xs
xsm
sm
md
lg

ติดหนึบกว่าเดิม! เปิดงานวันแรกทางด่วนป่วน ช่องเงินสดทอนเงินช้า-EasyPass ไม้กั้นไม่ยก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เปิดทำงานวันแรกหลังปรับค่าผ่านทางด่วน ติดหนึบกว่าเดิม ด่านช่องเงินสดเจอปัญหาไม่เตรียมเงินให้พอดี เหตุบางรายไม่รู้ทางด่วนขึ้นราคาทำให้เสียเวลา ส่วนช่อง Easy Pass เจอปัญหาไม้กั้นไม่ยกโดยเฉพาะที่ด่านเพลินจิต,อโศก 4,พระราม 4 กทพ.เผยจัดเจ้าหน้าที่คอยยิงบาร์โค้ดจนกว่าสถานการณ์จะดีขึ้น พร้อมเร่งติดระบบจราจรอัจฉริยะนำร่องด่วนบางพลี-สุขสวัสดิ์ เช็คผ่านมือถือดูสภาพจราจร

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเปิดเผยว่า ได้กำชับให้นายอัยยณัฐ ถินอภัย ผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เร่งแก้ไขปัญหาการใช้บัตรค่าผ่านทางอัตโนมัติ (Easy Pass) ซึ่งเมื่อวันที่ 1 กันยายนที่ผ่านมาพบปัญหาค่อนข้างมาก เนื่องจากระบบตัดเงินก่อนหน้านี้ทำงานล่าช้าเมื่อกทพ.ได้ทำการเร่งแก้ไขทำให้ระบบตัดเงินที่อยู่ในบัตรเพื่อให้เป็นตามจำนวนที่ใช้จริง ทำให้มีบัตรหลายหมื่นใบที่เงินสำรองในบัตรติดลบ และทำให้เมื่อนำมาใช้ไม้กั้นจะไม่ยกให้เพราะอ่านค่าเงินในบัตรไม่มี ซึ่งปัญหานี้ไม่เกี่ยวกับการปรับขึ้นค่าผ่าทาง ซึ่งภาครัฐต้องปฎิบัติ ตามสัญญาและเป็นข้อเสียของการให้สัมปทานเอกชนเข้ามาลงทุนหรือ PPP ถ้าไม่ทำตามสัญญาจะมีปัญหาเรื่องฟ้องร้องหรือค่าโง่ตามมาอีก โดยค่าทางด่วนจะมีการปรับอีกครั้งในปี 2561 ก่อนหมดสัญญาสัมปทานในปี 2563 แต่จะปรับขึ้นหรือไม่ต้องอยู่ที่ตัวเลขดัชนีผู้บริโภค (CPI) ด้วย ทั้งนี้ยืนยันว่า การลงทุนโครงการในพ.ร.บ.กู้ 2 ล้านล้านบาทจะเน้นภาครัฐลงทุนเองเพื่อหลีกเลี่ยงการใช้วิธีร่วมทุนกับเอกชนหรือ PPP

นายอัยยณัฐ ถินอภัย ผู้ว่าฯกทพ. กล่าวว่า สภาพการจราจรในวันที่ 2 กันยายน ซึ่งถือเป็นวันทำงานวันแรกของสัปดาห์หลังจากมีการปรับขึ้นค่าผ่านทางพิเศษเฉลิมมหานคร (ระบบทางด่วนขั้นที่ 1) ทางพิเศษศรีรัช(ระบบทางด่วนขั้นที่ 2) ทางพิเศษบูรพาวิถี (บางนา-ชลบุรี) ตั้งแต่วันที่1 กันยายนที่ผ่านมา พบว่า ปริมาณการจราจรบนทางด่วนหนาแน่นตั้งแต่เวลา 05.00น. แต่ถือว่าไม่มากเท่ากับช่วงก่อนหน้านี้ที่ยังไม่ปรับขึ้นค่าผ่านทาง ทั้งนี้ยังไม่สามารถบอกได้ว่า หลังจากขึ้นค่าผ่านทางแล้วมีปริมาณการจราจรลดลงเป็นเท่าใด แต่ได้ให้เจ้าหน้าที่เก็บสถิติปริมาณการจราจรของทุกวันไว้แล้ว

ส่วนปัญหาของระบบบัตรค่าผ่านทางอัตโนมัติ (Easy Pass) ซึ่งอยู่ระหว่างการปรับฐานข้อมูลกลางของระบบ (Center System : CS) โดยเมื่อวันที่ 1 กันยายนที่ผ่านมาได้ปรับข้อมูลของบัตรทุกใบที่ยังค้างในระบบหรืออัพเดทข้อมูลในบัตรแจ้งยอดตัวเลขในบัตรได้ตรงกับความเป็นจริงแล้ว และพบว่า มีบัตรกว่า 3 หมื่นใบมียอดเงินสำรองติดลบนั้นโดยที่เจ้าของบัตรยังไม่ทราบ ซึ่งในช่วงเช้าวันที่ 2 กันยายน จึงได้จัดเจ้าหน้าที่ยืนประจำจุดที่ช่อง Easy Pass เพื่อช่วยแก้ไขสถานการณ์ โดยเมื่อพบบัตรใดที่มีปัญหาเงินสำรองติดลบ ไม้กั้นจะไม่ยก เจ้าหน้าที่จะยิงบาร์โค้ดเพื่อให้ไม้กั้นเปิดและให้รถผ่านไปได้ก่อน และให้เจ้าของบัตรไปเติมเงินภายหลัง ซึ่งใช้เวลาในการแก้ไขประมาณ 2-3 นาที/คัน โดยเจ้าหน้าที่จะยืนประจำด่านไปก่อนจนกว่าสถานการณ์จะดีขึ้น ส่วนผู้ใช้บริการควรเช็คยอดเงินสำรองในบัตรก่อนผ่านทางเวบไซต์ www.thaieasypass.com หรือ Call Center 1543 ก่อนเริ่มเดินทางเพื่อความสะดวกรวดเร็วในการเดินทาง

“สาเหตุที่บัตร Easy Pass มียอดเงินติดลบนั้น ส่วนใหญ่เป็นผู้ที่ไม่ได้ใช้บัตรเป็นเวลานาน และประกอบกับช่วงนี้ที่ระบบ Easy Pass ใช้เวลาในการประมวลผลล่าช้าจึงเกิดปัญหาดังกล่าว ซึ่งตามปกติหากมียอดเงินต่ำกว่า200 บาท ระบบจะมีการแจ้งเตือนให้เติมเงิน ซึ่งกทพ.ได้เร่งแก้ไขระบบประมวลผลให้เสร็จเรียบร้อยโดยเร็ว มั่นใจว่าจะเสร็จเรียบร้อยภายใน 1 สัปดาห์หลังจากนี้ ขอให้มั่นใจว่าเงินที่ผู้ใช้บริการเติมเข้าไปยังอยู่ครบถ้วนไม่หายไปไหน อย่างไรก็ตามยังต้องของงดให้บริการเติมเงินอีซี่พาสในทุกช่องทางหลังเวลา22.00-04.00 น. ของทุกวันจนถึงวันที่ 30 ก.ย.นี้ เพื่อปรับปรุงระบบให้มีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น”นายอัยยณัฐกล่าว

ด้านพล.ต.ต.ปิยะ ต๊ะวิชัย ผู้บังคับการตำรวจจราจร (ผบก.จร.) กล่าวว่า หลังจากที่มีการปรับขึ้นค่าผ่านทาง ทำให้การจราจรหน้าด่านเก็บค่าผ่านทางติดขัดกว่าปกติทุกด่าน ส่วนหนึ่งจากมีประชาชนบางรายยังไม่ทราบว่ามีการปรับขึ้นค่าผ่านทาง จึงเตรียมเงินไว้จ่ายไม่เพียงพอต้องเสียเวลาหยิบเงินเพิ่ม และเสียเวลาทอนเงินมากกว่าปกติ บางด่านมีการติดป้ายบอกราคาไม่ชัดเจน ทำให้เกิดปัญหาในช่องจ่ายเงินสด ส่วนช่องทาง Easy pass ยังคงมีปัญหา โดยเฉพาะที่ด่านเพลินจิต ด่านอโศก 4 ด่านพระราม 4-1 พระราม 4-2 พบปัญหาเครื่องอ่านบัตรผิดพลาด ทำให้ไม้กั้นไม่เปิดให้รถผ่าน ซึ่ง กทพ.ได้จัดเจ้าหน้าที่เข้าแก้ไขแล้ว คาดว่าในวันที่ 3 กันยายน การจราจรหน้าด่านจะดีขึ้น เพราะประชาชนจะเริ่มปรับตัวได้

อย่างไรก็ตามเมื่อวันที่ 2 กันยายน นายอัยยณัฐ ได้เป็นประธานเปิดการสัมมนาวิชาการโครงการศูนย์การจราจรอัจฉริยะ (ITS Center) ระยะที่ 2 ภายใต้หัวข้อ “ทางพิเศษอัจฉริยะ (ITS Corridor)”ซึ่งกทพ.ได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง นำเอาระบบศูนย์การจราจรอัจฉริยะมาใช้กับทางพิเศษช่วยบอกปริมาณการจราจรบนทางพิเศษในแต่ละวันเป็นระบบ Real Timeสามารถเรียกดูสภาพการจราจรบนทางพิเศษ การเกิดอุบัติเหตุ การตรวจจับความเร็ว ผ่านระบบแอพพลิเคชั่นบนมือถือแบบสมาร์ทโฟน โดยระยะแรกเป็นงานวางแผนและทดสอบระบบ ส่วนระยะที่ 2เป็นการนำร่องนำระบบดังกล่าวไปใช้ที่ทางพิเศษกาญจนาภิเษก (บางพลี-สุขสวัสดิ์) ทั้งเส้นทาง โดยจะมีการติดตั้งอุปกรณ์ต่างๆ ตลอดทางพิเศษกาญจนาภิเษก พร้อมเชื่อมระบบไปที่ศูนย์ ITS ที่กทพ.สำนักงานใหญ่ ศูนย์ CCTV 3 และ 6 โดยประชาชนสามารถโหลดแอพพลิเคชั่น EXAT ITS ได้ทั้งจากระบบไอโอเอส และแอนดรอยด์ ซึ่งจะสามารถดูสภาพการจราจรบนทางด่วนได้ทุกเส้นทาง ส่วนทางด่วนบางพลี-สุขสวัสดิ์ จะสามารถดูละเอียดได้ว่าจุดใดเกิดอุบัติเหตุ และจะใช้เวลาในการเดินทางเป็นเท่าใด หลังจากนี้อีก 6 เดือน จะประเมินผลการทำงานระบบบนทางด่วนบางพลี-สุขสวัสดิ์ก่อน และจะเร่งติดตั้งบนทางด่วนสายอื่นๆ ต่อไปให้ครบทุกสายทาง โดยในอนาคตจะทราบว่าในสายทางมีรถบรรทุกวัตถุอันตรายวิ่งจุดใด เป็นสารเคมีชนิดใด หากเกิดอุบัติเหตุจะสามารถเข้าแก้ไขสถานการณ์ได้อย่างรวดเร็ว
กำลังโหลดความคิดเห็น