xs
xsm
sm
md
lg

เจอหนักทั้ง “ข้าว” และ “น้ำ” ลุ้นงบ 3.5 แสนล้านสะดุด?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ปลอดประสพ สุรัสวดี
รายงานการเมือง

พลาดไม่ได้กับการติดตามการอ่านคำพิพากษาของศาลปกครองกลางในวันพฤหัสบดีที่ 27 มิถุนายนนี้ เวลา 13.30 น. ในคำร้องคดีที่นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน และชาวบ้านในพื้นที่กรุงเทพมหานคร-ปทุมธานี และพระนครศรีอยุธยา รวม 45 คน

ยื่นฟ้อง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี, คณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบบริหารจัดการน้ำ (กยน.), คณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการน้ำและอุทกภัยแห่งชาติ (กบอช.) และคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) เป็นผู้ถูกฟ้องที่ 1-4 เรื่องเป็นเจ้าหน้าที่รัฐและหน่วยงานทางปกครอง กระทำการโดยมิชอบ กรณีจัดทำแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างไม่ถูกต้องตามรูปแบบขั้นตอน และเมื่อวันที่ 26 มกราคม 2555 ยังได้ใช้อำนาจทางปกครองของฝ่ายบริหาร ผ่านคณะรัฐมนตรี (ครม.) เร่งรีบจนเกินความจำเป็นอย่างไม่มีเหตุผลในการรองรับ การออกพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อวางระบบการบริหารจัดการน้ำและสร้างอนาคตประเทศ พ.ศ. 2555 วงเงิน 3.5 แสนล้านบาทออกมาบังคับใช้ทันทีทั้งที่ไม่มีความจำเป็นหรือเหตุผลเพียงพอที่จะออก พ.ร.ก.ดังกล่าว

ที่น่าสนใจก็เพราะมีความเห็นในทางคดีของตุลาการผู้แถลงคดีออกมาก่อน 2 วันที่ศาลจะนัดอ่านคำพิพากษา ซึ่งความเห็นในทางคดีดังกล่าวสรุปได้ว่า มี 3 ประเด็นหลัก

1. ศาลปกครองสามารถรับคำฟ้องคดีนี้ไว้พิจารณาได้ ตามมาตรา 9(1)(2) ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 เนื่องจากเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐและเป็นการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดหรือไม่ และตัวนายศรีสุวรรณ ผู้ฟ้องคดีก็มีสิทธิฟ้องได้ เนื่องจากเป็นนิติบุคคลมีหน้าที่ตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แต่ผู้ฟ้องที่เป็นประชาชน ในคำฟ้องไม่ได้ระบุให้เห็นว่าได้รับผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพอย่างไร จึงไม่ใช่ผู้เสียหายในคดีนี้ จึงไม่มีสิทธิยื่นฟ้อง

2. เห็นว่าภาครัฐจะต้องรับฟังความเห็นของประชาชนซึ่งเป็นผู้เสียหายมีส่วนได้ส่วนเสียตามรัฐธรรมนูญฯ ปี 2550 มาตรา 67 วรรค 2 ก่อนที่รัฐจะเซ็นสัญญาว่าจ้างเอกชน แต่ในส่วนของแผนแม่บทการบริหารจัดการน้ำของรัฐบาลเป็นสิ่งที่ทำได้ตามกฎหมาย

ขยายความในส่วนนี้ได้ว่าตุลาการผู้แถลงคดีเห็นว่า การจัดทำแผนแม่บทดังกล่าวมีการวางแผนระดมความคิดเห็นแนวทางการแก้ไขบริหารจัดการน้ำ ที่นำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเมื่อปี 2554 เป็นการใช้อำนาจหน้าที่ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการบริหารจัดการแก้ปัญหาอุทกภัย ดินโคลนถล่มและภัยแล้ง พ.ศ. 2554 และเป็นกรอบนโยบายของรัฐบาล จึงสามารถจัดทำได้ตามกฎหมาย

“แต่ต้องจัดทำความคิดเห็นของประชาชนก่อนที่จะดำเนินการ เนื่องจากแผนแม่บทดังกล่าวเป็นโครงการขนาดใหญ่ เกิดขึ้นในบริเวณกว้าง ที่จะมีการใช้ประโยชน์ในที่ดินลุ่มแม่น้ำยม น่าน และเจ้าพระยา ด้วยการสร้างอ่างเก็บน้ำ และสิ่งก่อสร้างตามแผนรวม 9 โมดูล ที่จะต้องมีการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมทำให้ประชาชนในพื้นที่จึงเห็นว่าโครงการดังกล่าวถือเป็นโครงการที่อาจจะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อประชาชนและสิ่งแวดล้อม ที่จะต้องรับฟังความเห็นของประชาชนซึ่งเป็นผู้เสียหายมีส่วนได้ส่วนเสียตามรัฐธรรมนูญฯ ปี 2550 มาตรา 67 วรรค 2 ก่อนที่รัฐจะเซ็นสัญญาว่าจ้างเอกชน”

3. จึงมีความเห็นว่า องค์คณะตุลาการศาลปกครองควรสั่งให้ผู้ถูกฟ้องที่ 1-4 ดำเนินกระบวนการรับฟังความเห็นของประชาชน ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 67 วรรค 2 ส่วนคำขออื่นให้ยก

ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 ความเห็นของตุลาการผู้แถลงคดีจะไม่มีผลผูกพันกับความเห็นขององค์คณะที่รับผิดชอบพิจารณาสำนวนคดีอันหมายถึงว่าคำพิพากษาที่จะออกมาอาจแตกต่างหรือเห็นตรงกับตุลาการผู้แถลงคดีก็ได้ ซึ่งก็มีให้เห็นกันบ่อยครั้งที่ความเห็นของตุลาการผู้แถลงคดีกับคำพิพากษาของศาลปกครองที่ออกมามีความแตกต่างกัน

อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าคนในรัฐบาลรวมถึงพวกบริษัทที่ประมูลได้งานไปอย่างบริษัท โคเรีย วอเตอร์ รีซอสเซส คอร์ปอเรชั่น (เค วอเตอร์)-กลุ่มบริษัท ไอทีดี-เพาเวอร์ไชน่า เจวี กิจการร่วมค้าซัมมิท เอสยูที-กลุ่มบริษัทร่วมค้าล็อกซเล่ย์ ตลอดจนประชาชนทั้งประเทศโดยเฉพาะในพื้นที่ซึ่งจะได้รับผลกระทบจากการทำโครงการนี้คงเฝ้าติดตามคำพิพากษาของศาลปกครองกลางอย่างใจจดใจจ่อ

แม้ตามขั้นตอนหากผลออกมาอย่างใดอย่างหนึ่งก็ยังเปิดช่องให้ทั้งผู้ฟ้องคดีและผู้ถูกฟ้องคดีสามารถยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุดได้

ขณะเดียวกันก็มีข้อน่าคิดว่าเนื่องจากตาม พ.ร.บ.กู้เงินฯ ดังกล่าว ให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 30 มิ.ย. 56 ก็น่าคิดว่าแล้วผลที่จะตามมาจะออกมาแบบไหน แต่ก็เชื่อว่าฝ่ายรัฐบาลเองก็คงเตรียมการตั้งรับกันไว้หมดแล้ว ไม่ว่าผลจะออกมาทางใดทางหนึ่ง

ไม่รู้ว่านอกจากเรื่อง “รับจำนำข้าว” ที่กำลังเป็นปัญหาใหญ่ของรัฐบาลเวลานี้แล้ว จะมามีเรื่อง “งบน้ำ” ที่จะมาสร้างปัญหาเรื่องใหม่ให้รัฐบาลปวดหัวเล่นหรือไม่

เพราะอย่างเวลานี้จู่ๆ ก็มีข่าว ยัม ยุง โซ ผู้อำนวยการสมาพันธ์สิ่งแวดล้อมเกาหลีใต้ ซึ่งติดตามการทำงานของบริษัท เค วอเตอร์ บริษัทก่อสร้างสัญชาติเกาหลีใต้ ที่ได้งานประมูลระบบฟลัดเวย์ และทำพื้นที่แก้มลิงในงบประมาณ 1.63 แสนล้านบาทในโครงการ 3.5 แสนล้านบาท ที่ออกมาเปิดเผยระหว่างไปร่วมลงพื้นที่บริเวณสร้างทางผันน้ำ และพื้นที่เพื่อทำแก้มลิงในจังหวัดนครสวรรค์ พร้อมกับสื่อมวลชนไทย-เอ็นจีโอ-นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยมหิดล

แล้วตัวยัม ยุง โซ ออกมาระบุว่า โมดูล เอ 3 แก้มลิง ที่เค วอเตอร์ ได้งานไปอาจดำเนินการไม่ได้ทันตามกำหนด เนื่องจากไม่มีประสบการณ์บริหารพื้นที่ขนาดใหญ่กว่าล้านไร่เช่นนี้ เพราะเค วอเตอร์ที่ผ่านมาทำแต่งานสร้างเขื่อนและระบบระบายน้ำในพื้นที่ขนาดเล็กเท่านั้น

ทั้งบอกว่าที่ผ่านมาการดำเนินโครงการขนาดใหญ่ในเกาหลีใต้ของเค วอเตอร์ก็มักมีปัญหาตลอดในเรื่องความไม่โปร่งใสแต่อาศัยคอนเน็คชั่นการเมืองในเกาหลีใต้คอยสนับสนุน เลยออกมาตั้งข้อสังเกตุว่าทำไมเค วอเตอร์ถึงเข้าประมูลโครงการในประเทศไทย ทั้งที่เป็นบริษัทที่มีปัญหาด้านสถานะการเงินอีกทั้งทุกวันนี้ก็แทบไม่มีงานในเกาหลีใต้แล้ว

เจอข้อมูลจากคนเกาหลีใต้ เตะผ่าหมากเข้ามาแบบนี้ เชื่อว่าคนในรัฐบาลโดยเฉพาะปลอดประสพ สุรัสวดีรองนายกฯ ที่คุมโครงการนี้ทั้งหมด คงทำเป็นไม่สนใจ
 
 อ้างว่าการคัดเลือกบริษัทอะไรต่างๆ โปร่งใสหมด ทุกอย่างจบไปแล้ว หลังความคืบหน้าในโครงการบริหารจัดการน้ำ3.5 แสนล้านบาท ก็คืบหน้าไปหลายภาคส่วนโดยในส่วนของรัฐบาล ก็อยู่ในขั้นตอนที่หลังจากมติครม.เห็นชอบรายชื่อบริษัทและวงเงินในการบริหารจัดการน้ำทั้ง 9 โมดูลไปแล้วเมื่อ 18 มิ.ย. 56 ตอนนี้ก็จะเข้าสู่การตั้งคณะกรรมการเพื่อพิจารณาคัดเลือกบริษัทที่ปรึกษาโครงการ โดยรัฐบาลตั้งงบประมาณที่จะใช้ในการจ้างบริษัทที่ปรึกษาตั้งเพดานไว้ที่ไม่เกิน 8,730 ล้านบาทแต่ต้องไม่เป็นบริษัทที่จัดทำโครงการทั้ง 9 โมดูล โดยคาดว่าภายใน 60 วัน จะได้บริษัทที่ปรึกษาที่ผ่านการคัดเลือกดังกล่าว

ขณะที่ฝั่งพรรคฝ่ายค้าน ทาง ส.ส.ประชาธิปัตย์ก็เตรียมยื่นรายชื่อ ส.ส. 120 คนเสนอต่อประธานวุฒิสภาเพื่อส่งไปยังคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อยื่นถอดถอนครม.ทั้งคณะในความผิดฐานเห็นชอบการประมูลโครงการดังกล่าวที่มีบริษัทเข้าร่วมประมูลเพียง 4 กลุ่มบริษัท อันมีพฤติการณ์เอื้อประโยชน์ต่อบริษัทรายใหญ่ และส่อฮั้วประมูล และฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามเกณฑ์ราคากลางตามที่ ป.ป.ช. แนะนำไปก่อนหน้านี้ อีกทั้งยังไม่ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 67 ในเรื่องการมีส่วนร่วมของประชาชนโดยเฉพาะการเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนก่อนเปิดประมูลโครงการ

ดูแล้วปัญหาใหญ่ของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ก็คงไม่พ้นเรื่อง “ข้าว และน้ำ”
กำลังโหลดความคิดเห็น