xs
xsm
sm
md
lg

กปท.สั่งดีเดย์ 20 สิงหาฯยกระดับชุมนุม โพลไม่เชื่อกม.นิรโทษจะปรองดอง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


"อภิสิทธิ์"ย้ำจุดยืนปชป.ต้านกม.นิรโทษ เตรียมส่งหนังสือถึงสถานทูตต่างประเทศ แจงรัฐบาลออกกฎหมายล้างผิดให้พวกพ้อง ประจาน"ยิ่งลักษณ์"ขึ้นเวทีเสื้อแดง "นิพิฏฐ์" ยังไม่ลาออกขอสู้ในสภาถึงที่สุด หากสู้ไม่ไหวจะมีส.ส.ส่วนหนึ่งลาออกมาต่อสู้กับภาคประชาชน ด้าน กปท.เตรียมยกระดับการชุมนุม 20 ส.ค.นี้ ชวนชาวสีลมเข้าร่วม พร้อมยื่นป.ป.ช. ถอดถอนนายกฯ ด้านพท.เรียกประชุมส.ส.วางเกมแก้รธน.ต่อ หลังสภาผ่านงบ 57 "สุริยะใส"เตือนดันทุรังแก้รธน.ทั้งที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลรธน. อาจถึงขั้นยุบพรรค โพลไม่เชื่อออกกม.นิรโทษจะปรองดองได้

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงจุดยืนของพรรคประชาธิปัตย์ ในการคัดค้านการออกกฎหมายนิรโทษกรรม ว่า พรรคยังย้ำในจุดยืนเดิม ที่จะเผยแพร่ข้อเท็จจริงผ่านเวทีผ่าความจริง เกี่ยวกับ ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ฉบับ นายวรชัย เหมะ ส.ส.สมุทราการ พรรคเพื่อไทย ที่พิจารณาอยู่ในชั้นกรรมมาธิการ ซึ่งผู้กระทำผิดร้ายแรง ไม่ควรได้รับการนิรโทษกรรม โดยเฉพาะผู้ที่หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 หรือคดีทางอาญา ที่อ้างเหตุจูงใจทางการเมือง แต่ขณะเดียวกัน รัฐบาลกลับสร้างมูลเหตุความขัดแย้งมากขึ้น ทั้งจากการจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชน ที่แสดงความคิดเห็นผ่านโซเชียลเน็ตเวิร์ก การข่มขู่ทำร้ายสื่อมวลชน ในกรณีบรรณาธิการข่าวหนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ โดยเชื่อว่า อาจเชื่อมโยงกับฝ่ายการเมือง หรือแม้แต่การนำมวลชนกดดันฝ่ายตรงข้ามรัฐบาล

** เปิดทางลูกพรรคถกแกนนำ พธม.

เมื่อถามว่าการที่สัดส่วนของพรรคประชาธิปัตย์ ไม่มีตำแหน่งใดในชั้นคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม จะเป็นอุปสรรคหรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ไม่ได้เป็นปัญหาในการทำหน้าที่ของฝ่ายค้าน และยืนยันจะทำหน้าที่ในชั้นกรรมาธิการเต็มที่ ทั้งนี้ มีความกังวลที่รัฐบาลได้บรรจุ วาระ 2 ร่าง แก้รัฐธรรมนูญทั้ง 3 ฉบับ ในสัปดาหน้าแล้ว อาจทำให้กระทบกับเวลาในการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมบ้าง

เมื่อถามถึงกรณี นายนิพิฐฏ์ อินทรสมบัติ ส.ส.พัทลุง พรรคประชาธิปัตย์ และส.ส.บางส่วนของพรรค เข้าไปพูดคุยกับแกนนำกลุ่มพันธมิตรฯ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ส่วนตัวเห็นว่า การพูดคุยที่มีแนวทาง และทิศทางเดียวกัน สามารถทำได้ เพราะยังมีมวลชนอีกจำนวนมาก ที่ไม่เห็นด้วยกับการที่รัฐบาลจะออกกฎหมายนิรโทษกรรม ล้างความผิด ส่วนการจะผนึกกำลังออกมาต่อสู้หรือไม่นั้น ยังไม่อยากให้มองถึงขั้นนั้น ทั้งนี้ส่วนตัวไม่ทราบว่านายนิพิฐฏ์ จะลาออกจากการเป็น ส.ส. เพื่อร่วมกับมวลชนหรือไม่ อย่างไร

ทั้งนี้ ทางพรรคประชาธิปัตย์ ได้นัดมวลชนให้มารวมตัวกันที่ที่ทำการพรรคประชาธิปัตย์ เวลา 10.00น.วันนี้ (19 ส.ค.) ก่อนเคลื่อนขบวนไปยังสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อสอบถามถึงกรณีนายขวัญชัย ไพรพนา แกนนำชมรมคนรักอุดร ที่แต่งชุดตำรวจ ในวันที่ 7 ส.ค. ที่หน้ารัฐสภา ซึ่งวันนั้นมีการอภิปรายร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ในวาระ 1 ทั้งที่เป็นพื้นที่ประกาศพ.ณ.บ.ความมั่นคง

นายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า พรรคจะต่อต้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ทุกรูปแบบ จะเดินหน้าอย่างต่อเนื่องทั้งในสภาและนอกสภา ด้วยการจับมือกับภาคประชาชน ไม่ว่าจะเป็น พันธมิตรฯ หรือองค์กรอื่น ที่เห็นตรงกันว่าจะต่อต้านกฎหมายล้างผิด ก็พร้อมร่วมต่อต้านอย่างถึงที่สุด ภายใต้ขอบเขตของกฎหมาย ตามสิทธิที่กำหนดในรัฐธรรมนูญ

ทั้งนี้ ตัวเลขของคนที่จะได้ประโยชน์จากการนิรโทษกรรม ที่มีการกล่าวอ้างว่าจะมีประชาชนที่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่ได้ประโยชน์จำนวนมากนั้น ทั้งที่ความจริงตอนนี้อยู่ในคุกแค่ 30 คน และอีก 137 คน กำลังสู้คดี รวมแกนนำเสื้อแดง และผู้ก่อการร้ายด้วย เท่ากับว่ามีคนได้ประโยชน์เพียง 167 คนเท่านั้น จึงไม่ใช่การแก้ปัญหาให้ประชาชน แต่เป็นการออกกฎหมายล้างผิดให้ตัวเอง พรรคจะไม่ยอมให้กฎหมายนี้ผ่านมามีผลบังคับใช้ได้

**ประจาน"ยิ่งลักษณ์"ร่วมชุมนุมเสื้อแดง

นอกจากนี้ พรรคจะจัดทำจดหมายเปิดผนึกส่งไปยังสถานทูตต่างประเทศในไทยทุกแห่ง และองค์กรระหว่างประเทศ องค์กรประชาธิปไตยระหว่างประเทศ สมาคม พรรคการเมืองในเอเชีย และองค์กรระดับนานาชาติ เช่น สหประชาชาติ ข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ รวมถึงบุคคลที่มีชื่อจะเข้ามาร่วมสานเสวนาจอมปลอมด้วย

โดยเนื้อหาจะกล่าวถึงปัญหาที่เกิดในประเทศไทย ว่าจุดเริ่มต้นเกิดจากการออกกฎหมายล้างผิดให้คนทำผิดกฎหมายอาญา มีการประกาศ พ.ร.บ.มั่นคงในระหว่างการออกกฎหมายดังกล่าว ทั้งนี้ พรรคยืนยันว่ากระบวนการที่เกิดขึ้นรัฐบาลจงใจผลักดันกฎหมายล้างผิด โดยไม่ฟังภาคส่วนต่างๆ ของสังคมไทย ไม่นำรายงาน คอป. มาดำเนินการ ไม่ดำเนินการตามรายงานของกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พรรคจึงยืนยันว่ากระบวนการที่รัฐบาลพยายามทำจึงเป็นเพียงแค่การฟอกขาว ให้คนที่ทำผิดอาญาให้พ้นผิดเท่านั้น
นอกจากนี้ในจดหมายจะชี้ให้เห็นว่ารัฐบาลละเลยที่จะปฏิบัติตามข้อเสนอของข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ และสุดท้ายจะชี้ให้เห็นว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้ร่วมชุมนุมกับคนเสื้อแดง ที่ศาลชี้ว่าเป็นการชุมนุมที่ผิดกฎหมายในปี 2553 จึงออกกฎหมายล้างผิดให้กับพรรคพวกตัวเอง ไม่เช่นนั้นต่อไปก็จะมีการใช้ความรุนแรง เพื่อช่วงชิงอำนาจเมื่อเป็นรัฐบาลก็มาออกกฎหมายล้างผิดให้ตัวเอง ซึ่งเป็นเรื่องที่ยอมไม่ได้

** จวก"ยิ่งลักษณ์"ไม่จริงใจแก้ปัญหา

นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ ประธาน ส.ส.กทม.พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงการตั้งสภาปฏิรูปการเมืองที่รัฐบาลจะประชุมในสัปดาห์หน้านั้น เชื่อว่าผลลัพธ์ที่ออกมา จะไม่สามารถปฏิรูปการเมืองได้ เพราะองค์ประกอบมีแต่พวกเดียวกัน จึงเป็นสภาพวกปรบมือข้างเดียว ไม่น่าจะก่อให้เกิดผลตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ ดังนั้น การดำเนินการในเรื่องนี้ชี้ให้เห็นว่า มีคนจำนวนมากไม่เข้าร่วม เพราะไม่อยากเป็นเครื่องมือสร้างความชอบธรรม สร้างปาหี่ทางการเมืองของรัฐบาล เพราะไม่ใช่ปฏิรูปการเมือ แต่เป็นการปฏิลวงทางการเมืองมากกว่า
ส่วนคนที่เข้าร่วม เช่น อุทัย พิมพ์ใจชน และ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ที่บอกว่าเข้าร่วมเพื่อบอกให้ถอน ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมออกไปก่อนนั้น ตนเห็นว่า พรรคพร้อมที่จะพูดคุยด้วย เพียงแต่พักการพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมไว้ก่อน แต่ถ้ายังเดินหน้าต่อไป ก็จะเป็นเครื่องพิสูจน์ความไม่จริงใจของรัฐบาล และนายกรัฐมนตรี เพราะการพักการพิจารณา ร่าง กฎหมายดังกล่าวไม่มีความเสียหายใด ๆ ตนจึงหวังว่า ถ้าอยากให้สภาปฏิรูปการเมืองเป็นทางออกของสังคม ควรจะให้ทุกฝ่ายในสังคมเข้าไปมีส่วนร่วม จึงควรพักการพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ออกไปก่อนแ แต่ถ้าเดินสองทาง คงไม่มีใครเอาตัวเองไปเป็นเครื่องมือสร้างความชอบธรรมของรัฐบาล เพราะนายกฯไม่มีความจริงใจ มีการเรียกร้องให้ใช้สภาแก้ปัญหา แต่การแสดงออกของนายกฯ ทั้งการพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม และ พ.ร.บ.งบประมาณปี 2557 นายกฯ ไม่ได้เข้าไปรับฟังแสดงความเห็นในที่ประชุมแต่อย่างใด แสดงว่าไม่มีความจริงใจอย่างแท้จริงในการตั้งสภาปฏิรูปการเมือง เพราะพฤติกรรมคือพูดอย่าง ทำอย่าง ไม่เคยใช้เวทีรัฐสภาหาทางออกให้ประเทศ จึงขอให้หยุดพฤติกรรมพูดอย่างทำอย่าง ต้องทำเป็นตัวอย่างพูดอย่างไรทำอย่างนั้น จึงเป็นการแสดงออกถึงภาวะผู้นำที่ดี แต่ถ้าไม่เปลี่ยนแปลงสภาปฏิรูปการเมือง จะไม่ใช่ทางออกของประเทศได้

** "นิพิฏฐ์"ยังไม่ลาออก

นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ ส.ส.พัทลุง พรรคประชาธิปัตย์ ปฏิเสธกระแสข่าวลาออกจาก ส.ส. เพื่อร่วมเคลื่อนไหวกับมวลชน ว่าไม่เป็นเรื่องจริง เพราะขณะนี้เราต้องต่อสู้กฎหมายนิรโทษกรรมในสภาให้ถึงที่สุด ตามเงื่อนไขที่พรรคได้วางไว้เรื่องความผิดในฐานต่างๆ แต่หากสู้แล้วกฎหมายนี้ยังเดินหน้าต่อได้ และยังมีการนิรโทษกรรมให้กับความผิดที่เราไม่เห็นด้วย ก็เชื่อว่าจะเกิดการชุมนุมใหญ่ขึ้นแน่นอน ซึ่งหากถึงสถานการณ์นั้นก็มี ส.ส.บางส่วน ที่หารือกันแล้วว่าจะลาออกเพื่อมาต่อสู้กับมวลชน แต่ก็ต้องมีส.ส.บางส่วนที่ต้องอยู่ดูแลพรรค แต่วันนี้ยังต้องคัดค้านกฎหมายนี้ในหน้าที่ส.ส.ให้ถึงที่สุดก่อน

ส่วนกรณีนายวราเทพ รัตนากร รมว.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ระบุว่า จะส่งจดหมายเชิญพรรคประชาธิปัตย์ให้มาร่วมสภาปฏิรูปการเมืองในวันที่ 19 ส.ค.นี้ นั้น ก็เป็นแนวทางที่เขาเจตนาทำให้สังคมเข้าใจผิด พอพรรคประชาธิปัตย์ไม่เข้าร่วมเวทีปฏิรูป เท่ากับพรรคประชาธิปัตย์ไม่เห็นด้วยกับการสร้างความปรองดองในประเทศ แต่ตนก็เชื่อว่า สังคมเข้าใจว่าสิ่งที่พรรคประชาธิปัตย์เรียกร้องคือ ให้ถอน ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม หรือชะลอการพิจารณาออกไปก่อน ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์ ก็พร้อมจะคุย

**กปท.เตรียมยกระดับชุมนุม 20 ส.ค.

นายไทกร พลสุวรรณ เสนาธิการร่วมกองทัพประชาชนโค่นระบอบทักษิณ (กปท.) กล่าวว่า ตั้งแต่วันอังคารที่ 20 ส.ค. เป็นต้นไป กปท.จะยกระดับการเคลื่อนไหว รณรงค์ให้ประชาชนตามสถานที่ต่างๆในกทม.ได้รับทราบข้อมูลข่าวสารข้อเท็จจริงในการเคลื่อนไหวต่อต้าน ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม โดยเบื้องต้นในวันที่ 20 ส.ค. เสนาธิการร่วม และ น.ต.ประสงค์ สุ่นศิริ ประธานที่ศึกษากปท. จะไปรณรงค์ เชิญชวนให้ชาวกรุงเทพฯ ในย่านสีลม ออกมาร่วมชุมนุมที่สวนลุมพินี จากนั้น วันที่ 21 ส.ค. จะเดินทางไปยังศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อให้กำลังใจในการทำหน้าที่ให้การพิจารณาคดีต่างๆ รวดเร็วขึ้น และวันที่ 23 ส.ค. จะเดินทางไปยังกองทัพไทย เพื่อเรียกร้องให้กองทัพ ทำหน้าที่ในการปกป้องประเทศตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 70 และมาตรา 77

นอกจากนี้ ในวันที่ 22 ส.ค. จะ เดินทางไปยังสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อยื่นหนังสือให้ดำเนินการเอาผิด นายกรัฐมนตรี และรมว.ยุติธรรม ฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 กรณีไม่ดำเนินการสอบสวน นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ที่แถลงข่าว แล้วใช้ถ้อยคำที่ไม่เหมาะสมด้วย อย่างไรก็ตาม การเคลื่อนไหวนี้ กปท. จะให้มวลชนเดินทางไปยังสถานที่นัดหมาย แต่จะไม่ให้ส่งผลกระทบกับการจราจรของประชาชนในถนนเส้นทางต่างๆ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 15.30 น. วานนี้ (18ส.ค.) กลุ่มหน้ากากขาว ที่ชุมนุมที่ เซ็นทรัลเวิลด์ ส่วนหนึ่งได้เคลื่อนตัวมาร่วมชุมนุมกับ กปท. โดยมีการแห่กลองยาวเข้ามายังพื้นที่ชุมนุมสวนลุมพินี รวมถึงนักศึกษาจากวิทยาลัยเทคนิคดอนเมืองจำนวนหนึ่ง ก็ได้เข้าร่วมชุมนุมด้วยเช่นกัน ทำให้บรรยากาศที่สวนลุมพินี คึกคักมากขึ้น

ต่อมาเวลา 17.30 น. ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ นำโดย คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช ประธาน ส.ส. ปชป. นางเจิมมาศ จึงเลิศศิริ รองประธาน ส.ส. ปชป. นายกรณ์ จาติกวณิช รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และนายกษิต ภิรมย์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ปชป. ได้เดินทางมาให้กำลังใจผู้ชุมนุมกลุ่มกองทัพประชาชนโค่นระบอบทักษิณ ที่สวนลุมพินี

ทั้งนี้ คุณหญิงกัลยา ได้ขึ้นบนเวทีปราศรัยพร้อมกับกล่าวกับผู้ชุมนุมว่า หลังจากทำงานในสภามา 3 วัน 3 คืน วันนี้ก็ได้มาให้กำลังใจผู้ชุมนุมที่จะทำงานใหญ่ให้กับประเทศ เราจะร่วมเดินไปด้วยกัน เพื่อล้มระบอบทักษิณ ขอให้พี่น้องอย่าวอกแวก หวั่นไหว เพราะเราทำในสิ่งที่ดีที่สุดเพื่อ ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์

** เชื่อตปท.ไม่ใส่ใจหนังสือของฝ่ายค้าน

วานนี้ (18 ส.ค.) นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.ต่างประเทศ กล่าวในรายการ “รัฐบาลยิ่งลักษณ์ พบประชาชน” ที่ เลื่อนการออกอากาศ จากวันที่ 17 ส.ค. มาเป็นวันที่ 18 ส.ค. เนื่องจากติดการถ่ายทอดสดการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณา ร่าง พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2557 เกี่ยวกับ แนวคิดสภาปฏิรูปการเมือง และการเชิญบุคคลระดับผู้นำต่างประเทศ เข้าร่วมปาฐกถาพิเศษภายใต้หัวข้อ Uniting for the future: Learning from each other's experiences (ผนึกกำลังสู่อนาคต เรียนรู้ร่วมกันจากประสบการณ์) ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 2 ก.ย. ที่โรงแรมพลาซ่า แอทธินี ว่า แนวคิดเรืองนี้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ได้ให้ตนไปดำเนินการตั้งแต่ต้นปี ก่อนที่จะพูดเรื่องสภาปฏิรูปการเมือง เนื่องจากเมื่อไปเยือนต่างประเทศจะถูกสอบถามถึงสถานภาพปัจจุบันของไทย ซึ่งนายกฯ ก็ชี้แจงรายละเอียด และคิดถึงวิธีการทำให้คนไทยหันหน้าเข้าหากัน ไม่ให้เกิดความขัดแย้ง จึงมีแนวคิดการจัดเวที เชิญคนที่มีประสบการณ์ คนที่มีความรู้เรื่องปรองดอง มาเล่าให้คนไทยได้รับฟัง โดยให้กระทรวงการต่างประเทศคิดรูปแบบมา แต่เป็นจังหวะเดียวกับที่นายกฯ พูดเรื่องสภาปฏิรูปการเมืองพอดี คนจึงคิดว่าเป็นเวทีเดียวกัน แต่จริงๆ แล้วเป็นคนละเวที

นายสุรพงษ์ กล่าวว่า ถ้าเราจัดขึ้นมา แล้วถ่ายทอดสด ผู้นำแต่ละประเทศก็จะเล่าประสบการณ์ประเทศเขา และประเทศที่เขาไปแก้ปัญหา คนไทยจะได้ฟังไปพร้อมๆ กัน ผู้นำที่มาเขาก็จริงใจที่จะนำข้อมูลเหล่านี้ ซึ่งเป็นข้อมูลทางวิชาการ มาถ่ายทอด เป็นการช่วยเหลือสังคมโลก ถือว่าเป็นวิทยาทาน บางท่านก็ไม่มีค่าใช้จ่ายเลย แต่สิ่งที่ตนรู้สึกเสียใจคือ การโจมตีว่าเราไปจ้างเขามา 20-30 ล้าน ซึ่งไม่เป็นความจริง อยากให้ใช้สติในการพูดอะไรออกมา เพราะการพูดเช่นนี่จะทำให้เกิดการแตกแยกขึ้น ซึ่งเราไม่ต้องการให้เกิดความขัดแย้งไม่ต้องการให้เกิดเหตุการณ์แบบอียิปต์

นายสุรพงษ์ กล่าวต่อว่า เราเชิญไปทั้งหมด 11 ท่าน ที่ตอบรับแล้ว 3 ท่าน ประกอบด้วย นายโทนี่ แบลร์ อดีตนายกรัฐมนตรีอังกฤษ นายมาร์ตี อาห์ติชารี อดีตประธานาธิบดีฟินแลนด์ นางพริซิลลา เฮย์เนอร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน และที่ปรึกษาอาวุโสขององค์กร Center for Humanitarian DIALOGUE (HDC) หรือ ศูนย์การพูดคุยเพื่อมนุษยธรรม ส่วนที่เหลือที่ยังไม่ได้ตอบรับ อาทิ นายโคฟี อันนัน อดีตเลขาธิการสหประชาชาติ นางฮิลลารี คลินตัน อดีตรมว.ต่างประเทศ สหรัฐฯ เป็นต้น ซึ่งอาจจะมาในการปาฐกถารอบต่อไปได้

ทั้งนี่ กิจกรรมในงานดังกล่าว ในช่วงเช้านายกฯ จะเป็นผู้กล่าวเปิดงาน และอดีตผู้นำทั้ง 3 ท่าน ก็จะเล่าประสบการณ์ต่างๆ ว่าเข้าไปแก้ไขปัญหาในประเทศต่างๆอย่างไรบ้าง ส่วนในช่วงบ่าย จะเป็นเวทีเสวนาของนักวิชาการจากต่างประเทศ โดยช่อง 11 ที่จะถ่ายทอดสดในช่วงเช้า และช่วงบ่ายจะเป็นถ่ายทอดทางวิทยุ ทาง AM 819 และFM92.5

"เป็นเรื่องที่น่าเสียใจที่มีคนกุข่าวว่า รัฐบาลต้องจ่ายเท่านั้น เท่านี้ และสิ่งที่ได้มาไม่คุ้มกับเงินที่เสียไป เพราะความจริงแล้ว เขาไม่มีค่าตัวเลย เราจ่ายแค่ค่าเครื่องบิน ที่พัก ค่าโรงแรม ค่าล่าม ค่าถ่ายทอดสด ค่าบอดี้การ์ด รักษาความปลอดภัย คนขับรถอำนวยความสะดวก ค่าประชาสัมพันธ์ ซึ่งรวมแล้วไม่ถึง 20 ล้านบาท ส่วนใหญ่ก็เป็นค่าประชาสัมพันธ์ ส่วนจะคุ้มค่าหรือไม่นั้น หากตัวตัวเลขความเสียหายจากความขัดแย้งในประเทศที่ผ่านมา มากกว่าสิ่งที่เราดำเนินการอยู่ในตอนนี้"

ส่วนที่พรรคฝ่ายค้านทำหนังสือไปยังประเทศต่างๆ ชี้แจงถึงความขัดแย้งในประเทศไทย และที่เขาเข้ามาอาจจะเป็นเครื่องมือทางการเมืองนั้น นายสุรพงษ์ กล่าวว่า ตนไม่กังวลในเรื่องนี้ เพราะรัฐบาลชุดที่ผ่านมาไม่ได้รับการยอมรับจากนานาประเทศ เพราะไม่ได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชนจริงๆ มาจากกระบวนการของรัฐสภา สังคมโลกเขารู้ และเขาก็รู้ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ว่าเป็นเรื่องของการเมือง ต่างประเทศจึงให้การยอมรับ การที่ฝ่ายค้านจะทำอะไรนั้นก็ถือเป็นสิทธิ เขาคงไม่สนใจเนื่องจากรู้ว่าอะไรเป็นอะไร และวันนี้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้รับเชิญไปประเทศต่างๆ เยอะมาก แต่ฝ่ายค้านก็กล่าวหาว่าเป็นการสิ้นเปลือง แต่ทุกครั้งที่ไปก็ได้ศึกษาประเทศต่างๆว่าต้องการสินค้าของไทยหรือไม่ มีนักท่องเที่ยวมาไทยหรือไม่ รวมถึงได้ประชาสัมพันธ์ถึงวัตถุประสงค์ในการเดินทาง เพื่อสร้างความเข้าใจแก่ประเทศต่างๆ และการกล่าวหาว่าเราไปประเทศที่ยากจน เราดูถูกเขาไม่ได้เพราะถือเป็นมิตรประเทศ หากเกิดเหตุการณ์คับขันเสียงของเขาในสังคมโลกก็จะคอยช่วยสนับสนุนเราได้

** พท.วางเกมถกแก้ไขรธน. 20 ส.ค.

นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย เปิดเผยว่า ในวันนี้ (19 ส.ค.) พรรคจะมีการประชุม เพื่อชี้แจงกับ ส.ส.ของพรรค ในการกำหนดผู้อภิปรายสนับสนุน ร่าง แก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่จะมีการประชุมร่วมรัฐสภาในวันอังคาร ที่ 20 ส.ค.นี้ ร่วมถึงวิปรัฐบาลก็จะมีการประชุมเช่นกัน เพื่อกำหนดกรอบเวลาการอภิปรายร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายปี 57 ที่ยังคงค้างอยู่ ร่วมถึงเตรียมแผนรับมือหากฝ่ายค้านเตะถ่วงการพิจารณาของสภาฯ

นายพร้อมพงศ์ ยังแสดงความเป็นห่วงกรณี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ยังเปิดเวทีผ่าความจริงโจมตีรัฐบาล กล่าวหาว่า รัฐบาลว่าจ้างผู้นำต่างประเทศ มาเข้าร่วมการเสวนาหาทางออกประเทศของรัฐบาล โดยเห็นว่า นายอภิสิทธิ์ แกล้งทำเป็นไม่รู้ ทั้งๆ ที่นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.ต่างประเทศ ยืนยันแล้วว่าไม่ได้จ้างมา ตนจึงขอท้า หากนายอภิสิทธิ์ มีหลักฐานการว่างจ้าง ก็ให้นำออกมาเปิดเผย

นอกจากนี้ การที่พรรคประชาธิปัตย์ สร้างเงื่อนไข ว่าต้องถอน ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ออกจากการพิจารณาของสภาฯก่อน ที่จะมีการเปิดสภาปฏิรูปนั้น เป็นพฤติกรรมที่เห็นประโยชน์ส่วนตัวมากกว่าผลประโยชน์ของประเทศ จึงขอเรียกร้องให้แกนนำพรรคประชาธิปัตย์ กลับไปทบทวนว่า ควรจะเข้าร่วมกันแก้ปัญหาเพื่อประโยชน์ของประเทศหรือไม่

นายพร้อมพงศ์ ยังกล่าวถึงการเชิญชวนให้ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ลาออกทั้งพรรค เพื่อมาเคลื่อนไหวล้มรัฐบาลนอกสภาฯ ว่า อยากให้เวทีสภาปฏิรูปการเมืองเป็นเวทีพูดคุยกัน การใช้เวทีดังกล่าวจะเกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติ และประชาชนมากกว่า การที่นายอภิสิทธิ์ และพรรคฝ่ายค้านปฏิเสธเข้าร่วมสภาปฏิรูปการเมือง ก็ไม่เกิดประโยชน์กับตัวเอง ยิ่งทราบกระแสข่าวการเชิญชวนให้ ส.ส.ประชาธิปัตย์ลาออกทั้งพรรค ก็ไม่สบายใจ น่าจะใช้ช่องทางสภาปฏิรูปการเมืองมาพูดคุยกันในความเห็นต่างน่าจะดีกว่า อยากให้นายอภิสิทธิ์ นายชวน ทบทวน ไม่ใช่ตั้งแง่จะเล่นแต่เกมการเมือง และหากจะออกมาเล่นการเมืองข้างถนน ยิ่งเป็นสิ่งไม่ถูกต้อง

นายวราเทพ รัตนากร รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และ รมช.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวถึงกรณี ประธานรัฐสภา บรรจุร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 190 และร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 และ มาตรา 237 เป็นวาระเพิ่มเติมในระเบียบวาระการประชุมรัฐสภา ในวันที่ 20 ส.ค.นั้น เป็นไปตามกลไกรัฐสภา ร่างการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 3 ฉบับรัฐบาลไม่ได้เป็นคนเสนอ เป็นเรื่องที่ ส.ส.ซีกรัฐบาลตัดสินใจ รัฐบาลเคยเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับแล้ว แต่ยังค้างอยู่ในสภาฯ เชื่อว่า การพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญ จะไม่กลายเป็นชนวนให้เกิดการชุมนุม นำไปสู่ความรุนแรง เพราะจะมีการพิจารณาประเด็นเดียวคือ การแก้ไขที่มาของวุฒิสภาเท่านั้น และไม่อยากให้เอาเป็นเงื่อนไขเกี่ยวพันกับการปฏิรูปการเมือง เหมือนทีพรรคประชาธิปัตย์มองทุกเรื่องเป็นเงื่อนไขไปหมด

** เตือนแก้รธน.อาจถึงขั้นยุบพรรค

นายสุริยะใส กตะศิลา ผู้ประสานงานกลุ่มกรีน กล่าวว่า กรณีที่ประธานรัฐสภา เรียกประชุมร่วมสองสภาในวันที่ 20 ส.ค.เพื่อพิจารณาร่าง แก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยจะพิจราณาในประเด็นที่มาของส.ว. ก่อนนั้น ถือเป็นการดันทุรังและข้ามหน้าข้ามตาศาลรัฐธรรมนูญ เพราะศาลรัฐธรรมนูญได้รับคำร้องของกลุ่มคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 5 คำร้องไว้พิจารณาแล้ว และอยู่ระหว่างมีคำวินิจฉัยว่า การแก้รัฐธรรมนูญทั้ง 4 ประเด็น ขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่

ทั้งนี้ มีประเด็นสำคัญที่ยังรอคำวินิจหลายประเด็น เช่น การแก้รัฐธรรมนูญ แม้แก้เป็นรายมาตรา ทำได้หรือไม่ เนื่องจากฐธรรมนูญฉบับนี้ ไม่เหมือนรัฐธรรมนูญฉบับที่เคยมีมา เพราะมาจากการลงประชามติของประชาชน และศาลรัฐธรรมนูญเคยวินิจฉัยวางกรอบไว้ว่า ถ้าจะแก้รัฐธรรมนูญ ต้องถามประชาชนเพราะอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญมาจากประชาชน

และประเด็นที่อาจเข้าข่ายขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 122 ที่ห้าม ส.ส. และ ส.ว. ทำหน้าที่ขัดกันทางผลประโยชน์ หรือมีส่วนได้เสียในการทำหน้าที่ แต่ในคำอภิรายวาระหนึ่ง และขั้นตอนแปรญัตติ พบชัดเจนว่า ส.ว.หลายคนเสนอให้แก้ที่มา ส.ว. โดยไม่จำกัดวาระ และไม่มีข้อยกเว้น กรณีเคยเป็นสมาชิกพรรคการเมือง หรือแม้กระทั่งในประเด็น มาตรา 237 กรณียุบพรรคการเมือง ก็พบว่า ส.ส.หลายคน อภิปรายและแปรญัตติให้ตัดประเด็นนี้ไป ซึ่งถือว่าเป็นการกระทำที่ขัด มาตรา 122 อย่างชัดเจน

ฉะนั้นหากส.ส. และส.ว. เดินหน้าประชุม และลงมติ ก็ถือเป็นการท้าทายอำนาจศาลรัฐธรรมนูญโดยตรง ซึ่งอาจะทำให้ถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองและถูกยุบพรรคได้

"ผมจึงเห็นว่ารัฐสภาควรรอคำวินิจฉัยจากศาลรัฐธรรมนูญเพื่อให้เกิดความชัดเจนก่อน และก็ขอเรียกร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญเร่งวินิจฉัยในเรื่องนี้ เพราะศาลได้รับคำร้องคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญมา 4 เดือนแล้ว" นายสุริยะใส กล่าว

**"โคทม"แนะวางกรอบก่อนคุย

นายโคทม อารียา ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาสันติวิธีและพัฒนาสันติวิธี ม.มหิดล กล่าวว่า การที่ตนได้รับการทาบทามจากรัฐบาล เพื่อเข้าร่วมสภาปฏิรูปการเมือง ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยหาทางแก้ไขปัญหาให้กับสังคม และประเทศชาติซึ่งในช่วงที่ถูกทาบทามนั้น ฝ่ายรัฐบาล ก็ยังไม่มีกรอบที่ชัดเจนมานำเสนอ แต่ได้แนะนำว่า การจะจัดตั้งเวที หรือคณะกรรมการหรือคณะทำงานขึ้นมาทำงานการเมืองนั้น น่าจะมีการพูดคุยให้ครอบคลุมในทุกมิติ คือทั้ง อดีต ปัจจุบัน และอนาคต ซึ่งในช่วงแรกน่าจะทำงานแบบค่อยเป็นค่อยไป เพราะการที่จะสร้างอนาคตร่วมกันนั้น เป็นเรื่องที่ยิ่งใหญ่ ฉะนั้นในช่วงแรกก็ต้องทำอนาคตอันใกล้ให้ดีก่อน ส่วนตัวนั้นการประชุมในนัดแรก คงจะใช้เวลาส่วนใหญ่นั่งฟังเหตุและผล ความคิดเห็นของท่านอื่นๆ ก่อนเพื่อจะได้วางกรอบเพื่อแนะนำส่วนตัวต่อไป

**เชื่อไม่เห็นผลต่อเศรษฐกิจปีนี้

นายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล รองประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การตอบรับเข้าร่วมสภาปฏิรูปการเมืองของภาคเอกชน เชื่อว่า ไม่เห็นผลที่เป็นรูปธรรมต่อภาวะเศรษฐกิจของประเทศภายในปีนี้อย่างแน่นอน ซึ่งการเข้าร่วมของภาคเอกชนเพื่อได้มีโอกาสในการสะท้อนปัญหาและผลกระทบที่เกิดขึ้นจากความขัดแย้งทางการเมืองที่มีต่อภาคธุรกิจ ซึ่งที่ผ่านมาต้องยอมรับว่า ปัญหาที่ทำให้ภาวะเศรษฐกิจของประเทศขยายตัวได้ไม่เต็มที่ มาจากการเมืองในประเทศที่มีความไม่แน่นอน และสำหรับสภาปฏิรูปการเมืองในวันนี้ ต้องมีทิศทางที่ชัดเจนว่าจะมีการปฏิรูปในส่วนใดก่อน เพราะการเชิญผู้เข้าร่วมจากหลากหลายฝ่ายนั้นอาจจะทำให้การปฏิรูปล่าช้าออกไป เพราะต่างฝ่ายก็ต้องการที่จะเสนอแนวทางของแต่ละฝ่ายเป็นสำคัญ อาจทำให้ไม่สามารถตกลงร่วมกันได้

**นิด้าโพลไม่เชื่อกม.นิรโทษฯจะปรองดอง

ศูนย์สำรวจความคิดเห็น“นิด้าโพล”สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง“ความเชื่อมั่นของคนไทยต่อสภาปฏิรูปการเมือง”โดยทำการสำรวจระหว่างวันที่ 15-16 ส.ค. 56 จากประชาชนทั่วประเทศ จำนวน 1,254 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับความเชื่อมั่นที่มีต่อร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม และการจัดตั้งสภาปฏิรูปการเมือง อันจะนำไปสู่ความปรองดองของคนในชาติ และลดความขัดแย้งทางการเมือง และความกังวลต่อความรุนแรงทางการเมืองในระหว่างการพิจารณา พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ในวาระที่ 2 และ 3

จากการสำรวจ ถึงความเชื่อมั่นที่มีต่อ ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม จะทำให้ประเทศชาติเกิดความปรองดอง พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 47.13 ระบุว่า ไม่มั่นใจเลย รองลงมาร้อยละ 29.03 ระบุว่า ไม่ค่อยมั่นใจ ร้อยละ 12.12 ระบุว่า ค่อนข้างมั่นใจ มีเพียงร้อยละ 8.21 ระบุว่า มั่นใจมาก

เมื่อถามถึงความเชื่อมั่นที่มีต่อสภาปฏิรูปการเมืองของรัฐบาล จะเป็นทางออกในการแก้ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองในปัจจุบัน พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 41.07 ระบุว่า ไม่มั่นใจเลย รองลงมาร้อยละ 33.41 ระบุว่า ไม่ค่อยมั่นใจ ร้อยละ 14.35 ระบุว่า ค่อนข้างมั่นใจ และมีเพียงร้อยละ 7.34 ระบุว่า มั่นใจมาก

ส่วนความกังวลใจของประชาชน ต่อความรุนแรงทางการเมืองที่อาจจะเกิดขึ้นในระหว่างสภาฯ พิจารณา ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ในวาระ 2 และ 3 พบว่า ส่วนใหญ่ ร้อยละ 39.71 ระบุว่า ค่อนข้างกังวลใจ รองลงมา ร้อยละ 22.81 ระบุว่า กังวลใจมาก ร้อยละ 19.54 ระบุว่า ไม่กังวลเลย และ ร้อยละ 15.87 ระบุว่าไม่ค่อยกังวล

**ดุสิตโพลชี้ต้องปฏิรูปที่ความขัดแย้ง


สวนดุสิตโพล สอบถามความคิดเห็นจากประชาชน เรื่องการ “ปฏิรูปการเมืองไทย”ในสายตาประชาชน โดยสำรวจจากประชาชนทั่วประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 1,648 คน ระหว่างวันที่ 12-17 ส.ค.56 สรุปผลดังนี้

จากคำถามว่า สถานการณ์ทางการเมืองไทย ณ วันนี้ ประชาชนคิดว่าถึงเวลาหรือยังที่จะต้องมี “การปฏิรูปการเมืองไทย” อันดับ 1 ร้อยละ 72.29 ระบุว่า ถึงเวลาแล้ว เพราะ ความแตกแยกแบ่งฝักแบ่งฝ่ายทางการเมือง การทุจริตคอร์รัปชัน การใช้อำนาจในทางที่ผิดทำให้ประเทศไม่พัฒนา ประชาชนอยู่อย่างลำบาก ฯลฯ ส่วนอันดับ 2 ที่ระบุว่ายังไม่ถึงเวลา ร้อยละ 27.71 เพราะ การปฏิรูปการเมืองเป็นเรื่องที่เข้าใจยาก คนส่วนใหญ่ยังไม่เข้าใจในเรื่องนี้ ยังไม่มีรูปแบบแนวทางที่ชัดเจน ฯลฯ

เมื่อถามว่าประชาชนคิดว่าเรื่องใด ? ที่การเมืองไทยควรจะปฏิรูปเพื่อให้ดีขึ้น อันดับ 1 ร้อยละ 34.55 คิดว่าความขัดแย้ง แตกแยกแตกความสามัคคี แบ่งฝักแบ่งฝ่าย อันดับ 2 ร้อยละ 20.12 คิดว่าการทุจริตคอร์รัปชัน การใช้อำนาจหน้าที่ในทางที่ผิด อันดับ 3 ร้อยละ 17.48 คิดว่า การเสริมสร้าง ปลูกฝังคุณธรรมจริยธรรมให้กับนักการเมือง ข้าราชการและประชาชน

ส่วนคำถามว่าประชาชนคิดว่าทำไม? “การปฏิรูปการเมือง”จึงเป็นเรื่อง “ยากลำบาก” อันดับ 1 ร้อยละ 34.00 มองว่า เกิดจากความแตกแยกแบ่งฝักแบ่งฝ่าย มุ่งแต่เอาชนะคะคาน ไม่ยอมกัน มีมุมมองที่แตกต่างกัน อันดับ 2 ร้อยละ 32.73 มองว่า มีเรื่องผลประโยชน์การทุจริต คอร์รัปชั่นเข้ามาเกี่ยวข้อง ความเห็นแก่ตัวเห็นแก่พวกพ้อง อันดับ 3 ร้อยละ 13.09 มองว่า ผู้มีอำนาจใช้อำนาจหน้าที่ในทางที่ผิด การเมืองเข้ามาแทรกแซง ยึดติดระบบการเมืองแบบเก่า
เมื่อถามว่าประชาชนเห็นด้วยหรือไม่ กับแนวทาง/วิธีการปฏิรูปการเมืองไทยของรัฐบาล ที่กำลังดำเนินการอยู่ขณะนี้ อันดับ 1 ร้อยละ 66.17 เห็นด้วยในบางเรื่อง เพราะ รัฐบาลตั้งใจที่จะแก้ปัญหาให้ดีขึ้น สถานการณ์ต่างๆ จะได้คลี่คลาย แต่บางเรื่องก็ไม่เกี่ยวข้องกับประชาชน เช่น เชิญนักการเมืองระดับโลกมาเข้าร่วม การปฏิรูปการเมืองเป็นเรื่องสำคัญ ควรศึกษาอย่างละเอียด มีหลายเรื่องที่ควรเร่งดำเนินการ ฯลฯ อันดับ 2 ร้อยละ 22.14 ไม่เห็นด้วยทุกเรื่อง เพราะ เป็นการทำเพื่อประโยชน์ของคนบางกลุ่ม สิ้นเปลืองงบประมาณ เสียเวลาในการพัฒนาประเทศ ฯลฯ อันดับ 3 ร้อยละ 11.69 เห็นด้วยทุกเรื่อง เพราะ บ้านเมืองจะได้เปลี่ยนแปลงและพัฒนาไปในทางที่ดีขึ้น สิ่งที่ดำเนินการอยู่เป็นการทำเพื่อส่วนรวม ฯลฯ
กำลังโหลดความคิดเห็น