xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

“เศรษฐา ทวีสิน”กับมรสุมลูกใหม่ โฟมซีซั่น! ยัดไส้คอนโดมิเนียมหรู

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผนังคอนโดมิเนียมโครงการ  the Base 77 ซึ่งเมื่อทุบกำแพงเพื่อซ่อมน้ำ รั่วซึม แต่กลับเจอโฟม และกระดาษอยู่ด้านในกำแพง
ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์-“แสนสิริ” นับว่าเป็นบริษัทอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ที่ทุ่มเงินจำนวนมหาศาลในการสร้างแบรนด์ จนได้รับความเชื่อมั่นจากลูกค้า และมีภาพลักษณ์ของแบรนด์อสังหาฯในตลาดไฮเอนด์ที่ดีมากๆ โดยเส้นทางการได้มาซึ่งภาพลักษณ์ของแบรนด์ผู้นำอสังหาฯชั้นดีของแสนสิรินั้น ไม่ต้องบอกก็ทราบกันดีว่า ถูกหว่านโปรยด้วยงบการตลาดและการสร้างแบรนด์มากน้อยเท่าใด...! เพราะเรื่องนี้บรรดาผู้ถือหุ้นของ “แสนริ” ทราบกันดี

เนื่องจากที่ผ่านมา ...หากถามว่ายอดขายของ “แสนสิริ” เป็นอย่างไร..! เชื่อว่าผู้ถือหุ้นคงตอบได้อย่างเต็มภาคภูมิว่า ..ยอดขายของ“แสนสิริ” ถือว่าเป็นเบอร์ 1 ของตลาดอสังหาฯเลยทีเดียว โดยเฉพาะในปี2555 ที่ผ่านมา เศรษฐา ทวีสิน กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทแสนสิริฯ ประกาศลั่นว่า สามารถสร้างยอดขายได้สูงเป็นประวัติการของวงการอสังหาฯ โดยมียอดขายสูงถึง 48,000 ล้านบาทกันเลยทีเดียว แต่เมื่อมองกลับไปที่กำไรสุทธิที่ได้ในแต่ละปีนี้กลับสวนทางกับยอดขาย โดยมีกำไรสุทธิที่น่าผิดหวังยิ่ง ..

จากการชี้แจงผู้ถือหุ้นถึงสาเหตุของผลกำไรที่สวนทางกับยอดขายของ “แสนสิริ” นั้นจึงได้คำตอบว่า รายได้ส่วนใหญ่ที่หายไปเป็นการลงทุนด้านการตลาดและประชาสัมพันธ์ ..ซึ่งเป็นที่มาของแบรนด์ชั้นดีในปัจจุบันนั่นเอง

อย่างไรก็ตาม บนหนทางของการสร้างแบรนด์ของแสนสิริ ใช่ว่าจะโรยด้วยกลีบกุหลาบ … เพราะต้องผจญกับวิบากกรรมที่สร้างภาพลบให้ จนทำให้ลูกค้าของ “แสนสิริ” บางส่วนผิดหวังและแสดงตัวออกกระหน่ำ “ด่า” และถามหาความรับผดชอบ จากผู้ประกอบการรายนี้อยู่เนืองๆ ทั้งบนหน้า Facebook และการ forward Mail เกี่ยวกับปัญหางานก่อสร้างของ “แสนสิริ”

อย่างกรณีที่เคยเกิดขึ้นมาแล้ว! การทุบรื้อห้องชุดชั้นที่ 9 ของโครงการ “คอนโดวัน” ที่พัฒนาโดย บริษัท Plus Property จำกัด บริษัทลูกของ “แสนสิริ” จนทำให้ต้องมีการปรับบทบาท Plus Property กันครั้งใหญ่จากผู้พัฒนาอสังหาฯกลายมาเป็น บริษัท นายหน้าและบริหารการขายโครงการอสังหาฯในปัจจุบัน

โดยในกรณีของ โครงการคอนโดวัน ทุกโครงการที่มีจำนวนชั้นที่ 9 เป็นการก่อสร้างผิดกฎหมายตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคารพ.ศ.2522 ได้แก่ กฎกระทรวงฉบับที่ 33 พ.ศ.2535 ซึ่งการก่อสร้างอาคารเข้าข่ายอาคารสูง กล่าว คือ อาคารคอนโดวันทั้งหมดสูงเกิน 23.00 เมตร และมิได้ปฏิบัติตามข้อบัญญัติของกฎหมาย นั่นคือไม่มีระยะร่นโดยรอบ 6 เมตร ไม่มีลิฟท์ดับเพลิง ไม่มีมาตรฐานการดับเพลิงอื่นๆ ตามที่กฎหมายกำหนด ซึ่งเป็นสาเหตุที่กทม.ไม่ออกใบอนุญาตการใช้อาคารให้ และมีผลตามมาทำให้ไม่สามารถโอนให้ลูกบ้านได้ ซึ่งหากใครมีโอกาสเข้าชมเว็บฯ prakard จะได้ยินเสียงบ่นก่นด่าระงม ไม่ว่าจะเป็นคอนโดวันทองหล่อ ลาดพร้าว15, ลาดพร้าว18, ลาดพร้าวStation, สุขุมวิท67, คอนโดวันสาทร ฯลฯ

ดังนั้น ทางออกของปัญหา เพียงหนึ่งเดียว คือ ต้องแก้ไขอาคารมิให้เข้าข่ายอาคารสูง (มิให้ชั้นดาดฟ้าสูงเกินระดับ +23.00 เมตร) เพื่อให้อาคารคอนโดวันกลายเป็นอาคารโลว์ไรส์ ซึ่งจะใช้กฎกระทรวงฉบับ55/2543 มาบังคับใช้แทนซึ่งข้อกำหนดระยะร่นต่างๆของกฎ 55 น้อยกว่ากฎ 33 มาก เช่นระยะร่นโดยรอบแค่3เมตร ไม่ต้องมีลิฟท์ดับเพลิงฯลฯ คือการทุบรื้อชั้น9ของโครงการคอนโดวันทิ้งนั้นเอง และกรณีนี้เองที่สร้างผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของเครือแสนสิริย่างมาในช่วง4-5ปีที่ผ่านมา

นอกจากกรณีของโครงการคอนโดวันแล้ว กรณีการวิพากษ์วิจารณ์กระแสข่าวลือ “ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ณ โรงแรมโฟร์ชีชั่น” ของผู้บริหาร “แสนสิริ” ก็เป็นอีกกระแสหนึ่งที่สร้างภาพในเชิงลบให้แก่ภาพลักษณ์ของแบรนด์ “แสนสิริ”ในช่วงที่ผ่านมามิใช่น้อย!!

ล่าสุด ..กระแสข่าว “โฟร์ซีซั่น” พึ่งจางหายไป “แสนสิริ” ก็ต้องมาเจอกับปัญหาใหญ่! ที่สร้างรอยด่างพร้อยให้กับ “แบรนด์อสังหาชั้นดี” อีกครั้งเมื่อเกิดกรณีการ “โพสต์กันสนั่น!!” จากลูกบ้านชาวต่างชาติ ที่ออกมา “โวย” คอนโด the Base 77 ซึ่งได้ทุบกำแพงเพื่อซ่อมน้ำรั่วซึม แต่กลับเจอโฟม และกระดาษอยู่ด้านในกำแพง จนร้อนถึง “อุทัย อุทัยแสงสุข” ผู้บริหารแสนสิริ ต้องออกมาชี้แจง และยืนยันว่าเคสที่เกิดขึ้น เป็นความสะเพร่าของผู้รับเหมาช่วง ซึ่งกรณีนี้เกิดขึ้นเพียงห้องเดียว

“…. พร้อมๆกับการเร่งสร้างความเชื่อมั่นในแบรนด์ แสนสิริ” ที่ทำให้ต้องมีการตั้งโต๊ะแถลงข่าวสร้างความเข้าใจกับลูกค้า” แสนสิริฯ ได้จัดตั้งทีมงานตรวจสอบคุณภาพห้องชุดเฉพาะกิจอย่างเร่งด่วน รวมถึงการเรียกบริษัท RTH ผู้รับเหมาก่อสร้าง หลังจ้างรับเหมารายย่อยดำเนินการแทน ให้ออกรับผิดชอบ กับงานก่อสร้าง ขณะที่ แสนสิริฯ เองต้องออกแถลงการณ์ยาว 2 หน้ากระดาษ พร้อมน้อมรับข้อตำหนิ ชี้แจงความบกพร่องจากช่าง และการควบคุมงานก่อสร้าง พร้อมส่งทีมพิเศษตรวจสอบทุกห้องที่ผู้รับเหมารับผิดชอบ และตรวจสอบโครงสร้างอาคาร ทั้งโครงการ ขณะเดียวกันได้โพสต์วิดีโอทดสอบความหนาแน่นและมวลผนังก่ออิฐฉาบปูน วันที่ 4 ก.ย.ผ่าน www.sansiri.com/announcement

โดยประเด็นหลัก ของกรณีที่เกิดขึ้น “แสนสิริ” ได้ออกมาชี้แจงว่า เรื่องคุณภาพงานผนังก่ออิฐฉาบปูนภายในห้องชุดไม่ได้มาตรฐานงานก่อสร้างนั้น “แสนสิริ”ได้มอบหมายทีมงาน Sansiri Homecare เข้าตรวจสอบและแก้ไขงานผนังภายในห้องชุดดังกล่าว รวมถึงได้จัดประชุมร่วมระหว่างฝ่ายบริหารงานก่อสร้าง ทีมควบคุมงานก่อสร้าง และผู้รับเหมาหลัก (RTH) โดยทันทีเพื่อตรวจสอบคุณภาพ และมาตรฐานงานก่อสร้าง

สำหรับรายละเอียดการตรวจสอบเบื้องต้นหลังจากที่ “แสนสิริ” ได้จัดทีมวิศวกรเข้าดำเนินการตรวจสอบแล้ว พบว่ามีรายละเอียดการตรวจสอบคือ พบว่า มีการใช้วัสดุโฟมอุดช่องผนังขนาด 30X20 ซม. บริเวณมุมผนังบนชุดวงกบกรอบอะลูมิเนียม ซึ่งเป็นงานผนังก่ออิฐฉาบปูน (Conventional Wall) และวัสดุโฟมดังกล่าวเป็นวัสดุที่ไม่ถูกต้องตรงกับมาตรฐานงานก่อสร้างงานผนังก่ออิฐฉาบปูนซึ่งส่งผลให้เกิดการรั่วซึมของน้ำจากภายนอกอาคาร ซึ่งสาเหตุของความบกพร่องดังกล่าว เกิดขึ้นเนื่องจากช่างก่ออิฐฉาบปูน และการควบคุมงานก่อสร้างโดยมีการใช้วัสดุโฟมในการปิดช่องผนังแทนในบริเวณดังกล่าวแทนที่จะเป็นงานปูน

อย่างไรก็ตามเพื่อเป็นการสร้างความเชื่อมั่นในกลุ่มลูกค้า แสนสิริ ได้เชิญวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) ซึ่งเป็นหน่วยงานกลางมาตรวจสอบในด้านโครงสร้าง เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่ลูกค้า โดยคาดว่าผลการตรวจสอบห้องชุดทั้งหมดในโครงการจะได้ข้อสรุปในวันที่20 ก.ย.นี้ ส่วนลูกค้าโครงการอื่นๆ ของแสนสิริ หากต้องการให้บริษัทเข้าตรวจสอบสามารถ แจ้งความประสงค์เข้ามา บริษัทจะเข้าไปตรวจสอบให้เช่นกัน …!

...วิบากกรรมที่ต่อเนื่องของ “แสนสิริ” โดยเฉพาะกรณีล่าสุดนี้ ดูเหมือนว่าจะเป็นงานหนักของนักปั้นแบรนด์ไม่น้อย เพราะเมื่อพิจารณาจากความต่อเนื่องของภาพลบที่เกิดขึ้น คงจะทำให้ “แสนสิริ” ใช้ทั้งเวลา และงบประมาณอีกมหาศาลในการกู้ภาพลักษณ์ของแบรนด์ผู้นำชั้นดีของค่าย “แสนสิริ” กลับมาให้เป็นเหมือนเดิม และแน่นอนว่าการกู้ภาพลักษณ์ที่ต้องใช้งบการตลาดและงบประชาสัมพันธ์นี้จะส่งผลกระทบต่อเงินปันผลของผู้ถือหุ้นเช่นในอดีตแน่นอน


เศรษฐา ทวีสิน
อุทัย อุทัยแสงสุข
กำลังโหลดความคิดเห็น