xs
xsm
sm
md
lg

บินปากีฯเคลียร์“คลิปแม้ว” หึ่ง!“ปูควงฝ่ายมั่นคง”ร่วม-จี้5ข้อโจรใต้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้(19 ส.ค.56) เมื่อเวลา 08.00 น.ที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหมพร้อมด้วย นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รองนายกฯ รมว.ต่างประเทศ นายปลอดประสพ สุรัสวดี รองนายกฯ นายยรรยง พวงราช รมช.พาณิชย์ พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.)และ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เดินทางด้วยเที่ยวบินพิเศษ TG 8889 ไปยังกรุงดูซานเบ สาธารณรัฐทาจิกิสถาน เพื่อเข้าร่วมประชุม High-Level International Conference on Water Cooperation และการเยือนสาธารณรัฐทาจิกิสถานและสาธารณรัฐอิสลามปากีสถานอย่างเป็นทางการ ระหว่างวันที่ 19-21 ส.ค.
โดยนายสุรนันทน์ เวชชาชีวะ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การที่เลขาธิการ สมช.และเลขาธิการ ศอ.บต.ร่วมคณะเดินทางด้วยนั้น เป็นการไปพูดคุยถึงการแก้ไขปัญหาความไม่สงบจังหวัดชายภาคใต้ ในฐานะที่ปากีสถานเป็นสมาชิกสำคัญในองค์การความร่วมมือมุสลิม (โอไอซี) ส่วนที่ฝ่ายความมั่นคงร่วมเดินทางไปด้วย เพื่อพูดคุยถึงกรณีมีผู้โพสต์คลิปอ้างตัวเป็นกลุ่มอัลกออิดะห์ ประกาศว่าจะไล่ล่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เพื่อแก้แค้นให้กับการฆ่าชาวมุสลิมในภาคใต้ ในปี 2547 ด้วยหรือไม่ เพราะปากีสถานเองมีปัญหากลุ่มอัลกออิดะห์ นายสุรนันทน์ กล่าวว่า ไม่ได้ไปพูดคุยเรื่องนี้ ซึ่งคลิปดังกล่าวหน่วยงานความมั่นคงของไทยตรวจสอบแล้ว เป็นคลิปที่ทำขึ้นเพื่อหวังผลทางการเมือง
เวลา 08.00 น.ที่กองการบิน กรมการขนส่งทหารบก (ขส.ทบ.) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก พร้อมด้วย พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา รมช.กลาโหม พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร เสธนาธิการทหารบก พร้อมด้วยคณะนายทหารระดับสูงร่วมลงพื้นที่ จ.นราธิวาส เพื่อติดตามความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยพล.อ.ประยุทธ์ กล่าวก่อนลงพื้นที่ว่า นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหมในฐานะผอ.รมน.สั่งให้ลงพื้นที่ เพื่อติดความคืบหน้าและแนวโน้มสถานการณ์ หลังสิ้นสุดเดือนรอมฎอน ว่า ทิศทางจะเป็นอย่างไร จากที่เคยเสนอกับกลุ่มบีอาร์เอ็นว่า จะลดความรุนแรงในช่วงเดือนรอมฎอน แต่ยังมีเหตุการณ์เกิดขึ้น ขอยืนยันว่า เจ้าหน้าที่ไม่ใช่ผู้ใช้ความรุนแรงก่อน แต่ผู้ก่อความไม่สงบพยายามก่อเหตุ เพื่อให้มีบทบาทในการพูดคุยมากขึ้น
“ข้อเรียกร้องของกลุ่มบีอาร์เอ็นทั้ง 5 ข้อ เรายังรับกันไม่ได้ และจากนี้เราต้องเตรียมการในการพูดคุย เพื่อไม่ให้ฝ่ายรัฐตกเป็นผู้เสียเปรียบในการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย และต้องหารือกับกลุ่มบีอาร์เอ็น เพื่อลดความรุนแรงให้ได้ ซึ่งหลายเหตุการณ์มีเรื่องภัยแทรกซ้อนมาเกี่ยวข้อง นอกจากนี้การควบคุมสารประกอบทำระเบิดยังไม่สามารถควบคุมได้เต็มที่ เพราะมีช่องทางเข้า-ออกตามชายแดนมากมายจึงต้องอาศัยหน่วยงานต่างๆดูแล ขอยืนยันว่า เจ้าหน้าที่ทุกคนพยายามทำงานกันอย่างเต็มที่ พร้อมสร้างความเข้มแข็งให้กับเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งเราไม่ได้เสียเปรียบ อยากให้การดำเนินการทุกอย่างอยู่ภายใต้กฎหมายรัฐธรรมนูญไทย การพูดคุยเป็นเพียงการแสวงหาทางออก ไม่ใช่ทำให้เหตุการณ์ยุติได้ในเวลารวดเร็ว ยืนยันว่าการพูดคุยต้องดำเนินการต่อ ตราบใดที่อีกฝ่ายยังใช้ความรุนแรง ส่วนเงื่อนไขของกลุ่มบีอาร์เอ็นต้องมาตรวจสอบ โดยเฉพาะเรื่องประวัติศาสตร์ และคำสอนศาสนา ต้องทำความเข้าใจใหม่เพราะทุกอย่างไม่ได้เป็นไปตามที่กลุ่ม บีอาร์เอ็นระบุ ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะเป็นตัวหลักในการพูดคุยต่อไปโดย สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) จะต้องเชิญหน่วยงานทั้งหมดไปหารือกันให้ดี”พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
ทั้งนี้ เรายังคงทำหน้าที่อยู่ ไม่ได้ถอนทหาร มีแต่จะเพิ่มกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าไป ทั้งนี้ประชาชนในพื้นที่ต้องการให้เจ้าหน้าที่ทหาร และตำรวจอยู่ในพื้นที่จนกว่าสถานการณ์จะเรียบร้อย แต่ถ้าต้องการให้ทหารถอนกำลังออกมา เหตุการณ์ก่อความไม่สงบจะต้องไม่เกิดขึ้น และผู้ก่อเหตุต้องออกมาพูดคุยกันในพื้นที่ที่เปิดไว้ให้ แต่ตอนนี้ยังไม่มีใครออกมา แล้วจะมาเรียกร้องให้ทหารออกก่อนคงไม่มีอะไรมาค้ำประกัน ส่วนกรณีที่ นายอาซิส เบ็ญหาวัน ประธานสภาที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้(สปต.) ต้องการให้หน่วยงานความมั่นคงปรับแผนดูแลความปลอดภัยและส่งทหารออกลาดตระเวนในเวลากลางคืนนั้น เราทำกันอยู่แล้ว แต่คิดว่า ทาง สปต. พูดคงเพียงอยากให้เพิ่มความเข้มงวดในเวลากลางคืน แต่ปัญหา คือ พื้นที่กว้าง กำลังพลมีจำนวนจำกัด บางพื้นที่จึงไม่มีทหารไปลาดตระเวน ตนจึงพยายามกวดขันผู้ใต้บังคับบัญชาให้ทำหน้าที่เต็มที่เพราะตนมีชุดประเมินผลลงไปตรวจสอบการทำงานของเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ทุกเดือน อย่างไรก็ตามต้องพยายามลดเป้าหมายอ่อนแอ ควบคู่กันไป จะทำให้การทำงานง่ายขึ้น และเจ้าหน้าที่จะได้มีเวลาในการดูแลความปลอดภัยในเวลากลางคืน
วันเดียวกัน เมื่อเวลา 10.00 น. ที่กระทรวงกลาโหม พล.ต.สุรชาติ จิตต์แจ้ง หัวหน้าประชาสัมพันธ์ส่วนประชาสัมพันธ์และสารสนเทศ สำนักรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมและประธานอนุกรรมการด้านการประชาสัมพันธ์ พร้อมด้วยผู้แทนจากส่วนราชการที่เกี่ยวข้องร่วมแถลงข่าวความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้
โดย พ.อ.จรูญ อำภา ที่ปรึกษาสภาความมั่นคงแห่งชาติ(สมช.)กล่าวว่า หลังจากเกิดเหตุความไม่สงบในช่วงท้ายของเดือนรอมฏอน เราจึงทำหนังสือผ่านไปยังผู้อำนวยความสะดวกไปยังกลุ่มบีอาร์เอ็นว่า ขอให้ช่วยติดตาม และตรวจสอบว่า ใครเป็นผู้ก่อเหตุรุนแรง เมื่อไม่ใช่กลุ่มบีอาร์เอ็นแล้วจะเป็นกลุ่มใดที่ยังเห็นต่างและอยากมีบทบาทในการพูดคุย ทั้งนี้เรายังเชื่อมั่นว่า การพูดคุยจะต้องได้ผล และจบด้วยสันติสุข เพราะทุกอย่างจะต้องจบด้วยการพูดคุย ตอนนี้คงไม่ถึงกับต้องล้มโต๊ะ แต่เราพิจารณาว่า ใครเป็นผู้ก่อเหตุ เพราะกลุ่มผู้ก่อเหตุอาจมีหลายกลุ่มทั้งบีอาร์เอ็น พูโล วาดะห์ ซึ่งเราพร้อมเจรจา
“ส่วนการหารือกับกลุ่มบีอาร์เอ็นอีกครั้งนั้น ขณะนี้ต้องเลื่อนออกไปก่อน และยังไม่ได้กำหนดวันพูดคุย เพราะขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาหาข้อมูลเกี่ยวกับ 5 ข้อเสนอของบีอาร์เอ็นว่า รับได้หรือไม่ อย่างไร และจะมีการปรับแก้ตรงไหนอย่างไร โดยเมื่อวันที่ 15 ส.ค.ที่ผ่านมา ที่มีการประชุมกปต.ทางนายกรัฐมนตรีได้สั่งให้มีการตั้งคณะกรรมการชุดย่อยไปศึกษาเชิงลึกเกี่ยวกับข้อเสนอของบีอาร์เอ็น โดยทำเรื่องผ่านไปยังผู้อำนวยความสะดวกว่า อะไรบ้างที่เป็นสิ่งที่เขาต้องการ ซึ่งได้รับการประสานอย่างไม่เป็นทางการจากผู้อำนวยความสะดวกว่า จะหารือนอกรอบก่อนในเร็ววันนี้ เพื่อกำหนดวันที่ชัดเจนในการพูดคุยกันครั้งต่อไป โดยในวันที่ 22 ส.ค.นี้ พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผอ.ศปก.กปต.ได้นัดประชุม เพื่อนำข้อมูลในเชิงลึกมาหารือกันเกี่ยวกับข้อเสนอของบีอาร์เอ็น โดยทั้ง 5 ข้อเสนอบีอาร์เอ็นมี 3 ข้อที่เราพอรับได้ แต่ข้อที่เรารับไม่ได้ คือ การขอให้เราปล่อยผู้ต้องหาทั้งหมดโดยไม่มีเงื่อนไข และการให้ยอมรับสถานะกลุ่มบีอาร์เอ็นว่า เป็นองค์กรเพื่อการปลดปล่อยปัตตานี เพราะการรับข้อเสนอนี้เท่ากับว่า เรายอมรับให้พื้นที่ 3 จัหงวัดชายแดนภาคใต้เป็นเขตปกครองพิเศษ”พ.อ.จรูญ กล่าว
ด้านพ.อ.ธนาธิป สว่างแสง โฆษกกระทรวงกลาโหม กล่าวว่า กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) ได้สรุปสถานการณ์ช่วงเดือนรอมฎอนที่ผ่านมา โดยมีการสำรวจประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้พบว่า ประชาชนภูมิใจการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ ทั้งเรื่องการอำนวยความสะดวกและการยุติความรุนแรงในพื้นที่ได้ โดยเฉพาะช่วง 3 สัปดาห์แรก ที่ถือว่าเป็นผลจาการพูดคุยสันติภาพ รวมถึงผู้อำนวยการประสานงานของทางมาเลเซีย รวมทั้งการแถลงการณ์ของโอไอซีทำให้สถิติการก่อเหตุลดลง นอกจากนี้น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ยังได้สั่งการเรื่องการให้ความช่วยเหลือเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุความรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ตั้งแต่ปี47-มิ.ย. 56 จำนวน 12,474 ราย โดยใช้งบประมาณเกือบ 2 พันล้านบาท นอกจากนี้ทางศอ.บต. ยังได้ดำเนินการเยียวยาฟื้นฟูจิตใจผู้ที่ได้รับความเสียหายและผู้ที่ได้รับผลกระทบเพื่อให้ดำเนินชีวิตต่อไปอย่างปกติ และขณะนี้ได้เปิดโครงการซ่อมสร้างบ้าน เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระบรมราชินีนาถครบ 81 พรรษา ซึ่งฉกจ.ยะลา และฉก.จ.นราธิวาสจะสำรวจบ้านพักประชาชนที่ทรุดโทรมและจำเป็นต้องสร้างใหม่ โดยจะมีฉก.ละประมาณ 81 หลัง
ที่ทำเนียบฯ พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รองนายกฯ กล่าวว่า จนถึงขณะนี้ยังไม่ได้ข้อยุติ ซึ่งในที่ประชุมเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา มีข้อเสนอที่หลากหลาย และเป็นประโยชน์มากสำหรับการพูดคุย จึงได้มอบให้สภาความมั่นคงแห่งชาติ(สมช.) และศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้(ศอ.บต.)ไปหารือในกลุ่มย่อยอีกครั้งเพื่อให้ได้คำตอบที่เหมาะสมที่สุด ก่อนจะเสนอเข้าที่ประชุมอีกครั้ง ซึ่งในส่วนของเราเองก็ต้องไปสอบถามประชาชนในพื้นที่ด้วยว่ามีความเห็นอย่างไรกับเงื่อนไขทั้ง 5 ข้อของบีอาร์เอ็น เพื่อนำไปพิจารณาและพูดคุยกับบีอาร์เอ็นส่วนตัวอยากฟังความเห็นจากทางกองทัพด้วย ซึ่งคาดว่าจะเชิญทางกองทัพมาหารือกันเป็นการภายในเร็ว ๆ นี้ ซึ่งน่าจะเป็นภายในสัปดาห์นี้
นายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า อยากให้พล.ท.ภราดรออกมาชี้แจงข้อเท็จจริง เพราะข้อเสนอดังกล่าวมีการพูดถึงอธิปไตยในดินแดน การปกครองดูแลตัวเอง อาจนำไปสู่การแบ่งแยกดินแดนในอนาคตได้ ภราดรไม่มีสิทธิปกปิดเป็นความลับเพราะเป็นอธิปไตยของประเทศ ถ้าไม่มีข้อเสนอเหล่านี้ต้องออกมาปฏิเสธ แต่ถ้าไม่ชี้แจงเท่ากับยอมรับข้อเสนอในเรื่องดินแดนกับบีอาร์เอ็น ทั้ง ๆ ที่ไม่มีสิทธิที่จะทำเช่นนั้น จึงน่าเป็นห่วงเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 190 ว่า หากมีการแก้ไขให้การทำสนธิสัญญาระหว่างประเทศไม่ต้องผ่านรัฐสภา นี่คือความอันตรายของการแก้ไขรัฐธรรมนูญในมาตรานี้ ตนไม่อยากมองโลกในแง่ร้ายแต่สอดคล้องว่ามีความพยายามเร่งรัดจะแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรานี้ ดังนั้น พล.ท.ภราดร ต้องตอบคำถามนี้ก่อนจะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 190 เพราะคนไทยเป็นเจ้าของแผ่นดินมีสิทธิรับรู้เรื่องนี้
สำหรับข้อเสนอ 5 ข้อของกลุ่มบีอาร์เอ็นมีการเผยแพร่ เมื่อวันที่ 27 เม.ย.ก่อนจะมีการสนทนาระหว่างรัฐบาลไทยและกลุ่มบีอาร์เอ็นในวันที่ 29 เม.ย. ได้แก่ (1) นักล่าอาณานิคมสยามต้องยอมรับให้ประเทศมาเลเซียเป็นคนกลางผู้ไกล่เกลี่ย (mediator) ไม่ใช่แค่ผู้ให้ความสะดวก (facilitator) (2) การพูดคุยเกิดขึ้นระหว่างชาวปาตานี (bangsa) ที่นำโดย บี.อาร์.เอ็น. กับนักล่าอาณานิคมสยาม (3) ในการพูดคุย จำเป็นต้องมีพยานจากประเทศอาเซียน องค์การความร่วมมือแห่งศาสนาอิสลาม (0IC) และองค์กรพัฒนาเอกชนต่างๆ (NGO) (4) นักล่าอาณานิคมสยามต้องปล่อยผู้ที่ถูกควบคุมตัวทุกคนและยกเลิกหมายจับ ทั้งหมด (ที่เกี่ยวข้องกับคดีความมั่นคง) โดยไม่มีเงื่อนไข(5) นักล่าอาณานิคมสยามต้องยอมรับว่า องค์กร บี.อาร์.เอ็น.เป็นขบวนการปลดปล่อยชาวปาตานี (bangsa) ไม่ใช่กลุ่มแบ่งแยกดินแดน
กำลังโหลดความคิดเห็น