xs
xsm
sm
md
lg

แฉกุญแจ4ดอกกินรวบประเทศไทย ใช้4หมื่นล้านต้อนส.ส.-ส.ว.เข้าคอก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เมื่อเวลา 10.25 น. วานนี้ (28 ส.ค.) ที่รัฐสภา มีการประชุมร่วมกันของรัฐสภา เพื่อพิจารณา ร่าง รัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 111 ,112 ,115 ,116 วรรคสอง 117 ,118 ,120 ,241 วรรคหนึ่ง และยกเลิก มาตรา 113,114 ประเด็นที่มาของส.ว. ซึ่งคณะกรรมาธิการฯพิจารณาเสร็จแล้ว ต่อเป็นวันที่ 5 ประเด็นที่มาของส.ว. โดยมีนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา เป็นประธานการประชุม
ทั้งนี้ ที่ประชุมยังคงพิจารณาต่อในมาตรา 3 เรื่องที่มาของ ส.ว.เลือกตั้งจำนวน 200 คน และวิธีการเลือกตั้ง โดยผู้อภิปรายส่วนใหญ่ เป็นส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ที่ไม่เห็นด้วยกับการมีส.ว.เลือกตั้งทั้งหมด
กระทั่งเวลา 13.00 น. นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะประธานวิปฝ่ายค้าน ได้ลุกขึ้นสอบถามว่า ทราบจากข่าวว่า จะมีการนัดประชุมต่อวันที่ 30 ส.ค. ไปจนถึงวันที่ 2-3 ก.ย. จึงอยากถามความชัดเจนจากประธานฯ ว่าข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร ซึ่งนายสมศักดิ์ ชี้แจงว่า ยังไม่มีการหารือกัน แต่ส่วนตัวอยากให้งดประชุม ส่วนสัปดาห์หน้า คงต้องหารือว่าจะเป็นอย่างไร และเพื่อความชัดเจนขอให้วิปทั้ง 3 ฝ่าย ไปหารือกันอีกที
ด้านนายครูมานิต สังข์พุ่ม ส.ส.สุรินทร์ พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ในฐานะวิปรัฐบาล ยืนยันว่า ได้หารือกับวิปวุฒิสภา เห็นว่าจะประชุมต่อเนื่องไปเลย ถ้าไม่เสร็จจะต่อวันเสาร์-อาทิตย์ แน่นอน แต่นายสมศักดิ์ ทักท้วงว่า ประธานวุฒิสภาแจ้งว่า จำเป็นต้องเรียกประชุมวุฒิสภาวันที่ 2-3 ก.ย.นี้ เพื่อพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2557 นายจุรินทร์ จึงกล่าวว่า เป็นความเห็นของวิปรัฐบาล หรืออาจจะรวมถึงวิปวุฒิสภาด้วย แต่ตนยืนยันว่า วิปฝ่ายค้านไม่เห็นด้วย ที่จะเรียกประชุมต่อเนื่อง ดังนั้น อย่าอ้างว่าเป็นความเห็นของวิป 3 ฝ่าย แต่ถ้าจะใช้สียงข้างมากมาตัดสินว่า จะประชุมต่อ อย่างนั้นก็ไม่ต้องมีวิป 3 ฝ่าย เพราะไม่มีความหมาย แต่สุดท้ายก็ยังไม่มีข้อสรุปอะไร
ต่อมานายสุเทพ เทือกสุบรรณ ส.ส.สุราษฎร์ธานี พรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายว่า ความสำคัญของวุฒิสภา มีหน้าที่หลักในการถอดถอนนักการเมือง องค์กรอิสระ และองค์กรตุลาการในตำแหน่งประธานปกครองสูงสุด ศาลรธน. และศาลฎีกา รวมทั้งยังแต่งตั้ง และสรรหา องค์กรอิสระ อาทิ กกต., กสม. , อสส. ,ป.ป.ช. ผู้ตรวจเงินแผ่นดิน, ตุลาการศาลปกครอง, ศาลรธน. ,ศาลฎีกา
นายสุเทพ กล่าวว่า ยกตัวอย่าง ส.ว.มาจากรธน. 40 ทำให้เกิดการผูกขาดโดยบุคคลเพียงคนเดียว ที่สามารถควบคุมฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติ และ องค์กรตามรธน. ทำให้การตรวจสอบล้มเหลว อาทิ ปราบปรามยาเสพติด คนตาย 2 พันคน หรือ แก้ปัญหา 3 จังหวัดภาคใต้คนตายจำนวนมาก รวมทั้งแต่งตั้งญาติ พี่น้องเข้าไปดำรงตำแหน่งต่างๆ ถือเป็นข้อบกพร่องของ รธน. 40 เพราะกำหนดให้วุฒิสภามาจากเลือกตั้งทั้งหมด ผลที่ตามคือ ไม่เป็นอิสระจากพรรคการเมือง ผลความชั่วร้ายก็จะตามมา แม้จะเป็นคนดี มีความสามารถ แต่สู้นักเลือกตั้งไม่ได้ จึงจำเป็นต้องพึ่งเครือข่ายพรรคการเมือง จึงทำให้เป็นหนี้บุญคุณกัน หากปราศจากระบบสรรหา ผู้ที่ด้อยโอกาสก็ไม่สิทธิ์มาทำหน้าที่ อย่าง นายมณเฑียร บุญตัน ส.ว. สรรหา ที่การทำงาน แม้คนตาดีอาจจะต้องอับอาย และร่างแก้ไขรธน. ให้วุฒิสภามาเป็น 200 คน ตนไม่เห็นด้วย ก็จะกลับไปเหมือนวุฒิสภา มาจากรธน.ปี 40 ทำให้มีการแทรกแซงอิสระ โดยใช้วุฒิสภาเป็นสะพาน เป็นสภาทาส ยกตัวอย่างเช่น สรรหา กกต. ที่ไม่มีความเป็นอิสระ ส่งผลให้พรรค ทรท. ซึ่งทุจริต โกงเลือกตั้ง และตนไปร้องกกต. แต่ไม่ทำงาน กลับไปช่วยพรรค ทรท. จึงฟ้องไปศาลยุติธรรม และทั้งศาลชั้นต้น และอุทธรณ์ ตัดสินให้จำคุก กกต. 3 คน จำนวน 2 ปี และเพิกถอนสิทธิ์เลือกตั้ง 10 ปี จนพรรคทรท.ถูกยุบพรรค เป็นต้น
“ผมไม่เห็นด้วย ให้บ้านเมืองกลับไปสู่กลียุคเพื่อไม่ให้เหตุการณ์ร้ายเกิดขึ้นในประเทศไทย เพื่อป้องกันให้พรรคการเมือง และคนบางคน อาศัยช่องว่างมารวบอำนาจในบ้านเมือง จึงไม่เห็นด้วยกับการเลือกตั้งวุฒิสภา ทั้ง 200 คน เพราะมีหน้าที่แตกต่างจาก ส.ส. ในสาระสำคัญ”นายสุเทพ ระบุ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในระหว่างที่นายสุเทพ อภิปราย ส.ส.พรรคเพื่อไทย ได้ผลัดกันขึ้นลุกขึ้นประท้วงว่า นายสุเทพ อภิปรายเยิ่นเยอ จนกระทั่งนายวิชาญ มีนชัยนันท์ ส.ส.กทม. พรรคเพื่อไทย ได้ประท้วงในประเด็นในเรื่องการยุบพรรคทรท. ยังไม่ได้ข้อยุติถึงชั้นศาลฎีกา ทำให้นายสุรเชษฐ์ แวอาแซ ส.ส.นราธิวาส ลุกขึ้นประท้วงว่า อยากให้ประธานใช้ข้อบังคับอย่างเคร่งครัด เพราะนายวิชาญ แค่ทำท่าประท้วง แต่ไม่ได้ยกมือ แต่ประธานอนุญาตให้พูด ขณะที่สมาชิกคนอื่นๆ ยกมือตั้งนาน กลับไม่เรียก
ส่งผลให้นายนิคม เกิดอารมณ์ขึ้นมา พร้อมบอกกับนายสุเทพ ที่กำลังอภิปรายว่า หากเป็นเช่นนั้นจะใช้ข้อบังคับการประชุม ข้อ 44 ให้นายสุเทพ ยุติการอภิปราย ส่งผลให้นายสุเทพ ตะโกนใส่ไมค์ว่า “เอาเลยท่านประธาน ไม่ต้องมาขู่ จะได้รู้ว่าท่านประธาน เป็นอีกคนที่ถูกครอบงำ และหากเป็นลูกผู้ชาย ก็ใช้ข้อบังคับการประชุมมาเลย แต่ต้องบอกสังคมด้วยว่า ผมผิดตรงไหน”
ทำให้นายนิคม กลับคำวินิจฉัยตามที่ประกาศไป จากนั้น นายสุเทพ ก็ได้อภิปรายจนจบ แต่นายนิคม ได้อนุญาตให้นายสุเทพ อภิปรายต่อ แต่นายสุเทพ บอกว่าตนไม่อภิปรายแล้ว และจะพูดอีกครั้งในมาตราอื่นๆ และประธานจะมาบังคับตนไม่ได้
แต่นายเกียรติอุดม เมนะสวัสดิ์ ส.ส.อุดรธานี พรรคเพื่อไทย ได้ประท้วงขอให้นายสุเทพ ถอนคำว่า ประธานถูกครอบงำอีกคน และใช้คำพูดไม่สุภาพแดกดัน ข่มขู่ ชี้หน้าประธาน การพูดจาในรัฐสภา ควรให้เกียรติ สภาฯไม่ใช่สภานักเลง โดยนายประเสริฐ พงษ์สุวรรณศิริ ส.ส.นราธิวาส พรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายว่า ประธานต้องสั่งให้สมาชิกถอนคำว่า สภาฯนักเลง มิเช่นนั้น ท่านก็เป็นประธานรัฐสภานักเลง หากท่านรับได้ ก็ไม่เป็นไร การอภิปรายชี้หน้า ก็ถือลีลาการอภิปรายเท่านั้น แต่นายนิคม ก็พยายามไกล่เกลี่ยให้การประชุมเดินไปได้ แต่ไม่ได้ให้นายสุเทพ ถอนคำพูด

** ตีราคาประเทศไทยแค่ 4.2 หมื่นล้าน

ต่อมานายสุชิน เอ่งฉ้วน ส.ส.กระบี่ พรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายโดยยกตัวอย่างการชุมนุมเกษตรสวนยาง หากมีการเลือกตั้งส.ว. ประชาชนก็จะเรียกหา ส.ว.อยู่ไหน ทำให้ส.ว.พวกนี้วิ่งเข้ามาพรรคการเมือง การเพิ่มส.ว.ขึ้นมาอีก 50 คน เงินเดือนจะเพิ่มขึ้นมาเท่าใด เฉลี่ยอยู่ที่คนละ 2.4 แสนบาทต่อเดือน เพิ่มมา 50 คนก็เป็น 12 ล้านบาท ต่อเดือน 6 ปีต้องใช้งบประมาณถึง 864 ล้านบาท ถามว่า ส.ว.ที่เพิ่มขึ้นมาจะทำหน้าที่ดีกว่าที่มีอยู่จริงหรือ ต้องยอมรับว่าการเลือกตั้งเมืองไทยใช้เงินซื้อเสียง เหมารวมตั้งแต่ อบต. มาถึง ส.ส.และ ส.ว. ดังนั้นการเลือกตั้ง ส.ว. 200 คน ต้องมีส่วนหนึ่งมาจากซื้อเสียง มีผู้ใหญ่หลายคนมาเล่าให้ตนฟังว่า ประเทศไทยสามารถซื้อได้ ใช้เงินประมาณ 4,2 หมื่นล้านบาท ด้วยกุญแจ 4 ดอก โดยการแก้ไขที่มาของ ส.ว. ครั้งนี้เป็นกุญแจดอกแรกในการซื้อประเทศไทย ให้ส.ว.คนละ 100 ล้านบาท โดยให้ไปก่อนเลือกตั้ง หรือเลือกตั้งเสร็จแล้วมารับโดยทุ่มเงิน 1.2 หมื่นล้านบาท ก็ได้ ส.ว. 120 คน ก็ได้เสียงข้างมาก ต่อมาก็เอาคนเหล่านี้มาแต่งตั้งองค์กรอิสระ จากนั้นลงทุนอีก 3 หมื่นล้านบาท ซื้อ ส.ส. 300 คน
“ลองคิดดู จะเกิดอะไรขึ้น ที่มันต่อเนื่องจากการแก้ไขที่มา ส.ว ดอกที่ 1 เปิดประตูเข้าบ้าน ดอก 2 เข้าถึงห้องรับแขก ดอกที่ 3เข้าถึงห้องนอน ดอกที่ 4 คือการเข้าถึงงบประมาณ"
เมื่อถึงตรงนี้ นายมงคล ศรีกำแหง ส.ว.จันทบุรี ได้ประท้วงว่า เป็นความเพ้อฝัน เลอะเทอะ วกวน เอาความจริงมาพูดกันดีกว่า ตนไม่รู้มาพูดเรื่องอะไร ไม่น่ามาพูดว่าพรรคไหนมาซื้อ ส.ส. -ส.ว. มันไม่ได้ซื้อง่ายๆ ไม่ได้จับมือมากากบาด ขอให้อภิปรายในประเด็น
แต่นายนิคม ก็พยายามประนีประนอมให้นายสุชิน อภิปรายต่อไป แต่นายธนิตพลไชยนันท์ ส.ส ตาก พรรคประชาธิปัตย์ ได้ขอให้ถอนคำพูดว่า เพ้อฝัน เพราะนายสุชิน กำลังพูดถึงกุญแจ 4 ดอก ที่ซื้อประเทศไทย ตนไม่แน่ใจว่ากุญแจดอกที่ 1 คือท่านหรือไม่
นายมงคล ได้ตอบโต้ให้ถอนคำพูดว่า “เลือกตั้งมาแล้วจะได้ 100 ล้านบาท ทำให้ส.ว.เสียหาย เพราะทุกคนมีวุฒิภาวะเหมือนกัน จะมาพูดแบบนี้ไมได้” นายนิคม ได้สั่งให้นายสุชิน ถอนคำว่า รับเงิน 100 ล้านบาท และให้นายมงคล ถอนคำว่า เพ้อฝัน เลอะเทอะ
ด้านน.ส.รังสิมา รอดรัศมี ส.ส.สมุทรสงคราม อภิปรายสนับสนุน มีสิทธิ์จะคิดได้ เพราะมิเช่นนั้นก็โหวตยกมือสนบัสนุนรัฐธรรมนูญกันหมด อีกทั้งเรื่องดังกล่าวยังเป็นการคาดการณ์ในอนาคต และตนไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยของประธาน และต้องสั่งให้นายมงคล ขอโทษและคำว่าเลอะเทอะ เพราะจะกระเหมือนตัวเองในอนาคต ไม่ทราบเดือดร้อนอะไร
นายกุลเดช พัวพัฒนกุล ส.ส.อุทัยธานี พรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายว่า ตนขอประท้วงนายมงคล ที่มีพฤติกรรมเช่นนี้ประจำ แสดงความเป็นทาสอย่างชัดเจน แต่นายนิคม ขอให้นายกุลเดช ถอนคำพูด แต่ ส.ส.อุทัยธานี พรรคประชาธิปัตย์ บอกว่า “จะให้ถอนคำพูดก็ได้ แต่ให้นายมงคล ถอนคำพูดก่อน” จากนั้นไม่มีฝ่ายใดลดราวาศอก ทำให้นายนิคม สั่งให้ถอนคำพูดทุกคน โดยถ้ายังโต้เถียงกันไม่จบ ก็ออกไปข้างนอกทั้งคู่
แต่นายกุลเดช บอกว่า นายสุชิน ไม่ควรถอนคำพูด เพราะเป็นอภิปรายประกอบการไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ สมมุติตนทำธุรกิจ มีเงินหมื่นล้านบาท ตนอยากได้ ส.ว.120 คนก็แจกไปคนละ100 ล้านบาท ก็ได้แล้ว และไปซื้อ ส.สคนละร้อยล้าน 300 คนก็ได้แน่ ไม่ได้พาดพิงส.ว. คนใดเลย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ทั้งสองฝ่ายได้โต้เถียงกันไปมา ด้วยสีหน้าขึงขัง นายสิงห์ชัย ทุ่งทอง ส.ว.อ่างทอง ได้ลุกขึ้นประท้วงตำหนิการทำหน้าที่ของ นายนิคม ว่าต้องมีความเด็ดขาดไม่ควรปล่อยให้สมาชิกทะเลาะกันไปมา เอาชนะกันจนเกือบจะมีการชกกันแล้ว
นายอภิชาติ สุภาแพ่ง ส.ส.เพชรบุรี พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า การที่ทั้ง 2 ฝ่าย ต่างถอนคำพูดที่พาดพิงกัน เรื่องก็น่าจะจบแล้ว ไม่ควรปล่อยให้มีการชี้หน้ากันอีก การที่ประธานบอกให้ทั้งคู่ออกไปข้างนอก ตนไม่เข้าใจว่า จะให้ออกไปต่อยกันหรืออย่างไร
อย่างไรก็ตาม หลังถกเถียงกันระยะหนึ่ง การประชุมได้กลับเข้าสู่การพิจารณาตามปกติ

**เสนอเลือกตั้งส.ว.ผ่าน 10 กลุ่มจังหวัด

นายบัญญัติ บรรทัดฐาน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายว่า ตามรธน. 50 การตั้งวุฒิสภากำหนดคือ กลั่นกรอง ยับยั้ง ตรวจสอบ ถ่วงดุล อำนาจฝ่ายนิติบัญญัติ และบริหารด้วย และการแต่งตั้งและถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ในเรื่องทุจริตและกระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ องค์กรอิสระและตุลาการ ดังนั้นหากมีการแก้ไขให้เป็นแบบเลือกตั้งทั้งหมด ก็ต้องทำไม่ให้สอดคล้องกับเจตนารมณ์ และปลอดจากการครอบงำจากฝ่ายการเมืองไม่ได้
นายบัญญัติ กล่าวต่อว่า ส่วนกรณีการยกเลิกและให้ญาติและผู้ใกล้ชิด รวมทั้งสามารถลงสมัครเลือกตั้งได้ต่อเนื่องหลังจากหมดวาระนั้น ตนมองว่าไม่มีประโยชน์ต่อประชาชน เป็นเพียงการเอื้อประโยชน์ให้แก่ตัวเอง และหลักการขัดต่อ รธน. 122 เพราะเป็นหลักขัดกันแห่งผลประโยชน์ แต่ที่น่ากังวลคือการตั้งนอมินี อาศัยเครือข่ายทางการเมืองให้ได้ ส.ว.ที่มาจากเสียงข้างมากทำให้รัฐบาลได้อำนาจอย่างเบ็ดเสร็จ จึงเป็นสัญญาณอันตรายของประเทศไทยอย่างแน่นอน
ส่วนการยึดโยงกับประชาชนนั้น ก็จำเป็นในส่วนหนึ่งแต่ไม่ใช่ทั้งหมด เพราะบางครั้งการยึดโยงกับอำนาจประชาชนก็ทำให้ได้มาซึ่งอำนาจเผด็จการมากกว่าที่ส่วนร่วมจะได้รับประโยชน์อย่างแท้จริง เพราะมองว่า อาจขัดกันต่อการแบ่งแยกอำนาจในจำนวนคนไม่กี่คน
ดังนั้นตนจึงเสนอให้มีการเลือกตั้งวุฒิสภา เป็นพื้นที่กลุ่มจังหวัดที่มีพื้นที่ติดต่อกัน โดยแบ่งเป็น 10 เขตเลือกตั้ง ในหนึ่งจังหวัด ต้องมีสมาชิกวุฒิสภา 1 คน เพื่อไม่ให้เกิดการทับซ้อนและให้ได้มาซึ่งส.ว.ที่มาจากฐานเสียงเดียวกัน เพื่อป้องกันการเป็นหนี้บุญคุณและถูกครอบงำจากฝ่ายการเมืองในที่สุด
อย่างไรก็ตามตนขอเรียกร้องกรรมาธิการเสียงข้างมากให้เปิดใจกว้างรับฟังเหตุผลของผู้ที่เสนอคำแปรญัตติเกี่ยวกับที่มาและคุณสมบัติของสมาชิกวุฒิสภาด้วย

**วิปรัฐจะเร่งแก้รธน.ทั้งวันหยุดเสาร์-อาทิตย์

นายอำนวย คลังผา ประธานวิปรัฐบาล กล่าวว่า จากการประชุมหารือกับวิปวุฒิสภา แต่ยังไม่ได้หารือกับวิปฝ่ายค้าน เบื้องต้นกรอบเวลาการเวลาประชุมพิจารณาร่าง แก้ไขรัฐธรรมนูญ จะนัดประชุมร่วมกันของรัฐสภาเพิ่มเติมในวันที่ 30 ส.ค. และ 2-3 ก.ย. ตั้งแต่เมื่อเวลา 10.00 น. เป็นต้นไป ยกเว้นวันที่ 2 ก.ย. จะเริ่มประชุมในเวลา13.00 น. เนื่องจากในช่วงเช้า เป็นการประชุมวุฒิสภา เพื่อเร่งรัดเวลาที่สูญเสียไปจากที่มีการอภิปรายยืดเยื้อ สำหรับในมาตรา 3 คาดว่า จะลงมติได้ใน เวลา14.00 น.
นอกจากนี้ ในวันที่ 29 ส.ค. จะเป็นการประชุมสภาผู้แทนราษฎร กระทู้ถามสดของฝ่ายค้าน เรื่องปัญหาราคายางพาราตกต่ำ พร้อมพิจารณาญัตติเร่งด่วนแนวทางการแก้ปัญหาพืชผลทางการเกษตรตกต่ำ และปัญหาค่าครองชีพที่สูงสุดของประชาชน
นายอำนวย ยืนยันว่า ในวันศุกร์ที่ 30 ส.ค. จะต้องมีการประชุมร่วมรัฐสภาอย่างแน่นอน แต่สำหรับวันที่ 31 ส.ค.- 3 ก.ย.นั้น ตนขอดูหน้างานก่อน เพราะที่ผ่านมา เราเสียเวลาไปโดยเปล่าประโยชน์มากแล้ว หากยังอภิปรายแบบนี้ อภิปรายอีก 5 ปี ก็ไม่เสร็จ เพราะผู้อภิปรายก็พยายามดึง จะเพิ่มวันอภิปราย ก็ไม่ให้เพิ่ม แบบนี้มันก็เดินต่อไม่ได้ ยืนยันว่าตนทำดีที่สุดแล้ว พยายามประนีประนอมที่สุดแล้ว ดังนั้นคงต้องขอร้องกันว่า หากต้องอภิปรายยืดยาวจากวันศุกร์ ไปจนถึงวันเสาร์ อาทิตย์ ก็ต้องยอม เพราะการทำหน้าที่แทนประชาชนนั้นต้องไม่เวันเสาร์หรือวันอาทิตย์
นายจุรินทร์ ลักษณะวิศิษฏ์ ประธานวิปฝ่ายค้าน กล่าวถึงกรณีประธานวิปรัฐบาล ออกมาระบุว่า อาจจะมีการเลื่อนการพิจารณา ร่าง แก้ไขรัฐธรรมนูญ ไปในช่วงวันที่ 2-5 ก.ย. ว่า ขอให้รัฐบาลให้เวลากับการแก้ไขปัญหาของประชาชนดีกว่า อย่าหมกมุ่นกับการแก้รัฐธรรมนูญ เพื่อคนไม่กี่คน ขอให้รัฐบาลกลับไปทบทวนในเรื่องนี้ เพราะขณะนี้ปัญหาค่าครองชีพ ปัญหาราคาพืชผลการเกษตรตกต่ำ รุมเร้าประชาชนอย่างมาก
กำลังโหลดความคิดเห็น