xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

Easy Pass เฮงซวย ความห่วยของ “กทพ.”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์-ความ“ปั่นป่วน โกลาหล หงุดหงิด” เป็นความรู้สึกของผู้ใช้ทางด่วนในช่วงตลอด 1 เดือนที่ผ่านมา แต่มาหนักหนาสาหัสในช่วง 2 สัปดาห์ก่อนหน้านี้โดยเฉพาะผู้ถือบัตร Easy Pass หรือบัตรค่าผ่านทางอัตโนมัติ เพราะการตัดและเติมเงินในบัตรรวนจนทำให้รู้สึก “เงินหาย” ทั้งๆ ที่เพิ่งจ่ายเงินสดๆ เติมเข้าไปในบัตรบางรายเจอไม้กั้นหน้าช่องผ่านทางด่วนไม่ยกเพราะเครื่องระบุว่าบัตรไม่มีเงิน ถึงขั้นบ่นว่า “ถูกโกง”

เป็นไปได้อย่างไร? กับระบบที่การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ใช้เงินลงทุนติดตั้งกว่า 400 ล้านบาท และได้เปิดให้บริการ บนทางด่วนขั้นที่ 1 (ทางพิเศษเฉลิมมหานคร) ทางด่วนวงแหวนรอบนอก-รามอินทรา-อาจณรงค์ (ทางพิเศษฉลองรัช) และทางพิเศษบางพลี-สุขสวัสดิ์(วงแหวนรอบนอกด้านใต้) โดยมีเป้าหมายเพื่อแก้ปัญหารถติดหน้าช่องจ่ายเงินสดที่ต้องเสียเวลาทอนเงินที่ทำความเร็วได้เพียง 400 คันต่อชม.ส่วนบัตร Easy Pass รถจะผ่านได้รวดเร็วขึ้นเป็น 1,200 คันต่อชม.

ต้องยอมรับว่าระบบบัตร Easy Pass มีปัญหาตั้งแต่วันที่เปิดใช้งาน เมื่อเดือนมกราคม 2553 เพราะระบบยังไม่เสถียร การอ่านค่าช้า ผู้ใช้บัตรเองก็ยังไม่เข้าใจ วางตำแหน่งบัตรไม่ถูกต้อง บ้างก็ไม่ติดไว้กับกระจกรถแต่ใช้วิธีชูบัตรให้เครื่องอ่าน และมีรถไม่น้อยทีติดฟิล์มกรองแสงที่ติดหน้ากระจกรถมีความหนา เคลือบสารโลหะที่เครื่องอ่านไม่สามารถส่งสัญญาเชื่อมต่อกับคงต้องอาศัยระยะเวลาการปรับตัวกันอยู่พักใหญ่กว่าจะเข้าที่เข้าทาง

ส่งผลให้จังหวะยกไม้กั้นไม่สัมพันธ์กัน รถต้องชะลอความเร็วเมื่อผ่านช่องทาง ไม่รวดเร็วตามที่ตั้งใจไว้ว่ารถจะผ่านฉลุยวิ่งฉิว....ส่วนการเติมเงินและการซื้อบัตรมีช่องทางน้อย การเข้าถึงลำบาก เพราะช่วงแรกจะขายและเติมเงินได้อาคารด่านเก็บเงินและสำนักงานใหญ่กทพ.ที่บางเขน สมาชิก Easy Pass จึงมีเพียงไม่กี่หมื่นใบ

เมื่อยอดผู้ใช้ Easy Pass ไม่เป็นไปตามเป้า กทพ.ได้พยายามทำโปรโมชั่น ให้ส่วนลด ส่วนแถมในการเติมเงินสำรองแต่ประเด็นสำคัญที่ถูกตั้งคำถามมาตั้งแต่แรกคือทำไมต้องมีค่ามัดจำบัตร 1,000 บาท และนี่เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ผู้ใช้ทางด่วนยังไม่นิยมใช้ Easy Pass ต่อมาจึงมีการให้ส่วนลดค่ามัดจำบัตรเหลือ 800 บาทและที่สุดก็ยกเลิกค่ามัดจำบัตรเมื่อเดือนกรกฎาคม 2555ตามนโยบายของนายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมในขณะนี้ โดยให้กทพ.แบกรับภาระต้นทุนค่าบัตรเอาไว้เอง

ขณะที่"นักการเมือง..ได้หน้า" แต่กลายเป็นจุดที่ทำให้ปัญหาของ Easy Pass หนักหน่วงมากขึ้น เพราะเมื่อแจกบัตร Easy Pass ฟรี สมาชิกบัตรได้เพิ่มขึ้นก้าวกระโดดจากไม่ถึง 5 แสนใบเป็นกว่า 6.6 แสนใบภายในเวลาไม่ถึงปี ในขณะที่ฐานข้อมูลกลางของระบบ (Center System : CS) ถูกออกแบบในเฟสแรกไว้รองรับปริมาณการใช้ที่ 2 แสนรายการหรือโอเวอร์ได้แค่ 2.5 แสนรายการ ปัจจุบันมีบัตรเกือบ 7 แสนใบ โดยมีการใช้เฉลี่ยประมาณ 520,000 เที่ยวต่อวัน เมื่อปริมาณการใช้เกินขีดของระบบ ทำให้คอมพิวเตอร์ทำงานหนัก สุดท้ายในแต่ละวันจึงมีรายการค้างที่รอการเคลียร์ยอดสะสมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนกลายเป็นวันละ 1 ล้านรายการ

เจ้าหน้าที่ด้านเทคนิคของกทพ.อธิบายว่า ระบบ Easy Pass ถูกออกแบบให้มีการตรวจสอบบัตรและรายการทั้งตัดและเติมเงินอย่างละเอียดเพื่อความปลอดภัย เนื่องจากมีการเก็บค่าประกันบัตรจากผู้ใช้ถึง 1,000 บาท ดังนั้น เมื่อบัตรเกิดความเคลื่อนไหวทางบัญชี เช่นถูกตัดเงินค่าผ่านทาง ระบบจะตรวจสอบข้อมูลตั้งแต่เริ่มต้นของบัตรใบนั้น ซึ่งมีขั้นตอนมาก แต่ระยะแรกไม่มีปัญหาเพราะจำนวนบัตรยังมีน้อย ข้อมูลจึงแสดงผลแบบ Real Time แต่เมื่อมีผู้ใช้บัตรมากขึ้น ข้อมูลมากขึ้น ขณะที่การประมวลผลยังทำเหมือนเดิม จึงทำให้ต้องรอคิวและเกิดค้างในระบบ และเป็นสาเหตุทำให้บางครั้งเมื่อเติมเงินเข้าไปในบัตรแล้วแต่ยังใช้ผ่านทางไม่ได้เพราะระบบยังไม่ประมวลผลว่าบัตรมีเงิน...จากดีเลย์เป็นชั่วโมง ก็กลายเป็นข้ามวัน

หลังถูกร้องเรียน กทพ.แก้ปัญหาเร่งด่วนโดยการปรับปรุงระบบการประมวลผลให้รวดเร็วขึ้น โดยลดขั้นตอนการตรวจสอบข้อมูลของระบบลงเหลือเพียงการบันทึกรายการและแจ้งยอดที่ถูกต้องให้เจ้าของบัตรทราบ เพื่อไม่ให้เกิดความรู้สึกว่าเงินหาย พร้อมกันนี้ได้เร่งปรับข้อมูลค้างของบัตรเกือบ 7 แสนใบให้เรียบร้อยก่อนวันที่ 1 กันยายนที่จะมีการปรับค่าผ่านทางด่วนใหม่ตามสัญญาสัมปทาน ซึ่งพบว่ามีกว่า 3.6 หมื่นใบที่เงินสำรองในบัตรติดลบ และทำให้เกิดความวุ่นวายและปัญหารถติดช่องผ่านทาง Easy Pass เพราะไม่กั้นไม่ยก

ระบบโดยรวมจะใช้เวลาแก้ปัญหาให้แล้วเสร็จภายใน วันที่ 30 กันยายนนี้ โดยกทพ.คาดว่าเมื่อการประมวลผลรวดเร็วขึ้น ปัญหาจะลดลงแน่นอน ส่วนระยะต่อไป จะต้องมีการขยายตัวฐานข้อมูลกลางของระบบ ให้รองรับได้มากขึ้นจากเฟสแรกที่ตั้งไว้ 2.5 แสนใบ โดยฐานข้อมูลที่มี สามารถพัฒนาขยายขีดความสามารถได้ถึง 2 ล้านใบ แต่ก็ต้องใช้เงินลงทุนอีกหลายพันล้าน

คำถามคือ เหตุใดกทพ.จึงออกแบบระบบในเฟสแรกให้รองรับเพียง 2.5 แสนใบ คำถามคือ เมื่อมีนโยบายให้ยกเลิกค่ามัดจำบัตร กทพ.ไม่รู้เลยหรือว่า ผู้ใช้บัตรจะเพิ่มขึ้นมากมายขนาดนี้ และไม่รู้หรือว่า จะเกินศักยภาพของระบบที่รับได้แค่ 2.5 แสนใบแน่นอน และคำถามคือ ทำไมกทพ.ไม่แจ้งให้ฝ่ายนโยบายรู้ว่าจะมีปัญหาอะไรตามมาบ้างเพื่อเตรียมแผนรับมือก่อนที่จะออกนโยบายเอาใจประชาชน

สำหรับคำตอบ...กทพ.ประเมินนิสัยคนไทย"นิยมใช้ก่อน...ผ่อนทีหลังมากกว่าจ่ายก่อน...ได้ของทีหลัง" มีค่ามัดจำ ถ้าไม่จำเป็นไม่ยอมจ่ายแน่ จึงชะล่าใจ ว่ายังไงขีดความสามารถเฟสแรกรับไหว แต่เมื่อนักการเมืองสั่ง ยังไงก็ต้องทำไว้ก่อน แต่เมื่อนโยบายฉาบฉวย หลับหูหลับตาสั่งเพิ่มยอดผู้ใช้บัตรอย่่างเดียว กทพ.ขี้ขลาดเกินจะแจ้งว่าระบบยังมีจุดอ่อน ที่สุด Server หลังบ้านรับไม่ไหวระบบ Easy Pass โอเวอร์โหลด ตามระเบียบ ถึงเวลาเลิกซะทีกับคำว่า"ถูกครับพี่...ดีครับนาย...ได้ครับท่าน"หรือยัง

ทั้งนี้หากจะเปรียบเทียบระบบผ่านทางของต่างประเทศไทยที่มีการใช้ Easy Pass จะเห็นได้ว่ามีความแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง เพราะเมื่อเราเติมเงินแล้วไม่สามารถใช้ได้ทันที ต้องรออีกเป็นชั่วโมงกว่าจะมีการอัพเดทยอดเงินในบัตร หรือไม่เติมเงินไปแล้วเครื่องไม่ทำงาน เมื่อขับเข้าช่อง Easy Pass ต้องมีการชะลอรถ เมื่อมีปัญหาก็ต้องถอยหลังทำให้รถที่จะเข้าด่านต้องถอยตามติดยาวเป็นปปัญหาอย่างมากแทนที่จะไปได้อย่างรวดเร็วกลับล่าช้าเสียเวลา ซึ่งในต่างประเทศเอง Easy Pass สามารถวิ่งผ่านได้ในระดับ 70-80 กม./ชม. ไม่ต้องชะลอดให้เสียเวลาและสามารถเติมเงินได้ในสถานที่ต่าง ๆ เช่น ปั๊มน้ำมัน และห้างค้าปลีกขนาดใหญ่ เมื่อบริการของEasy Pass เรียกได้ว่าเป็นปัญหาใหญ่อย่างนี้แล้วสมควรหรือไม่ที่จะมาปรับขึ้นราคาค่าทางด่วนในเมื่อไม่มีความพร้อมในการให้บริการ

รัฐเองก็ใบ้กินได้แต่อ้างสัญญาสัมปทานที่ต้องให้ปรับทุกๆ 5 ปีถ้าไม่ทำตามสัญญาก็จะต้องถูกฟ้องร้อง แต่เมื่อผู้ใช้บริการมีปัญหาก็ควรมีสิทธิ์เรียกร้องในฐานะผู้บริโภคได้เช่นเดียวกัน ฝากรัฐบาลเอาไปทบทวนเป็นค่าปรับสำหรับผู้ใช้ทางที่ถูกเอาเปรียบเช่นเดียวกัน




กำลังโหลดความคิดเห็น