xs
xsm
sm
md
lg

นัดถก 5ข้อเสนอBRNวันนี้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เวลา 14.00 น. วานนี้ (22ส.ค.) น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และรมวงกลาโหม ได้ให้การต้อนรับนายตัน ซรี ดาโต๊ะ ฮัจญี มูห์ยิดดิน บิน อัจอัจญี โมฮัมหมัด ยัสซิน รองนายกฯ และ รมว.ศึกษาธิการและอุดมศึกษา มาเลเซีย ที่เดินทางเข้าเยี่ยมคารวะ เนื่องในโอกาสเยือนไทยอย่างเป็นทางการ เพื่อเข้าร่วมการประชุมสภาธุรกิจไทย-มาเลเซีย ครั้งที่ 1 โดยทั้งสองต่างยินดีต่อความสัมพันธ์ไทย-มาเลเซีย ที่เป็นไปอย่างราบรื่น มีการเยือนของผู้นำระดับสูงอย่างสม่ำเสมอโดยเฉพาะการเสด็จฯ เยือนไทยอย่างเป็นทางการของ สมเด็จพระราชาธิบดี และสมเด็จพระราชินีแห่งมาเลเซีย ระหว่างวันที่ 2-5 ก.ย. 56 นี้
โอกาสนี้ ได้มีการหารือ ถึงความร่วมมือ ในการตรวจสอบตัวอย่างลายนิ้วมือของบุคคลสองสัญชาติ ซึ่งฝ่ายไทยกังวล ว่าอาจเกี่ยวข้องกับความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเรื่องนี้มาเลเซียต้องใช้เวลาดำเนินการ เนื่องจากเป็นประเด็นที่มีความละเอียดอ่อนทางการเมือง พร้อมขอให้จัดการประชุมคณะทำงานร่วมว่าด้วยความร่วมมือด้านบุคคลสองสัญชาติ ครั้งที่ 2 เพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาร่วมกันต่อไป ทั้งนี้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้แสดงความขอบคุณการพิจารณาออกใบอนุญาตการทำงานให้แก่แรงงานไทย จากชายแดนภาคใต้ ที่ร้านอาหารไทยในมาเลเซียอย่างถูกต้องตามกฎหมาย
ขณะที่รองนายกฯ มาเลเซีย ได้กล่าวชื่นชมรัฐบาล ที่ริเริ่มกระบวนการพูดคุยกับ กลุ่มบีอาร์เอ็น และยินดีร่วมมือกับไทย เพื่อให้มีความคืบหน้าในการพูดคุย ซึ่งจะนำไปสู่การลดความรุนแรงและสันติสุขระหว่างชายแดนไทยและมาเลเซีย รวมถึงยังเห็นพ้องที่จะมุ่งส่งเสริมการค้าและการลงทุน ทั้งนี้ในการประชุมสภาธุรกิจไทย-มาเลเซียครั้งที่ 1 ครั้งนี้ไทยและมาเลเซีย ต้องการสนับสนุนความร่วมมือทางด้านการศึกษาและ ความร่วมมือในอุตสาหกรรมฮาลาลไทย-มาเลเซีย

** ศปก.กปต.ถก 5ข้อเสนอBRNวันนี้

พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า การประชุมศูนย์ปฏิบัติการคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบาย และยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศปก.กปต.) จะมีขึ้นในวันนี้ (23ส.ค.) เวลา 09.30 น. ที่กองทัพบก โดยพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. ขอรับเป็นเจ้าภาพ และเข้าประชุมด้วย
ทั้งนี้ จะได้ข้อสรุป 5 ข้อเสนอของบีอาร์เอ็นหรือไม่ ขึ้นอยู่กับการหารือกัน เมื่อถามว่าท่าทีของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอทั้ง 5 ข้อนี้ รองนายกฯ กล่าวว่า ขอพูดคุยกันก่อน เพราะนี่เป็นนโยบายรัฐบาล เป็นแนวทางดำเนินการโดยสันติวิธี
ผู้สื่อข่าวถามว่า นโยบายของรัฐบาลจะมุ่งไปทางไหนกับ 5 ข้อเสนอของบีอาร์เอ็น พล.ต.อ.ประชา กล่าวว่า ความจริงมีความชัดเจนอยู่แล้วซึ่งก็จะมีการพูดคุยในที่ประชุม ศปก.กปต. อีกครั้ง

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. กล่าวถึง การพิจารณาข้อเสนอ 5 ข้อ ของกลุ่มบีอาร์เอ็น ในวันนี้ ว่า จะมีการพูดคุยพร้อมกับ ผบ.เหล่าทัพ เพื่อหาทางออกที่ดีที่สุดให้กับประเทศชาติ และต้องไม่ส่งผลกระทบต่อจิตใจของประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งทางมาเลเซียอยากช่วยเราในการอำนวยความสะดวก ซึ่งเราจะทำอย่างไร เพื่อไม่ให้มีปัญหาในอนาคต เราต้องประเมินทั้งสิ่งดี และไม่ดี ทั้งนี้หากมีคนเข้ามาเกี่ยวข้องมาก การแก้ไขปัญหาจะยากขึ้น

**"ทวี" ยันแก้ปัญหายึดหลักกม.-สันติวิธี

พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ( ศอ.บต.) เปิดเผยว่า กรณีเหตุความรุนแรงในพื้นที่ โดยเฉพาะการลอบยิงครู และอุสตาซ นั้น หน่วยงานของรัฐ ก็ให้ความสำคัญ โดยเฉพาะบุคลากรด้านการศึกษาไม่ว่าจะเป็นครูไทยพุทธ หรือครูไทยมุสลิม เพราะกลุ่มคนเหล่านี้เป็นบุคคลที่มาสร้างอนาคต ไม่ได้มีความขัดแย้งอะไรกับใคร และเป็นหน้าที่โดยตรงที่หน่วยงานจะต้องไปคุ้มครอง อย่างไรก็ตาม ก็คงจะต้องเรียกร้องให้เครือข่ายที่เกี่ยวข้องช่วยกันดูแลด้วย การสูญเสียในแต่ละครั้งเป็นความเจ็บปวด ไม่ใช่เจ็บปวดแค่ภายในครอบครัว ทุกคนมีความเจ็บปวดเหมือนกัน
ส่วนกรณีการเดินทางไปประเทศปากีสถานกับคณะของนายกรัฐมนตรี เพื่อพบปะตัวแทนโลกมุสลิม เมื่อวันที่ 19-21 ส.ค. ที่ผ่านมานั้น เป็นการเดินทางไปเพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์โดยเฉพาะในเรื่องของการพัฒนา ในเรื่องของการศึกษา เนื่องจากพี่น้องประชาชนชาวไทยมุสลิมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้จำนวนมาก เดินทางไปศึกษาต่อตามประเทศต่างๆในโลกมุสลิม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของศาสนา สังคม เทคโนโลยี การไปพบปะก็ได้รับฟังปัญหาของนักเรียน เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์และทำความเข้าใจว่าประเทศไทยของเรายึดกฎหมาย ยึดสันติวิธี เป็นหลักๆ

**ควรประเมินเหตุรุนแรงช่วงรอมฏอน

ด้านนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ จ.ยะลา และปัตตานี เมื่อวันที่ 21 ส.ค.ที่ผ่ามานั้น ว่า ตนข้องใจอยู่ว่า วันนี้ทำไมทางการของไทยกำลังไปดูโจทย์ 5 ข้อ ของกลุ่มบีอาร์เอ็น ซึ่งตนไม่ได้ขัดข้องว่าจะรับหรือไม่รับอะไร ตราบเท่าที่ทุกอย่างอยู่ในภายใต้กรอบของกฎหมาย เพียงแต่ตนสงสัยกระบวนการของการพูดคุยว่า เดิมนั้นพยายามจะสร้างความเชื่อมั่นด้วยกัน ด้วยการบอกว่าจะลดความรุนแรง แล้วก็บอกว่าตกลงกัน เอาเดือนรอมฎอนนี้เป็นเหมือนกับจุดเริ่มต้นการทดลอง ทำไมวันนี้ไม่เน้นจุดนี้เสียก่อนว่าอะไรเกิดขึ้นจะแก้ไขกันอย่างไร กลับกลายเป็นบอกว่า ตอนนี้ก็เหมือนกับลืมๆ ตรงนี้ไปแล้ว แล้วก็กลายเป็นย้อนกลับไปสู่ 5 ข้อเสนอ ซึ่งไม่ได้เป็นไปตามเอกสารการลงนามตอนแรกด้วยซ้ำของการพูดคุย
“อยากให้หน่วยงานของรัฐ หน่วยงานฝ่ายความมั่นคง เอาตรงนี้ให้ชัดก่อน ไม่ใช่ว่าเราไม่อยากพูดคุย แต่พูดคุยมันต้องพูดคุยกันด้วยความไว้เนื้อเชื่อใจ แล้วก็ด้วยเจตนาที่สุจริต ถ้ามีการพูดคุยแล้วก็มีการเปลี่ยนแปลง หรือพูดง่ายๆ เบี้ยวข้อตกลงกันไปเรื่อยนั้นมันไม่ได้ ฝ่ายไทยก็ไม่ควรที่จะไปเบี้ยวข้อตกลงอะไรด้วยเหมือนกัน ก็ต้องเอาตรงนี้มาวาง มาคุยกัน แต่ผมไม่ค่อยเข้าใจว่า การจัดลำดับ การเรียงประเด็นอย่างนี้ หรือนโยบายของรัฐบาลในเรื่องนี้มันเป็นยังไงกันแน่”นายอภิสิทธิ์ กล่าว

**"นพดล"ไม่เชื่อดูไบขับ"ทักษิณ"

นายนพดล ปัทมะ ที่ปรึกษากฎหมายส่วนตัว พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร โพสต์เฟซบุกแสดงความคิดเห็น กรณีกระแสข่าวทางการดูไบ สั่งให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ออกนอกประเทศ หลังมีข่าวว่าสอบคลิปอัลกออิดะห์ขู่ฆ่าเป็นคลิปจริง และทางดูไบ หวั่นจะเกิดเหตุก่อการร้ายว่าในสังคม ในทุกองค์กร ในทุกอาชีพ มีทั้งคนดีและคนไม่ดี คนเสนอข่าวดีๆ ก็มีมาก ทำงานอย่างมืออาชีพ แต่ก็มีบางสื่อที่แยกไม่ออกระหว่าง จริงหรือเท็จ และถ้าเป็นผลลบกับอีกฝ่ายก็นำเสนอ โดยไม่ใช้สติ ปัญญาตรวจสอบ อย่างล่าสุด มีการเสนอข่าวว่า พ.ต.ท.ทักษิณ อยู่ดูไบไม่ได้ ต้องย้ายไปที่อื่น อ่านแล้วก็ได้แต่ขำ ขอเรียนว่า พ.ต.ท.ทักษิณ อยู่และเดินทางไปไหนก็ได้ เชื่อว่าเรื่องดังกล่าวไม่น่าจะเป็นความจริง
พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาสมช.ให้สัมภาษณ์ภายหลังเดินทางกลับจากการเยือนสาธารณรัฐทาจิกิสถาน และสาธารณรัฐอิสลามปากีสถาน กับคณะของนายกรัฐมนตรีว่า ว่า จากการตรวจสอบคลิปอัลกออิดะห์ขู่ฆ่า พ.ต.ท.ทักษิณ ร่วมกันของหน่วยข่าวกรองของไทย และปากีสถานพบว่า ไม่เป็นความจริง แต่เป็นการปฏิบัติการเชิงซ้อนของฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลภายในประเทศที่ต้องการล้มรัฐบาล จึงได้มีการปล่อยข่าวเพื่อดิสเครดิต และเพื่อต้องการบีบให้ พ.ต.ท.ทักษิณ มีพื้นที่อยู่น้อยลง
พล.ท.ภราดร กล่าวด้วยว่า ชี้แจงถึงบทบาทและเจตนารมณ์ของไทย ในการแก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ภาคใต้ โดยใช้หลักการพูดคุยเพื่อสันติภาพ ซึ่งองค์การความร่วมมืออิสลาม หรือ OIC ก็เข้าใจบทบาทของไทยดี
กำลังโหลดความคิดเห็น