xs
xsm
sm
md
lg

ศาลปกครองฯ ลงตรวจโครงการบ่อบำบัดแม่สาย ชาวบ้านชี้พิรุธ ไม่มีประชาพิจารณ์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เชียงราย - ศาลปกครองเชียงใหม่ ส่งคณะลงพื้นที่ตรวจสอบบ่อบำบัดน้ำเสียชายแดนแม่สาย ขณะที่กลุ่มต้านยันโครงการฯ มีพิรุธ ไม่ทำประชาพิจารณ์ ชาวบ้านไม่รู้เรื่อง ทั้งที่ได้รับผลกระทบเต็มๆ ด้านเทศบาลฯ ยกข้อมูลต้องเตรียมพร้อมรองรับแม่สายขยายตัวแจง

นายประพจน์ คล้ายสุบรรณ ตุลาการศาลปกครองเชียงใหม่ ได้นำคณะลงพื้นที่ ที่เตรียมก่อสร้างบ่อบำบัดน้ำเสียในเขตเทศบาล ต.แม่สาย อ.แม่สาย ชายแดนไทย-พม่า เมื่อวานนี้ (14 ส.ค. 56) หลังมีกลุ่มชาวบ้านยื่นคำร้องให้ตรวจสอบความถูกต้องของโครงการ ซึ่งดำเนินการโดยเทศบาล ต.แม่สาย ด้วยงบประมาณผูกพันปี 2556-2558 จากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มูลค่าประมาณ 260 ล้านบาท

โดยคณะได้เดินทางไปตรวจตรงแนวที่จะมีการก่อสร้างที่ชุมชนบ้านเหมืองแดง ม.2 ต.แม่สาย ใกล้กับคลองประทานแม่สายที่ไหลผ่านชุมชนต่างๆ จากชายแดน ทั้งระยะห่างจากชุมชนของบ่อบำบัด และความสูงจากพื้นปกติตามแบบแปลนที่เจ้าหน้าที่ได้นำเสนอ รวมทั้งสอบถามความเห็นของชาวบ้านที่อยู่ในละแวกดังกล่าว ซึ่งพบว่ามีชาวบ้านประมาณ 200 คน ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มที่คัดค้านการโครงการ เพราะอาศัยอยู่ในพื้นที่พอดี ได้ตามคณะฯไปดูการตรวจสอบอย่างใกล้ชิด ขณะที่ทางเจ้าหน้าที่ของเทศบาลได้นำแผนที่ และแบบแปลนไปชี้แจงแนวก่อสร้าง ซึ่งระหว่างการดูพื้นที่พบว่าบางจุดของบ่อบำบัดสูงกว่าชุมชนของชาวบ้านประมาณ 3 เมตร แต่ทางเจ้าหน้าที่เทศบาลฯ ชี้แจงว่าสามารถทำขอบกั้นไม่ให้น้ำทะลักออกมา และไม่ให้เกิดปัญหาต่อบ่อบำบัดเมื่อเกิดน้ำท่วมได้

จากนั้นคณะฯ ได้เข้าประชุมหารือเพื่อรับฟังข้อมูลจากทั้ง 2 ฝ่ายที่ห้องประชุมเทศบาล ต.แม่สายต่อไป ซึ่งนายไศลยนต์ ศรีสมุทร นายกเทศมนตรี ต.แม่สาย ได้แจ้งว่าโครงการนี้ถือว่าเป็นประโยชน์ต่อพื้นที่ที่กำลังขยายตัวของแม่สาย และรองรับอนาคต จากนั้นได้ให้นิติกรชี้แจงขั้นตอนการดำเนินโครงการที่ผ่านมา ตั้งแต่สภาพปัญหา การสำรวจพื้นที่ จนถึงสถานะของโครงการที่ได้ผ่านขั้นตอนการจัดซื้อจัดจ้างตามระเบียบพัสดุแล้ว เหลือเพียงการทำสัญญาจัดจ้าง และก่อสร้างเท่านั้น

ด้านนายปรีชา ศรีเพชร อดีตปลัด อ.แม่สาย แกนนำชาวบ้านที่คัดค้าน กล่าวว่า ตนยังคงยืนยันว่า ตนและชาวบ้านไม่ได้คัดค้าน หรือไม่เห็นด้วยกับโครงการบ่อบำบัดน้ำเสียของ ทต.แม่สาย เพราะบ่อบำบัดน้ำเสียเป็นเรื่องที่ดี แต่พวกเราเรียกร้องให้ทำขั้นตอนโครงการให้ถูกต้อง เพราะตามที่นิติกรชี้แจงนั้นเป็นเพียงข้อมูล แต่ภาคปฏิบัติไม่เป็นไปตามขั้นตอน หากเข้าร่วมด้วยก็จะผิดกฎหมายรัฐธรรมนูญไปด้วยกันทั้งหมด เพราะไม่มีการแจ้งข้อมูลโครงการกับชาวบ้าน โดยเฉพาะไม่เคยมีการทำประชาพิจารณ์ตามที่เคยกล่าวอ้าง หากมีการทำประชาพิจารณ์จริง ภายในบันทึกการทำก็ต้องมีบันทึกคำคัดค้านของพวกตนอยู่ด้วย แต่เหตุใดจึงไม่มีการเปิดเผยออกมา

นายปรีชากล่าวอีกว่า แม้แต่วันที่คณะจากศาลปกครองลงพื้นที่ตรวจสอบโครงการครั้งนี้พวกตนก็ยังไม่เคยเห็นข้อมูล แบบแปลน หรือรายละเอียดต่างๆ ของโครงการเลย แม้กระทั่งป้ายโครงการก็ไม่ได้ปักในพื้นที่ให้ได้รับทราบ พวกเราจึงไม่อาจจะเห็นชอบด้วยกับโครงการที่ตัวเองไม่ได้รับรู้ข้อมูลใดๆ มาก่อนเลย และเห็นว่าผลประชาพิจารณ์ที่กล่าวอ้าง เป็นการแอบอ้างว่าชาวบ้านเห็นชอบทั้งๆ ที่ชาวบ้านไม่เคยเห็นชอบ

และก่อนหน้านี้ชาวบ้านในชุมชนที่จะก่อสร้างกว่า 800 คน ได้พากันลงชื่อร้องเรียนไปยังหลายหน่วยงานรวมทั้งฟ้องร้องนายกเทศมนตรี ต.แม่สาย และร้องต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ไปแล้วด้วย ซึ่งแสดงให้เห็นว่าคนในชุมชนไม่ได้รู้เรื่องด้วยจริงๆ

“แม้แต่แบบโครงการพวกผมก็เพิ่งได้เห็นในวันที่เจ้าหน้าที่นำออกมาชี้แจงศาล เราพึ่งรู้ว่าจะมีบ่อราว 3 บ่อใหญ่อยู่บริเวณคลองชลประทาน และมีส่วนของบ่อบำบัดที่สูงกว่าชุมชนที่หนาแน่นกว่า 3 เมตร จนทำให้คณะจากศาลสอบถามว่าจะทำให้เกิดปัญหาน้ำท่วมขังหรือไม่ ก่อนที่เจ้าหน้าที่เทศบาลฯ จะชี้แจงว่าจะทำขอบให้สูงเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบ แต่ชาวบ้านก็สงสัยว่าถ้าสร้างขอบสูงก็ป้องกันผลกระทบน้ำที่จะท่วมเข้าสู่บ่อบำบัด แต่น้ำก็จะทะลักเข้าสู่บ้านเรือนประชาชนแทนเพราะมีแนวกั้นบ่อบำบัดเป็นเขื่อน เรื่องอย่างนี้พวกเราไม่เคยมีส่วนร่วมในการเสนอปัญหาเพราะไม่เคยรู้ข้อมูลหรือทำประชาพิจารณ์มาตั้งแต่ต้น” นายปรีชากล่าว

อย่างไรก็ตาม ในการลงพื้นที่ตรวจสอบนี้ ทางศาลปกครองเชียงใหม่จะเก็บรวมข้อมูลและความเห็นต่างๆ ทั้งหมดเพื่อนำไปพิจารณาและจะนัดไต่สวนที่ศาล จ.เชียงใหม่ อีกครั้งต่อไป



กำลังโหลดความคิดเห็น