ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์-เสียเงินไม่ว่า เสียหน้าอีกต่างหาก !! ...
เพราะเหลวไม่เป็นท่าสำหรับปฏิบัติการ “ปาหี่ปฏิรูป” ของรัฐบาลเพื่อไทย ภายใต้การนำของ นายกฯยิ่งลักษณ์ ชินวัตร น้องสาวสุดที่รักของนักโทษหนีคดีคอร์รัปชั่น ที่ลงทุนควักเงินงบประมาณที่มาจากภาษีประชาชนจำนวนหลายสิบล้านเป็นค่าจ้าง นายโทนี แบลร์อดีตนายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักร และบุคคลสำคัญด้านสันติภาพระดับโลกอีกหลายคนให้มาร่วมสร้างภาพปฏิรูปปรองดอง ในงานปาฐกถาพิเศษเรื่อง “ผนึกกำลังสู่อนาคต : เรียนรู้ร่วมกันจากประสบการณ์” หรือ Uniting for the future : Learning from each other’s experiences ซึ่งรัฐบาลจัดขึ้นที่โรงแรมพลาซ่า แอทธินี เมื่อวันที่ 2 ก.ย. ที่ผ่านมา
แต่การณ์กลับไม่เป็นดังใจ เพราะแทนที่นายแบลร์ และบรรดาวิทยากรรับเชิญจะช่วยสร้างภาพเชียร์รัฐบาลยิ่งลักษณ์ว่าช่างเป็นรัฐบาลที่รักสันติภาพ แสวงหาการปรองดอง และช่วยออกหน้าเรียกร้องให้ทุกฝ่ายหันหน้ามาร่วมปรองดอง แบบว่าใครจะทำผิดกฎหมายขายชาติยังไงก็ให้ลืมๆไปเสีย แล้วหันมาหลับหูหลับตาปาหี่ปฏิรูปเพื่อให้ได้ชื่อว่ารักประชาธิปไตยใฝ่หาการปรองดอง อย่างที่รัฐบาลเพื่อไทยวาดหวังไว้ วิทยากรรับเชิญแต่ละท่านกลับทำในสิ่งที่ตรงกันข้าม โดยเฉพาะ นายโทนี แบลร์ และ นางพริสซิลลา เฮย์เนอร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน และที่ปรึกษาอาวุโสของ CHD (Center for Humanitarian Dialoque) ที่ “ตบหน้า” นายกฯยิ่งลักษณ์ซึ่งลงทุนไปยืนอ่านโพยในงานปาฐกถาเสียหน้าชา โดยมีการวิพากษ์วิจารณ์แบบตรงไปตรงมา ชนิดที่เรียกว่าตีแสกหน้ารัฐบาลทุกดอก
โดยนายโทนี่ แบลร์ ชี้ปัญหาได้ตรงจุดราวกับจับตาพฤติกรรมของรัฐบาลชุดนี้มายาวนานว่า ประชาธิไตยไม่ใช่แค่การเลือกตั้ง ไม่ใช่มีเสียงข้างมากในสภาหรือมีอำนาจแล้วจะทำอะไรก็ได้ แต่ต้องรับฟังเสียงข้างน้อยด้วย การจะแก้ปัญหาได้รัฐบาลต้องมีความโปร่งใส ตรวจสอบได้ กระบวนการยุติธรรมต้องมีอิสระ สามารถทำงานได้โดยไม่ถูกแทรกแซง !!
ทั้งนี้ นายแบลร์ ได้ฝากหลักในการดำเนินการอันจะนำสังคมไทยไปสู่ความปรองดองไว้ 5 ประการด้วยกัน ซึ่งมีใจความสำคัญที่น่าสนใจดังนี้
“....ประชาธิปไตยไม่ใช่เรื่องลงคะแนนเสียงเฉยๆ ไม่ใช่เรื่องว่าคนส่วนใหญ่เข้าไปมีอำนาจ แต่ประชาธิปไตยเป็นเรื่องเกี่ยวกับแนวคิดที่ว่าคนส่วนใหญ่จะมีความสัมพันธ์กับคนกลุ่มน้อยอย่างไร หากคิดว่าประชาธิปไตยคือการชนะทุกอย่าง จะทำให้คนกลุ่มน้อยรู้สึกว่าถูกกีดกันในทุกเรื่อง ผมเห็นว่าประชาธิปไตยคือพหุภาคี ไม่ใช่อำนาจกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่เป็นเรื่องการมีพื้นที่แบ่งปันทำงานกันได้ แบ่งปันค่านิยมบางอย่างร่วมกัน ประชาธิปไตยเป็นเรื่องของความคิด”
“ส่วนเรื่องหลักนิติธรรมต้องดำเนินไปไม่เอนเอียง ไม่ว่าจะเป็นตุลาการหรือรัฐบาลต้องตรวจสอบได้ ความยุติธรรมต้องมีความอิสระปราศจากการแทรกแซงและอคติ นี่คือกระบวนการยุติธรรมที่ถูกต้อง”
“...การปรองดองจะเกิดขึ้นได้ง่าย ถ้ารัฐบาลมีประสิทธิภาพในการดูแลประชาชน โปร่งใสตรวจสอบได้ ทั้งนี้ การปรองดองจะง่ายขึ้น ถ้ารัฐบาลกำลังทำงานเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงให้ประชาชนรู้สึกดีขึ้น หรืออีกนัยหนึ่งคือ ให้ประชาชนรู้สึกว่า กระบวนการสันติภาพนำความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ดังนั้น ประเด็นที่รัฐบาลจะเดินหาประชาชนทำให้เขาเป็นอยู่ดีขึ้น คือประเด็นที่สำคัญและเป็นสิ่งที่ท้าทายของรัฐบาล”
แต่ละเรื่องแต่ละประเด็นที่นายโทนี่ แบลร์ กล่าวมานั้นล้วนสะท้อนให้เห็นถึงความคิด มุมมอง และพฤติกรรมของรัฐบาลอันเป็นอุปสรรคสำคัญของการปฏิรูปและปรองดองทั้งสิ้น เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่าที่ผ่านรัฐบาลมักอ้างตัวเลข 15 ล้านเสียงจากการเลือกตั้งเพื่อสร้างความชอบธรรมในการออกนโยบายคอร์รัปชั่นล้างผลาญ สร้างความชอบธรรมในการแก้ผิดให้เป็นถูก สร้างความชอบธรรมในการปิดปากผู้ที่เห็นต่าง และเพื่อใช้เสียงข้างมากลากไปทั้งในและนอกสภา ปฏิเสธไม่ได้ว่ารัฐบาลมักใช้มวลชนคนเสื้อแดงซึ่งเป็นฐานเสียงเป็นเครื่องมือในการข่มขู่คุกคามการทำงานของกระบวนการยุติธรรมและองค์อิสระต่างๆ ทั้งนี้เพื่อสกัดกั้นการตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลในทุกวิถีทาง ฉะนั้นคงไม่ต้องพูดถึงเรื่องความโปร่งใส เพราะเป็นสื่งที่หาไม่ได้ในรัฐบาลชุดนี้
ขณะที่ นางพริสซิลลา เฮย์เนอร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน หนึ่งในแขกวีไอพีที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์เชิญมาร่วมในเวทีเดียวกัน ก็ตอกหน้ารัฐบาลเสียย่อยยับชนิดหมอไม่รับเย็บ โดยนางเฮย์เนอร์ พูดชัดถ้อยชัดคำว่า “ไม่เห็นด้วยกับการนิรโทษกรรม” เนื่องจากเห็นว่าเป็นไปเพื่อเป้าหมายทางการเมืองมากกว่าต้องการจะทำให้เกิดความปรองดองอย่างที่รัฐบาลอ้าง และปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นความพยายามอย่างสุดลิ่มทิ่มประตูของรัฐบาลเพื่อไทยภายใต้ระบอบทักษิณ ซึ่งนางเฮย์เนอร์เห็นว่าเรื่องนี้ถือเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง และการใช้อำนาจข่มขู่เพื่อบังคับให้ปรองดองก็ย่อมเป็นไปไม่ได้ !!
นางเฮย์เนอร์พูดถึงในประเด็นดังกล่าวไว้อย่างน่าสนใจว่า
“การปรองดองไม่ใช่เรื่องการบังคับขู่เข็ญหรือปกปิด การปรองดองไม่ใช่การเร่งรีบ เราเร่งไม่ได้ เมื่อเริ่มกระบวนการแล้ว จะต้องดูแลและเคารพในเรื่องการสื่อสารและรับฟัง ความเห็นที่แตกต่างทางการเมือง คอป.(คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ) เสนอในหลายด้าน เราควรมองว่าข้อเสนอเน้นเรื่องอะไร ก่อนที่จะสรุปจบนี้ ดิฉันขอหันไปในประเด็นที่การนิรโทษกรรม ดิฉันทราบว่าประเด็นนี้อาจมีความผิดพลาดหากตีความแคบมากเกินไป หากใช้แนวทางสากลมากเกินไป อาจนำไปใช้ในบริบทท้องถิ่นไม่ได้ หลักการคือ ต้องมีการเคารพกับผู้ประสบเคราะห์ ไม่ควรมองว่าเป็นไปเพื่อจุดมุ่งหมายทางการเมือง ควรมีการเสวนา และมองว่ากระบวนการปรองดองควรจะทำอย่างไรต่อไป แม้จะมีการยกโทษให้อาชญากรรมบางอย่าง แต่ไม่ควรลบกระบวนการค้นหาความจริง แม้จะนิรโทษก็ต้องมีกระบวนว่า อดีตเกิดอะไรขึ้นบ้าง ขอเน้นจุดสุดท้าย กรอบทุกอย่างที่พูดในวันนี้ ควรมีหลักการประชาธิปไตยรองรับอยู่ ควรมีพื้นที่ประชาธิปไตยอย่างแท้จริง”
แต่ถึงขนาดที่ผู้เชี่ยวชาญด้านยุติธรรมในเวทีระดับโลกที่รัฐบาลเชื้อเชิญมาโดยอ้างว่าเพื่อให้แง่คิดมุมมองในการปฏิรูปการเมืองไทย ได้ออกมาคัดค้าน 'การนิรโทษกรรม' แต่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ก็ทำเป็นเอาหูไปนาเอาตาไปไร่ ไม่ใส่ใจจะฟังเสียงใครที่เห็นต่างทั้งสิ้น อีกทั้งยังคงใช้อำนาจในการเป็นรัฐบาลมากดดันข่มขู่ให้คนที่เห็นต่างหลับหูหลับตาปรองดองกันต่อไป !!
อีกความเห็นหนึ่งที่น่าสนใจในงานวันนั้น คือความเห็นของ 'นายสุรินทร์ พิศสุวรรณ' อดีตเลขาธิการอาเซียน ซึ่งมาร่วมในงานปาถกฐาดังกล่าวด้วย ซึ่งนายสุรินทร์ได้ลุกขึ้นแสดงความคิดเห็น พร้อมตั้งเป็นคำถามองค์ปาฐกบนเวทีว่า
“ ผู้ปาฐกถาทั้ง 3 ท่าน พูดถึงเรื่องให้ทุกคนมีส่วนร่วม แต่สำหรับประเทศไทยของเราไม่ได้แบ่งออกเป็นสองฝ่ายเท่านั้น แต่ยังได้มีการส่งอำนาจผ่านทางสไกป์เกี่ยวกับอนาคตประเทศ มีการแทรกแซงจากภายนอก ซึ่งถือว่าเป็นการกระทบเจตจำนงของเราจนส่งผลกระทบต่อภายในประเทศ โดยการสร้างความปรองดอง จะแก้ปัญหานี้อย่างไร”
ไม่ต้องสาธยายใครๆก็รู้ว่าผู้ที่ 'ส่งอำนาจผ่านทางสไกป์' หาใช่ใคร หากแต่เป็นพี่ชายของนายกฯยิ่งลักษณ์ ซึ่งมีฐานะเป็นนักโทษหนีคดีคอร์รัปชั่น นาม 'นช.ทักษิณ ชินวัตร' แต่ในทางปฏิบัติกลับมีฐานะเป็นเจ้าของพรรคเพื่อไทยตัวจริง เพราะเขามักสไกป์มายังที่ประชุมพรรคเพื่อไทยเพื่อสั่งการให้สมาชิกพรรคทำอย่างนั้นอย่างนี้ รวมถึงโฟนลิ้งค์มายังเวทีคนเสื้อแดงเพื่อส่งสารถึงบรรดาสาวกของพรรค และปฏิเสธไม่ได้ว่าการสไกป์ของเขานั้นนำไปสู่ปฏิบัติการการเคลื่อนไหวทางการเมืองของคนเสื้อแดงและพลพรรคเพื่อไทย ที่สำคัญการเคลื่อนไหวนั้นมักนำไปสู่ความแตกแยก เกลียดชัง และนำไปสู่ความรุนแรงชนิดเผาบ้านเผาเมือง
แต่ที่น่าแปลกใจคือแทนที่พิธีกรบนเวทีปาฐกถา คือ 'นายฐิตินันท์ พงษ์สุทธิรักษ์' ผู้อำนวยการสถาบันความมั่นคงและนานาชาติศึกษา อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จะให้ผู้ปาฐกถาทั้ง 3 ท่านได้ตอบคำถามของนายสุรินทร์ พิธีกรกลับรวบรัดปิดรายการ สร้างความงงงันให้ผู้ที่มาร่วมงานในวันนั้นเป็นอย่างมาก และก่อให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่าแค่ในเวทีปาฐกถายังปิดหูปิดตาไม่รับฟังความเห็นต่าง แล้วจะไปตั้งเวทีเสวนาปฏิรูปปรองดองระดับชาติให้มันเปลืองงบประมาณเปลืองเวลาหาอะไร ?
กระนั้นก็ดีการลงแรงครั้งนี้ของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ดูจะเป็นการลงทุนที่สูญเปล่าเพราะบรรดาผู้ที่ได้รับเชิญมาปาฐกถาไม่ได้เอออวยช่วยสร้างภาพปาหี่ปฏิรูปปรองดองให้แก่รัฐบาลอย่างที่หวัง อีกทั้งยัง “ฉีกหน้า” รัฐบาลเพื่อไทยภายใต้ระบอบทักษิณและเปลือยตัวตนธาตุแท้ให้คนไทยและชาวโลกได้เห็น และที่แสบสันไปกว่านั้นก็คือแทนที่นายโทนี่ แบลร์ ซึ่งเดินทางมาร่วมแสดงปาถกฐาในฐานะแขกขอบรัฐบาล จะอยู่ร่วมโต๊ะรับประทานอาหารกลางวันกับนายกฯยิ่งลักษณ์ แต่กลับดอดไปกินข้าวเที่ยงกับคู่ปรับทางการเมืองของเพื่อไทย อย่าง 'นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ' ผู้นำฝ่ายค้านจากพรรคประชาธิปัตย์ และนายกรณ์ จาติกวณิช รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ที่บ้านพักของเอกอัครราชทูตอังกฤษ ถนนวิทยุ เรียกว่างานนี้ 'แทงข้างหลังทะลุถึงหัวใจ' ของนายกฯนกแก้วเลยทีเดียว
แม้จะ 'หน้าแตกแหลกลาญ' ถูกประจานไปทั่วโลก แต่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ก็ยังคง 'หน้าด้านหน้าทน' ท่องถาคาปฏิรูปปรองดองกันต่อไป ส่วนจะงัดมุขอะไรออกมาขายอีกก็คงต้องจับตาดูกันต่อไป จนกว่าพลพรรคเพื่อไทยจะพานายใหญ่กลับบ้านได้สำเร็จ !!