xs
xsm
sm
md
lg

“ศาลปกครอง” สั่งทางหลวง-คมนาคมปลูกต้นไม้ทดแทน “ถนนธนะรัชต์” ขึ้นเขาใหญ่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

การก่อสร้างขยายถนนธนะรัชต์ อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา (ภาพจากเฟซบุ๊ก กลุ่มคนรักเขาใหญ่)
ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาให้กรมทางหลวง และกระทรวงคมนาคม ร่วมกันนำต้นไม้ขนาดและชนิดเดียวกันที่ตัดทิ้งบนถนนธนะรัชต์ ทางขึ้นเขาใหญ่ ปลูกทดแทนตามจำนวนที่โค่นเพื่อขยายถนนระยะทาง 8 กม.ภายใน 60 วัน

วันนี้ (16 พ.ค.) ที่สำนักงานศาลปกครอง ศาลปกครองกลาง โดย นายเสน่ห์ บุญทมานพ ตุลาการเจ้าของสำนวน พร้อมด้วยนายนิทัศน์ จูยืนยง และนายวิโรจน์ ปรีชาพันธ์ ตุลาการศาลปกครองกลาง มีคำพิพากษาให้กรมทางหลวงและกระทรวงคมนาคม ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองร่วมกันนำต้นไม้ชนิด ประเภท และขนาดเดียวกันหรือใกล้เคียงกันในจำนวนที่เท่ากันกับต้นไม้ที่ถูกตัดโค่นไปแล้วตามแนวถนนเขตทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 2090 ช่วงกิโลเมตรที่ 2 ถึง 10.1 หรือ ถนนธนะรัชต์ (ปากช่อง-อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่) บริเวณต่อเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ซึ่งเป็นเส้นทางที่เข้าสู่แหล่งท่องเที่ยว ไปปลูกทดแทนตามเขตแนวถนนดังกล่าว โดยให้เริ่มดำเนินการภายใน 60 วัน นับแต่วันที่คำพิพากษาถึงที่สุด เพื่อให้มีสภาพใกล้เคียงกับของเดิมให้มากที่สุด

ทั้งนี้ คดีนี้สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อนกับพวกที่เป็นชาวบ้านรวม 130 คน ยื่นฟ้องกรมทางหลวง และกระทรวงคมนาคม เป็นผู้ถูกฟ้องที่ 1-2 กรณีอนุมัติให้กับบริษัท ราชสีมาบวร (1996) จำกัด ก่อสร้างและปรับปรุงขยายผิวทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 2090 จากเดิม 2 ช่องจราจรเป็น 4 ช่องจราจร วงเงิน 9,736,342.01 บาท โดยอ้างเหตุเพื่อรองรับปริมาณการจราจรที่เพิ่มขึ้นและเพื่อช่วยลดอุบัติเหตุ ซึ่งเคยบูรณะใหญ่เมื่อปี 2535 อายุการใช้งาน 16 ปี โดยในปี 2552 พบการจราจรเฉลี่ย 8,018 คันต่อวัน โดยการอนุมัตินั้นกระทำโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ที่ไม่จัดทำรายงานศึกษาวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ อีไอเอ (EIA) และรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบต่อสุขภาพ หรือ เอชไอเอ (HIA) ตามรัฐธรรมนูญ ปี 50 มาตรา 67 วรรค 2 และไม่ดำเนินการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนผู้มีส่วนได้เสียอย่างถูกต้อง

โดยศาลพิจารณาข้อเท็จจริงประกอบกฎหมาย ระเบียบ ที่เกี่ยวข้องแล้วเห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 2090 ตอนแยกทางหลวงหมายเลข 2 (ถนนบายพาสมิตรภาพ-ปากช่อง) ถึงต่อเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ระยะทาง 23.00 กิโลเมตร ซึ่งมีจุดเริ่มต้นอยู่ที่ ต.หนองน้ำแดง อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา ถึง ต.หมูสี อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา ใช้เป็นเส้นทางสำหรับเดินทางเข้าสู่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ซึ่งได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกเมื่อเดือนกรกฎาคม 2548 แต่ถนนช่วงที่เป็นพิพาทจำนวน 8.100 กิโลเมตรนั้น อยู่ช่วงต้นถนน จึงชัดเจนว่าไม่ได้อยู่ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ จึงไม่เข้าข่ายโครงการที่จะต้องจัดทำอีไอเอ ตามมาตรา 46 แห่ง พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 แต่อย่างใด

แต่เนื่องจากโครงการดังกล่าวเป็นโครงการของรัฐตามความหมายข้อ 4 ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นประชาชน พ.ศ. 2548 ที่กำหนดว่าก่อนเริ่มดำเนินโครงการของรัฐต้องจัดให้มีการเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับเหตุผลความจำเป็น วัตถุประสงค์และสาระสำคัญของโครงการ ผู้ดำเนินการ สถานที่ ขั้นตอน และระยะเวลาที่จะดำเนินการ ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับประชาชนที่อยู่อาศัยในพื้นที่ใกล้เคียงให้ประชาชนทราบ รวมทั้งให้หน่วยงานของรัฐประกาศข้อมูลดังกล่าวในระบบเครือข่ายสาระสนเทศที่สำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีจัดให้มีระเบียบดังกล่าวด้วย โดยข้อ 12 ของระเบียบดังกล่าวยังให้หน่วยงานรัฐต้องจัดทำสรุปผลรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและประกาศให้ทราบภายใน 15 วัน

แม้คดีนี้พบว่ากรมทางหลวงผู้ถูกฟ้องที่ 1 มีหนังสือลงวันที่ 23 ม.ค. 2553 ก่อนการประกวดราคาจ้าง เชิญหน่วยงานภาครัฐ ผู้นำชุมชน ภาคเอกชน สถานศึกษา สื่อมวลชนและผู้แทนของกรมทางหลวง และประชาชนในพื้นที่รวม 154 คน เข้าประชุมเพื่อแสดงความคิดเห็นในวันที่ 16 ก.พ. 2553 ที่ห้องประชุม อบต.หนองน้ำแดง อ.ปากช่อง โดยอ้างว่าที่ประชุมมีมติเห็นด้วยให้ดำเนินโครงการดังกล่าว แต่ก็ไม่ได้ปรากฎรายชื่อที่อยู่พร้อมหลักฐานอื่นของผู้เข้าร่วมประชุมที่จะยืนยันว่ามีผู้เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมจริง และไม่มีรายละเอียดที่แสดงให้เห็นอย่างเพียงพอว่าหน่วยงานรัฐได้มุ่งให้ประชาชนมีความเข้าใจที่ถูกต้องของรัฐตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี อีกทั้งไม่มีการจัดทำสรุปผลความคิดเห็นของผู้เข้าร่วมประชุมที่ต้องประกาศให้ประชาชนทราบภายใน 15 วันตามขั้นตอน จึงเห็นว่าการจัดประชุมนั้นไม่ถูกต้อง แต่ผู้ฟ้องไม่ได้มีคำขอให้เพิกถอนการกระทำที่ไม่ถูกต้องดังกล่าว

แต่อย่างไรก็ตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 มาตรา 97 บัญญัติว่า ผู้ใดกระทำด้วยประการใดโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายที่เป็นการทำลายหรือเสียหายต่อทรัพยากรธรรมชาติที่เป็นของรัฐและสาธารณสมบัติของแผ่นดินมีหน้าที่ต้องรับผิดชอบ เมื่อผู้ถูกฟ้องทั้งสองและหน่วยงานในพื้นที่ได้ตรวจสอบเพื่อจะทำการขุดล้อม ถอนต้นไม้ทั้งสองข้างทางหลวงที่เป็นข้อพิพาทดังกล่าวเพื่อจะนำไปปลูกในราชการตามข้อเสนอแนะของกรมป่าไม้ แต่ภายหลังสรุปว่าไม่สามารถดำเนินการด้วยเหตุผลต่างๆ โดยไม่ปรากฏว่าได้มีความพยายามที่จะดำเนินการเท่าที่จะทำได้

ดังนั้นเห็นว่าเมื่อผู้ถูกฟ้องทั้งสองไม่ได้ตระหนักถึงการปฏิบัติตามนโยบายของรัฐบาลในขณะนั้นเกี่ยวกับการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การคุ้มครองและฟื้นฟูพื้นที่อนุรักษ์ที่มีความสำคัญเชิงระบบนิเวศ จึงเห็นสมควรที่จะต้องให้ทำการเยียวยาความเสียหายในส่วนนี้ โดยให้นำต้นไม้ชนิด ประเภท และขนาดเดียวกันหรือใกล้เคียงกันในจำนวนที่เท่ากันกับต้นไม้ที่ถูกตัดโค่นไปแล้วตามบัญชีที่ได้มีการสำรวจและบันทึกไว้เมื่อวันที่ 14 ธ.ค. 2552 ไปปลูกทดแทนตามแนวถนนเขตทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 2090 ช่วงกิโลเมตรที่ 2 ถึง 10.1 (ถนนธนะรัชต์) รวมระยะทาง 8.100 กม.บริเวณต่อเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ซึ่งเป็นเส้นทางที่เข้าสู่แหล่งท่องเที่ยว โดยให้เริ่มดำเนินการภายใน 60 วัน นับแต่วันที่คำพิพากษาถึงที่สุดเพื่อให้มีสภาพใกล้เคียงกับของเดิมให้มากที่สุด ส่วนที่ผู้ฟ้องขอให้ผู้ถูกฟ้องนำไม้ไปปลูกทดแทนจำนวนไม่ต่ำกว่า 10,000 ต้นนั้นผู้ฟ้องไม่มีรายละเอียดที่จะให้ศาลพิจารณาได้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับคดีนี้เป็นเพียงคำพิพากษาศาลปกครองชั้นต้น ขณะที่ตามกฎหมายคู่ความยังสามารถยื่นอุทธรณ์คดีต่อศาลปกครองสูงสุดได้ภายใน 30 วัน หากไม่เห็นด้วยกับคำพิพากษาศาลชั้นต้น


กำลังโหลดความคิดเห็น