xs
xsm
sm
md
lg

ศาลสั่งให้ฟังปชช.ก่อน สัญญาจัดการน้ำ 3.5แสนล้านเดี้ยง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTVผู้จัดการออนไลน์ - ศาลปกครองกลางสั่งให้กลับไปรับฟังความเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 67 วรรคสอง เพราะส่งผลกระทบรุนแรง ก่อนทำสัญญากับผู้รับเหมาทั้ง 9 โมดูลในคดีที่สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อนพร้อมพวกรวม 45 คน ฟ้องนายกรัฐมนตรี คณะกรรมการ กยน. คณะกรรมการ กนอช. และคณะกรรมการ กบอ. ใช้อำนาจทางปกครองโดยไม่มีเหตุอันควรยกเว้นการปฏิบัติตามกฎหมายในโครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านstrong>

วันนี้ (27มิ.ย. 56) ที่ศาลปกครองกลาง ศาลได้ตัดสินคดีที่สมาคมต่อต้านภาวะโลกร้อน และพวกรวม 45 คน ฟ้อง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี คณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ คณะกรรมการนโยบายน้ำและอุทกภัยแห่งชาติ และคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย ในคดีโครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท

คำพิพากษาของศาล ในส่วนของการจัดทำแผนแม่บทนั้นเห็นว่าเป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะได้ใช้อำนาจหน้าที่ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีแล้ว

ขณะที่ในประเด็นการละเลยปฏิบัติหน้าที่นั้น ศาลเห็นว่า โครงการส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ลุ่มน้ำที่มีผู้อยู่อาศัยและป่าไม้ ซึ่งจะต้องมีการส่งผลให้ประชาชนต้องอพยพ มีการทำลายป่า และส่งผลกระทบต่อประชาชนอย่างรุนแรง จึงต้องจัดให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ดังนั้นจึงมีคำพิพากษาให้ผู้ถูกฟ้องทั้ง 4 ร่วมกันจัดให้มีการฟังความคิดเห็นของประชาชน และผู้มีส่วนได้เสียตามรัฐธรรมนูญมาตรา 67 วรรค 2 ก่อนเข้าทำสัญญากับผู้รับจ้างทั้ง 9 โมดูล

คดีนี้ นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน และทีมทนาย ได้เตรียมพยานหลักฐานของการดำเนินงานโครงการน้ำ 3.5 แสนล้านของรัฐบาลมาต่อสู้ในศาลถึงการใช้อำนาจทางปกครองโดยไม่มีเหตุอันสมควรโดยเฉพาะการใช้อำนาจในการยกเว้นการปฏิบัติตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ.2535 ซึ่งขัดต่อกฎหมาย ป.ป.ช.โดยชัดแจ้ง รวมทั้งความไม่ชอบด้วยกฎหมายหลายประการ โดยเฉพาะการขาดการมีส่วนร่วมของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสีย ก้าวข้ามขั้นตอนตามที่กฎหมายกำหนด โดยเฉพาะกฎหมายรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 57 มาตรา 58 มาตรา 67 มาตรา 85 และมาตรา 87

รวมทั้งการชี้ให้เห็นว่าหากปล่อยให้โครงการน้ำของรัฐบาลและ กบอ. เดินหน้าต่อไป จะสร้างความเดือดร้อนและเสียหายให้เกิดขึ้นกับชุมชน ประเทศชาติในแง่ใดบ้าง รวมทั้งจะเกิดความขัดแย้งเป็นคดีความกันทั่วประเทศ อันเนื่องมาจากความไม่พอใจในการสร้างเขื่อน การสร้างอ่างเก็บน้ำ การทำฟลัดเวย์ (Floodway) เป็นต้น
 

“คดีนี้เชื่อมั่นว่าคำพิพากษาของศาลที่กำหนดการนั่งอ่านคำพิพากษาในวันพฤหัสที่ 27 มิถุนายนนี้ เวลา 13.00 น. จะนำไปสู่ความเชื่อมั่นของภาคประชาชนต่อศาลปกครองว่า กระบวนการทางกฎหมายเท่านั้นที่จะหยุดยั้งการใช้อำนาจทางปกครองของหน่วยงานภาครัฐ ที่ระเริงอำนาจจนก้าวข้ามขั้นตอนของกฎหมายไป โดยไม่ฟังเสียงประชาชน ให้กลับมาสู่แนวทาง ขั้นตอนตามที่กฎหมายกำหนดได้ ซึ่งในวันนี้มีกลุ่มประชาชนกว่า 300 คนจะเดินทางไปร่วมฟังคำพิพากษาด้วย” นายศรีสุวรรณ กล่าวไว้ก่อนหน้านี้

นายสุพจน์ โตวิจักษณ์ชัยกุล เลขาธิการสำนักงานนโยบายและบริหารจัดการน้ำและอุทกภัยแห่งชาติ (สบอช.) กล่าวถึงกรณีที่ศาลปกครองจะมีคำพิพากษาในโครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาทของรัฐบาลก่อนที่ศาลจะตัดสิน โดยคาดว่าจะมี 2 แนวทางที่ทางคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) เตรียมการดำเนินการและต้องดำเนินการตามคำสั่งกล่าวคือ

1.ศาลสั่งระงับโครงการทั้ง 9 โมดูล และปรับรูปแบบการดำเนินโครงการจากออกแบบและก่อสร้างในคราวเดียว หรือดีไซน์แอนด์บิว เป็นระบบการจัดซื้อจัดจ้างปกติที่จะต้องใช้เวลาในการดำเนินการ 7 ปี ซึ่งถ้าใช้ระบบจัดจ้างแบบเดิม กว่าจะก่อสร้างได้อีก 7 ปี แล้วถ้าถึงเวลานั้นในอีก 2-3 ปีข้างหน้าน้ำท่วมเละเทะขึ้นมาใครจะรับผิดชอบ

ทั้งนี้ ระบบจัดจ้างปกติจะต้องดำเนินการออกแบบก่อน ซึ่งจะใช้เวลา 3 ปี ในการศึกษาออกแบบ จากนั้นเปิดประมูลจัดซื้อจัดจ้างและดำเนินการจัดทำประชาพิจารณา ศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม หรือ อีไอเอ ศึกษาผลกระทบด้านสังคม หรือ เอชไอเอ

และ 2.จัดทำประชาพิจารณ์ทุกโครงการทั้ง 9 โมดูล ยกเว้นเอ 6 บี 4 คลังข้อมูลที่ไม่จำเป็นต้องจัดทำประชาพิจารณ์ ส่วนโครงการอื่นๆ เอ 1 อ่างเก็บน้ำ เอ 2 พื้นที่ปิดล้อม เอ 3 แก้มลิง บี 1 อ่างเก็บน้ำ บี 2 พื้นที่ปิดล้อม และบี 3 แก้ปัญหาน้ำท่วม อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา

เลขาธิการ สบอช.กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม หากศาลสั่งระงับโครงการจะต้องพิจารณาการกู้เงินอีกครั้งว่าจะกู้อีกหรือไม่ หรือต้องปรับรูปแบบการดำเนินการว่าจะเป็นอย่างไร และมั่นใจว่ากลุ่มบริษัทเอกชนทั้ง 4 กลุ่มบริษัท จะไม่ฟ้องร้องรัฐบาล เพราะในทีโออาร์ระบุไว้ชัดเจนว่าไม่สามารถฟ้องร้องต่อรัฐบาล หรือ กบอ.ได้

ตามกำหนดกรอบเวลาในการดำเนินโครงการบริหารจัดการน้ำนั้น ก่อนหน้านี้ นายปลอดประสพ สุรัสวัสดี รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 18 มิ.ย. ที่ผ่านมา เห็นชอบตามที่คณะกรรมการคัดเลือกคัดเลือกโครงการเพื่อออกแบบและก่อสร้างระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืนและระบบแก้ไขปัญหาอุทกภัยของประเทศไทย ที่มี ศ.พิเศษธงทอง จันทรางศุ ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธานคณะกรรมการพิจารณา รวมถึงเห็นชอบตามที่ กบอ. และรัฐมนตรีเจ้ากระทรวงเสนอขออนุมัติกรอบวงเงินกู้ 304,000 ล้านบาท

ส่วนขั้นตอนหลังจากนี้ว่าจะเป็นขั้นตอนการร่างสัญญา มีศ.พิเศษธงทอง จันทรางศุ ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ดำเนินการร่างสัญญา ที่จะเป็นสัญญาใหญ่ และสัญญาลูกแต่ละเรื่อง แต่ละโมดูล เช่น สัญญาเรื่องเขื่อน เรื่องฟลัดเวย์ เนื่องจากเริ่มโครงการไม่พร้อมกัน ซึ่งเป็นไปตามคำแนะนำของสำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ในส่วนวงเงินที่คณะกรรมการพิจารณาคัดเลือกโครงการต่อรองราคากับบริษัทได้นั้น สามารถขอลดวงเงินได้ประมาณ 6.1 พันกว่าล้านบาท หรือคิดเป็น 2 เปอร์เซ็นต์ 

จากนั้น จะเข้าสู่กระบวนการร่างสัญญา เซ็นสัญญา การคัดเลือกกลุ่มที่ปรึกษาโครงการ พร้อมๆ กับการตั้งคณะกรรมการกำกับบริหารโครงการ จากนั้นก็เข้าสู่ขั้นตอนของการสำรวจ ศึกษา ออกแบบ จัดทำอีไอเอ และดำเนินการก่อสร้างต่อไป โดยคาดว่าจากนี้อีก 45 วันจะดำเนินการจัดจ้างบริษัทที่ปรึกษาและเซ็นสัญญาช่วงเดือน ส.ค.-ก.ย.นี้ จึงจะได้เห็นการก่อสร้างโครงการฟลัดเวย์ฝั่งตะวันออกได้

"เมื่อกระบวนการคัดเลือกบริษัทเสร็จสิ้น หน้าที่ของคณะกรรมการคัดเลือกก็สิ้นสุดลง จากนี้จะแต่งตั้งคณะกรรมการที่ปรึกษาบริหารโครงการ 2 กลุ่ม รวม 9 บริษัทคือในส่วนของ Project Management and Engineering Consultant (PMEC) และ Project Supervision Consultant (PSC) กำกับบริหารโครงการตลอดระยะเวลา 5 ปี" นายปลอดประสพ ให้สัมภาษณ์

ภายหลังจากตุลาการศาลปกครองกลางอ่านคำแถลงเมื่อวันที่ 25 มิ.ย. 56 และศาลมีคำพิพาษาในวันที่ 27 มิ.ย. นี้ ชึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกับคำแถลงคดีของตุลาการศาลปกครอง นั่นหมายถึงว่า กำหนดการต่างๆ ที่รัฐบาลวางไว้จะต้องเปลี่ยนแปลงและเลื่อนออกไปไม่มีกำหนดเพราะการดำเนินการแต่ละโมดูลต้องผ่านการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 67 วรรคสอง เสียก่อน จึงจะสามารถเซ็นสัญญากับเอกชนที่ได้รับคัดเลือกได้

ประเด็นสำคัญอีกเรื่องหนึ่งที่จะกระทบเป็นลูกโซ่ก็คือ การกู้เงินตามพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการวางระบบบริหารจัดการน้ำและสร้างอนาคตประเทศ พ.ศ. 2555 วงเงิน 314,337.875 ซึ่งสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ต้องปฏิบัติตาม พ.ร.ก.กู้เงินฯ คือให้กระทรวงการคลังกู้เงินได้ภายในวันที่ 30 มิ.ย. 56 และกู้เงินไม่เกินวงเงิน 3.5 แสนล้านบาท ซึ่งหลังจากที่ครม.อนุมัติโครงการ สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เจ้าของโครงการต้องส่งแผนงาน แผนเงิน ให้สำนักงบประมาณเพื่อพิจารณาจัดสรรและสำนักงบประมาณจะส่งแผนงาน แผนเงินให้ สบน.เพื่อพิจารณาแหล่งเงินกู้

ประเด็นนี้ ถ้าหากว่าแผนงาน แผนเงิน ยังไม่มีความชัดเจนเพราะคำสั่งศาลปกครองกลางข้างต้นที่ให้กลับไปศึกษาและรับฟังความเห็นของประชาชนก่อนตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 67 วรรคสอง จะส่งผลกระทบต่อแผนการกู้เงินที่จะต้องให้ทันภายในวันที่ 30 มิ.ย.นี้ อย่างแน่นอน
กำลังโหลดความคิดเห็น