึงมีมติเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551 ชี้มูล มีผู้ถูกกล่าวหา ทั้ง 7 คน คดีนี้ถือเป็นคดีประวัติศาสตร์ทางการเมืองเป็นคดีแรกที่ ป.ป.ช.ตั้งทนายฟ้องเอง กระทั่งในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2554 ศาลฎีกาได้ประทับรับฟ้องคดีไว้พิจารณา