xs
xsm
sm
md
lg

“แบลร์” ชู 5 ทางปรองดอง “พริซิลลา” ค้านแหลกนิรโทษ “นิชา” โผล่ซัก ผู้จัดหักหน้า “สุรินทร์” ถาม อ้างขัดแย้ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


อดีตนายกฯ อังกฤษ ยันไม่ได้ถูกจ้างมาจ้อ ชู 5 แนวทาง ชี้ต้องแบ่งปัน คิดสู่อนาคต ตั้งกรอบที่ยุติธรรมปราศจากอคติและแทรกแซง ระบุแก้ รธน.แค่ผิว ลั่นประชาธิปไตยไม่ใช่แค่ลงคะแนน รัฐต้องโปร่งใส แต่รับพูดไปไม่ง่าย อดีต ปธน.ฟินแลนด์ บอกอยู่ที่พฤติกรรมนักการเมืองและชาวบ้าน ผู้เชี่ยวชาญ ยธ.โผล่ค้านนิรโทษ แค่ใช้กำลังข่มขู่ก็ล้มเหลวแล้ว ปฏิรูปรีบก็ไม่ได้ ไล่ไปดูข้อเสนอ คอป. อย่าเลิกหาความจริง “นิชา” แจมซัก “แบลร์” ตอบเสียใจสามีสิ้นชีพ ย้ำกระบวนการยุติธรรมต้องอิสระ ผู้จัดโร่แจงไม่เกี่ยวกับรัฐ แค่บังเอิญตรงปฏิรูป ก่อนหักหน้าอดีตเลขาฯ อาเซียนขอถาม บอกสุ่มเสี่ยงขัดแย้ง

วันนี้ (2 ก.ย.) ที่โรงแรมพลาซ่า แอทธินี บรรยากาศ ช่วงเช้าในงานปาฐกถา “ผนึกกำลังสู่อนาคต : เรียนร่วมกันจากประสบการณ์” (UNITING FOR THE FUTURE: LEARING from each other’s experiences) เป็นไปอย่างคึกคัก โดยมีบุคลากรจากหน่วยงานต่างๆทั้งไทยและต่างประเทศทยอยลงทะเบียนเพื่อร่วมงานเป็นจำนวนมาก ทั้งนี้ในห้องประชุมได้จัดเตรียมเก้าอี้เพื่อรองรับผู้ร่วมงานไว้จำนวน 500 ที่นั่งโดยประมาณ

ภายหลังจากที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวเปิดงานแล้วนั้น นายฐิตินันท์ พงษสุทธิรักษ์ ผู้อำนวยการสถาบันความมั่นคงและนานาชาติศึกษา ในฐานะผู้ดำเนินรายงาน ได้เชิญนายโทนี แบลร์ อดีตนายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักร นายมาร์ติ อาห์ติซารี อดีตประธานาธิบดีฟินแลนด์ ผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ ปี 2551 และนางพริซิลลา เฮย์เนอร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่านและที่ปรึกษาอาวุโสขององค์กร center for humanitarian dialogue (HDC) ขึ้นเวทีเพื่อร่วมเสวนา

โดยนายฐิตินันท์อธิบายในช่วงต้นว่า การจัดงานครั้งนี้ไม่ได้เกี่ยวข้องกับรัฐบาล โดยงานปาฐกถานี้ได้เตรียมการมา 3 เดือนกว่า แต่บังเอิญว่าไปตรงกับเวทีปฏิรูปสภาของรัฐบาล งานนี้อาจเสริมได้บางส่วน แต่การจัดการงานแยกกันมาโดยตลอด ขณะเดียวกันหากมีเวทีการปรองดองอีกก็ยินดีเข้ามามีส่วนร่วมด้วย

จากนั้น นายโทนี แบลร์ ได้ปาฐกถาเป็นคนแรก โดยกล่าวในช่วงต้นว่าสาเหตุที่ได้มาร่วมงานนี้เนื่องจากผู้จัดงานเชิญมา โดยไม่ได้รับเงินรับทองอะไร แต่มาเพราะเชื่อในกระบวนการสมานฉันท์และปรองดอง ซึ่งไม่ใช่มาเพื่อบรรยายแต่มาเพื่อแบ่งปันประสบการณ์ อย่างไรก็ตาม สุดท้ายแล้วจะแก้ไขปัญหาอย่างไรเป็นหน้าที่ของคนไทย

นายโทนีกล่าวต่อว่า อยากบอกหลักการ 5 ประการจากการเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการปรองดอง หลักการที่ 1 คือ การปรองดองเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อสังคมมีความรู้สึกอยากแบ่งปันมากกว่าแบ่งแยก หรือหมายความว่าเรามีความรู้สึกไม่พอใจเกิดขึ้น แต่ก็อยู่ในบริบทที่สังคมรู้สึกต้องการเห็นโอกาสมากกว่าไม่พออกพอใจในอดีต สิ่งที่สำคัญคือ การเจรจาต่อรองสันติภาพและการผนึกกำลังร่วมกันที่จะแบ่งปันโอกาส

นายโทนีกล่าวอีกว่า ประการที่ 2 สังคมจะต้องอยู่สถานการณ์ที่พูดถึงเรื่องการปรองดอง หมายความว่าเป็นความขัดแย้งที่มีการปรองดอง อดีตสามารถที่จะวิเคราะห์ได้แต่ไม่ควรตัดสิน ทั้งนี้ก็เพื่อความพอใจของทุกฝ่ายได้ อย่างไรก็ตาม เราต้องยอมรับว่าจะอย่างไรก็ตามมีเรามีสองฝ่ายและเราไม่สามารถข้ามพ้นได้ แต่สามารถตรวจวิเคราะห์อดีตเพื่อเดินสู่อนาคตได้ สิ่งที่ยากที่สุดคือการที่จะยอมรับความไม่พอใจและการปล่อยตัวนักโทษ ดังนั้นความปรองดองจะไม่ใช่เกี่ยวกับเรื่องความคิดในอดีต แต่เป็นความคิดที่จะนำไปสู่อนาคต อย่างไรก็ตามหากวิเคราะห์เหตุการณ์ประเทศไทย เราจะเห็นประเด็นต่างๆ ที่คล้ายคลึงกัน คือเรื่องของความทุกข์ของญาติเหยื่อที่เสียชีวิตก็ยังอยู่ แต่การปรองดองต้องก้าวข้ามมันไป

นายโทนีกล่าวด้วยว่า หลักการที่ 3 คือ เราไม่สามารถลบล้างความอยุติธรรมได้ แต่สาระที่แท้จริงคือสามารถตั้งกรอบการทำงานที่ทุกคนเห็นว่ายุติธรรมได้ ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องสำคัญยิ่ง ทั้งนี้ประเทศไทยมีกรอบอยู่แล้ว คุณสามารถลงรายละเอียดเพิ่มเติมในผลลัพท์ที่ถูกต้อง สำหรับประเด็นเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ หรือประเด็นว่าใครขึ้นมายึดอำนาจ ประเด็นเหล่านั้นเป็นประเด็นแค่พื้นผิว แต่ลึกลงไปคือความไม่เห็นชอบของแต่ละฝ่าย การปรองดองจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อคุยในประเด็นที่ลึกลงไปในแง่ของความยุติธรรมและความสมดุล ไม่ว่าจะเห็นขัดแย้งอย่างไรก็ต้องทำให้เห็นว่ามีทางเดินไปสู่อนาคต

นายโทนีกล่าวเพิ่มเติมว่า หลักการที่ 4 คือ หลักการประชาธิปไตยที่แท้และใช้งานได้ หมายความว่า ในแต่ละประเทศมีการแบ่งแยกกัน มีพรรค ชนชั้น ศาสนา เชื้อชาติ และสีผิว ในประเทศไทยมีการแบ่งแยกมากมาย แต่เป็นเรื่องปกติ อย่างไรก็ตามสองสามอย่างที่เกี่ยวกับประชาธิปไตยอย่างแท้จริง คือ ประชาธิปไตย ไม่เรื่องลงคะแนนเสียงเฉยๆ ไม่ใช่เรื่องว่าคนส่วนใหญ่เข้าไปมีอำนาจ แต่ประชาธิปไตยเป็นเรื่องเกี่ยวกับแนวคิดที่ว่าคนส่วนใหญ่จะมีความสัมพันธ์กับคนกลุ่มน้อยอย่างไร หากคิดว่าประชาธิปไตยคือการชนะทุกอย่างจะทำให้คนกลุ่มน้อยรู้สึกว่าถูกกีดกันในทุกเรื่อง

“ผมเห็นว่าประชาธิปไตยคือพหุภาคี ไม่ใช่อำนาจกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่เป็นเรื่องการมีพื้นที่แบ่งปันทำงานกันได้ แบ่งปันค่านิยมบางอย่างร่วมกัน ประชาธิปไตยเป็นเรื่องของความคิด นี่คิดแกนของประชาธิปไตย ส่วนเรื่องหลักนิติธรรมต้องดำเนินไปไม่เอนเอียง ไม่ว่าจะเป็นตุลาการหรือรัฐบาลต้องตรวจสอบได้ ความยุติธรรมต้องมีความอิสระปราศจากการแทรกแซงและอคติ นี่คือกระบวนการยุติธรรมที่ถูกต้อง” นายแบลร์กล่าว

อดีตนายกฯ อังกฤษ กล่าวอีกว่า หลักการที่ 5 คือ หลักการที่นำไปปฏิบัติได้จริงแต่ปัจจุบันหลงลืมไป การปรองดองจะเกิดขึ้นได้ง่ายถ้าถ้ารัฐบาลมีประสิทธิภาพในการดูแลประชาชน โปรงใส่ตรวจสอบได้ ทั้งนี้ การปรองดองจะง่ายขึ้นถ้ารัฐบาลกำลังทำงานเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงให้ประชาชนรู้สึกดีขึ้น หรืออีกนัยหนึ่งคือให้ประชาชนรู้สึกว่ากระบวนการสันติภาพนำความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ดังนั้นประเด็นที่รัฐบาลจะเดินหาประชาชนทำให้เขาเป็นอยู่ดีขึ้น คือประเด็นที่สำคัญและเป็นสิ่งที่ท้าทายของรัฐบาล

“นี่คือหลักการทั้งห้าข้อในการทำงานปรองดองของผม กระบวนการนี่ไม่ง่าย และบางครั้งคุณก้าวสู่ในเหตุการณ์ที่ว่าความแตกต่างไม่สามารถนำสู่ความปรองดองได้เลย สิ่งที่สำคัญในการปรองดอง คืออย่ายอมแพ้ เพราะเป็นอนาคตของประเทศ แม้จะดูยากแค่ไหน แต่ก็คุ้มค่าที่จะปรองดอง ขอย้ำว่าประชาชนต้องเข้ามามีส่วนร่วม ในทุกประสบการณ์ที่ตนทำมา ผู้นำต้องอยู่หน้าขบวนการปรองดอง แต่ประชาชนต้องตามหลังมาด้วย ฉะนั้นอย่ายอมแพ้และอยากจะบอกว่า คุณไม่สามารถลบเลือนความแตกต่างได้ แต่ยืนยันว่าหากสามารถทำงานร่วมกันก็จะนำผลประโยชน์ไปสู่ประชาชนได้อย่างมหาศาล” นายโทนี แบลร์ ระบุ

ด้านนายมาร์ตีปาฐกถาว่า การสร้างความปรองดองได้นั้น อยู่ที่พฤติกรรมของประชาชนทั้งนักการเมืองและคนทั่วไป นอกจากนี้ต้องทำให้ประชาชนมีการศึกษาและสุขภาวะที่ดี รวมถึงต้องหาวิธีการดูแลเรื่องความยุติธรรมและความเศร้าโศกในอดีต อีกทั้งต้องมีการสานเสวนาเพื่อสร้างความปรองดอง รวมถึงผู้นำรัฐบาลต้องมีความมุ่งมั่นในการทำงานเพื่อแก้ไขความขัดแย้งได้ในอดีต และต้องมีประชาชนสนับสนุนตลอดจนก้าวไปพร้อมกันด้วย ปัญหาในบ้านเมืองไม่สามารถแบ่งแยกประเทศได้ ซึ่งถ้าเรามองตรงนี้และมีความมุ่งมั่นตั้งใจ การปรองดองย่อมประสบความสำเร็จและจะนำมาซึ่งประโยชน์ของประชาชนอย่างมหาศาล แต่จะเป็นเรื่องน่าเสียดายถ้าไม่สามารถก้าวไปสู่โอกาสนี้

ขณะที่นางพริซิลลาปาฐกถาตอนหนึ่งว่า ความผิดอย่างหนึ่ง คือเรื่องที่บอกว่ายกโทษให้ทุกเรื่อง นิรโทษกรรมทุกอย่างเคยเกิดขึ้นที่ประเทศอาร์เจนตินาเมื่อ 20 ปีที่ผ่านมาแล้ว สิ่งต่างๆเหล่านี้ คนอาร์เจนติน่าส่วนใหญ่ปฏิเสธ และคำว่านิรโทษกรรมก็เป็นคำลบ บางครั้งผู้ที่เคราะห์ร้ายไม่ยอมรับ และตนก็คิดว่าไม่ถูกต้องเช่นกัน การใช้กำลังข่มขู่เพื่อปรองดอง ตนคิดว่าเริ่มต้นก็ล้มเหลวแล้ว ยกตัวอย่างเช่น เมื่อไม่กี่สัปดาห์ที่อียิปต์ฝ่ายทหารยึดอำนาจ ปิดปากพวกที่ล้มประธานาธิบดี ชาวโลกก็เห็นแล้วว่าผลเป็นอย่างไร เรื่องนี้เป็นการคุกคามข่มขู่ อีกเรื่องหนึ่งที่ใช้แล้วผิด คือการนำสิ่งต่างๆปิดบังแก่นแท้โดยเฉพาะในประเทศที่ต้องมีการตระหนักรู้ ทั้งนี้การปรองดองไม่ใช่เรื่องการบังคับขู่เข็นหรือปกปิด

“การปรองดองไม่ใช่การเร่งรีบ เราเร่งไม่ได้ เมื่อเริ่มแล้วกระบวนการแล้วจะต้องดูแลและเคารพในเรื่องการสื่อสารและรับฟัง ความเห็นที่แตกต่างทางการเมือง คอป.เสนอในหลายด้านเราควรมองว่าข้อเสนอเน้นเรื่องอะไร ก่อนที่จะสรุปจบนี้ ดิฉันขอหันไปในประเด็นที่การนิรโทษกรรม ดิฉันทราบว่าประเด็นนี้อาจมีความผิดพลาดหากตีความแคบมากเกินไปหากใช้แนวทางสากลมากเกินไป อาจนำไปใช้ในบริบทท้องถิ่นไม่ได้ หลักการคือต้องมีการเคารพกับผู้ประสบเคราะห์ ไม่ควรมองว่าเป็นไปเพื่อจุดมุ่งหมายทางการเมือง ควรมีการเสวนา และมองว่ากระบวนการปรองดองควรจะทำอย่างไรต่อไป” นางพริซิลลากล่าว

นางพริซิลลากล่าวอีกว่า แม้จะมีการยกโทษให้อาชญากรรมบางอย่าง แต่ไม่ควรลบกระบวนการค้นหาความจริง แม้จะนิรโทษก็ต้องมีกระบวนว่าอดีตเกิดอะไรขึ้นบ้าง ขอเน้นจุดสุดท้ายกรอบทุกอย่างที่พูดในวันนี้ควรมีหลักการประชาธิปไตยรองรับอยู่ ควรมีพื้นที่ประชาธิปไตยอย่างแท้จริง สิ่งที่ตนพยายามพูดมีสิ่งที่น่าสนใจคือ ขณะที่เราหาผลประโยชน์ให้กับชาติ พรรคการเมืองก็จะมีความเห็นที่แตกต่างกัน เราควรปล่อยให้มีสานเสวนาและเคารพความคิดที่แตกต่างเพื่อให้ถกเถียงกันและเพื่อธรรมมาภิบาลที่ดี แต่ใจกลางความขัดแย้งต้องยอมรับว่าต้องให้ประชาธิปไตยนำทาง เป็นภาพรวมวิสัยทัศน์ที่ควรนำมาใช้เพื่อประเทศชาติเป็นหลัก

ภายหลังจากที่วิทยากรได้กล่าวปาฐกถาจบลง ผู้ดำเนินรายการได้เปิดโอกาสให้ผู้ร่วมงานถามคำถาม โดยนางนิชา ธุวธรรม ภรรยาของ พล.อ.ร่มเกล้า ธุวธรรม ผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์วันที่ 10 เม.ย.53 ถามนายโทนีว่าบทบาทของรัฐบาลจะสร้างความเชื่อมั่นให้กับประเทศได้อย่างไร เพราะรัฐบาลเป็นผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์ความขัดแย้ง และตนขอถามนางพริซิลลาว่า ถ้ารัฐบาลจะนิรโทษโดยไม่ฟังเสียงคนไม่เห็นด้วยจะเกิดผลอย่างไรในอนาคต

โดยนายโทนีได้กล่าวว่า ตนขอแสดงความเสียใจต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และทุกคนไม่สามารถที่จะลืมเหตุการณ์ดังกล่าวได้ ซึ่งการนิรโทษกรรมต้องรับฟังผู้ที่สูญเสียด้วยความเคารพ หลายประเทศก็ประสบปัญหาเช่นเดียวกันและนักการเมืองต้องมีการสื่อสารกับประชาชน สร้างความไว้วางใจให้เกิดขึ้น รวมถึงย้ำว่าการให้กระบวนการยุติธรรมให้มีความเป็นอิสระปราศจากการครอบงำเป็นสิ่งที่ดีที่สุด โดยขณะที่ตนทำงานในไอร์แลนด์เหนือ ได้พยายามหาวิธีที่จะไม่ทำให้เหตุการณ์ในอดีตเกิดขึ้นในอนาคตโดยหาทางจากผู้ที่เคราะห์ร้าย

ด้านนางพริซิลลา กล่าวว่า ส่วนตัวคงไม่สามารถตอบถึงผลที่ตามมาของกฎหมายดังกล่าว เพราะขึ้นอยู่กับเนื้อหาและกระบวนการ การบังคับใช้กฎหมาย แต่ก็ชี้ให้เห็นว่ามีความสำคัญ และส่วนตัวไม่สามารถตอบได้ โดยขอให้เป็นหน้าที่คนที่เกี่ยวข้องให้ความเห็น โดยเฉพาะตัวแทนจากฝ่ายค้านที่มีความเห็นต่าง และมีความพยายามหาวิธีที่ดีกว่าในการดำเนินการนิรโทษกรรม สิ่งนี้ชี้ให้เห็นว่าสำคัญมากๆ อย่างไรก็ตาม เห็นว่าตนไม่ใช่คนที่จะตอบคำถามนี้ แต่ควรจะตัวแทนฝ่ายค้านที่มาร่วมงานเป็นผู้ตอบคำถาม

จากนั้น นายสุรินทร์ พิศสุวรรณ อดีตเลขาธิการอาเซียน ซึ่งเข้าร่วมฟังการบรรยายในห้องได้ขอใช้สิทธิแสดงความเห็นโดยกล่าวว่า ตนไม่ได้มาในฐานะตัวแทนพรรคประชาธิปัตย์ แต่มาร่วมงานในนามส่วนตัว และขอขอบคุณเรื่องของแนวความคิดที่ลึกล้ำที่ให้กับเราในวันนี้ โดยนายโทนี และนางฟริซิลลาพูดถึงการสร้างความไว้วางใจ แต่ในประเทศไทยได้มีการเสนอให้ถอนร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมออกจากการพิจารณาของสภา ซึ่งถือเป็นการทดสอบเรื่องความไว้วางใจที่ฝ่ายค้านกำลังเรียกร้อง และเห็นว่าไม่ควรที่จะเร่งรีบ ส่วนตัวคิดว่าเป็นแนวทางที่จะสามารถสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ ซึ่งเป็นสิ่งที่พรรคประชาธิปัตย์มองหาอยู่

“ผู้ปาฐกถาทั้ง 3 ท่านพูดถึงเรื่องให้ทุกคนมีส่วนร่วม แต่สำหรับประเทศไทยของเราไม่ได้แบ่งออกเป็นสองฝ่ายเท่านั้น แต่ยังได้มีการส่งอำนาจผ่านทางสไกป์เกี่ยวกับอนาคตประเทศ มีการแทรกแซงจากภายนอก ซึ่งถือว่าเป็นการกระทบเจตจำนงของเรา จนส่งผลกระทบต่อภายในประเทศ โดยการสร้างความปรองดองจะแก้ปัญหานี้อย่างไร” นายสุรินทร์กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังที่นายสุรินทร์ถามจบ ทางนายฐิตินันท์กลับไม่เปิดโอกาสให้นายโทนีตอบคำถาม โดยอ้างว่าเป็นคำถามที่สุ่มเสี่ยงให้เกิดความขัดแย้ง ก่อนที่สรุปและรวบรัดปิดการปาฐกถาในช่วงเช้าด้วยตัวเอง และให้ผู้เข้าร่วมงานพักรับประทานอาหารกลางวัน ซึ่งจะเริ่มปาฐกถาอีกครั้งเวลา 13.15 น.

มีรายงานว่า สำหรับ นายฐิตินันท์ พงษสุทธิรักษ์ ผู้อำนวยการสถาบันความมั่นคงและนานาชาติศึกษา คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และอาจารย์ภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และเศรษฐกิจการเมืองระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ผ่านมาเคยเขียนบทวิจารณ์ถึง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีเวลานั้น ทำให้เกิดอาการโกธรเหล่านักวิชาการ ถึงขั้นออกมาโจมตีเสียๆ หายๆ แบบเก็บอาการไม่อยู่

อย่างไรก็ตาม ในช่วงรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายฐิตินันท์ได้ให้สัมภาษณ์ในสื่อต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นสำนักข่าวรอยเตอร์ เอพี เอเอฟพี นิตยสารไทม์ สถานีโทรทัศน์ซีเอ็นเอ็น บีบีซี โดยโจมตีรัฐบาลนายอภิสิทธิ์บ่อยครั้งในช่วงเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมือง ปี 2553 โดยเฉพาะข้อกล่าวหาที่ว่ารัฐบาลนายอภิสิทธิ์กำจัดกลุ่มคนเสื้อแดง ทำให้กลุ่มคนเสื้อแดงไม่พอใจ อีกทั้งเห็นว่าพรรคที่มีเสียงส่วนใหญ่เขาควรได้ทำหน้าที่


นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้านและหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ จับมือกับนายโทนี แบลร์ ณ บ้านพักเอกอัครราชทูตอังกฤษระหว่างงานเลี้ยงอาหารกลางวันวันนี้ (2 ก.ย.) โดยมีนายกรณ์ จาติกวณิช ส.ส.ประชาธิปัตย์ร่วมอยู่ด้วย (ภาพจากเฟซบุ๊กอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ)

กำลังโหลดความคิดเห็น