xs
xsm
sm
md
lg

ควรจะออกมาเมื่อไร?

เผยแพร่:   โดย: ชวินทร์ ลีนะบรรจง, สุวินัย ภรณวลัย

              ไทยจะเลือดนองเหมือนอียิปต์หรือไม่
        การมีสติและอาศัยปัญญาเท่านั้นที่จะทำให้รอดพ้น

ประเด็นที่เป็นที่วิพากษ์และถกเถียงมากในขณะนี้ก็คือ สมควรที่ประชาชนที่ไม่เห็นด้วยกับการออกกฎหมายที่มิชอบ เช่น พ.ร.บ.นิรโทษกรรมของพรรครัฐบาล จะออกมาชุมนุมแสดงความไม่เห็นด้วยได้เมื่อใด

ฝ่ายหนึ่งเห็นว่าการต่อสู้ในระบบรัฐสภาผ่านพรรคฝ่ายค้านที่มีเสียงข้างน้อยไม่มีทางชนะ ดังนั้นจึงไม่ควรเสียเวลาใช้เวทีสภาฯ เพื่อต่อสู้อีกต่อไป ควรแล้วที่จะให้ ส.ส.ลาออกมาต่อสู้โดยใช้การเมืองนอกสภาฯ ใช้มวลชนใช้ท้องถนนเป็นพื้นที่เคลื่อนไหวกดดัน

แนวทางนี้จึงสะท้อนถึงความเชื่อที่ว่าคณิตศาสตร์ทางการเมืองหรือการเมืองในระบอบประชาธิปไตยโดยอาศัยเสียงข้างมากในการตัดสินใจนั้นล้มเหลวไม่สามารถนำประเทศชาติไปสู่แนวทางที่ถูกต้องอย่างมีเหตุมีผลได้

แต่ก่อนที่ท่านทั้งหลายจะลงไปสู่ท้องถนนหรือเรียกร้องให้ ส.ส.พรรคฝ่ายค้านลาออก ควรหรือไม่ที่จะพิจารณาข้อเท็จจริงบางประการเพื่อการตัดสินใจที่ถูกต้อง

การเมืองในระบอบรัฐสภาเป็นเรื่องของการใช้เสียงข้างมาก รัฐบาลจึงอยู่ร่วมกับสภาฯ ที่เป็นเสียงข้างมาก หาไม่แล้วจะมาเป็นรัฐบาลไปได้อย่างไร เมื่อใช้เสียงข้างมากโดยลำพังไม่ฟังเหตุผลความถูกต้องเหมือนเช่นที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ภาพความวุ่นวายในสภาฯ จึงเป็นผลของเหตุแห่งการใช้เสียงข้างเพียงลำพังของมัน

กระบวนการออกกฎหมายมี 3 ขั้นตอนคือ ขั้นรับหลักการว่าจะเอาหรือไม่เอาในวาระแรก ขั้นตอนถัดมาคือการแสดงความเห็นของ ส.ส.ต่อร่างกฎหมายในรายละเอียดหรือเรียกว่าการแปรญัตติในวาระสองซึ่งจะมีผลอย่างมากต่อทิศทางและการบังคับใช้กฎหมาย

ตัวอย่างที่ดีคือ การแปรญัตติกฎหมายงบประมาณในรายละเอียด ส.ส.ส่วนมากอยากเป็นกรรมาธิการแปรญัตติ (หรืออีกนัยหนึ่งคือ ที่ประชุมสภาฯ ชุดย่อส่วน) เพราะมีโอกาสเป็นอย่างมากที่จะนำงบประมาณไปใช้ในทิศทางที่ตนเองต้องการ

เมื่อมีความเห็นต่างก็สามารถสงวนคำแปรญัตติของตนไปเสนอในที่ประชุมสภาฯ เพื่อโน้มน้าวขอความเห็นจาก ส.ส.นอกกรรมาธิการฯ ให้เห็นด้วยกับคำแปรญัตติของตน กฎหมายที่เป็นลำไม้ไผ่จึงสามารถกลายเป็นบ้องกัญชาได้ก็ในวาระสองนี้นี่เอง

เมื่อรับหรือไม่รับคำแปรญัตติเสร็จสิ้นในวาระสอง ขั้นตอนสุดท้ายคือการลงมติว่าจะรับหรือไม่รับเป็นวาระสามก่อนจะส่งไปให้วุฒิสภาเพื่อกลั่นกรองด้วยกระบวนการอย่างเดียวกัน

ประชาชนทั่วไปมักจะรับรู้จากการถ่ายทอดการประชุมสภาฯ ในวาระแรกหรือวาระสามเป็นส่วนใหญ่ มีโอกาสน้อยมากที่จะได้รับรู้ในชั้นที่ประชุมกรรมาธิการว่า ส.ส.ที่เป็นตัวแทนของตนนั้นได้โต้เถียงในรายละเอียดของกฎหมายอย่างไรซึ่งอาจมีความสำคัญมากกว่าในวาระแรกหรือสุดท้ายเสียอีก

พ.ร.บ.นิรโทษกรรมที่ผ่านวาระแรกไปแล้วอาจถูกแก้ไขในขั้นแปรญัตติไปในรูปแบบใดก็ได้เพราะหลักการและเหตุผลที่เขียนปะหน้ากฎหมายในวาระแรกเขียนไว้อย่างกว้างขวาง ทำให้แก้ไขหรือแปรญัตติจะกลางซอยหรือให้ไปถึงสุดซอยอย่างไรก็ไม่ขัด

หากจะอ้างคณิตศาสตร์ทางการเมืองว่ารัฐบาลเสนอกฎหมายอะไรก็ผ่านอยู่แล้วนั้นก็จริง แต่จริงแค่ครึ่งเดียว หากไม่มีฝ่ายค้านคอยทำหน้าที่เสนอแนะหรือคัดค้านด้วยหลักการด้วยเหตุและผลในสิ่งที่ไม่ถูกต้องในวาระแรกหรือวาระสองให้ปรากฏ ฝ่ายเสียงข้างมากก็สามารถมาอ้างได้ว่าก็ไม่มีใครบอกนี่ว่ามันไม่ถูกต้องตรงที่ใด ทำไมไม่มาแสดงเหตุและผลคัดค้านตนจะได้ทำตาม

ทั้งนายกฯ ยิ่งลักษณ์และฝ่ายที่เรียกร้องให้ ส.ส.ลาออกมาใช้ถนนแทนกลไกในสภาฯ ในขณะนี้จึงสับสนในระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา

ยิ่งลักษณ์เป็นนายกฯ ที่มาจากการเลือกของสภาฯ มิใช่ผู้นำในระบบประธานาธิบดีที่มาจากประชาชนโดยตรงซึ่งไม่มีอำนาจหน้าที่เสนอกฎหมายโดยตรง เรื่องของสภาฯ จึงเป็นเรื่องของนายกฯ ยิ่งลักษณ์เพราะมีหน้าที่โดยตรงที่จะเสนอกฎหมายมาใช้สนับสนุนในงานของรัฐบาล เช่น งบกลางฯ ที่อนุมัติโดยนายกฯ ผู้เดียวในกฎหมายงบประมาณ จะมาอ้างว่าเป็นเรื่องของสภาฯ แต่เพียงลำพังมิได้ ไม่มีกฎหมายให้อำนาจฝ่ายบริหารจะทำงานได้อย่างไร

เช่นเดียวกันหากเรียกร้องให้ ส.ส.ฝ่ายค้านลาออกไม่ร่วมสังฆกรรม พ.ร.บ.นิรโทษกรรม หรือกฎหมายใดก็ตามแต่ก็หมายความว่าประชาชนจะขาดผู้ที่จะคอยควบคุมตรวจสอบรัฐบาล แม้จะคาดเดาได้ว่าจะแพ้โหวตต่อเสียงข้างมากในวาระหนึ่ง แต่ก็สามารถเข้ามาแสดงความเห็นด้วยเหตุและผลให้ปรากฏในการแก้ไขรายละเอียดของกฎหมายในวาระสองได้ หาไม่แล้วฝ่ายเสียงข้างมากก็จะมีความชอบธรรมมากยิ่งขึ้นที่จะแก้ไขตามอำเภอใจเพราะฝ่ายค้านมีหน้าที่แล้วไม่ทำ

ความพ่ายแพ้ของฝ่ายเสียงข้างน้อยต่อเสียงข้างมากในระบบรัฐสภาจึงมิได้มีความหมายเท่ากับความชอบธรรม (ทางการเมือง) ที่กระทำโดยฝ่ายเสียงข้างมาก ในทำนองเดียวกันการเข้าทำหน้าที่ในสภาฯ ของฝ่ายค้านก็ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นการสร้างความชอบธรรมให้กับการออกกฎหมายของรัฐบาลเสมอไป

การเสนอให้ ส.ส.ฝ่ายค้านลาออกและมาเคลื่อนไหวนอกสภาฯ โดยอ้างตรรกะคณิตศาสตร์ทางการเมืองว่าทำงานในสภาฯ อย่างไรก็ไม่ชนะฝ่ายเสียงข้างมากจึงเป็นความหลงผิด การเคลื่อนไหวนอกสภาฯ สามารถทำได้แม้ขณะเป็น ส.ส.หากเลือกจะทำ ประเด็นสำคัญก็คือ ทำตอนไหนจึงจะมีความชอบธรรม?

คำตอบในประเด็นนี้ก็คือ เมื่อรัฐบาลและส.ส.เสียงข้างมากในสภาฯ ขาดความชอบธรรมเพราะเสียงข้างมากไม่ได้หมายถึงความถูกต้อง ไม่ได้เป็นใบอนุญาตให้กระทำอะไรก็ได้ตามอำเภอใจ การกระทำ เช่น ออกกฎหมายที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญจึงเป็นตัวอย่างที่ดี

รัฐบาลแม้มีเสียงข้างมากแต่ต้องดำเนินการให้สอดคล้องกับแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐตั้งแต่การบริหารงานทางเศรษฐกิจ ความมั่นคง จนถึงการมีส่วนร่วมของประชาชนตามที่บัญญัติไว้ในหมวดที่ 5 ของรัฐธรรมนูญปัจจุบัน

ตัวอย่างรูปธรรมของการขาดความชอบธรรมที่ขัดรัฐธรรมนูญก็คือ รัฐบาลยิ่งลักษณ์แถลงนโยบายตามรัฐธรรมนูญเพื่อให้ได้เป็นรัฐบาล แต่กลับไม่ยอมแถลงผลงานที่ได้ทำมาเมื่อได้เป็นรัฐบาลแล้ว แสดงถึงการขาดความเคารพในรัฐธรรมนูญที่ตนเองได้ให้คำปฏิญาณไว้ว่าจะปฏิบัติตามอย่างชัดเจน

กฎหมายใดเมื่อผ่านวาระสองก็หมายความว่ารัฐบาลและฝ่ายเสียงข้างมากแสดงเจตจำนงแล้วว่าจะให้เป็นเช่นนั้น หากเป็นความผิดก็เป็นความผิดที่สำเร็จแล้ว อ้างว่าไม่มีเจตนาไม่ได้เลย

ขั้นตอนนี้จนถึงก่อนวาระสามจึงมีกลไกของศาลรัฐธรรมนูญที่จะปกป้องเอาไว้มิให้ประชาชนถูกละเมิดจากด้วยเสียงข้างมากของนักการเมือง ตัวอย่างก็มีให้เห็นแล้วว่าเสียงข้างมากกล้าโหวตวาระสามแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับหรือไม่

ในอีกทางหนึ่งหากส.ส.ฝ่ายเสียงข้างน้อยและประชาชนเมื่อทราบวัตถุประสงค์ที่แน่ชัดว่ารัฐบาลและฝ่ายเสียงข้างมากจะทำอะไรที่ไร้ซึ่งความชอบธรรมก็สามารถออกมาคัดค้านนอกสภาฯ ได้เช่นกัน จะลาออกจากส.ส.หรือไม่ก็ไม่มีอะไรแตกต่างแถมยังมีความชอบธรรมมากกว่า

แต่ที่แตกต่างก็คือ หากเลือกใช้ถนนแทนสภาโดยง่ายปราศจากสติและไม่อาศัยปัญญา อ้างแค่ตรรกะคณิตศาสตร์ทางการเมือง ไม่ดูว่ารัฐบาลและฝ่ายเสียงข้างมากจะออกกฎหมายแบบใดให้แน่ชัด อนาคตไทยย่อมหลีกไม่พ้นกลียุคเฉกเช่นอียิปต์ ที่ทุกฝ่ายอ้างแต่เสียงข้างมากเป็นความชอบธรรม ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายในสภาฯ หรือฝ่ายนอกสภาฯ แต่ไม่อ้างการกระทำที่ได้ทำไปนั้นเป็นความชอบธรรมหรือไม่

พูดง่ายๆ ก็คือ “ถ้ามึงทำได้ กูก็ทำได้” แต่ที่ “ทำ” นั้นชอบธรรมหรือไม่กลับไม่พินิจพิจารณา
กำลังโหลดความคิดเห็น