xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

“เค-วอเตอร์”พาสื่อเที่ยว หรือ “ค้นหาข้อเท็จจริง”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์-ความคืบหน้าระหว่างที่รัฐบาล กำลังจะพิจารณาใช้งบโครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท โดยเฉพาะจะต้องดำเนินตามคำพิพากษาของศาลปกครองกลาง เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 56 ที่ว่า “ให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสี่ปฏิบัติหน้าที่ตามที่มาตรา 57 วรรคสอง และมาตรา 67 วรรคสอง ของ รธน. กำหนดให้ต้องปฏิบัติ ด้วยการนำ “แผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ” ไปดำเนินการจัดให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนอย่างทั่วถึง ตามเจตนารมณ์ของส่วนที่ 10 สิทธิในข้อมูลข่าวสารและการร้องเรียน และดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใดให้มีการศึกษาและจัดให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสีย ตามเจตนารมณ์ของส่วนที่ 12 สิทธิชุมชน ซึ่งอยู่ในหมวด 3 สิทธิเสรีภาพของปวงชนชาวไทยของ รธน. ทั้งนี้ ก่อนที่จะดำเนินการจ้างออกแบบและก่อสร้างในแต่ละแผนงาน (Module)”

ขณะที่รัฐบาลโดย “นายปลอดประสพ สุรัสวดี” รองนายกรัฐมนตรี และประธานคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) ไปพูดระหว่างที่ไปเปิดงานนิทรรศการน้ำ "น้ำเพื่อชีวิต" เมื่อต้นเดือนกันยายน 2556

โดยระบุว่า ถือเป็นการคิกออฟเพื่อเผยแพร่ทำความเข้าใจโครงการบริหารจัดการน้ำทั้ง 9 โมดูล พร้อมทั้งรับฟังความคิดเห็นจากภาคประชาชนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบทั้งสิ้น 39 จังหวัด ที่ดำเนินการโดยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยขอนแก่น และเครือข่ายมหาวิทยาลัยราชภัฎ รวมถึงบริษัทเอกชนที่ชนะการประมูลทั้ง 9 โครงการ ในลักษณะนิทรรศการและเวทีแสดงความคิดเห็น

คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 3 เดือน ในขั้นตอนการรับฟังความคิดเห็นจากภาคประชาชนนับแสนคน ก่อนเซ็นสัญญา

จากนั้นจะนำข้อสรุปกลับมาปรับในรายละเอียดของโครงการใหม่ โดยจะเปิดให้มีการเจรจาต่อรองกับเอกชนเป็นครั้งที่ 2 ก่อนการเซ็นสัญญาโครงการ สำหรับโครงการใดที่ต้องทำเอไอเอ หรืออีเอชไอเอ ก็จะเข้าสู่กระบวนการ ส่วนโครงการที่ไม่ต้องประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม สามารถเดินหน้าได้ทันที

ส่วนกรณีของเขื่อนแม่วงก์ เขาเชื่อมั่นว่า จะช่วยแก้ปัญหาน้ำท่วมในภาพรวมของประเทศ ไม่ได้ช่วยแค่ ลุ่มน้ำสะแกกรัง เพราะจากเหตุการณ์ฝนตกหนักที่ผ่านมา เห็นได้ชัดว่าน้ำจากป่าแม่วงก์มีผลต่อปริมาณน้ำที่เพิ่มขึ้นใน จังหวัดอุตรดิตถ์

นายปลอดประสพ ย้ำว่าประมาณวันที่ 19 ก.ย. ที่มีการประชุม ครม.สัญจร (ครม.สัญจร 19-20 ก.ย. ที่ จ.ลพบุรี) เขาและตัวแทนจากบริษัทเค-วอเตอร์ จะขึ้นบินสำรวจพื้นที่แนวฟลัดเวย์ฝังตะวันออก เพื่อยืนยันเส้นทางจากสภาพพื้นที่จริง และประเมินความยากของโครงการ โดยยืนยันว่า พื้นที่ในการก่อสร้างฟลัดเวย์ฝั่งตะวันตกจะต้องกระทบต่อประชาชนให้น้อยที่สุด

เขาเชื่อว่า ฟลัดเวย์ตะวันออกจะทำได้เร็วกว่าเนื่องจากมีเส้นทางที่เป็นแนวเดิม เพียงแต่ขยายเพื่อให้รับน้ำ ได้มากขึ้น แต่ปัญหากฏหมายไทยที่ไม่สามารถแยกสัญญาได้ อาจทำให้โครงการต้องรอเพื่อเดินหน้าไปพร้อมกัน

ปลอดประสพย้ำว่า ขณะนี้งบประมาณของโครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท ได้ถูกใช้ไปเพียง 3 หมื่นล้านบาท ในส่วนของหน่วยงานภาครัฐ อาทิ กระทรวงคมนาคม กรมชลประทาน และกรมป่าไม้

นอกจากนั้นมีการเปิดรายชื่อ 39 จังหวัดที่ได้รับผลกระทบและเป็นพื้นที่ทำการรับฟังความคิดเห็น ได้แก่กลุ่มพื้นที่ต้นน้ำ 10 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ ลำปาง ลำพูน แพร่ พะเยา น่าน อุตรดิตถ์ ตาก สุโขทัย และเพชรบูรณ์ ซึ่งกลุ่มนี้จะมีการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำ 16 แห่ง พื้นที่ปิดล้อมใน 3 จังหวัด 18 แห่ง แก้มลิงใน 1 จังหวัด 3 ตำบล และโครงการขยายคลองใน 2 จังหวัด 3 อำเภอ

กลุ่มพื้นที่กลางน้ำ (ตอนบน/ล่าง) 16 จังหวัด ได้แก่ พิษณุโลก กำแพงเพชร พิจิตร นครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท พระนครศรีอยุธยา สระบุรี อ่างทอง ลพบุรี นครปฐม ราชบุรี สุพรรณบุรีและกาญจนบุรี โดยในกลุ่มนี้จะมีโครงการสร้างอ่างเก็บน้ำ 3แห่ง พื้นที่ปิดล้อมใน 7จังหวัด 14 แห่ง แก้มลิงใน 3จังหวัด 18อำเภอ 111 ตำบล และโครงการขยายคลอง-แม่น้ำใน 12จังหวัด 44อำเภอ 151 ตำบล

กลุ่มพื้นที่ปลายน้ำ 10 จังหวัด ได้แก่ กทม. นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร สมุทรสงคราม ฉะเชิงเทรา นครนายก ปราจีนบุรีและจันบุรี ซึ่งในกลุ่มนี้จะมีโครงการสร้างอ่างเก็บน้ำ 3แห่ง พื้นที่ปิดล้อมใน4จังหวัด จำนวน7แห่ง ขยายคลอง7จังหวัด 11อำเภอ 62ตำบล และนอกจากนี้ยังมีในส่วนของกลุ่มพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 2จังหวัด คือชัยภูมิและสกลนคร ที่มีการสร้างอ่างเก็บน้ำ 2แห่ง และพื้นที่ปิดล้อม 1 จังหวัด 1แห่ง และกลุ่มพื้นที่ภาคใต้ มีเพียงจังหวัดเดียวคือ จังหวัดสงขลา

เรื่องนี้ “สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน” ได้ออกแถลงการณ์คัดค้านแผนปฏิบัติการดังกล่าว อันเนื่องมาจากเป็นการดำเนินการที่ขัดต่อคำพิพากษาของศาลปกครองกลาง เมื่อวันที่ 27 มิ.ย.56 มิใช่การนำเอา 10 โมดูลที่รัฐบาลตัดสินใจเปิดประมูลให้กลุ่มบริษัทร่วมค้าที่ประมูลโครงการฯได้แล้วไปเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นฯ ก็จะเป็นเพียงแค่เวทีปาหี่ แอบอ้าง หลอกลวงประชาชน หรือเป็นเพียงแค่เวทีโฆษณาชวนเชื่อหรือประชาสัมพันธ์โครงการฯหรือโมดูลต่าง ๆ ของรัฐบาลเท่านั้น ไม่ก่อเกิดสิทธิหรือนิติสัมพันธ์ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดตามคำพิพากษาของศาลปกครองแต่อย่างใด

นอกจากนั้นการกำหนดเวทีรับฟังความคิดเห็นประชาชนเพียงแค่ 36 จังหวัดตามแผนนั้น ยังไม่ครบคลุมพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมเมื่อปี 2554 ที่มีมากกว่า 65 จังหวัดอีกด้วย จึงไม่สอดคล้องกับแผนแม่บทฯและคำพิพากษาที่กำหนดให้ต้องรับฟังความคิดเห็นของประชาชน “อย่างทั่วถึง”

อีกทั้งรูปแบบและเนื้อหาของการจัดเวทีในแต่ละจังหวัดเพียงเวทีเดียว ครั้งเดียว และมุ่งจัดแต่เฉพาะในตัวเมืองและตัวจังหวัด ไม่กระจายเวทีหรือตอบโจทย์เนื้อหารายละเอียดของแผนงานฯ ซึ่งขัดต่อความต้องการของประชาชนที่ได้รับผลกระทบ ที่ทำมาหากินและมีบ้านเรือนในแต่ละพื้นที่ แต่ละหมู่บ้าน แต่ละตำบล แต่ละอำเภอ ที่จะมีปัญหาและอุปสรรคในการเดินทางไกลมาร่วมประชุมในตัวจังหวัดอีกด้วย ซึ่งเชื่อว่าเป็นกุศโลบายหรือเล่ห์ฉลของรัฐบาลที่ไม่ต้องการให้ภาคประชาชนที่เป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบอย่างแท้จริงมาเข้าร่วมเวทีดังกล่าว ดังนั้น พฤติการณ์ดังกล่าวขัดหรือแย้งต่อเจตนารมณ์ของ รธน.มาตรา 57 วรรคสอง โดยชัดแจ้ง

โดยเรียกร้องให้รัฐบาล โดย กบอ. ยุติการดำเนินงานการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นของประชาชนที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญและขัดต่อคำพิพากษาของศาลปกครองกลางโดยทันที และกลับไปทบทวนแผนงานฯดังกล่าวให้สอดคล้องกับคำพิพากษาต่อไป และหากรัฐบาล และ กบอ. ยังดื้อรั้นเดินหน้าจัดเวทีดังกล่าวต่อไป สมาคมฯจำต้องใช้กระบวนการทางศาลเพื่อหาข้อยุติดังกล่าวต่อไป

ขณะที่เมื่อปลายเดือนสิงหาคมระหว่างวันที่ 27-31 ส.ค. มีทริปพาผู้สื่อข่าวไทยกว่า 40 คน ไปดูงานบริษัทแม่ของ เควอเตอร์ ที่เกาหลีใต้ เป็น บริษัทคอเรีย วอเตอร์ รีซอสเซส คอร์เปอร์เรชัน (เค-วอเตอร์ ) ประเทศเกาหลี ผู้ชนะการประมูลโครงการบริหารจัดการน้ำในโมดูล A 5 การจัดทำทางผันน้ำ (ฟลัดเวย์)

เพื่อโชว์ความพร้อม ก่อนที่เควอเตอร์จะเริ่มดำเนินงานโครงการบริหารจัดการน้ำของประเทศไทย ภายใต้โมดูล A3 การปรับปรุงพื้นที่ในโครงการชลประทานเหนือ จ.นครสวรรค์ วงเงิน 6 หมื่นล้านบาท และโมดูล A5 การจัดทําทางผันน้ำวงเงิน 1.5 แสนล้านบาท

มีการเข้าเยี่ยมชมศูนย์ปฏิบัติการทรัพยากรน้ำ สำนักงานใหญ่ เค-วอร์เตอร์ ที่เมืองแทจอน ซึ่งเป็นจุดรวบรวมข้อมูลด้านน้ำจากเขื่อนและฝายขนาดใหญ่ 16 แห่งที่เค-วอร์เตอร์ดูแลทั่วประเทศ

โดยย้ำกับสื่อไทยเฉพาะข้อดี!!

ยกตัวอย่าง นายคิม วัน ยู ผู้บริหารบริษัท เค-วอเตอร์ กล่าวว่า เค-วอเตอร์ให้ความสนใจการเปลี่ยนสภาพภูมิอากาศในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยามาก เราจึงมั่นใจว่าจะสามารถใช้ความรู้และเทคโนโลยีในการร่วมบริหารจัดการกับไทยได้ และหวังว่าจะสามารถร่วมงานกับรัฐบาลไทยและบริษัทก่อสร้างในไทย รวมทั้งจะพยายามในการแก้ปัญหาการต่อต้านของประชาชนท้องถิ่นและองค์กรภาคประชาชนที่ไม่เข้าใจด้วย

นายลี ฮัน กู ผอ.ด้านทรัพยากรแม่น้ำ/น้ำ บริษัทเค-วอเตอร์ กล่าวว่า เหตุผลที่เค-วอเตอร์สนใจการบริหารจัดการในลุ่มน้ำเจ้าพระยา เนื่องจากประสบการณ์ในการดำเนินโครงการฟื้นฟูแม่น้ำ 4 สายของเค-วอร์เตอร์ เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ทำให้เกิดปัญหาน้ำท่วมภัยแล้งเช่นเดียวกัน รวมทั้งมีสภาพพื้นที่ใกล้เคียงกันทั้งไทยและเกาหลีที่มีต้นน้ำเป็นภูเขามาก และไหลลงสู่ที่ราบ จึงน่าจะดำเนินโครงกาคในไทยได้ดี และถือเป็นความรับผิดชอบของเค-วอร์เตอร์ที่จะแบ่งปันโครงการนี้ให้กับไทยและทั่วโลก ทั้งนี้ยืนยันว่าเค-วอเตอร์ไม่เกี่ยวข้องกับการเมืองและพร้อมจะดำเนินการตามคำแนะนำของรัฐบาลไทย ทั้งนี้ยืนยันว่าในการบริหารจัดการน้ำต้องมีการดำเนินการในส่วนของสิ่งก่อสร้างและโครงสร้างพื้นฐานซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นด้วย

ขณะที่สำนักข่าวอิศรา ลงบทความเรื่อง เอ็นจีโอถามสื่อ 'เค วอร์เตอร์' พาไปเกาหลี ทัวร์ตอบแทนหรือหาข้อเท็จจริง...ซึ่งมีข้อสงสัยว่ามีประการจริงเปล่า และมีผลงานจริงไหมถึงถูกเลือกให้ได้งานนี้ แต่ดูกำหนดการแล้ว เป็นตามนี้จะได้อะไรกลับมา กับการพานักข่าวไทยไปเกาหลี

โดยเฉพาะ โปรแกรมการเดินทาง นอกจากการไปนั่งกินข้าวกับผู้บริหารเค-วอเตอร์ และลงพื้นที่ต่างๆแล้ว พบว่ามีกำหนดการเกือบครึ่งหนึ่งที่ชวนตั้งคำถามถึงความเหมาะสม เพราะดูเผินๆเหมือนกับโปรแกรมทัวร์ท่องเที่ยว พักโรงแรมหรูที่สุดแห่งหนึ่งของเกาหลีใต้ แถมด้วยการเยี่ยมชมจุดท่องเที่ยวแห่งใหม่ของชาวเมืองช้อปปิ้งแหล่งปลอดภาษี รวมถึงชมการแสดงที่ได้รับความนิยมอย่างมากในประเทศเกาหลี รวมถึงโปรแกรมสันทนาการต่าง ๆตลอด 5 วัน

สำนักข่าวอิศราระบุว่า ชักไม่แน่ใจว่าพาไปเก็บข้อมูลเรื่องโครงการบริหารจัดการน้ำหรือพาไปดูงานด้านการท่องเที่ยวกันแน่

ที่ผ่านมาเอ็นจีโอเกาหลีมาพูดถึงเค วอเตอร์ทำให้ถูกฟ้องร้อง และดูกำหนดการณ์แล้ว ไปดูจุดต่าง ๆเช่น การเปลี่ยนแปลงปากแม่น้ำที่เป็น Green Tea Late หรือป่าว หรือได้พบปะชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากการดำเนินการสร้างเขื่อน 16 เขื่อน หรือป่าว แต่คงตามคาดดูแต่สิ่งสวยงาม ไม่มีปัญหาหรือป่าว

“การนำนักข่าวลงพื้นที่เห็นด้วย แต่ก็เป็นสิทธิของนักข่าวเขียนตามที่เห็น แต่ไม่ใช่ไปดูไม่ครบถ้วน จะทำให้เป็นการประชาสัมพันธ์องค์กร แทนการเสนอความจริง” สำนักข่าวอิศราสรุปในบทความนี้

เรื่องนี้การตรวจสอบกำลังจะเงียบหายไป เหมือนกับเรื่องการตรวจสอบคำสั่งระงับการนำเสนอข่าว "เค วอเตอร์" ของ ททบ.5 เมื่อราวเดือนมิถุนายน ในชั้นอื่น ๆก็เงียบหายไปโดยปริยาย เมื่อช่อง 5 ออกมาระบุว่า สั่งระงับเอง!!

แถม โฆษณาภาพลักษณ์ “เค วอเตอร์”ก็กำลังเผยแพร่ออกสื่ออีกในคราวเดียกวัน


กำลังโหลดความคิดเห็น