“ปู” เผยอดีตนายกฯ อังกฤษ-อดีตเลขาฯ ยูเอ็น ตอบรับร่วมเวทีปฏิรูปการเมือง ชี้ส่วนหนึ่งหาทางออกชาติ ใช้ประสบการณ์ระดับผู้นำเวทีโลกให้ความรู้ เป็นกรณีศึกษานำมาประยุกต์ใช้ พร้อมเชิญมาต่อเนื่อง เพื่อเป็นประโยชน์สู่ความปรองดอง หวัง ปชป.-กลุ่มเห็นต่างร่วมวง
วันนี้ (9 ส.ค.) ที่โรงแรมไฮแอท รีเจนซี่ หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม กล่าวถึงกรณีข่าวมอบหมายให้กระทรวงการต่างประเทศ ทาบทามบุคคลสำคัญในเวทีโลกที่มีบทบาทในเรื่องของประชาธิปไตยและความปรองดอง เข้าร่วมเวทีปฏิรูปการเมือง ทางออกประเทศไทย ผ่านโครงการ Uniting for the future: Learning from each other's experiences โดยนายโทนี แบลร์ อดีตนายกรัฐมนตรีอังกฤษ นายโคฟี อันนัน อดีตเลขาธิการองค์การสหประชาชาติ เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ ตอบรับคำเชิญแล้วว่า เป็นส่วนหนึ่งที่เราอยากเห็นทิศทางของทางออกประเทศในอนาคตข้างหน้า ซึ่งนอกจากที่รัฐบาลได้รวบรวมความคิดเห็นของประชาชนในเรื่องของการทำประชาเสวนาแล้ว หนึ่งในนั้นคือการเปิดเวทีพูดคุยเพื่อหาทางออกประเทศ โดยเรียนเชิญผู้ที่เกี่ยวข้องทุกท่าน และอีกส่วนหนึ่งคือเวทีที่เราจะเชิญระดับผู้นำ หรืออดีตผู้นำในเวทีโลกที่เคยมีประสบการณ์มาแลกเปลี่ยนในการให้ความรู้ เน้นการนำเอาประสบการณ์ต่างประเทศที่ประสบความสำเร็จหรือที่มีการปฏิบัติแล้วมาให้กับประเทศไทยได้รับทราบ
นายกฯ กล่าวว่า อันนี้จะเป็นเคสของต่างประเทศล้วนๆ ไม่ใช่เป็นการพูดถึงส่วนของประเทศไทย อย่างน้อยเป็นการให้ความรู้ว่าในอนาคต ถ้าเราอยากเห็นมันก็จะมีหลายๆ แบบที่เป็นที่กรณีตัวอย่างหรือเป็นโมเดลหลายๆ แบบ และอยู่ที่เราจะนำไปประยุกต์ใช้อย่างไร เพราะไม่ได้หมายความว่าใช้ประเทศหนึ่งแล้ว จะต้องนำมาใช้ในประเทศไทย แต่อย่างน้อยเปิดเป็นเชิงกรณีศึกษา ซึ่งรัฐบาลจะเรียนเชิญผู้นำในแต่ละประเทศอย่างต่อเนื่องในเวลานี้อยู่ในช่วงของการทาบทาม โดยทางกระทรวงการต่างประเทศกำลังรอคำยืนยันอย่างเป็นทางการ เพราะในเบื้องต้นได้รับการตอบรับมาแล้ว ส่วนระยะเวลาการจัดอยู่ที่ความพร้อมของผู้นำที่จะมา แต่เรามีความตั้งใจอยากจะจัดแบบนี้อย่างต่อเนื่องเพื่อให้ความรู้ และเปิดมุมมองใหม่ โดยเฉพาะมุมมองที่เป็นสากลที่นานาประเทศได้มีการปฎิบัติแล้ว เผื่อจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศไทยบ้าง เป็นการเชิญผู้นำจากต่างประเทศมาพูดที่เมืองไทย พูดให้คนไทยฟัง โดยเวทีนี้จะเปิดกว้างเผื่อไทยไหนสนใจที่จะฟัง ถือว่าเป็นอีกมุมมองหนึ่ง และการที่จะใช้หรือไม่ใช้อย่างไรอยู่ที่เราคิดว่าตรงไหนเหมาะสม แต่อย่างน้อยตนเองเชื่อว่ามุมมองต่างๆ นี้ เราน่าจะมีกระบวนการในการรับฟังทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อนำมาใช้ในประเทศไทย แต่ที่สำคัญคือเราอยากเห็นบรรยากาศที่ดี เดินทางไปข้างหน้าเพื่อความปรองดอง
เมื่อถามว่าพรรคประชาธิปตย์ยืนยันชัดเจนจะไม่ร่วมเวทีปฏิรูปการเมืองเด็ดขาด นายกฯ กล่าวว่าในส่วนของรัฐบาลก็พยายามอย่างเต็มที่เปิดในหลายๆ เวที และการให้ความรู้เราจะทำควบคู่กันไป ตนเองหวังว่าวันหนึ่งจะได้มีโอกาสได้ร่วมเวทีกัน เมื่อถามว่า ช่วงนี้จะเดินหน้าเวทีนี้ต่อไปใช่หรือไม่ นายกฯ กล่าวว่าจริงๆไม่อยากเรียกว่าเป็นเวที เรียกว่าเป็นการเชิญมาพูดคุยกัน ส่วนจะพัฒนาไปได้มากน้อยแค่ไหนอยู่ที่บรรยากาศและพวกเราทุกคน ที่จะเปิดมุมมองต่างๆ ร่วมกันเพื่อประเทศ แต่ยืนยันเราจะทำงานอย่างเต็มที่ โดยเชิญทุกหน่วยงาน และทุกท่านที่เกี่ยวข้องเรียกว่าทุกกลุ่มที่มีความเห็นทั้งที่เหมือนกันและที่มีความเห็นต่าง มาแลกเปลี่ยนมุมมอง ส่วนจะมีการจะพัฒนาต่อไปอย่างไรอยู่ที่ประชุมจะมาช่วยกัน
เมื่อถามว่านอกจากโทนี แบลร์ และโคฟี อันนัน มีใครตอบรับอีกหรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า คงต้องขออนุญาตเรียนให้ทราบเมื่อมีการตอบรับคำเชิญอย่างเป็นทางการแล้ว ซึ่งทั้ง 2 คนตอบรับแล้ว แต่ยังไม่เป็นลายลักษณ์อักษร รอให้กระทรวงการต่างประเทศได้รับหนังสืออย่างเป็นทางการก่อน เมื่อถามว่าจะเชิญผู้นำต่างประเทศร่วมกี่คน นายกฯ กล่าวว่า อยากจะเชิญ 2-3 ท่าน ถ้าเป็นไปได้ 1-2 เดือนเชิญครั้งหนึ่ง เพราะเราก็เข้าใจภารกิจของผู้นำ ซึ่งไม่อาจมาพร้อมกันได้ ต้องดูที่ความสะดวกจังหวะเวลา