ASTVผู้จัดการรายวัน-ผอ.รพ.ชะอวด หารือผู้ว่าฯ เจรจาม็อบเปิดถนน หลังกระทบต่อผู้ป่วย กำนัน-ผู้ใหญ่บ้านโดดช่วย เจอโต้กลับไม่เปิด ตัวแทนชาวสวนยางวอล์กเอาต์ที่ประชุมแก้ราคายาง ไม่พอใจรัฐเมินช่วย ยัน 3 ก.ย. ปิดประเทศ ด้าน "กิตติรัตน์"ยืนขาเดียว ไม่แทรกแซง แต่ให้ 2 หมื่นล้านไปแปรรูป ปรับปรุงเครื่องจักร เด็กรามยันร่วมชุมนุมด้วย ฟากรอยเตอร์ชี้ราคายางสูงขึ้นแค่ชั่วคราว
วานนี้ (28 ส.ค.) กลุ่มผู้ชุมนุมชาวสวนยางพาราและปาล์มน้ำมัน ยังคงปิดถนนเอเซีย บริเวณสี่แยกควนหนองหงส์ หมู่ 2 ต.ควนหนองหงส์ อ.ชะอวด จ.นครศรีธรรมราช และแยกแยกควนเงิน หมู่ 2 ต.บ้านตูล อ.ชะอวด ซึ่งเป็นเส้นทางสำรองขึ้น-ลงภาคใต้ และทางรถไฟช่วงระหว่างสถานีรถไฟบ้านตูล-ชะอวด กม. 796/5
ทั้งนี้ ความพยายามในการใช้มาตรการทางกฎหมาย ศาลจังหวัดนครศรีธรรมราช มีคำสั่งยกคำร้องของผู้รับมอบอำนาจผู้ว่าราชการจังหวัด ที่ยื่นคำร้องไต่สวนฉุกเฉิน ขออำนาจศาลสั่งบังคับคืนพื้นที่สาธารณะ โดยเฉพาะเส้นทางเดินรถไฟ และถนนแยกบ้านตูล โดยศาลระบุว่าผู้ว่าราชการจังหวัดมีอำนาจเต็มในการบังคับใช้กฎหมาย ซึ่งทีมกฎหมายกำลังเตรียมยื่นอุทธรณ์อีกครั้ง
ส่วนความเคลื่อนไหวในพื้นที่ชุมนุม พบว่า เป็นไปด้วยความตึงเครียด มีการคัดกรองบุคคลที่จะเข้าพื้นที่อย่างเข้มงวด โดยกลุ่มผู้สื่อข่าวต้องแสดงบัตรประจำตัว ก่อนที่จะได้รับอนุญาตให้เข้าไปบันทึกภาพ ส่วนผู้สื่อข่าวในสำนักข่าวที่กลุ่มผู้ชุมนุมไม่พอใจ จะไม่อนุญาตให้เข้าพื้นที่
ขณะเดียวกันเกิดความปั่นป่วนขึ้น เนื่องจากมีเฮลิคอปเตอร์บินร่อนลงต่ำผ่านจุดชุมนุม ส่งผลให้กระแสลมพัดเต็นท์ และสิ่งของบริเวณดังกล่าวกระจัดกระจาย สร้างความไม่พอใจให้กับผู้ชุมนุมเป็นอย่างมาก
***รพ.ชะอวดขอม็อบเปิดถนนช่วยผู้ป่วย
นายวิโรจน์ จิวะรังสรรค์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช กล่าวถึงกรณีศาลอนุมัติหมายจับแกนนำ 15 รายว่า ยังไม่เห็น แต่ตำรวจคงจะไม่รีบร้อนจับวันนี้หรือพรุ่งนี้ เพราะคดีมีอายุความ ส่วนผู้ชุมนุมขอยืนยันว่าไม่เคยคิดจะสลายการชุมนุม ต้องใช้การเจรจาแก้ปัญหา ส่วนภาพข่าวที่ออกไปว่ากระทบกระทั่งกันเมื่อวันที่ 23 ส.ค.นั้น ยอมรับว่าต้องมีบ้าง เพราะมีการขัดขืนการจับกุม หากผู้ถูกทำร้ายร่างกายมาแจ้งความ ก็พร้อมดำเนินคดี ไม่ว่าผู้ที่ทำร้ายจะเป็นตำรวจหรืออาสาสมัคร
ด้านนพ.ลือชา เพ็รชรัตน์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลชะอวด เข้าหารือกับนายวิโรจน์ เพื่อให้แก้ปัญหา เพราะทางโรงพยาบาลกำลังได้รับความเดือดร้อนอย่างหนัก รถพยาบาลฉุกเฉิน ไม่ามารถส่งต่อผู้ป่วยไปโรงพยาบาลมหาราช นครศรีธรรมราช ขาดยา และเครื่องมือทางการแพทย์ เนื่องจากรถเข้ามาส่งไม่ได้ คนไข้ที่แพทย์นัดหมายมาตรวจตามกำหนดไม่ได้ แพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่ ได้รับความเดือดร้อนจากการเดินทางเข้า-ออก
นายวิโรจน์ กล่าวว่า จะเจรจาขอให้ผู้ชุมนุมลดระดับลง เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน เพราะขณะนี้จังหวัดได้รับความเสียหายมาก
***กำนัน-ผู้ใหญ่บ้านเจอสวนไม่เปิด
เวลา 12.30 น. ชมรมกำนันผู้ใหญ่บ้าน อ.ชะอวด ได้ประชุมหารือเพื่อหาทางออก และมีมติขอคืนพื้นที่แยกควนเงิน ต.บ้านตูล โดยส่งตัวแทนกำนันไปเจรจากับกลุ่มผู้ชุมนุม ที่สถานีอนามัยตำบลบ้านตูล หากไม่ยอมเปิดจะกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ไปแจ้งให้ลูกบ้านที่ร่วมชุมนุมกลับบ้าน เพื่อกันออกจากคนนอกพื้นที่ หากไม่กลับก็จะไม่รับผิดชอบ ให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการตามกฎหมายได้ทันที
เวลา 14.30 น. นายสมบูรณ์ ชุมทอง กำนันตำบลขอนหาด อ.ชะอวด มาที่แยกควนเงิน ต.บ้านตูล โดยขึ้นบนเวทีปราศรัยพร้อมแจ้งว่า มาเพื่อทำความเข้าใจกับกลุ่มผู้ชุมนุม ทั้งนี้ จากการที่ทีวีช่องบลูสกาย โจมตีว่ากำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อยู่ฝั่งรัฐบาล ไม่ช่วยเหลือประชาชนนั้น ขอแก้ข่าวว่ากำนัน และผู้ใหญ่บ้าน อยู่ข้างประชาชน เป็นขี้ข้าประชาชน
นายสมคิด ไชยคชเดช ชาวบ้านต.กะปาง อ.ทุ่งสง ตัวแทนกลุ่มผู้ชุมนุม กล่าวว่า ในฐานะตัวแทนผู้ร่วมชุมนุม ขอยืนยันว่า ถ้ารัฐบาลไม่ส่งตัวแทนมาเจรจาราคายางพาราที่กิโลกรัมละ 107 บาท จะยังชุมนุมปิดถนนต่อไป และจะต้องบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรให้ชัดเจนว่าราคา 107 บาท เป็นระยะเวลากี่ปี ส่วนที่กองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง ประชุมที่กรุงเทพฯ จะประกันราคา 93 บาทนั้น ชาวบ้านรับไม่ได้ เพราะเม็ดเงินตกถึงมือชาวบ้านจริงๆ คือ 70 บาท ไม่ต่างจากที่เป็นอยู่ จึงขอยืนยันว่าต้องการราคา 107 บาท
ส่วนที่แพทย์โรงพยาบาลชะอวด ระบุว่า ไม่สามารถนำผู้ป่วยหนักส่งตัวไปรักษาต่อได้ ส่งเวชภัณฑ์และผู้ป่วย ไม่สามารถเดินทางมาโรงพยาบาลชะอวดได้นั้น ผู้ชุมนุมยังยืนยันที่จะไม่เปิดเส้นทาง เนื่องจากยังมีทางเลี่ยงอื่นใช้ได้ โดยมีป้ายบอกทางชัดเจน
ทั้งนี้ ชมรมกำนันผู้ใหญ่บ้านอ.ชะอวด ได้เตรียมแถลงการณ์ไว้ 12 ข้อ โดยสรุป คือ ให้กลุ่มคนที่ทำผิดกฎหมายออกจาก อ.ชะอวด ผู้ชุมนุมที่มาจากต่างจังหวัด ให้กลับไปชุมนุมเรียกร้องที่จังหวัดหรืออำเภอของตน ขอให้ผู้จัดม็อบ รับผิดชอบแก๊งวัยรุ่นขี้เมา กระทำความผิดทางเพศกับเด็กนักเรียน นักศึกษา ลูกหลานของชาวชะอวด ซึ่งขอเรียกร้องให้ผู้ปกครองแจ้งความต่อกำนัน ผู้ใหญ่บ้านได้ ไม่ต้องกังวลว่าตำรวจ หรือกฎหมายจะช่วยเหลือไม่ได้ ในสังคมนี้ยังมีความเป็นธรรมและพึ่งพาได้
ขณะเดียวกันบริเวณที่ทำการชมรมกำนันผู้ใหญ่บ้าน พบว่า มีตำรวจซ้อมแผนปราบจลาจลอยู่ในบริเวณดังกล่าวด้วย
***ออกแถลงการณ์เดือดร้อนจริงจึงชุมนุม
ด้านคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) ภาคใต้ ออกแถลงการณ์สนัลสนุนการชุมนุมของชาวสวนยาง เพราะถือเป็นการแสดงออก เนื่องจากเดือดร้อนจริง และเป็นไปตามสิทธิพื้นฐานของประชาชน ตามรัฐธรรมนูญ ปี 2550 มาตรา 63 บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการชุมนุมอย่างสงบ และปราศจากอาวุธ จึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลให้ความสนใจอย่างจริงจัง โดยตั้งคณะทำงาน มีตัวแทนเกษตรกรเข้าร่วม ตัวแทนรัฐบาลผู้มารับข้อเรียกร้องต้องเป็นผู้มีอำนาจ นำข้อเสนอไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม และรัฐบาลต้องไม่สร้างเงื่อนไขให้เกิดความรุนแรง โดยเฉพาะการสลายมวลชน
***ตัวแทนสวนยางวอล์กเอาต์
วันเดียวกันนี้ ที่ทำเนียบรัฐบาล มีการเจรจาปัญหาราคายางระหว่างตัวแทนชาวสวนยางพารา 4 ภาค กับตัวแทนรัฐบาล โดยตัวแทนชาวสวนยางยื่นข้อเสนอให้รัฐบาลแทรกแซงราคายางแผ่นดิบกิโลกรัมละ 92 บาท น้ำยางสด 81 บาท และขี้ยาง 83 บาท ยางแผ่นรมควันชั้นสาม 101 บาท ขณะที่นายยุคล ลิ้มแหลมทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ยืนยันที่ราคา 80 บาท และไม่แทรกแซงราคา ส่งผลให้นายเฉลิม แซ่ตึ่ง ตัวแทนชาวสวนยางจากภาคใต้ และนายวีระศักดิ์ จันทิมา สินธุวงศ์ ประธานกลุ่มเกษตรกรยางพารา 6 จังหวัดภาคเหนือ ลุกออกจากห้องประชุมทันทีด้วยความไม่พอใจ
นายวีระศักดิ์ กล่าวว่า วันที่ 3 ก.ย. จะมีการชุมนุมใหญ่ของเกษตรกรแน่นอน เพราะรัฐบาลไม่สนใจความเดือดร้อนของเกษตรกร ไม่มีความเชี่ยวชาญ และเข้าใจเรื่องสินค้าการเกษตร
ขณะที่นายเฉลิม กล่าวว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ภายใต้การนำของพรรคชาติไทยพัฒนา เป็นผู้เรียกแขกให้กับรัฐบาลเอง
***ยัน 3 ก.ย.นี้ เจอม็อบปิดประเทศแน่
นายวีระศักดิ์ สินธุวงศ์ ประชาสัมพันธ์เครือข่ายเกษตรกรชาวสวนยางแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ชาวสวนยางพยายามหาทางออกด้วยการพูดคุยบนโต๊ะประชุม มากกว่าเคลื่อนไหวบนท้องถนน ยื่นข้อเสนอให้รัฐบาลประกันราคายางที่กิโลกรัมละ 92 บาท ยืนยันว่าไม่ได้เป็นการแทรกแซงราคา ตามที่นายยุคลเข้าใจ เนื่องจากค่าเงินบาทที่ตกลงเป็นปัจจัยให้ราคายางสูงขึ้น อีกทั้งราคายางในตลาดเซี่ยงไฮ้ ราคากลางอยู่ที่กิโลกรัมละ 110 บาท
"การแทรกแซงกับการประกันราคาเป็นคนละอย่างกัน รัฐบาลอาจไม่เข้าใจ นายยุคลอาจเครียด เกษตรกรเรียกร้อง ก. แต่รัฐบาลให้ ฮ. เหมือนพูดคนละเรื่อง ดังนั้น พวกเราจึงต้องกลับบ้านไปเตรียมความพร้อม วันที่ 3 ก.ย. ยืนยันว่าการชุมนุมปิดประเทศยังเหมือนเดิม คาดว่าจะมีกลุ่มเกษตรกรเข้าร่วมชุมนุมมากขึ้น และอาจกลายเป็นปัญหาเหมือนน้ำผึ้งหยดเดียว"
จากนั้น นายวีระศักดิ์ ได้เดินออกจากห้องประชุมพร้อม กล่าวว่า ได้ประกาศยุติการเป็นประชาสัมพันธ์แล้ว และได้เดินกลับเข้าไปในห้องประมาณ 10 นาที และเดินออกมาพร้อมมีเจ้าหน้าที่ประกบไปส่งขึ้นรถกลับ
นายวีระศักดิ์ ระบุว่า "ผมกลัวว่าจะเป็นปัญหากับครอบครัว ผมจะกลับไปกรีดยาง ผมจะไปยุ่งทำไม ในเมื่อผมไม่ได้ลงมติอะไรแล้ว ผมจะกลับบ้านไปนอน เพราะคณะกรรมการใหญ่ทุกคนวันนี้เดือดร้อนกันจะตายอยู่แล้ว ที่ต้องมายุ่งกับเรื่องพวกนี้ ผมขอประกาศยุติบทบาท เพราะเวทีการแสดงความคิดเห็นของกลุ่มต่างๆ มันรุนแรง ถ้าผมแถลงข่าวเข้าข้างพรรคประชาธิปัตย์ ก็หาว่าเป็นเรื่องการเมือง"
อย่างไรก็ตาม หลังจากที่มีตัวแทนชาวสวนยางบางส่วนได้วอล์กเอาต์ออกจากห้องประชุม แต่ก็ยังมีตัวแทนชาวสวนยางบางส่วนจากภาคอีสานที่ยังคงเข้าร่วมประชุมต่อ และในที่สุดที่ประชุมได้มีมติออกมาว่า รัฐบาลจะจ่ายชดเชยให้กับชาวสวนยาง แต่จะไม่ประกันราคายางตามที่เรียกร้อง
***"โต้ง"ยันไม่แทรกแซงราคายาง
นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการกลั่นกรอง เพื่อพิจารณาข้อเสนอของคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ (กนย.) ว่า ที่ประชุมอนุมัติวงเงิน 2 หมื่นล้านบาท ให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) สนับสนุนสินเชื่อ 5 พันล้านบาท ให้ชาวสวนนำไปลงทุนแปรรูปยางแผ่นดิบเป็นผลิตภัณฑ์ยางให้มีมูลค่าเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันให้ธนาคารออมสินสนับสนุนสินเชื่อให้ผู้ประกอบการโรงงาน ผลิตภัณฑ์ยางขนาดใหญ่ วงเงิน 1.5 หมื่นล้านบาท เพื่อปรับปรุงเครื่องจักรอุตสาหกรรม
ทั้งนี้ จะนำเงินจากกองทุนสงเคราะห์หรืออัตราค่าธรรมเนียมการส่งออกยางพาราหรือเงินเซสส์ ที่ปัจจุบันจัดเก็บกิโลกรัมละ 2 บาท และมีเงินอยู่กว่า 1 หมื่นล้านบาท มาสนับสนุนโค่นยางเก่าที่อายุเกิน 25 ปี กว่า 1 ล้านไร่ เพื่อปลูกยางใหม่ ควบคู่กับเน้นการปลูกปาล์มน้ำมันแทน ซึ่งกระทรวงพลังงาน มีแนวทางสนับสนุนให้นำปาล์มน้ำมันไปผลิตไบโอดีเซล เนื่องจะมีการปรับน้ำมันดีเซลจาก B5 ที่จำหน่ายในประเทศเป็น B7 และในอนาคตมีแผนจะเปิดโรงผลิตไฟฟ้าที่ใช้น้ำมันไบโอดีเซล 100% หรือ B100 ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างกำหนดขนาดโรงไฟฟ้า
"รัฐบาลไม่มีนโยบายแทรกแซงราคายาง โดยจะเสนอมติที่ประชุมทั้งหมดให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเห็นชอบวันที่ 3 ก.ย.นี้"
***"ปู"ตามสไตล์ส่ง"ประชา"ชี้แจง
น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวเพียงสั้นๆ ว่า ขอให้ใจเย็นๆ รัฐบาลมีวิธีแก้ปัญหาอยู่แล้ว สำหรับประชาชนที่ไม่สามารถเดินทางไปมาได้ตามปกตินั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำลังเข้าไปอำนวยความสะดวก โดยวันที่ 29 ส.ค. พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รองนายกรัฐมนตรี จะเป็นผู้ชี้แจง
***สุดท้ายเผ่นหนีม็อบไปจีน
นายธีรัตถ์ รัตนเสวี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า นายกฯ จะเดินทางไปงานไชน่า-อาเซียนเอ็กซ์โป 2013 ที่เมืองหนานหนิง ในวันที่ 2 กย. โดยจะออกเดินทางหลังจากร่วมฟังการปาฐกถาของ นายโทนี่ แบลร์ อดีตนายกฯ อังกฤษ ในหัวข้อ "ผนึกกำลังสู่อนาคต : เรียนรู้ร่วมกันจากประสบการณ์" และจะเดินทางกลับมาในวันที่ 3ก.ย. ถึงประเทศไทยในช่วงเที่ยง ทั้งนี้ นายกฯ มีกำหนดการเข้าหารือกับ นายหลี่ เค่อเฉียง นายกฯ ของจีนด้วย
***ปูดมั่วมีสื่อ-นักการเมืองหนุนม็อบ
นายวรชัย เหมะ ส.ส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ทราบมาว่า มีผู้ทำสื่อดาวเทียมชื่อย่อ "ส." ออกเงิน 20 ล้านบาท สนับสนุนม็อบให้ล้มรัฐบาล โดยร่วมมือกับนักการเมืองชื่อย่อ "ส."
***"โอ๊ค"โพสต์แค่ม็อบปลอมปิดถนน
นายพานทองแท้ ชินวัตร บุตชายพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ตอนหนึ่ง ระบุว่า ผู้ที่นำ "คนนอกพื้นที่" มาสร้างภาพความขัดแย้งกับรัฐบาล สร้างความเดือดร้อนให้กับคนใต้ ขนาดที่ไทยรัฐถึงกับพาดหัวใหญ่ว่า "ภาคใต้ เสียหายยับ" มันเป็นใครครับ พี่น้องชาวใต้ที่เดือดร้อนจาก "ม๊อบปลอมปิดถนน" ใครที่เดือดร้อนจนจะทนไม่ไหวแล้ว เขาว่ากันว่าให้ไปขอท่าน ถ.ถุงครับ ไปบอกท่านว่าจะใช้ "วิชามารทางการเมือง" กันอย่างไรก็ว่ากันไป แต่อย่าให้ชาวบ้านเขาต้องเดือดร้อน..!! ท่าน ถ.ถุง คงจะไม่กล้าปฏิเสธชาวบ้านหรอก เพราะที่กำลังนับหัวจ่ายตังค์กันอยู่นั่น ลูกน้องท่านทั้งนั้นครับ
***ปูดมีไอ้โม่งตุนยางรอขาย
นายวิม รุ่งวัฒนจินดา เลขานุการรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าฝ่ายประสานงานและเผยแพร่นโยบายรัฐบาลด้านเศรษฐกิจ (โฆษกเศรษฐกิจ) กล่าวว่า ถ้ารัฐบาลอนุมัติให้ประกันราคา 100-120 บาท อาจมีปัญหานำยางจากต่างประเทศเข้ามาสวมสิทธิ เพราะตอนนี้มีรายงานว่า ช่วงที่ราคายางตกต่ำ ผู้ค้ายางรายใหญ่ได้กว้านซื้อยางกักตุนเอาไว้จำนวนมาก และมาใช้วิธีนำมวลชนเคลื่อนไหว กดดันให้รัฐบาลประกันราคา หากรัฐบาลยอมตามข้อเรียกร้อง ก็จะมีการเทขายทำกำไรกันออกมา
***ปชป. จี้รัฐแก้ปัญหาอย่างจริงใจ
นายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารพรรคเป็นห่วงสถานการณ์บ้านเมืองเวลานี้มาก โดยเฉพาะราคายางพารา แต่รัฐบาลกลับไม่สนใจแก้ปัญหา ซ้ำยังละเมิดสิทธิ์โดยอ้างว่าเป็นม็อบการเมือง ใช้การข่มขู่ คุกคาม จึงเกรงว่าปัญหาจะลุกลามบานปลาย จึงขอให้รัฐบาลแก้ปัญหาอย่างจริงใจ เพราะประเทศกำลังเดินเข้าสู่วิกฤต และอาจเกิดเหตุถึงขี้นยุบสภาได้
***เด็กรามบอกจะร่วมเคลื่อนไหวใหญ่
ด้านตัวแทนนักศึกษา 5 สถาบัน จากกลุ่มลูกหลานเกษตรกร กลุ่มลูกพ่อขุนพิทักษ์ กลุ่มฟ้าใหม่ มหาวิทยาลัยรามคำแหง กลุ่มเสรีนนทรี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กลุ่มกล้าพยอม มหาวิทยาลัยรังสิต กลุ่มสะพานสูง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กลุ่มลูกชาวบ้าน มหาวิทยาลัยบูรพา และศูนย์ประสานงานเยาวชนสังคมนิยมประชาธิปไตยหรือวายพีดี ยื่นหนังสือถึงคณะกรรมการสิทธิมนุษย์ชนแห่งชาติ (กสม.) ขอให้ตรวจสอบการละเมิดสิทธิผู้ชุมนุม จากกรณีเหตุปะทะกับเจ้าหน้าที่รัฐเมื่อวันที่ 23 ส.ค. รวมถึงกลุ่มผู้ไม่หวังดีปล่อยข่าวใส่ร้ายผู้ชุมนุม ทำให้สถานการณ์ส่อเค้าทวีความรุนแรงขึ้น
ที่หน้าทางเข้าอาคารรัฐสภา นักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหง ประมาณ 20 คน นำโดยนายอุทัย ยอดมณี นายกองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหง มายื่นหนังสือถึงน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เรียกร้องให้รัฐบาลสนใจแก้ปัญหา และองค์กรนักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหง โดยจะสนับสนุนการเคลื่อนไหววันที่ 3 ก.ย.นี้แน่นอน
***ตำรวจจับตามือที่ 3 แทรกแซง
พล.ต.ต.ฐิติราช หนองหารพิทักษ์ รองผบช.น. กล่าวว่า ได้กำชับฝ่ายสืบสวนจับตามือที่ 3 แทรกแซงเข้ามาสร้างความวุ่นวาย ซึ่งพล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง ผบช.น. สั่งให้กองร้อยปราบจลาจล กองร้อยควบคุมฝูงชน ตำรวจจราจร ตำรวจ 191 ฝ่ายสืบสวน ชุดเคลื่อนที่เร็ว ติดตามความเคลื่อนไหวของกลุ่มผู้ชุมนุมอย่างใกล้ชิด ประสานตำรวจภูธรภาค 8 ตั้งจุดตรวจจุดสกัดรถที่ขนมวลชนจำนวนมากเข้ากรุงเทพฯ โดยเฉพาะถนนพระราม 2 และถนนเพชรเกษม
***เอกชนห่วงสินค้าขาดแคลน
ทางด้านความคิดเห็นของภาคเอกชนต่อการชุมนุมในครั้งนี้ นายธนิต โสรัตน์ เลขาธิการสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่มีผลกระทบเรื่องของการขาดแคลนสินค้าและเรื่องของราคาสินค้าปรับขึ้นราคา เนื่องจากสินค้าอุปโภคบริโภคที่ภาคใต้ไม่สามารถผลิตได้เพียงพอหรือไม่สามารถผลิตได้นั้น ส่วนใหญ่ยังมีสต็อกประมาณ 10 วัน แต่หากมีการปิดถนนมากกว่านี้ เชื่อว่าสินค้าบางประเภทอาจประสบปัญหาขาดแคลนและสินค้าบางตัวอาจปรับขึ้นราคาได้ ภาคเอกชนต้องการให้รัฐบาลเจรจาหาทางออกกับชาวสวนยางให้เร็วที่สุด ซึ่งตอนนี้ก็เข้าใจว่าชาวสวนยางเดือดร้อนจากราคายางที่ตกต่ำมาก
นายณพพงศ์ ธีระวร ประธานหอการค้ากลุ่มจังหวัดภาคใต้ชายแดน กล่าวว่า ต้องการให้รัฐบาลให้ความสำคัญในการแก้ปัญหาเรื่องของราคายางพาราอย่างจิงจัง เนื่องจากชาวสวนยางค่อนข้างเดือดร้อนจากราคาที่ตกต่ำ หากไม่สามารถเจรจาให้เสร็จภายใน2 สัปดาห์ เชื่อว่าสินค้าอุปโภคบริโภคหลายประเภทประสบปัญหาขาดแคลนแน่นอน เพราะสต็อกสินค้าก็น่าจะอยู่ได้ประมาณอาทิตย์กว่าๆ
***รอตเตอร์ชี้ราคายางสูงขึ้นแค่ชั่วคราว
ไคลด์ รัสเซลล์ คอลัมนิสต์ของสำนักข่าวรอยเตอร์ ระบุว่า ในตลาดโตเกียว ราคาซื้อขายของยางพาราชนิดที่ใช้เป็นมาตรวัด เมื่อวันพุธที่ 28 ส.ค. อยู่ในระดับทะยานขึ้น 21% จากจุดที่ตกต่ำสุดขีดเมื่อปลายเดือนมิ.ย. โดยที่เคลื่อนไหวอยู่แถวๆ กิโลกรัมละ 2.84 ดอลลาร์ (92 บาทโดยประมาณ) แต่ยังต่ำกว่าระดับสูงสุดของปี ซึ่งทำไว้ตอนช่วงต้นเดือนก.พ. อยู่เกือบๆ 18% และได้เข้าสู่ช่วงขาลง จากปัญหาสต็อกล้นในประเทศผู้นำเข้ารายใหญ่อย่างญี่ปุ่นและจีน, เศรษฐกิจชะลอตัว, และการที่พวกผู้ส่งออกรายใหญ่อย่างไทย มาเลเซีย และอินโดนีเซีย ยุติความพยายามในการจำกัดปริมาณอุปทาน
สำหรับในตลาดล่วงหน้าเซี่ยงไฮ้ สัญญาซื้อขายยางพาราชนิดหลัก ขณะนี้ราคาก็ขยับขึ้นจากช่วงตกต่ำเมื่อต้นเดือนที่แล้วเช่นกัน โดยบวกเพิ่ม 21% และซื้อขายที่ตันละ 3,387 ดอลลาร์ (109,942 บาท) แต่ยังถือว่าต่ำกว่าราคาสูงสุดของปีนี้ที่ทำไว้ในเดือนก.พ.ถึง 26%
การที่ราคายางกำลังกลับขยับสูงขึ้นมาในช่วงนี้ ปัจจัยสำคัญประการหนึ่ง ก็คือ แรงหนุนจากสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน และเศรษฐกิจญี่ปุ่น รวมถึงสัญญาณการฟื้นตัวของสหรัฐฯ และยุโรป ตลอดจนแนวโน้มการขายรถที่สดใสขึ้น
อย่างไรก็ตาม แม้ราคายางจะปรับตัวดีขึ้น แต่การนำเข้ายางพาราของจีนกลับชะลอตัวลง เนื่องจากมีสต๊อกอยู่สูง ส่วนญี่ปุ่นแม้สต๊อกจะลดลง ก็ไม่ได้หมายความว่าญี่ปุ่นจะนำเข้ายางเพิ่มมาก เพราะต้องให้ความสำคัญกับการนำเข้าของจีนมากกว่า ขณะเดียวกัน ต้องพิจารณาสต๊อกยางพาราของไทย ที่มียางแผ่นอยู่ถึง 2.1 แสนตันจากการแทรกแซง หากถูกกดดันให้ปล่อยยางออกมา จะส่งผลต่อราคาอย่างแน่นอน จึงประเมินได้ว่า ราคาที่ขยับขึ้น เนื่องจากความคาดหวังต่อเศรษฐกิจที่ดีขึ้น มากกว่าปัจจัยพื้นฐานทั้งในด้านอุปทาน อุปสงค์ และสินค้าคงคลัง